15 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ไตร่ตรองมองหลัก (๓๐)
คนทั่วไปหรือนักคิดนักวิชาการรู้จักอะไรด้วยการคิด ผลรวมของการรู้จักนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ เป็นเพียงความหมายเป็นสัญลักษณ์ เมื่อเร้าความรู้สึกจนออกหน้าความคิดแล้ว ก็จะพบกับสภาวะที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ จับได้แต่อาการ แต่ความคิดมันไม่ได้สูญหายไปไหน เราไม่ได้ทำลายอินทรีย์ประสาท
ดังนั้นความคิดนี้ทำความรู้จักทีหลัง สัมผัสด้วยใจด้วยความรู้สึกก่อน ความรู้สึกกับใจนี้เนื่องกัน ความรู้สึกล้วนๆ เป็นเรื่องทางใจ โดยไม่มีขอบเขต การหยั่งรู้คือการสัมผัส
ผู้ที่ออกนอกความคิดแล้วรู้โดยการหยั่งรู้ดำเนินชีวิตไปด้วยรู้สึกล้วนๆ เพื่อหยั่งรู้สรรพสิ่ง ไม่ได้มุ่งที่จะสะสมความรู้อื่นหรืออารมณ์วิจิตรอะไรอีก รู้สึกจากการสัมผัสเท่านั้นว่า มีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน เวลาล่วงเลยไประยะหนึ่ง ค่อยๆ เข้าใจซึ้งและแนบแน่นขึ้น ปรากฏขึ้นหลังจากรู้จักจิต โดยความเป็นจิต ซึ่งไม่มีภาพพจน์ใดๆ
อาการของการรู้จักคือรู้จักตรงนั้นเดี๋ยวนั้นและเป็นไปอย่างฉับพลัน ถ้าไม่ฉับพลันความคิดแทรกเข้าไปแล้ว ในวิธีการอันนี้ อะไรที่รู้ล่วงหน้ามันจะเป็นอุปสรรคกางกั้นการรู้แบบฉับพลัน เพราะมัวคาดคิดปรุงแต่ง แยกแยะและลังเล
คำแนะนำของพระพุทธเจ้าในสติปัฏฐาน ๔ เป็นความจริงแท้สะท้อนออกถึงแหล่งเกิดญาณทัศนะ มันเป็นคำตอบว่ารู้แจ้งได้อย่างไร ปลุกชีวิตจิตใจขึ้นให้สว่างไสวได้อย่างไร
คำสอนของพระพุทธเจ้าจะถูกเปิดเผยจากผู้ภาวนาแม้ไม่รู้หนังสือ ความคิดไม่อาจเปิดเผยความจริงซึ่งอยู่นอกอำนาจของมันได้ พอเราคิดโดยที่ไม่รู้สึกตัว เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของความคิด แต่พอเรารู้ตัว ความคิดกกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา หมายความว่าใช้มันได้ ควบคุมมันได้ เอาชนะมันได้
ฉะนั้น ในการดำรงอยู่ใช้ความรู้สึกตัวเป็นตัวนำ นี้เป็นเรื่องใหญ่ แทนที่จะเอาความคิดนำ พอเราคิด เราไม่อาจหลุดพ้นจากวงล้อมของมายาแห่งความคิดได้ พอเราเข้าในความคิดเราอาจจะเป็นสุข เอิบอิ่ม หรืออึดอัดก็ได้โดยไม่รู้ตัว เหมือนขี้ฝุ่นแล้วแต่ลมจะพัดพาไปทางไหน
สิ่งที่จะนำให้เราเป็นอิสระจากความคิดนี้ เราต้องตั้งใจว่า เราจะเอาชนะความคิดให้ได้ เพื่อจะควบคุมดูแลแล้วใช้งานมัน ถ้าเราเอาชนะความคิดได้ทุกครั้งที่มันทำกิจนี้ พอแล้วสำหรับชีวิตนี้ เพราะการถึงต้นแบบในตัวเอง การกลับไปสู่ความรู้สึกตัว ความรู้ตัวล้วนๆ นั้น จะนำมาซึ่งสันติสุขทั้งในตนเองและสังคม สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
สนทนา : สติปัฏฐาน ๔ กับอ.ปรีชา ก้อนทอง
จากหนังสือไตร่ตรองมองหลัก พิมพ์ครั้งแรก พ.ย. ๒๕๓๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา