12 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ไตร่ตรองมองหลัก (๒๗)
เมื่อพูดถึงการเห็น มันมีอยู่สองอย่าง คือ คิดเห็นอันเป็นเพียงทัศนะ (View) กับเห็นคิด อันนี้ต่างกันไกล เราฟังคำบรรยายธรรม เราก็คิดเห็นไปได้กว้างไกล พอคิดก็เห็นเป็นตุเป็นตะ เรียกว่าคิดเห็น คิดเห็นนี้มันยังไม่สิ้นสงสัย
แต่เห็นคิดนี้ ความสงสัยหักแหลกลงแล้ว มันเหมือนกับนั่งร้านที่เราต่อขึ้นสลับซับซ้อนมันได้หักแหลกลง พังครืนลง ยุบตัวลง พอหักแหลกมันเหมือนกับการชำระสะสาง พอเห็นอาการยุบตัวทางจิตก็สว่างไสว
โดยปกติจิตมันซุกซนชอบคิดอะไรเรื่อยๆ มีความเคลือบแคลงสงสัยในตนเองและผู้อื่น ความสงสัยนั้นมันสะท้อนมาจากจิตใจที่ตกอยู่ใต้อำนาจของความคิด พอเห็นความคิดความลังเลสงสัยมันก็หายไป ความสงสัยก็พังลงเป็นชั้นๆ เรื่องสมมติต่างๆ
รวมไปถึงเรื่องผีสางเทวดา เราสงสัยอยู่ต่อเรื่องที่เขาเล่ากันมา มันเป็นความเชื่อ พอเห็นความคิด ชีวิตมันเปลี่ยนไป มันเชื่อในสิ่งที่มันสัมผัสได้ มันละลืมสิ่งที่นอกเหนือสัมผัส จุดนี้แหละเป็นบทบาทของการเจริญสติ
ที่จริงเมื่อพูดถึงกายานุปัสสนา มันกินคาบสามอันที่เหลือไว้ด้วย เพราะว่าตัวสติมันตัวเดียว มันตั้งอยู่บนฐานอะไร ถ้าเป็นฐานกายที่เคลื่อนไหว สติมันก็เริ่มปรากฏต่อเนื่องกันขึ้นบนฐานอันนั้นต่อให้เราเปลี่ยนฐาน มันก็คือตัวเดิม คือสภาพรู้ตัวล้วนๆ
เมื่อเราพูดถึงสติปัฏฐานสี่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีสติสี่ชนิด มีสติอันเดียวเท่านั้น แต่ว่าฐานมันมีอยู่สี่ฐาน มันเชื่อมโยงตามขบวนการธรรมชาติ ซึ่งเรามารู้ที่กายก่อน เพราะกายเป็นสิ่งหยาบ เคลื่อนไหวง่าย สังเกตได้ง่าย
ดังนั้นคำแนะนำที่ว่าให้สร้างจังหวะนี้เป็นอุบายที่จะไปรู้เห็นจิตใจ ที่จริงธรรมชาติของอิริยาบถนี้เป็นจังหวะอยู่แล้ว เช่นเมื่อเราจะลุกยืนนั้น มันก็มีจังหวะ มันจะลุกขึ้นพรวดพราดไม่ได้ มันมีขั้นตอนของมัน เช่น ก้าวขาลุกขึ้น มีการยันกายคู้ตัวโค้งตัวยันกายขึ้น คือจังหวะนี้มีอยู่แต่เนื่องจากจังหวะนั้น เราทำจนเคยชินจนกระทั่งเราไม่เห็นมันครบถ้วน
การสร้างจังหวะมันอาจไปฝืนความเคยชินของเราที่เคลื่อนไหวแบบกลไกเครื่องจักรที่ไร้ความรู้สึก เราไม่เคยทำจังหวะ เช่นเวลาที่เราปรบมือ จิตสำนึกเราไม่ได้อยู่ที่นี่ เราอยู่ที่กองเชียร์ เราใส่ใจดูนักกีฬาผู้ชนะ เราอาจจะเต้นรำหลายจังหวะ แต่สติเราไม่ได้อยู่ที่นั่น ถ้าสติอยู่ที่นั่น การเต้นก็จะเปลี่ยนเจตนารมณ์ไปจากสนุกไปสู่ศิลปะของการภาวนา
ฉะนั้นการเคลื่อนไหวสร้างจังหวะในการภาวนาดูจะเป็นสิ่งที่แปลก เราคล้ายทำสิ่งที่แปลกไปจากชีวิตประจำวัน แต่เป็นสิ่งแปลกที่ง่ายในการทำจิตให้ตื่น เช่น การเดินถอยหลังนี้จิตมันตื่นทันที เมื่อเราง่วงๆ เดินถอยหลังจิตมันจะตื่นนั้น มันเป็นสิ่งแปลกไปจากอิริยาบถเคยชิน ตรงนี้แหละเป็นอุบายสำคัญ อุบายนี้ถูกเพิ่มเติมจากกายานุปัสสนานั่นเอง
สนทนา : สติปัฏฐาน ๔ กับอ.ปรีชา ก้อนทอง
จากหนังสือไตร่ตรองมองหลัก พิมพ์ครั้งแรก พ.ย. ๒๕๓๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา