7 พ.ค. 2021 เวลา 16:48 • ประวัติศาสตร์
Marie Skłodowska Curie : ฟันฝ่าอคติสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ตอนที่ 2 (จบ)
2
มาถึงตอนที่ 2 ของเรื่องราวของ Marie Skłodowska Curie นะครับ วันนี้เรามาดูกันว่าหลังจากที่สามีของเธอเสียชีวิตไปแล้ว เธอจะทำการทดลองต่อไปได้หรือไม่ และสิ่งที่เธอค้นพบ สร้างประโยชน์ให้กับมวลมนุษยชาติได้อย่างไร
สำหรับตอนที่ 1 สามารถอ่านได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/608eb930b3808f0c3a471371
ช่างมันฉันไม่แคร์
แม้ว่าความสามารถของเธอจะเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ แต่เพศสภาพของเธอ กลับไม่ได้รับการยอมรับตาม ในปี 1911 เธอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ French Academy of Science ซึ่งเป็นสถาบันของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส
เกิดความแตกแยกกันในบรรดาสมาชิกของสถาบัน มีการ Lobby หนังสือพิมพ์สายอนุรักษ์นิยมจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยมีการพาดหัวข่าวถึง Marie ว่า “เป็นผู้หญิงที่อยากจะดึงความภูมิใจทุกอย่างไปจากเพศชาย” หรือ เธอเป็นผู้หญิงที่ “มีความทะเยอทะยานที่ไม่เหมาะสม” และสุดท้ายเธอก็มีผลโหวตไม่เพียงพอ โดยเธอขาดเสียงโหวตไปเพียง 2 โหวตเท่านั้น
หนังสือพิมพ์ฝั่งอนุรักษ์นิยมของฝรั่งเศส ที่พยายามโจมตี Marie Curie ในภาพนี้เธอโดนกล่าวหาว่าแม้กระทั่งรูปหน้าของเธอ ก็ไม่เหมาะที่จะเป็นสมาชิกของ French Academy of Sciences (Source: Pinterest)
และนอกจากความเป็นผู้หญิงของเธอ ความเป็นคนต่างชาติของเธอก็ทำให้เธอประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตเช่นกัน เนื่องจาก Marie เป็นคนที่ภูมิใจในความเป็นโปแลนด์ของเธออย่างมาก ดังนั้นหนึ่งในเหตุผลที่สมาชิกหลายคนเอามาอ้างในการไม่โหวตให้เธอนั้น ก็เพราะเธอเป็นชาวต่างชาติ และเธอไม่นับถือศาสนาใดใดเลย (ซึ่งอันนี้แปลกมาก เธอเชื่อในวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ศาสนาแต่กลับไม่ได้รับการโหวตให้เข้าเป็นสมาชิกของสถาบันวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งเอามาก ๆ )
อีกสิ่งที่ทำให้เธอพลาดการเป็นสมาชิกของสถาบันก็คือ ในปีเดียวกันนั้นเอง มีข่าวว่า Marie กำลังคบอยู่กับ Paul Langevine นักเรียนคนหนึ่งของ Pierre ซึ่งแต่งงานแล้วและมีอายุน้อยกว่าเธอถึง 5 ปี และการคบกันนี้ไม่ได้คบกันแบบธรรมดา เพราะทั้งคู่มีการเช่าอพาร์ทเมนต์อยู่ด้วยกันเป็นเรื่องเป็นราว และ Marie ก็เคยถูกภรรยาของ Paul ดักทำร้ายและขู่ให้เธอเดินทางออกจากฝรั่งเศสมาแล้ว
ในช่วงเวลาเดียวกัน เธอ และ Paul Langevine ได้รับคำเชิญให้ไปประชุมสัมมนาที่เบลเยี่ยม โดยเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวในบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 20 คนที่ได้รับเชิญ โดยหัวข้อในการสัมมนาครั้งนี้คือ “กัมมันตภาพรังสี” และหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมประชุมก็คือ Albert Einstein เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ และทั้งสองได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกันจนกระทั่งทั้งสองเสียชีวิต
Marie Curie พร้อมกับ Albert Einstein ในงานประชุมสัมมนาที่เบลเยี่ยมในปี 1911 (Source: Pinterest)
และในขณะที่เธอกำลังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเหล่าอัจฉริยะของโลก ในปารีส ภรรยาของ Paul ก็เจอจดหมายรักที่ Marie และ Paul เขียนโต้ตอบกัน เธอตัดสินใจเอาจดหมายเหล่านั้นไปให้นักข่าว และจดหมายบางส่วนก็ถูกตีพิมพ์ Marie Curie กลายมาเป็นผู้หญิงต่างชาติที่ทำลายสถาบันครอบครัวอันดีงาม แถมตอนนี้เธอกับ Paul ยังแอบหนีไปเบลเยี่ยมด้วยกันสองคนอีกด้วย (ซึ่งจริง ๆ คือไปประชุมสัมมนา)
เมื่อเธอเดินทางกลับมายังปารีส เธอพบว่ามีกลุ่มคนที่โกรธแค้นล้อมรอบบ้านเธออยู่ เธอโดนขู่ โดนถ่มน้ำลายใส่ เพื่อนนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ของเธอเริ่มถอยห่าง จนสุดท้ายเธอกับลูกสาวต้องย้ายไปอยู่ที่บ้านเพื่อนเป็นการชั่วคราว ว่ากันว่าเรื่องของ Marie Curie กับ Paul Langevine เป็นข่าวที่โด่งดังที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากข่าวเรื่องการขโมยภาพ Mona Lisa เลยทีเดียว
Marie Curie และ Paul Langevin อยู่ด้านหน้า (Source: Pinterest)
แม้จะโดนนักข่าวรุมเร้า และผู้คนก่นด่า ก็ยังมีคนคอยให้กำลังใจเธอมากมาย โดยเฉพาะ Albert Einstein ที่เขียนจดหมายมาหาเธอ พร้อมบอกว่าให้เธอไม่ต้องไปใส่ใจกับเสียงนกเสียงกาทั้งหลาย และเธอก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
1
ในปีเดียวกันเธอได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นสาขาเคมีในฐานะที่เธอเป็นผู้ค้นพบธาตุ Polonium และ Radium รวมถึงการที่เธอสามารถสกัดเอา Radium บริสุทธิ์ออกมาได้ และเป็นคนแรกที่ศึกษาวิจัยถึงคุณสมบัติของธาตุชนิดนี้
ภาพวาดของ Marie Curie กับธาตุ Radium (Source: mariecurie.co.uk)
จริง ๆ แล้วมีการเสนอชื่อเธอก่อนหน้าที่ข่าวฉาวนี้จะเกิดขึ้น และทางสถาบันต้องการที่จะถอดถอนชื่อเธอออก แต่เนื่องจากมีการประกาศชื่อเธอออกไปแล้ว ทางสถาบันจึงให้ทางเลือกเธอ 2 ทาง ทางแรกคือให้เธอไม่เดินทางมารับรางวัลนี้ หรือทางที่สองคือให้เธอปฏิเสธรางวัลนี้จนกว่าข่าวของเธอจะสงบลง
Marie Curie ไม่เลือกทั้งสองทาง เธอเลือกที่จะเดินทางไปรับรางวัลด้วยตนเองพร้อมกับกล่าวสัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ฉันได้มาเพราะฉันเป็นผู้ค้นพบ Polonium และ Radium ผลงานทางวิทยาศาสตร์และชีวิตส่วนตัวของฉัน ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และเรื่องราวข่าวฉาวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตส่วนตัว ไม่ควรที่จะส่งผลต่อคุณค่าของผลงานทางวิทยาศาสตร์ใดใดทั้งสิ้น”
ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ กล่าวถึงการที่ Marie Curie ได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่ 2 ในสาขาเคมี (Source: Pinterest)
ภายในงานเธอเดินขึ้นไปรับรางวัลจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชา Gustav ของสวีเดนด้วยตนเอง และรางวัลโนเบลในครั้งนี้ ทำให้เธอคือคนหนึ่งในสี่คนของโลก จนถึงปัจจุบันที่ได้รับรางวัลโนเบลสองครั้ง และเธอเป็นเพียงหนึ่งในสองคนที่ได้รับรางวัลโนเบลสองครั้ง ในสาขาที่แตกต่างกัน นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาก สำหรับผู้หญิงต่างชาติคนหนึ่งที่มักโดนคนดูถูกดูแคลนอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ข่าวฉาวในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเธออย่างรุนแรง เธอประสบกับภาวะเครียด และเธอทำงานอย่างหนักจนเป็นลมอยู่หลายครั้ง ในบันทึกของเธอมีการกล่าวไว้ว่า เธออยากจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีไปจากโลกอันแสนวุ่นวายนี้
1
Marie Curie (Source: Pinterest)
ในขณะเดียวกันสุขภาพของเธอก็ย่ำแย่ลงจากการทำงานหนัก เธอต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดไต และต้องใช้เวลากว่า 1 ปี ในการรักษาภาวะความเครียดและให้สุขภาพของเธอกลับมาดีดังเดิม
มีเรื่องเล่าว่าในช่วงที่เธอกำลังพักฟื้นนั้น Albert Einstein เดินทางมาเยี่ยมเธอ และทั้งสองพร้อมกับลูก ๆ ของเธอตัดสินใจออกไปเดินเขากัน ปรากฏว่าเด็ก ๆ ต้องคอยช่วยเหลือทั้งสองคนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากทั้งคู่มักจะเดินคุยกันอย่างเพลิดเพลิน แล้วตกลงไปตามหลุมบ่อต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ
2
และในที่สุดหลังจากรอคอยมานานแสนนานสถาบัน Radium Institute ก็เปิดตัวในปี 1914 สถานที่ที่เธอต้องการจะให้เป็นอนุสรณ์กับสามีผู้ล่วงลับ เธอลงทุนปลูกดอกไม้รอบ ๆ สถาบันให้บานทันวันเปิดตัวของสถาบันอันเป็นที่รักอย่างสวยงาม
Marie Curie และ Albert Einstein กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน (Source: Pinterest)
ฮีโร่ลับแห่งสงครามโลกครั้งที่ 1
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ไม่ยอมให้เธอจมจ่อมอยู่กับความเครียดได้นานนัก เพราะหลังจากที่มกุฎราชกุมาร Franz Ferdinand โดนลอบสังหาร สงครามโลกครั้งที่ 1 จึงอุบัติขึ้น ผู้คนต่างทำทุกทางเพื่อหนีสงคราม รวมถึงรัฐบาลฝรั่งเศสที่รีบเก็บข้าวของย้ายฐานปฏิบัติการไปอยู่ที่เมือง Bordeaux ทางตะวันตกสุดของประเทศ
ในขณะที่ทุกคนต่างหนีออกจากปารีส Marie Curie ไม่ใช่หนึ่งในนั้น ในช่วงสงครามการทดลองทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากผู้ชายทุกคนต่างก็ถูกดึงตัวไปเป็นทหาร รัฐบาลของฝรั่งเศสต้องหันมาใส่ใจกับการทำสงคราม ดังนั้นเธอจึงคิดหาวิธีที่จะช่วยเหลือรัฐบาล และปกป้องสถาบัน Radium Institute ที่เพิ่งเปิดตัวได้เพียง 1 เดือน
สถาบัน Radium Institute เปิดตัวในปี 1914 (Source: Wikipedia)
ในช่วงต้นของสงคราม ทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกมาขอรับบริจาคสิ่งของมีค่า เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนในการซื้ออาวุธยุโธปกรณ์ต่าง ๆ Marie ตัดสินใจที่จะบริจาคเหรียญรางวัลโนเบลของเธอที่ทำจากทองแท้ (ซึ่งเธอกล่าวไว้ว่า "ไร้ประโยชน์" สำหรับเธอ) แต่ทางรัฐบาลปฏิเสธ เธอจึงใช้เงินที่เธอได้รับจากรางวัลโนเบลส่วนหนึ่งในการซื้อพันธบัตรสงครามแทน
1
หลังจากที่เธอส่งลูกสาวคนเล็กไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษแล้ว เธอนำ Radium 1 กรัมที่เธอมี ไปเก็บไว้ในตู้เซฟที่เมือง Bordeaux เพราะถ้าปราศจาก Radium สถาบัน Radium Institute ก็คงไม่มีความหมายอันใด จากนั้นเธอเดินทางกลับมายังปารีส และเธอพบว่ามีทหารหลายคนที่เดินทางกลับจากแนวหน้าต้องโดนตัดแขนหรือขาทิ้ง โดยที่ไม่มีความจำเป็น
Marie และ Irene Curie ลูกสาวของเธอ ทำงานตั้งหน่วย X-Ray ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ (Source: Pinterest)
ปัญหาหลักอยู่ที่แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ากระสุน หรือเศษระเบิดนั้นฝังอยู่ที่บริเวณไหนในตัวของผู้บาดเจ็บ และถ้าเวลายิ่งผ่านไปนาน แผลก็จะเกิดการเน่า นำไปสู่ความจำเป็นในการตัดแขนขาในที่สุด ดังนั้นเธอจึงได้ไอเดียที่จะนำเครื่อง X-Ray ไปติดตั้งไว้ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ แต่เมื่อเธอไปขอเงินทุนจากรัฐบาล ปรากฏว่าคำขอของเธอกลับถูกปฏิเสธ ทำให้เธอต้องไประดมทุนจากองค์กรการกุศลต่าง ๆ แทน
2
เธอเรียนรู้เรื่องการฉายรังสี กายวิภาค และเริ่มทำการติดตั้งเครื่อง X-Ray ไว้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในกรุงปารีส และเมืองใหญ่ทั่วฝรั่งเศสกว่า 300 แห่ง พร้อมทั้งฝึกผู้หญิงมากมาย ให้รู้จักการใช้เครื่อง X-Ray
2
Marie Curie สอนนักศึกษาแพทย์ให้รู้จักวิธีการใช้งานเครื่อง X-Ray (Source: Pinterest)
หลังจากติดตั้งเครื่อง X-Ray ในโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้ว เธอก็มีความคิดเพิ่มเติม เธอรู้สึกว่าถ้าหากมีเครื่อง X-Ray ในบริเวณแนวหน้า จะทำให้การรักษาชีวิตของผู้บาดเจ็บมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เธอได้ทำการจัดตั้งหน่วย X-Ray เคลื่อนที่หน่วยแรกของโลกขึ้น โดยเธอนำเครื่อง X-Ray มาใส่ไว้ในรถ และต่อตัวเครื่องกับแบตเตอรี่ เพื่อให้เกิดการปั่นไฟ นี่จึงเป็นครั้งแรกในโลก ที่เครื่อง X-Ray สามารถเข้าไปยังแนวหน้าของการรบได้ โดยหน่วยรถเคลื่อนที่เหล่านี้มีชื่อเล่นว่า Petites Curies หรือ Little Curie และรถทั้งหมดได้รับการบริจาคมาจากผู้หญิงชั้นสูงของฝรั่งเศสทั้งสิ้น
3
รถของหน่วย Petite Curie (Source: Pinterest)
ในตอนแรกเธอได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์เพียงคนเดียว และลูกสาวคนโตของเธอ Irene หลังจากนั้นเธอเริ่มฝึกหญิงสาวอาสาสมัคร 20 คน จากนั้นก็เพิ่มเป็น 200 คน และพวกเธอก็กระจายกันไปทำงานในหน่วย Petite Curie และโรงพยาบาลสนามอื่น ๆ
ตัวของ Marie เองก็เรียนทั้งการขับรถและการซ่อมรถ และเป็นหนึ่งในคนที่ขับรถในหน่วย Petite Curie หลายครั้งที่รถของเธอต้องขับเข้าไปใกล้กับดินแดนของศัตรู และรถของเธอคว่ำ แต่เธอก็สามารถซ่อมรถ และขับรถต่อเข้าไปยังแนวหน้าอย่างกล้าหาญ
หลายครั้งที่ Marie Curie จะเป็นผู้ขับรถเข้าไปในสนามรบด้วยตัวของเธอเอง (Source: wikipedia)
ในปี 1915 หลังจากที่ฝรั่งเศสเริ่มมีที่ท่าว่าจะชนะสงคราม เธอเดินทางกลับไปยังเมือง Bourdeux เพื่อไปนำ Radium ที่เธอฝากไว้กลับมา แล้วเริ่มขบวนการในการผลิตก๊าซ Radon ซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยที่มีน้ำหนักเยอะที่สุดในโลก เธอนำก๊าซเหล่านี้เก็บเอาไว้ในกระเปาะเล็ก ๆ แล้วส่งไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อนำไปรักษาแผลติดเชื้อ เพราะคุณสมบัติของ Radon สามารถช่วยทำความสะอาดแผลได้นั่นเอง (เท่าที่อ่านมาปัจจุบันไม่มีการใช้แล้วนะครับ)
1
ว่ากันว่ามีทหารกว่า 1 ล้านคนที่ได้ใช้บริการเครื่อง X-Ray ของเธอ และหน่วย Petite Curie และก๊าซ Radon จาก Radium 1 กรัมของเธอนั้น น่าจะช่วยชีวิตของทหารได้มากมายนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว
1
หน่วยบริการ Petite Curie (Source: Twitter)
มุ่งหน้าสู่อเมริกา
ในปี 1918 สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง โปแลนด์กลายมาเป็นประเทศเอกราช นำความยินดีมาสู่ตัวเธอเป็นอย่างมาก ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสนั้นกลับไม่ให้อะไรเธอเลย แม้กระทั่งคำชมเชย แต่เธอก็ไม่สนใจกับสิ่งไร้สาระเหล่านี้ และเธอก็ทำการทดลองของเธอต่อทันที
Marie Curie กับการทำการทดลองของเธอ (Source: Pinterest)
ทุกเช้าเธอจะไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย หรือถ้าไม่มีสอน เธอก็จะไปยังสถาบัน Radium Institute เพื่อไปช่วยนักเรียนของเธอในการทดลองต่าง ๆ เธอจะคอยตอบคำถามและอธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้กับนักเรียนของเธออย่างใจเย็น พร้อม ๆ กับทำการทดลองของเธอไปด้วยในเวลาเดียวกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่เธอเกลียดที่สุดคือ การระดมทุน เธอเคยกล่าวว่าการระดมทุนเป็นสิ่งที่เสียเวลา เพราะเธออยากจะเอาเวลาพวกนั้นมาทำการทดลองต่าง ๆ มากกว่า
อีกสิ่งที่เธอไม่ชอบก็คือ นักข่าว ซึ่งก็ไม่แปลกนักเพราะพวกเขาคือกลุ่มคนที่ทำให้ชีวิตเธอเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และเธอก็ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ต่าง ๆ แทบจะทุกครั้งที่มีคนขอ
แต่มีอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เธอยอมให้สัมภาษณ์ นักข่าวคนนั้นเป็นนักข่าวหญิงชาวอเมริกันนามว่า William Brown Meloney ว่ากันว่าที่ Marie ยอมให้เธอสัมภาษณ์นั้นเป็นเพราะว่า Meloney เป็นผู้หญิงที่มาจากครอบครัวยากจนในชนบท แต่เธอก็ใช้ความสามารถของเธอไต่เต้าจนกลายมาเป็นหนึ่งในนักข่าวที่เก่งที่สุดของอเมริกานั่นเอง
William Brown Meloney (ซ้ายสุด) พร้อมกับ Marie Curie และลูกสาวทั้งสองของเธอ ตอนที่ Marie เดินทางมายังอเมริกา (Source: Pinterest)
ในระหว่างการสัมภาษณ์ Meloney ถาม Marie ว่าสิ่งที่เธอต้องการมากที่สุดคืออะไร Marie กล่าวว่าเธออยากได้ Radium เพิ่มอีก 1 กรัมเท่านั้น เพื่อที่การทดลองของเธอจะได้รุดหน้าไปได้เร็วขึ้น ในตอนนั้นทั่วโลกมี Radium บริสุทธิ์อยู่ 104 กรัม 50 กรัมอยู่ที่อเมริกา แต่ในฝรั่งเศสประเทศที่ค้นพบ Radium กลับมี Radium เพียง 1 กรัมเท่านั้น
Meloney จึงมีความคิดที่จะระดมทุน เพื่อที่จะซื้อ Radium 1 กรัมให้กับ Marie ซึ่งราคาของ Radium 1 กรัมในตอนนั้นมีมูลค่ากว่า 1 ล้านดอลล่าร์ในจำนวนเงินปัจจุบัน แต่ Meloney ในฐานะนักข่าวมือฉมังก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงได้เป็นอย่างดี เธอบอกว่าการระดมทุนครั้งนี้เป็นมากกว่าการซื้อ Radium แต่มันคือการระดมทุนเพื่อช่วยการวิจัยทางการแพทย์เพื่อนำ Radium ไปประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง และประโยชน์ทางการแพทย์อื่น ๆ และ Marie Curie เองก็แก่ตัวลงทุกวัน ถ้าหากเธอเสียชีวิตไป การวิจัยอาจจะต้องใช้เวลานานขึ้นไปอีก
องค์กรสตรีต่าง ๆ ในอเมริกาไม่ว่าจะเป็น Woman of America ไปจนถึงหน่วยเนตรนารีในเมืองเล็ก ๆ ต่างระดมทุนกันอย่างขมักเขม้น และจัดตั้ง Marie Curie Radium Fund ขึ้น จนในที่สุด Meloney ก็สามารถระดุมทุนได้ และ Marie Curie ก็ได้รับคำเชิญให้เดินทางมายังอเมริกา เพื่อมารับ Radium ของเธอ
Marie Curie เมื่อเธอเดินทางไปมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Source:
Marie พร้อมกับลูกสาวทั้งสอง เดินทางไปยังเมืองสำคัญต่าง ๆ ของอเมริกา เพื่อบรรยายตามมหาวิทยาลัย แต่สุขภาพของ Marie นั้นกลับไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการเดินทางนัก เธอมักจะดูเหนื่อยล้าตลอดเวลา อาการตาต้อของเธอเริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ รวมถึงไตของเธอก็ทำงานได้ไม่ดีนัก หลายปีกับการคลุกคลีอยู่กับกัมมันตรังสี เริ่มส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเธอแล้ว
ในที่สุดหลังจากการเดินทางจบลง เธอได้รับเชิญไปยังทำเนียบขาวเพื่อรับ Radium 1 กรัมจากมือของประธานาธิบดี Warren G. Harding ด้วยตัวของเธอเอง Marie กล่าวว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เธอดีใจมาก และนอกจาก Radium แล้ว เธอยังได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมากจากสหรัฐอเมริกา
1
Marie Curie และ ประธานาธิบดี Warren G. Harding (Source: Pinterest)
ต่อมาในปี 1922 เธอได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม International Committee on Intellectual Cooperation ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อจะระดมทุนให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีเงินทุนวิจัย และเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ที่นี้เองที่เธอได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากมาย และยังได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ International Atomic Weight Committee ด้วย
ในปี 1925 เธอเดินทางไปยังโปแลนด์ บ้านเกิดที่เธอรัก เพื่อเข้าร่วมพิธีวางเสาเข็มให้กับสถาบัน Warsaw Radium Institute และเป็นครั้งแรกที่เธอได้มีโอกาสบรรยายเรื่องของกัมมันตภาพรังสีให้กับผู้ฟังในภาษาโปลิช ภาษาที่เธอรักและแสนภูมิใจ
Marie Curie ปลูกต้นไม้ต้นแรกที่สถาบัน Warsaw Radium Institute (Source: https://www.thegreenjournal.com)
เธอเดินทางไปอเมริกาอีกครั้งในปี 1929 เพื่อไปรับ Radium เพิ่มอีก 1 กรัม ว่ากันว่าในครั้งนี้เธอได้มีโอกาสเดินทางไปยัง Chicago ที่มีผู้อพยพชาวโปแลนด์เยอะมาก และเธอก็ได้รับการต้อนรับราวกับเป็นดาราเลยทีเดียว
ในปี 1932 สถาบัน Warsaw Radium Institute ก็เปิดประตูต้อนรับนักวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก โดยมีพี่สาวของ Marie เป็นผู้บริหาร ส่วนสถาบัน Radium Institute ที่กรุงปารีสนั้นเธอก็ให้ลูกสาวของเธอ Irene เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้บริหารต่อ ซึ่ง Irene และสามีของเธอก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1935 สำหรับความสำเร็จในการสร้าง กัมมันตภาพรังสีเทียมในเวลาต่อมา เรียกได้ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นจริง ๆ และแม้ Marie จะเสียชีวิตไปก่อนที่ทั้งสองจะเดินทางไปรับรางวัล แต่เธอก็อยู่ทันตอนที่ทั้งสองได้รับการเสนอชื่อ นำความปลื้มปิติมาสู่เธอเป็นอย่างมาก
Irene และสามีของเธอ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1935 (Source: Britannica)
Radium คุณอนันต์ โทษมหันต์
ในขณะที่เธอกำลังเดินทางทั่วอเมริกานั้น ธุรกิจ Radium กลายมาเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาลโดยเฉพาะในอเมริกาที่มีการผลิต Radium ในระดับอุตสาหกรรม ในขณะนั้นผู้คนยังไม่รู้จักคุณสมบัติของธาตุชนิดนี้มากนัก ทุกคนรู้เพียงแต่ว่าธาตุชนิดนี้สามารถเรืองแสงอ่อน ๆ ได้ นี่เองที่ทำเกิดความเชื่อแปลก ๆ ขึ้นมากมาย และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยาสีฟัน Radium น้ำ Radium รวมไปถึงครีมทาผิวที่มีส่วนผสมของ Radium โดยหลายบริษัทต่างโฆษณาว่า Radium มีคุณสมบัติในการฆ่าเซลล์ร้ายต่าง ๆ และทำให้ร่างกายแข็งแรง แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการพิสูจน์ถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ตาม
ช้อคโกแลต Radium หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ Radium ถูกนำไปใช้ (Source: https://www.businessinsider.com)
ที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของ Radium Girl ที่ทำงานในโรงงานของ US Radium Cooperation โรงงานแห่งนี้จะทำอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถเรืองแสงได้ในเวลากลางคืนเช่นเข็มนาฬิกา หน้าปัดเครื่องบิน หรือหน้าปัดของอาวุธต่าง ๆ แต่เนื่องจากของเหล่านี้มีขนาดเล็กมาก เหล่าสาวโรงงานเลยต้องนำแปรงจุ่มลงไปในของเหลวที่มีส่วนผสมของ Radium จากนั้นนำขนแปรงเข้าปาก เพื่อทำให้เรียวแหลม ก่อนจะค่อย ๆ ทาของเหลวนั้น ๆ ลงไปบนเข็ม หรือหน้าปัดต่าง ๆ
หลังจากนั้นไม่นาน เริ่มมีสาวโรงงานหลายคน มีปัญหาในช่องปาก เช่นฟันที่อยู่ ๆ ก็หลุดออกมา รวมถึงแผลพุพองต่าง ๆ ในปาก จนในที่สุดขากรรไกรของบางคนถึงกับหลุดออกมาเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าคนที่ดื่มน้ำ Radium Water หรือใช้ยาสีฟัน Radium ก็เริ่มมีอาการในลักษณะเดียวกัน
โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่มีส่วนผสมของ Radium (Source: https://www.businessinsider.com)
และนี่เองที่เป็นครั้งแรกที่มวลมนุษยชาติได้รับรู้ถึงอันตรายของกัมมันตภาพรังสี และส่งผลให้เกิดขั้นตอน และวิธีการป้องกันกัมมันตรังสีในปัจจุบันนั่นเอง
แต่ในปี 1930 ศาสตร์ในการใช้กัมมันตรังสีเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ก็เริ่มที่จะได้รับการพัฒนาขึ้น จนมาถึงในยุคปัจจุบันที่เรามีการนำธาตุกัมมันตรังสีมาใช้ในการทำคีโม เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งนั่นเอง
Radium ถูกนำมาใช้ทำให้หน้าปัดนาฬิกาเรืองแสงในสมัยก่อน ซึ่งสุดท้าย Radium ก็ถูกแบนในปี 1968  (Source: https://hiconsumption.com)
ตำนานตลอดกาล
Marie Curie เสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม 1934 ด้วยวัยเพียง 67 ปี หลังจากที่ต้องทนต่อสู้กับสุขภาพที่ย่ำแย่ลงตลอดในช่วงปีหลัง ๆ โดยสาเหตุของการเสียชีวิตของเธอคือ Aplastic Anemia ซึ่งเกิดจากการที่ไขกระดูกของเธอไม่ทำงาน ส่งผลให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดใหม่ได้ไม่เพียงพอ ซึ่งผลก็คือร่างกายของเธอจะอ่อนเพลีย และติดเชื้อได้ง่าย
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในตอนนั้น ไม่มีใครรู้ถึงอันตรายของกัมมันตภาพรังสี Marie ผู้ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับกัมมันตภาพรังสีตลอดเวลา โดยไม่ได้มีเครื่องป้องกันที่เหมาะสม ย่อมที่จะได้รับปริมาณกัมมันตรังสีแทบทุกวัน เธอพกหลอดแก้วบรรจุ Radium ไว้ในกระเป๋าของเธอ เธอเอา Radium ไว้ที่หัวเตียงของเธอเพื่อใช้เป็นไฟอ่านหนังสือ
1
Marie Curie (Source: Pinterest)
แต่จากการพิสูจน์ด้วยเครื่องไม้ครื่องมือในปัจจุบัน มีการสันนิษฐานว่าเธอน่าจะเสียชีวิตจากการที่ร่างกายของเธอได้รับรังสี X ในปริมาณมากเกินไปมากกว่า ในช่วงที่เธอทำงานในสงครามโลกครั้งที่ 1 เรียกได้ว่าเธอได้สละชีวิตตนเอง เพื่อช่วยเหลือชีวิตทหารนับล้านคน
ร่างของเธอถูกฝังไว้ในสุสาน เคียงข้าง Pierre Curie สามีที่รักของเธอ และอีก 60 ปีต่อมาในปี 1995 รัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจย้ายร่างของทั้งสองมาฝังที่ Paris Pantheon ซึ่งเป็นที่ฝังศพของคนสำคัญของฝรั่งเศสกว่า 70 คน ร่างของทั้งคู่ต้องถูกฝังในโลงศพที่ทำจากตะกั่วเพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี รวมถึงรายงานการทดลองต่าง ๆ ของทั้งสองก็ถูกเก็บไว้ในกล่องตะกั่ว เพราะมีการตรวจพบสารกัมมันรังสีในปริมาณมาก และในปัจจุบัน ถ้าใครต้องการจะดูรายงานเหล่านี้ จะต้องมีการขออนุญาต และสวมเครื่องมือป้องกันที่แน่นหนา
สมุดบันทึกของ Marie Curie ยังคงมีสารกัมมันตรังสีหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน (Source: blog.bir.org.uk)
หลังจากเธอเสียชีวิตไป มีหนังสือเกี่ยวกับเธอหลายเล่มได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือหนังสือที่ลูกสาวคนที่สองของเธอ Eve เป็นผู้แต่ง มีรูปปั้น Marie Curie อยู่ในสถานที่หลายแห่งเช่นที่ปารีสและวอร์ซอว์ โรงพยาบาลและโรงเรียนหลายแห่งได้รับการตั้งชื่อตามเธอ รวมถึงมีสถานใต้ดินในกรุงปารีสที่ได้รับการตั้งชื่อว่า Pierre et Marie Curie แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือมีการตั้งชื่อดอกกุหลาบพันธุ์หนึ่งว่า Marie Curie เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีหลังจากที่เธอเสียชีวิต
ดอกกุหลาบ Marie Curie มีสีส้มอมชมพู เป็นดอกกุหลาบที่มีความสวยงาม และบานตลอดช่วงฤดูร้อน และที่สำคัญทนต่อสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี ก็คงเหมือนกับเธอที่อดทนเพื่อความสำเร็จและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง
กุหลาบ Marie Curie (Source: wikipedia)
Marie Curie คือหนึ่งในอัจฉริยะ ที่นำความเปลี่ยนแปลงมาให้กับโลกของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ การค้นพบของเธอเปลี่ยนความเชื่อพื้นฐานของฟิสิกส์ในเรื่องของอะตอม ส่งผลให้เกิดการต่อยอดที่นำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะในสาขาเกี่ยวกับนิวเคลียร์ฟิสิกส์
ในส่วนของเคมี ธาตุชนิดใหม่ที่เธอและ Pierre ค้นพบ แม้จะพรากชีวิตไปหลายชีวิต แต่ก็ถูกนำมาดัดแปลงเพื่อใช้ในการรักษาหลายชีวิตเช่นกัน การทำคีโมเพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งในปัจจุบันจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่มีการค้นพบของ Marie Curie
1
Pierre และ Marie Curie คู่รักนักวิทยาศาสตร์ในช่วงที่ทั้งคู่ไป Honeymoon (Source: Pinterest)
เธอยังเป็นตัวอย่างของผู้หญิงที่สามารถเอาชนะอคติ และการโดนดูถูกได้เป็นอย่างดี เธอไม่เคยท้อแท้เวลาโดนปฏิเสธ หรือโดนเหยียดหยามว่าเป็นผู้หญิงต่างชาติ แต่เธอพิสูจน์ฝีมือด้วยการทำให้คนอื่นเห็นแทน ซึ่งการที่เธอได้รับรางวัลและคำชื่นชมต่าง ๆ มากมาย รวมถึงรางวัลโนเบลก็เป็นหลักฐานได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้เธอยังเป็นตัวอย่างของนักวิทยาศาสตร์ที่อุทิศตนเองเพื่อวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เธอ และ Pierre ไม่จดลิขสิทธิ์ Radium ทำให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จาก Radium ได้อย่างเสรี เธอบริจาคเงินรางวัลต่าง ๆ ให้กับองค์กรต่าง ๆ ซึ่งคงไม่มีใครจะสรุปชีวิตของเธอไปได้ดีกว่าเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ของเธอ Albert Einstein ที่กล่าวไว้ว่า “เธอคือผู้หญิงคนเดียว ที่ชื่อเสียงทำอะไรเธอไม่ได้เลย”
1
Marie Curie และห้องแลปที่เธอรัก (Source: Pinterest)
จบกันไปแล้วนะครับ กับเรื่องราวของ Marie Curie หวังว่าทุกคนคงจะชอบกันนะครับ ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาไปรู้จักกับชีวิตของใครอีก อย่าลืมติดตามกันนะครับ
Podcast
The History Chicks EP74-75 "Marie Curie"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา