และที่นี่เอง เธอไปตกหลุมรักกับชายคนหนึ่งนามว่า Kazimierz Żorawski ทั้งสองต่างรักและชอบพอกัน และหวังว่าจะได้แต่งงานกันในอนาคต แต่เนื่องจาก Maria มาจากครอบครัวยากจน ทางพ่อแม่ฝ่ายชายจึงกีดกันความรักในครั้งนี้ และสุดท้ายทั้งสองก็ต้องแยกจากกัน
Kazimierz Żorawski คนรักคนแรกของ Marie Curie (Source: https://alchetron.com/Kazimierz-%C5%BBorawski)
Kazimierz Żorawsk ต่อมากลายมาเป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของโลก และกลายมาเป็นอาจารย์และคณบดีของ Krakow University หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของโปแลนด์ และว่ากันว่าตอนที่เขาแก่แล้วนั้น เขามักจะเดินมานั่งที่หน้ารูปปั้นของเธอที่หน้าสถาบัน Radium Institute ในกรุง Warsaw สถาบันที่เธอเป็นคนก่อตั้งขึ้น จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต
หลังจากได้รับปริญญา 2 ใบแล้ว เธอเริ่มชีวิตการเป็นนักวิทยาศาสตร์แบบเต็มตัว ด้วยการเป็นนักค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติทางแม่เหล็กของโลหะชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นการวิจัยของ Society for the Encouragement of National Industry หน่วยงานที่มีเป้าหมายในการศึกษาโลหะชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศฝรั่งเศส
Marie Curie ตอนอายุ 24 ปี (Source: pinterest)
พบรักในห้องแลป
หลังจากทำการทดลองไปได้ระยะหนึ่ง Maria หรือ Marie (ชื่อของเธอในภาษาฝรั่งเศส) ต้องการห้องแลปที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อขยายขอบข่ายการทดลองของเธอ เธอจึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจาก Józef Wierusz-Kowalski นักฟิสิกส์ชาวโปแลนด์ที่เป็นคนรู้จักของเธอ
ทาง Kowalski พยายามนึกถึงคนที่จะสามารถช่วยสาวน้อย Marie ผู้กระตือรือร้นได้ และชื่อที่เขานึกถึงคือ Pierre Curie ซึ่งทำหน้าที่เป็นนักวิจัยในสถาบัน ESPCI (City of Paris Industrial Physics and Chemistry Higher Educational Institution) และแม้ว่าแลปของ Pierre จะไม่ใหญ่พอสำหรับความต้องการของ Marie เขาก็พยายามหาแลปที่มีขนาดตรงความต้องการของเธอให้เธอจนได้
Pierre Curie (Source: wikipedia)
จากนั้น Marie และ Pierre ก็ติดต่อพูดคุยกันอยู่เรื่อย ๆ และจากการที่ทั้งสองมีความรักในวิชาวิทยาศาสตร์ร่วมกันอยู่เป็นทุนเดิม ทำให้ความผูกพันเริ่มก่อตัวขึ้น จนกลายมาเป็นความรักในที่สุด และหลังจากคบหากันได้ระยะหนึ่ง Pierre ก็ขอเธอแต่งงาน
แต่เรื่องกลับไม่ง่ายขนาดนั้น Marie เป็นคนที่รักในรากเหง้าความเป็นโปแลนด์ของเธอ เธออยากนำความรู้ความสามารถของเธอกลับไปพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนที่เธอรัก ในตอนนั้นแม้ Pierre จะบอกว่าเขายอมที่จะไปทำงานเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสจน ๆ ในโปแลนด์ เธอก็ยังปฏิเสธเขาอยู่ดี
และในฤดูร้อนปี 1894 Marie เดินทางกลับมา Warsaw และเริ่มสมัครงานตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในฐานะนักวิจัย แต่ปริญญา 2 ใบจากปารีส ไม่ช่วยอะไรเธอเลย นั่นเป็นเพราะเธอถูกปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ อย่าง Krakow University เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง และผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับให้มาทำหน้าที่เป็นนักวิจัยในโปแลนด์
Krakow University ในโปแลนด์ที่ปฏิเสธการจ้างงานของ Marie เพราะเธอเป็นผู้หญิง (Source: wikiwand)
สิ่งนี้นำความผิดหวังมาให้เธอเป็นอย่างมาก แต่ตลอดระยะเวลาเหล่านั้น จดหมายจาก Pierre นี่แหละ ที่เป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจของเธอให้เธอมีกำลังใจต่อไป จนสุดท้ายเธอก็ใจอ่อน เธอยอมกลับไปปารีสตามคำชวน (บวกตื้อ) ของเขาและการสนับสนุนของครอบครัวเธอ แม่ของเธอถึงขนาดบอกว่าเธอไม่ควรจะกลับมาโปแลนด์ด้วยซ้ำ และให้เธอรีบแต่งงานกับ Pierre ซะ
เมื่อเธอกลับมาถึงปารีส Pierre สนับสนุนให้เธอเรียนปริญญาเอกต่อ และในทางกลับกันเธอก็เป็นผู้สนับสนุนให้ Pierre ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับสภาพแม่เหล็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่เขากำลังทำวิจัยอยู่ จนเขาเองที่เป็นคนได้รับปริญญาเอกในปี 1895 และได้รับการเลื่อนตำแหน่ง
ในเดือนกรกฎาคม 1895 ทั้งสองแต่งงานกัน ในงานไม่มีพิธีการทางศาสนาใดใดทั้งสิ้นเพราะทั้งคู่ต่างก็ไม่ศรัทธาในศาสนา และ Marie ก็แต่งตัวเข้าพิธีวิวาห์ด้วยชุดสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งเป็นชุดที่เธอใช้ใส่ในห้องแลปของเธอเป็นประจำ ในเวลาว่างทั้งคู่มักจะขี่จักรยานไปตามสถานที่ต่าง ๆ และเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ เรียกได้ว่าทั้ง Pierre และ Marie ได้พบกับคู่ชีวิตที่แท้จริงในที่สุด
ภาพแต่งงานของ Marie และ Pierre Curie (Source: nobelprize.org)
รังสีปริศนา
ในปี 1895 ปีที่ทั้งคู่แต่งงานกัน Wilhelm Roentgen นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ทำการทดลองในห้องแลปของเขา โดยการนำกระดาษแข็งสีดำสนิทมาคลุมรอบหลอด Cathode Ray ซึ่งเป็นหลอดแก้วสุญญากาศที่ใช้ในการสร้างประจุไฟฟ้า ผลปรากฏว่ามีวัตถุบางอย่างที่วางอยู่ใกล้ ๆ กับกระดาษแข็งสีดำนั้นเกิดการเรืองแสงขึ้นมา
ในตอนนี้เองที่ Pierre สามีของเธอได้เข้ามาร่วมทำการทดลองกับเธออย่างจริงจัง เพราะเขามั่นใจว่าการทดลองของเธอ กำลังจะนำไปสู่การค้นพบบางอย่างที่ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน
ในช่วงของการทดลองนั้น Marie และ Pierre ได้ร่วมมือกันเขียนรายงานทางวิชาการมากถึง 32 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นมีการกล่าวถึงศักยภาพของ Radium ในการฆ่าเซลล์มะเร็ง และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาถึงการนำธาตุกัมมันตรังสีมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง
2
Marie และ Pierre Curie ใช้วิธีการบดแร่ Pitchblende ในครกเล็ก ๆ จากนั้นนำไปตกผลึก เพื่อแยก Radium ออกมา (Source: Pinterest)
ความสำเร็จที่มาพร้อมกับการดูถูก
ปี 1903 จัดว่าเป็นปีทองของคู่สามีภรรยา Curie เพราะ Marie ได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีสซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผู้หญิงในสมัยนั้น ส่วนสามีของเธอ Pierre ก็ได้รับการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ชั่วคราวในมหาวิทยาลัยปารีสเช่นกัน
ในเดือนมิถุนายน ทั้งคู่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี ที่สถาบัน Royal Institute ที่กรุงลอนดอน แต่ Marie กลับพบว่านอกจากในบ้านเกิดของเธอแล้ว ในอังกฤษผู้หญิงก็ยังโดนดูถูกเช่นกัน เพราะเธอไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบรรยาย Pierre จึงต้องทำหน้าที่นี้แทนเธอ แต่เธอก็ไมได้ใส่ใจกับเรื่องนี้มากนัก ส่วนเหรียญรางวัลที่เธอได้มาก็กลายไปเป็นของเล่นของลูกสาวของเธอทันทีเมื่อเดินทางกลับถึงปารีส
1
รายงานการประชุมของ Pierre Curie ที่ Royal Institute (Source: Twitter)
ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน The Royal Swedish Academy of Sciences ได้ตัดสินใจที่จะมอบรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ให้กับ Pierre Curie และ Henri Becquerel ในฐานะที่ทั้งสองเป็นผู้ค้นพบและอธิบายเรื่องของกัมมันตภาพรังสี โดยไม่มีชื่อของ Marie อยู่ในฐานะผู้รับรางวัล
เมื่อเรื่องนี้เดินทางมาถึงหูของ Pierre เขายืนยันทันทีว่าถ้าเธอไม่ได้รับรางวัลนี้ร่วมกับเขา เขาก็จะขอปฏิเสธรางวัลนี้เพราะเธอคือผู้ค้นพบกัมมันตภาพรังสีตัวจริง และเขาเป็นเพียงผู้ช่วยเท่านั้น สุดท้ายชื่อของเธอก็ถูกใส่เข้าไปในฐานะผู้รับรางวัล ไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่รางวัลอันทรงเกียรติที่ควรจะปราศจากอคติใดใด ก็ยังมีอคติต่อสตรีเพศอยู่ดี
1
Henri Becquerel, Pierre Curie และ Marie Curie รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกันในปี 1903 (Source: britannica)
และเรื่องก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้น ในตอนที่มีการกล่าวสุนทรพจน์ยินดีกับทั้งสาม ทางหัวหน้าสถาบันกล่าวว่า “It’s not good that a man should be alone, so god has created a woman to help a man” ซึ่งความหมายกลาย ๆ ก็คือการพยายามบอกว่า Marie ก็เป็นได้แค่ผู้ช่วยของ Pierre เท่านั้น แต่จะยังไงก็แล้วแต่ Marie Curie คือผู้หญิงคนแรกของโลกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
แต่ที่สุดยอดไปกว่านั้นคือทั้งคู่ตัดสินใจที่จะไม่เดินทางไปรับรางวัล (ซึ่งมีน้อยคนนักที่จะทำ) เนื่องจากทั้งสองกำลังยุ่งอยู่กับการทดลอง และตัว Pierre เองก็สุขภาพไม่ค่อยดีนัก แต่เนื่องจากการจะได้รับรางวัลอย่างเป็นทางการจะต้องมีการบรรยายหลังจากได้รับรางวัลด้วยจึงจะถือว่าสมบูรณ์ ดังนั้นทั้งคู่จึงเดินทางไปยัง Stockholm ในปี 1905 เพื่อรับรางวัล ส่วนเงินที่ได้มา ทั้งสองก็นำมาเป็นเงินทุนในการทำการทดลองต่อ รวมถึงใช้เป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กยากจนหลายคนด้วย
ประกาศนียบัตรรางวัลโนเบลของ Pierre และ Marie Curie (Source: Wikimedia)
ในตอนนั้นเองทางมหาวิทยาลัยเจนีวา ได้เชิญ Pierre ไปเป็นอาจารย์และคณะผู้บริหาร ทำให้ทางมหาวิทยาลัยปารีส ต้องทำการรั้งตัวเขาไว้โดยการบรรจุ Pierre Curie เข้าเป็นอาจารย์ถาวร และเป็นหนึ่งในผู้บริหารคณะฟิสิกส์ รวมถึงคำสัญญาที่จะสร้างห้องแลปใหม่ที่ทันสมัยและมีเครื่องไม้เครื่องมือครบครันตามคำร้องขอของเขา
ในขณะเดียวกันหลังจากการค้นพบ Radium ของทั้งคู่ ทั้งสองตัดสินใจที่จะไม่จดลิขสิทธิ์ Radium ซึ่งนั่นหมายความว่า ไม่ว่าใครก็ตามก็สามารถใช้ประโยชน์จาก Radium ได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ใดใด ต่อมาทั้งคู่ได้กล่าวในภายหลังว่าการคิดค่าลิขสิทธิ์นั้น “Goes against the spirit of science” หรือ “ขัดต่อหลักการของวิทยาศาสตร์”
3
นิตยสาร LIFE ของอเมริกาที่กล่าวถึงการค้นพบ Radium (Source: Pinterest)
จากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
ในเดือนธันวาคมปี 1904 Marie ให้กำเนิดลูกสาวคนที่ 2 ที่มีชื่อว่า Eve และเธอได้จ้างพี่เลี้ยงเด็กชาวโปแลนด์ให้มาดูแลลูก ๆ ของเธอ ลูกของเธอทั้งสองได้รับการสอนให้รู้ถึงรากเหง้าความเป็นโปแลนด์ และวัฒนธรรมของโปแลนด์ รวมถึงภาษาโปลิชด้วย เพราะสิ่งที่ Marie ภาคภูมิใจที่สุดก็คือความเป็นโปแลนด์ของเธอ และเธอก็ต้องการปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้กับลูก ๆ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน ปี 1906 Pierre ผู้ซึ่งกำลังครุ่นคิดถึงการทดลองของเขาอยู่ กำลังเดินออกจากบ้านลงไปบนถนน โดยไม่ได้ดูซ้ายขวา ทำให้เขาถูกรถม้าที่วิ่งมา ชนเข้าอย่างจัง Pierre ล้มลงบนถนน และล้อหลังของรถม้าก็บดขยี้กะโหลกของเขา ส่งผลให้เขาเสียชีวิตคาที่ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลกได้จากไปแล้วอย่างไม่มีวันหวนกลับเพียงในชั่วเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น
1
Pierre Curie โดนรถม้าชน และเสียชีวิต (Source: wikipedia)
Marie หัวใจแตกสลายเมื่อทราบข่าว เธอได้เสียทั้งเพื่อนสนิท สามี และคู่หูทำการทดลองไปในเวลาเดียวกัน เธอพยายามกลับไปทำการทดลองต่อเพื่อจะได้ลืมเรื่องราวต่าง ๆ แต่เธอก็เขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวว่าห้องแลปนั้นเต็มไปด้วยความโศกเศร้า
และสิ่งที่เธอปรารถนาสูงสุดที่จะทำให้ได้คือ ห้องแลปที่ทางมหาวิทยาลัยสัญญากับสามีของเธอเอาไว้ เธอต้องการให้ห้องแลปแห่งนี้เป็นเสมือนอนุสรณ์ของ Pierre แต่พอ Pierre เสียชีวิตลง โครงการต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะล่าช้าไปด้วย จนสุดท้ายสถาบัน Pasteur Institute (สถาบันที่ตั้งชื่อเป็นเกียรติกับ Louise Pasteur ผู้ค้นพบยาปฏิชีวนะ) จึงยื่นมือเข้ามาช่วย โดยการให้เธอลาออกจากมหาวิทยาลัยปารีส และย้ายมาทำงานกับทางสถาบันแทน
การเชิญชวนครั้งนี้สุดท้ายก็สามารถไปกระตุ้นมหาวิทยาลัยปารีสให้รีบทำอะไรเร็วขึ้น จนสุดท้ายทางมหาวิทยาลัยและสถาบัน Pasteur Institute ก็ร่วมมือกันจัดตั้ง Radium Institute ขึ้น ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า Curie Institute เพื่อเป็นศูนย์กลางในศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี รวมถึงฟิสิกส์ เคมี และเภสัชกรรม และเปิดทำการในปี 1914 บนถนนที่มีชื่อว่า Rue de Pierre-Curie และเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารของสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้