13 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ไตร่ตรองมองหลัก (๒๘)
ในพระธรรมบท พระพุทธเจ้าแนะให้จุลปันถกเอามือลูบผ้าเป็นการสร้างจังหวะ ผลจากการสร้างจังหวะนั่นคือ จิตตื่นขึ้นกว่าระดับเดิม ระดับเดิมมันเคยชินกับระบบธรรมดา มันจะเข้มขึ้นด้วย ตรงที่มันเคลียวติดกับจังหวะ เพราะจิตเป็นผู้ดูอยู่ พอพลิกมือ จิตมันก็เริ่มตื่นตัว เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ไปจากชีวิตประจำวัน
นอกจากจะตื่นตัวแล้วมันเข้มขึ้นเพราะเคลียวติดกับจังหวะ คำว่าจังหวะคือเคลื่อนไหวให้เป็นท่อนเป็นตอน พอหยุดจิตมันจะหยุดด้วย ตรงนี้แหละเป็นเคล็ด ถ้าจะถือว่าเป็นเคล็ดวิชาก็ใช่ ถ้ายกมือมั่วไม่มีการหยุดเป็นจังหวะจิตมันก็ตื่น แต่มันไม่เข้มขึ้นเป็นสมาธิ พอพลิก, จิตมันรู้ พอหยุด ตอนนี้แหละสำคัญ พอมือหยุด จิตรู้สภาพหยุด มันเหมือนกับโลกทั้งโลกหยุดหมด
ใหม่ๆ เราจะเจอปัญหาในเรื่องของการเพ่ง ผู้แนะนำในแนวทางนี้อาจจะหวังดีต่อผู้คนมาก ประกอบกับอุปนิสัยที่จริงจัง แนะนำให้เอาเป็นเอาตายในการปฏิบัติ นี้เป็นจุดผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง มันกลายเป็นเจริญสติแบบเพ่งเล็ง เพ่งจ้องตัวเอง แล้วมันจะเข้าไปสู่ความเครียดหรือไม่สงบนิ่งและพิสดาร
ฉะนั้นการสร้างสติบนฐานของการเคลื่อนไหวนั้น ให้ปฏิบัติเล่นๆ แต่ต่อเนื่อง ให้พลิกมือเล่นคือให้มันเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แม้แต่การคลึงนิ้วมือเล็กๆ น้อยๆ นี้มันมีอานิสงส์ทำให้จิตไม่มีที่ตั้งที่อิงโดยจำเพาะเจาะจง จิตพอได้ที่อิงมันเกิดภพภาวะอีก พอรู้อะไรเข้ามันก็ก่อรูปของความคิดปรุงแต่ง ให้มันรู้อะไรไม่ได้ แต่ให้มันรู้สึกตัว
เมื่อรู้ตัวบนฐานที่เปลี่ยนแปลงพอมันรู้แล้วมันจะทิ้งเอง พอนานเข้าแล้วเราก็จะรู้ว่าจิตมันเริ่มเปลี่ยนท่าที คือรู้อะไรไม่ได้นานไม่ติดยึดนั่นเอง พอมันคิดๆ เดี๋ยวมันทิ้ง นี่เริ่มอุปนิสัยใหม่แล้ว ล่วงภาวะเดิม ก็จะพบกับความเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน
ในการเคลื่อนไหวด้วยการสร้างจังหวะ มันจะมีความรู้สึกตัวติดอยู่ในนี้ ถ้านั่งนิ่งมันจะจม มันจะไม่ปรากฏอะไรเลย นอกจากสงบอยู่ใต้โมหะ การจับความรู้สึกสดๆ ได้ มันเนื่องจาการสร้างจังหวะ มันสัมพันธ์กันในลักษณะอย่างนี้ เมื่อสร้างจังหวะมากเข้าความรู้สึกตัวจะเข้มข้นขึ้น, ต่อเนื่องกันขึ้น ในที่สุดความรู้สึกตัวทั้งหมดจะปรากฏขึ้น คนทั่วไปมีความรู้สึกตัวอยู่ แต่มันรู้สึกไม่ได้โดยแท้จริงด้วยอำนาจของความคิดครอบงำอยู่
คนทั่วไปนั้นคิดอยู่ตลอดเวลาทั้งหลับทั้งตื่น ตื่นก็คิด หลับก็ฝัน ความรุนแรงของความคิด คนทั่วไปจะไม่รู้ตัว ที่บอกว่าไม่เห็นคิดอะไรเลยนั้น เพราะมันไม่รู้จักความคิด สติเข้มข้นเข้าก็จะเห็นและสัมผัสอาการคิดได้โดยตรง โดยไม่ต้องคิดซ้อนคิด ซึ่งเท่ากับกลไกของความคิดปรุงแต่งยุติลง แต่ต้องการเพียงรู้ตัว ตื่นตัว เรื่องจะง่ายเข้า
ทั้งอาจปฏิบัติได้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าสงบหรือไม่สงบ ตราบใดที่เรายังต้องการและติดใจความสงบอยู่ ความยึดติดประทับใจอันนั้นมันเป็นอุปสรรค ต่อเมื่อไม่ต้องการความสงบ ตัวความสงบคุณค่าในการพัฒนามันไม่มี มันเป็นสิ่งตาย มันเหมือนหินมันงอกไม่ได้ สงบก็แค่สงบชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
การภาวนาในพุทธศาสนานี้มีหลักเกณฑ์ว่า รู้เห็นตามที่เป็นจริง เราจะเอาความหลอกลวงหรือสภาพพิสดารมาเป็นหลักไม่ได้ เช่นร่างรู้สึกลอยในสมาธิมันพิสดารแล้วมันไม่จริง เราต้องมองจากรากฐานความเป็นจริงที่สัมผัสได้ อะไรที่ผิดจากปรกติอย่าเอา เป็นการปฏิบัติอย่างง่ายๆ เพื่อผ่านพ้นอุปสรรค เพื่อให้มีอุปสรรคน้อยที่สุด ตรงนี้สำคัญ
เมื่อรู้สึกตัวได้โดยไร้อุปสรรคแล้วปล่อยให้ขบวนการธรรมชาติมันพาไป อย่ายึดเอาประสบการณ์พิเศษใดอันมันจะกลายเป็นอุปสรรคขึ้น เมื่อคิดสงสัยขึ้นก็ทิ้งเลย รู้ตัวโดยไม่ต้องรู้อะไรยิ่งดี เพราะว่าในกระแสธรรมชาตินั้นเป็นแหล่งที่เราออกมา และเราจะกลับไปที่นั้นโดยไม่ต่อรองโดยประการใด
การปฏิบัติธรรมะนั้นเหมือนกับการปฏิวัติเงียบ มันเข้าไปพลิกความรู้สึกด้านสมมติให้กลายเป็นความรู้สึกจริงแท้ตามธรรมชาติ พอพบความรู้สึกจริงแท้ มันเหมือนกับการปฏิวัติตัวเอง
สนทนา : สติปัฏฐาน ๔ กับอ.ปรีชา ก้อนทอง
จากหนังสือไตร่ตรองมองหลัก พิมพ์ครั้งแรก พ.ย. ๒๕๓๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา