Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
11 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ไตร่ตรองมองหลัก (๒๖)
ทำไมถึงต้องเป็นกายานุปัสสนาก่อน ที่จริงจับจิตตานุปัสสนาเลยก็ได้ แต่ว่าถ้ายังไม่ทันความคิด มันจะพัวพันอยู่กับความคิดตลอด จิตก็กลายเป็นภาพในความคิดหนึ่งของเขา เป็นความคิดถึงจิต เป็นการใช้ความคิดคิดถึงความคิด ผู้ซับซ้อนทางความคิด อาจหมิ่นแคลนต่อการกระทำนอกความคิด เช่นการพลิกมือ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความคิด คนที่ยึดติดในความคิดอาจจะหมิ่นแคลน
กายานุปัสสนานี้เป็นอุบาย เพราะชีวิตปรากฏออกให้รู้ได้ที่ร่างกาย ทีนี้ตัวร่างกายมันเป็นสิ่งใหญ่ที่สุด เห็นได้ง่ายที่สุด ดังนี้เมื่อเริ่มฝึกเจริญสติที่ร่างกายโดยใช้ธรรมชาติของอิริยาบถ ซึ่งพิเศษกว่าสัตว์ประเภทอื่น มนุษย์มีรูปทรงที่กลมกลืน ธรรมชาติได้ทำให้มนุษย์บรรลุถึงความสมบูรณ์ทางด้านอิริยาบถ
ฉะนั้นการฝึกสติบนการเคลื่อนไหวของอิริยาบถทั้งสี่ จึงเป็นบาทฐานแรก คือฝึกสติอยู่บนฐานของการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ไม่ใช่อิริยาบถที่นิ่งซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหว
โดยธรรมชาติมนุษย์จะนั่งนิ่งไม่ได้ ถึงข้างนอกดูจะนิ่งแต่ข้างในเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทั้งการเต้นของหัวใจ, กระแสความคิด อารมณ์ เพราะชีวิตเป็นอันเดียวกับจักรวาลหรือเอกภพ ซึ่งเคลื่อนไหวตลอดเวลา
การนั่งนิ่งเป็นการสวนทางกับธรรมชาติ จริงอยู่มันอาจจะเสริมสร้างสมรรถนะทางจิต, พลังทางจิต แต่โดยหลักแล้วมันสวนทางกับธรรมชาติ พลังอันนิ่งเป็นพลังที่ผิดธรรมชาติ
ต่อให้เหาะได้ก็เป็นการผิดธรรมชาติ นัท ฮันห์ บอกว่าเดินบนดินคือปาฏิหารย์แท้ ถ้าคนเข้าใจผิดต่อตัวเองที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ เพื่อจะควบคุมธรรมชาติ จะแสวงหาพลัง จะมุ่งดิ่งเข้าสู่การสะกดตัวเองตามความเชื่อ พยายามให้มันนิ่งลึก ต้านธรรมชาติเท่าไรมันจะเพิ่มพลังเท่านั้น แต่ผลกระทบหลังจากนั้น มันอาจจะนำไปสู่หายนะได้เพราะว่ามันทำงานหนักเกินไป ผลลัพธ์สุดท้ายของพวกที่แสวงหาพลังเหล่านี้ก็อาจจะเป็นบ้า วิกลจริต เจ็บป่วยหรือเสื่อมทราม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่าง
ฉะนั้นผู้ที่มีทรรศนะว่าวิถีทางของมนุษย์ต้องสอดคล้องกับธรรมชาติจะปลอดภัย แม้จะลุ่มๆ ดอนๆ ในช่วงต้น แต่บั้นปลายทรรศนะนี้จะนำไปสู่ความกลมกลืนกับธรรมชาติ ถึงคราวอยู่ก็อยู่ ถึงคราวเจ็บป่วยก็ป่วย ถึงคราวตายก็ตายกัน มันเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องเข้าใจอย่างนี้ในเบื้องต้น
สติมันเป็นธรรมชาติในตัวมนุษย์ คือสภาพรู้ตัวได้ แต่ถ้าความรู้ตัวนี้ไปตั้งฐานบนความนิ่งสนิท แล้วแสวงหาพลัง การได้มาซึ่งพลังกับการที่ต้องสูญเสียอะไรบางอย่างนี้อันเดียวกัน เป็นขบวนการเดียวกัน
แต่ว่าการรู้ตัวได้บนฐานของการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่ความกลมกลืนกับธรรมชาตินั้นจะอยู่รอดปลอดภัย นับแต่วินาทีที่มันเริ่มเดินทางมันจะอยู่รอดปลอดภัย
จากที่สังเกตผู้ที่ปฏิบัติสองแนวทางเป็นเรื่องสติเหมือนกัน แต่ว่าสติตั้งอยู่บนฐานอะไร ฐานที่นิ่ง (Static) เพื่อควบคุมจิตให้เป็นหนึ่งนี้ พอนิ่งขึ้นมามันจะก่อเกิดพลัง แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ในทางทฤษฎีน่าจะเป็นไปได้ แต่โดยข้อเท็จจริงในภาคปฏิบัติ พลังของความสงบทำให้เราไม่เห็นกระแสความคิด ยังไม่รู้จักอารมณ์ เพราะไปจมอยู่กับอารมณ์วิเศษ ยังแยกจิตจากอารมณ์ไม่ได้ มันถูกความคิดครอบงำมาแต่ต้น ตั้งแต่เริ่มกระทำกรรมทุกชนิด
การปฏิบัติธรรมะถือเป็นกรรมอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน พอเริ่มนิ่ง ความคิดก็เล่นงานแล้ว ครอบงำแล้ว เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านถูกครอบงำอยู่หกปี ท่านเพิ่งมารู้ว่าผิดพลาดอยู่อย่างไรจากเหตุการณ์การลอยถาดทวนกระแสน้ำ เมื่อท่านเห็นนิมิตอันหนึ่งจากธรรมชาติทำให้ท่านรู้ว่าท่านพลาดอย่างไรในหกปีที่แล้วมา คือท่านเข้าไปในอารมณซึ่งเปรียบเหมือนกระแสน้ำ
สนทนา : สติปัฏฐาน ๔ กับอ.ปรีชา ก้อนทอง
จากหนังสือไตร่ตรองมองหลัก พิมพ์ครั้งแรก พ.ย. ๒๕๓๓
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ไตร่ตรองมองหลัก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย