Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
14 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ไตร่ตรองมองหลัก (๒๙)
ความจริงแท้ธาตุฐานของมนุษย์นั้นเป็นธาตุฐานเดียวกับโลกและจักรวาล ดินน้ำลมไฟ กระบวนการธาตุอันเดียวกัน จิตที่ตื่นและรู้ตัวเป็นรากฐานที่จะรู้จักความงาม ความสัมพันธ์, ความกลมกลืนทางสังคม ความงามของโลก
ความจริงปรมัตถ์ ไม่ง่ายนักที่จะปรากฏขึ้นสู่การรับรู้ ถ้าความรู้สึกตัวไม่พอและไม่อาจซาบซึ้งในความจริงได้ด้วยลำพังความคิดอิงเหตุผล
การภาวนานั้นเป็นการซึมซาบเข้าไปจนเกิดการหยั่งรู้ ถ้าคนเดินทางสายความรู้สึกตัว ทุกสิ่งคือความรู้สึกตัว สัมผัสด้วยความรู้สึก เช่น ดินมันคืออะไรที่หนักๆ แค่นๆ แข็งๆ อาการของมันนั่นแหละคือดิน น้ำคือสิ่งที่ไหลเอิบอาบ เซิบซาบ ลมคือสิ่งที่พัดผัน มิใช่เป็นภาพพจน์ในความคิด เกิดการหยั่งรู้คือสัมผัสแก่นธาตุแก่นธรรม ไม่ใช่ความคิดนึก
เมื่อหยั่งรู้สัมผัสจิตได้ ก็เรียกว่า เห็นจิตในจิต, เห็นจิตที่จิต ไม่ใช่ใช้ความคิดคิดถึงจิต ว่าจิตอย่างนั้นอย่างนี้ คือสัมผัสถึงไหนเป็นอันนั้น เป็นจิตเป็นใจ เพราะว่าตัวมันเองไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนอะไร มันเข้าถึงไหนมันเป็นอันนั้น สัมผัสอาการแล้วอาการเหล่านั้นระงับดับลง
เราศึกษาอันนี้จะเห็นถึงอาการสุดท้ายคืออาการดับ ที่เรียก นิโรธ นี่เป็นการสัมผัสอาการทั้งนั้น พอเห็นถึงไหนมันก็ดับถึงนั้น โดยเฉพาะเรื่องอริยสัจเป็นบทหนึ่งในหมวดธรรมานุปัสสนา เราพบว่ามันไม่ใช่ความคิดเชิงทฤษฎี พระพุทธเจ้าตรัสกำชับห้ามสับหัวข้อของอริยสัจ ๔ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับสนิทแห่งทุกข์ หนทางปฏิบัติให้ถึงที่สุดทุกข์
เมื่อพิเคราะห์โดยหลักของเหตุผล เหตุส่งผลโดยหลักของวิชาการมันน่าจะสับหัวข้อใหม่ คือเหตุของทุกข์ต้องมาก่อนทุกข์ถึงเกิด มรรคก็คือเหตุที่ทำให้ถึงที่สุดทุกข์ แล้วก็ถึงที่สุดทุกข์คือนิโรธ ทรงตรัสไม่ให้สับเปลี่ยนเพราะนี่เป็นประสบการณ์ของการหยั่งรู้ทางใจ ไม่ใช่ประสบการณ์ของการขบคิด
ขบคิดเราต้องคิดถึงเหตุก่อน อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล เหตุแห่งทุกข์ มนุษย์มีตัณหาดังนั้นมนุษย์ก็ทุกข์ มันเป็นประสบการณ์แห่งการหยั่งรู้อันเนื่องเจริญสติปัฎฐานมาตามลำดับ
เราย้อนกลับไปสำรวจความรู้สึกล้วนๆ อีกว่า จากความรู้สึกล้วนๆ ที่มันแปรเป็นความทุกข์เมื่อความคิดปรุงแต่งเกิดนี่เองที่เกิดการหยั่งรู้ความทุกข์ เพราะว่ามันไม่ใช่ความคิด มันไม่ได้เป็นไปกับความคิด จากความรู้สึกตัวอันนี้มันนำไปสู่ความประจักษ์ความทุกข์และที่สุดของมัน
ความรู้ตัวล้วนๆ นี้ ยิ่งบริสุทธิ์เท่าไหร่มันก็จะสัมผัสทุกข์ได้ กำหนดรู้รอบต่อทุกข์ได้ ไม่ใช่คิดเอา มันสัมผัสอาการทุกข์ก่อน สภาวะของตัวทุกข์เหมือนเอามือจับไฟ ก็รู้ได้ทันทีว่าร้อน ไม่มีความคิดล่วงหน้าว่าถ้าจับแล้วร้อน อย่างทันควันทันที
ก่อนหน้าที่ความคิดจะเข้าไปแยกแยะว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล ดังนั้นจึงเรียกว่าการหยั่งรู้อย่างฉับพลันโดยปราศจากความคิดปรุงแต่ง เรียกการหยั่งรู้ว่าเป็นญาณ ไม่ใช่ความคิดนึกเชิงเหตุผล
เราจะพบว่าการเจริญสติปัฏฐานที่ตั้งต้นตั้งแต่การสร้างจังหวะต่อความรู้สึกตัวบนฐานของการเคลื่อนไหว จนกระทั่งมันรวบรวมความรู้สึกตัวล้วนๆ ขึ้นมาได้ แต่ความรู้สึกอันนั้นมันหนักและทึบอยู่ มันยังไม่เบา ยังไม่คลี่คลาย มันจะค่อยๆ คลี่คลายไปตามวันเวลาของการภาวนา
การปฏิบัตินั้นทำอย่างเดียว ไม่มีการยกจิตไม่มีการพิจารณา รู้ตัวเคลื่อนไหวอย่างเดียวเท่านั้น มันเดินทางของมันเอง เกิดการหยั่งรู้ เพราะการรู้สึกตัวมันเป็นการออกนอกความคิด ถ้ามันรู้อะไรมันรู้ด้วยการหยั่งรู้ ไม่ได้รู้ด้วยความคิด
สนทนา : สติปัฏฐาน ๔ กับอ.ปรีชา ก้อนทอง
จากหนังสือไตร่ตรองมองหลัก พิมพ์ครั้งแรก พ.ย. ๒๕๓๓
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ไตร่ตรองมองหลัก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย