14 พ.ค. 2021 เวลา 13:20 • ประวัติศาสตร์
Imelda Marcos: จากนางงาม สู่การโกงระดับจักรวาล ตอนที่ 1
1
ฟิลิปปินส์ ประเทศพันเกาะ เพื่อนบ้านของไทย อาจเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของความสวยงามของท้องทะเล ชายหาด และเมืองหลวงที่แสนวุ่นวาย แต่ถ้านึกถึงคนดังของฟิลิปปินส์ ทุกคนจะนึกถึงใครกันบ้างครับ
1
หลายคนอาจจะนึกถึง Catriona Grey ที่ชนะการประกวด Miss Universe ในปี 2018 ที่จัดที่ประเทศไทย หรือนางงามคนอื่น ๆ เพราะประเทศนี้เป็นประเทศที่บ้านางงามขั้นสุด หรือบางคนก็อาจจะนึกถึงประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่มีนโยบายประหารชีวิตผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรืออาจจะเป็น Manny Pacquiao นักมวยชื่อดังระดับโลกของฟิลิปปินส์
2
แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วงปี 1970 - 1980 มีบุคคล 2 คนจากฟิลิปปินส์ที่โด่งดังไปทั่วโลก ทั้งสองเป็นคู่สามีภรรยาที่มีอิทธิพลสูงสุดของประเทศ พวกเขาร่ำรวยมหาศาลจากการเป็นเจ้าของธุรกิจมากมาย และมีชื่อในกินเนสบุ๊คว่า ทั้งคู่คือคนที่ยักยอกเงินจากคลังของรัฐบาลไปเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก พวกเขาคือ Ferdinand Marcos และ Imelda Marcos ประธานาธิบดี และสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงปี 1965-1985
1
ถ้าให้พูดถึงทั้งสอง คงจะจบกันไม่ได้ง่าย ๆ นะครับ เพราะฉะนั้นครั้งนี้ผมจะมาเล่าเรื่องของ Imelda Marcos ให้ฟังกัน มาดูกันว่าเรื่องราวของเธอจะสนุก และน่าสนใจแค่ไหน แต่บอกได้คำเดียวว่าการกระทำต่าง ๆ ของเธอนั้น ถึงกับทำให้มีการบัญญัติคำศัพท์ใหม่ในพจนานุกรมเลยทีเดียว
Imelda Marcos (Source: Pinterest)
ชีวิตวัยเด็ก
Imelda มีชื่อเต็มว่า Imelda Remedios Visitacion Romualdez เธอเกิดวันที่ 2 กรกฎาคม 1929 ในกรุงมะนิลา พ่อของเธอคือ Vicente Orestes Romualdez มีอาชีพเป็นทนายความ ส่วนแม่ของเธอคือ Remedios Trinidad ภรรยาคนที่ 2 ของ Vicente โดย Imelda เป็นลูกคนที่ 6 ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 11 คน
Imelda ในวัยเด็ก (Source: https://filipiknow.net/interesting-facts-about-imelda-marcos)
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าตระกูล Romualdez เป็นตระกูลนักการเมืองท้องถิ่นของเมือง Leyte ดังนั้นเธอจึงเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี และคนหลายคนจากตระกูลของเธอก็มีตำแหน่งในรัฐบาล
อย่างไรก็ตามในช่วงปี 1931 ครอบครัวของเธอประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้พ่อและแม่ของเธอแยกทางกัน โดยแม่ของเธอตัดสินใจไปบวชชีในสำนักชีแห่งหนึ่ง แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็กลับมาคืนดีกัน
แต่ปัญหาเมียหลวงเมียน้อย เป็นปัญหาโลกแตกที่ยังไงก็แก้ไม่ตก ดังนั้นแม่ของเธอและตัวเธอจึงต้องย้ายจากบ้านหลังใหญ่ของตระกูล Romualdez ไปอยู่ในโรงรถแทน เพื่อนบ้านของเธอเล่าว่าโรงรถนั้นทั้งคับแคบและอับชื้น แตกต่างจากบรรยากาศในบ้านหลังใหญ่เป็นอย่างมาก
Imelda สมัยเป็นวัยรุ่น (Source: https://mekeniman.blogspot.com/2018)
ในช่วงประถม เธอเข้าเรียนที่โรงเรียน Holy Infant Academy และเธอมักจะถูกเพื่อน ๆ ล้อถึงความจนของเธอ และเธอมักจะโดนทวงค่าเทอมเป็นประจำ เนื่องจากพ่อของเธอไม่มีเงินจ่าย สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สาวน้อย Imelda รู้สึกว่าเธอจะต้องมีชีวิตที่ดีกว่านี้ให้ได้
1
ต่อมาในปี 1938 แม่ของเธอเสียชีวิตลงด้วยโรคปอดบวม ส่วนภาวะทางการเงินของพ่อเธอก็ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายพ่อของเธอตัดสินใจย้ายจากมะนิลา ไปยังเมือง Tacloban และเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนต่อ
1
Imelda มีฉายาว่า Rose of Tacloban เพราะหน้าตาที่สะสวยของเธอ (Source: https://www.facebook.com/836272103205025/posts/the-rose-of-taclobanmiss-manilaimelda-romualdez-marcos/843983089100593)
แต่ด้วยความเป็นคนทะเยอทะยาน ในที่สุดเธอก็ได้เข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา และได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนดีเด่น และมีผลการเรียนดีมากจนกระทั่งจบการศึกษาในปี 1948
1
จากนั้น Imelda เข้าเรียนต่อในคณะศึกษาศาสตร์ ที่วิทยาลัย St. Paul ที่นี่เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานนักเรียนแบบแทบจะไม่มีคู่แข่ง
Imelda ตอนเรียนจบจากคณะศึกษาศาสตร์ (Source: https://persons-info.com/persons/MARKOS_Imelda_Romualdes#connections)
กลับสู่เมืองกรุง และการประกวดนางงาม
หลังเรียนจบในปี 1952 Imelda เดินทางกลับมามะนิลา ครั้งนี้เธอมาพักอาศัยอยู่กับญาติของพ่อเธอ Daniel Romualdez ซึ่งมีตำแหน่งเป็นโฆษกของสภาผู้แทนราษฎรโดยฐานะของเธอในบ้านนั้น “สูงกว่าคนใช้ แต่ต่ำต้อยกว่าคนในบ้าน” และเพื่อจะหาเงินค่าขนม เธอสมัครเข้าทำงานในร้านขายแผ่นเสียงแห่งหนึ่ง
1
เมื่อเรื่องนี้เดินทางไปถึงหูของ Vicente พ่อของเธอ เขาโกรธมาก และโทรมาต่อว่าญาติของเขาทันที ส่งผลให้ Daniel ต้องรีบใช้เส้นสายที่ตนเองมีหางานให้เธอ ซึ่งสุดท้าย เธอก็ได้เข้าทำงานในธนาคารกลางของฟิลิปปินส์
Imelda หลังเรียนจบ แล้วย้่ายเข้ามาอยู่ในมะนิลา กับญาติของเธอ (Source: https://persons-info.com/persons/MARKOS_Imelda_Romualdes#connections)
ในช่วงนี้นี่เอง ลูกพี่ลูกน้องของเธอแนะนำให้เธอได้รู้จักกับ Adoracion Reyes ผู้อำนวยการของคณะดนตรีของ Philippines Woman University และหลังจากที่เธอร้องเพลงให้ Reyes ฟัง Imelda ก็ได้รับทุนให้เข้าเรียนต่อทันที และสิ่งนี้เองที่เป็นตัวจุดประกายในการร้องเพลงของ Imelda ซึ่งทุกที่ที่เธอไป เธอมักจะร้องเพลงขับกล่อมฝูงชนที่มาฟังเธอเสมอ
ในปี 1953 มีการจัดประกวด Miss Manila ขึ้น และ Imelda Marcos คือหนึ่งในผู้ประกวดที่เป็นตัวเต็ง ด้วยความสูง 170 ซม. ใบหน้าคมสวย ทำให้เธอดูสง่ากว่าผู้เข้าแข่งขันคนอื่น แต่ผลปรากฏว่าเธอกลับได้เพียงรองอันดับหนึ่ง แน่นอน Imelda ไม่ยอมรับผลการตัดสินในครั้งนี้ และเธอประท้วงกองประกวดจนกระทั่งทางกอง ต้องรีบหาตำแหน่งอีกตำแหน่งให้กับเธอ โดยให้ชื่อตำแหน่งนั้นว่า Muse of Manila หรือ “เทพธิดาแห่งมะนิลา” และทั้งเธอ และผู้ที่ได้ครองมงกุฎก็ได้เป็นตัวแทนเขตมะนิลา ไปประกวดในเวที Miss Philippines ซึ่งเธอแพ้และไม่ได้รับรางวัลใดใดเลย ครั้งนี้ไม่มีการประท้วงจากเธอแต่อย่างใด
3
ข่าวการเปลี่ยนผลการตัดสินของ Miss Manila เป็นข่าวดังในสมัยนั้น (Source: facebook.com)
รักนิรันดร์
ในวันที่ 6 เมษายน 1954 วันเปลี่ยนชะตาของ Imelda ก็มาถึง Ferdinand Marcos ตัวแทนของพรรคฝ่ายค้านเดินทางมายังรัฐสภา เพื่อฟังการชี้แจงเรื่องงบประมาณ ส่วน Imelda ก็เดินทางมาหา Daniel ญาติของเธอ
ในช่วงพัก ปรากฏว่า Marcos หันมาพบกับหญิงสาวสวยคนหนึ่งที่เขาคุ้นหน้าจากหนังสือพิมพ์มาก่อน เขานึกออกทันทีว่าสาวสวยคนนี้คือ Imelda และเขาตกหลุมรักเธอเข้าอย่างจัง แต่ Imelda กลับแทบไม่รู้จัก Ferdinand เลยด้วยซ้ำ เธอรู้เพียงแค่ว่า เขาคือตัวแทนคนหนึ่งจากฝ่ายค้าน
1
Imelda Marcos ตอนอายุ 25 ปี (Source: Pinterest)
Marcos หลังจากปรึกษากับเพื่อนนักข่าวของเขา และพบว่า เขาสูงกว่า Imelda 1 เซนติเมตรพอดิบพอดี เลยเริ่มทำการจีบเธอทันที เขาขอให้เพื่อนนักข่าวช่วยเป็นพ่อสื่อให้และทั้งคู่ก็ได้ทำความรู้จักกัน แต่ปัญหาคือเขามีภรรยาอยู่แล้ว เธอมาจากครอบครัวนักการเมือง และยังมีลูกกับเขาแล้วถึง 3 คนอีกต่างหาก
ไม่นานหลังจากนั้น Marcos เริ่มมาเยี่ยม Imelda ที่บ้าน และเขาชวนเธอไปเดทในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลอีสเตอร์ที่กำลังจะมาถึง แต่เธอบอกว่าเธอมีแผนที่จะไปพักผ่อนในเมืองอื่นอยู่แล้ว เขาและเพื่อนนักข่าวของเขาจึงถือโอกาสนี้ทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถพา Imelda ไปส่ง และตัดสินใจนอนพักที่เมืองนั้นตลอดเวลาที่ Imelda อยู่ซะเลย ทุก ๆ วันเขาจะเดินทางมาหาเธอที่บ้านพัก พร้อมกับช่อดอกไม้สด หรือของขวัญต่าง ๆ มากมาย และพยายามขอเธอแต่งงานทุกครั้งที่สบโอกาส
3
Imelda และ Ferdinand Marcos (Source: Pinterest)
หลังจากการปฏิเสธอยู่หลายครั้ง ในวันที่ 16 เมษายน 10 วันหลังจากที่ทั้งคู่พบกันเป็นครั้งแรก เพื่อนนักข่าวของ Marcos ถาม Imelda ในขณะที่กำลังสนทนากับเธอว่า วันหนึ่งเธออยากจะเป็น “สตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์” หรือไม่ เพราะถ้าอยาก Marcos จะทำให้ความฝันของเธอเป็นจริง ในวันนั้น Imelda ตัดสินใจตอบตกลงแต่งงานกับ Marcos และในวันที่ 17 เมษายน ทั้งคู่ก็จดทะเบียนสมรสกัน รวมเวลาทั้งหมด 11 วันหลังจากที่ทั้งคู่พบกันครั้งแรก
4
การแต่งงานของทั้งคู่ถูกจัดขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคมในปีเดียวกัน หลังจากที่ Marcos ทำการสู่ขอ Imelda อย่างเป็นทางการ ส่วนภรรยาเก่าของ Marcos ก็ได้รับเงินก้อนโต และชื่อของเธอก็ค่อย ๆ จางหายไปจากความทรงจำของประชาชนในที่สุด
งานแต่งงานของ Ferdinand และ Imelda Marcos (Source: https://www.nytimes.com/2012/10/07/opinion/sunday/imelda-marcos-the-steel-butterfly-still-soars.html)
ความฝันที่เป็นจริง
Imelda เริ่มต้นชีวิตการเป็นภรรยานักการเมือง ด้วยการใช้สเน่ห์และความสามารถของเธอในการหว่านล้อม และทำแคมเปญต่าง ๆ จนในที่สุด Marcos ก็ได้รับการโหวตจากสมาชิกพรรค Nacionalista ให้เป็นตัวแทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1965 ที่กำลังจะมาถึง
ในปี 1965 Imelda Marcos เป็นส่วนสำคัญในการทำแคมเปญหาเสียงให้กับสามีของเธอ ในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (Source: https://outlet.historicimages.com/products/rsd37715)
ว่ากันว่าจริง ๆ แล้วก่อนหน้าปี 1965 Imelda ต้องถูกส่งตัวไปรักษาอาการทางจิตที่อเมริกา เนื่องจากเธอเกิดภาวะเครียดอย่างหนักจากงานและความกดดันต่าง ๆ ทางการเมือง ซึ่งในตอนนั้น Ferdinand เคยกล่าวกับเธอว่า เขาจะเลิกเล่นการเมืองถ้าเธอต้องการ แต่ Imelda เข้าใจว่าความฝันของสามีเธอคือการเป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปนส์ ดังนั้นเธอเลยตัดสินใจกัดฟันสู้ จนหายจากภาวะเครียดในที่สุด แต่เราจะมาดูกันว่าเธอมีวิธีการรับมือกับความเครียดเหล่านี้ได้อย่างไร
1
ในช่วงของการหาเสียง Imelda ช่วยสามีของเธออย่างเต็มที่ และด้วยความที่เธอเป็นคนสวย มีสเน่ห์ และเคยเป็นถึงนางงาม ทำให้ผู้คนมากมายต่างชื่นชอบเธอ ว่ากันว่าผู้คนมักจะอยากมาฟัง Marcos ปราศรัย เพราะอยากจะพบเจอกับ “Imelda ภรรยาคนสวยของ Marcos” และในระหว่างการปราศรัย สิ่งที่เธอมักจะทำเป็นประจำก็คือ การร้องเพลง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของเธอกลายเป็นคนที่เข้าถึงง่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มคนยากจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศฟิลิปปินส์
3
Ferdinand  Marcos และ Imelda Marcos ในช่วงการหาเสียงปี 1965 (Source: Pinterest)
ฝ่ายการตลาดของ Marcos ผนวก Imelda เข้าไปในการประชาสัมพันธ์แคมเปญต่าง ๆ เธอได้รับคำแนะนำให้แต่งตัวให้สวยที่สุดทุกครั้งเวลาเธอเดินทางไปหาเสียงเคียงข้างกับสามี และเธอมักจะสวมใส่ชุดที่เรียกว่า Terno ซึ่งเป็นชุดประจำชาติของหญิงฟิลิปปินส์ ที่มีลักษณะเด่นคือ ปีกเสื้อบริเวณไหล่จะมีการยกสูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสง่าให้กับผู้สวมใส่ และสุดท้ายชุด Terno ก็กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเธอ ที่เธอมักจะใส่ไปทั่วโลกเวลาพบปะกับผู้นำต่างชาติ
ในช่วงเวลานี้เองที่เธอเริ่มโปรโมทตนเองโดยการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งเธอบอกว่าเธอรู้สึกเหมือนกับเป็น “ผีเสื้อที่กำลังค่อย ๆ ออกมาจากดักแด้” ด้วยเหตุนี้เองประกอบกับเสื้อ Terno ที่มีปีกสูง ทำให้เธอได้รับฉายาว่า “The Iron Butterfly : ผีเสื้อเหล็ก” จากสื่อมวลชน
5
สุดท้ายแล้ว Marcos ก็ชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงชนะคู่แข่งไป 1 ล้านเสียง และ Marcos ก็กล่าวอย่างภูมิใจว่าผลโหวต 1 ล้านโหวตนี้ เป็นเพราะความช่วยเหลือของ Imelda
2
ชุด Terno ชุดประจำชาติของสตรีฟิลิปปินส์ ที่ Imelda Marcos มักจะสวมใส่ทุกครั้งเวลาไปงานสังคม (Source: Pinterest)
ชีวิตของสตรีหมายเลขหนึ่ง
พิธีสาบานตนถูกจัดขึ้นในวันที่ 30 ธันวาคม 1965 และของขวัญปีใหม้่ปีนั้นของเธอก็คือการได้เธอได้เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์ ตามที่สามีของเธอเคยสัญญากับเธอไว้นั่นเอง
1
ครอบครัว Marcos ในบรรยากาศชนะการเลือกตั้งปี 1965 (Source: Pinterest)
แต่ปัญหาแรกที่เธอพบคือ ตระกูล Ramualdez ของเธอนั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย มีผู้ที่สนับสนุนและต่อต้านสามีของเธอ Imelda จึงถือโอกาสนี้ เชิญสมาชิกทุกคนของตระกูลมารวมตัวกัน เพื่อทำพิธีมิสซา และรับประทานอาหารค่ำร่วมกันที่พระราชวัง Malacanang ที่อยู่ของประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ และในที่สุดตระกูล Ramualdez ก็กลายมาเป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรค Nacionalista ภารกิจแรกของเธอสำเร็จลงอย่างสวยงาม
1
ในช่วงแรกของการเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง เธอทำงานทุกอย่างตามธรรมเนียมที่สตรีหมายเลขหนึ่งพึงกระทำ เธออยู่เคียงข้างสามีของเธอในงานพิธีต่าง ๆ เธอไปเป็นตัวแทนสามีของเธอในการเปิดตึก อนุสาวรีย์ และเป็นเจ้าภาพจัดงานการกุศลต่าง ๆ มากมาย แต่ด้วยความที่เธอเป็นคนทะเยอทะยาน เธอมีความรู้สึกว่าเธออยากที่จะเป็นมากกว่านั้น เธอไม่อยากเป็นเพียงเครื่องประดับชิ้นหนึ่ง แต่เธออยากเป็นผู้ช่วย คู่คิด และทำงานไปพร้อม ๆ กับสามีของเธอ
3
Imelda Marcos กับบทบาทสตรีหมายเลขหนึ่ง ในช่วงแรก ๆ (Source: wikipedia)
โปรเจคเริ่มมา เงินตราเริ่มไหล
ในปี 1966 Ferdinand Marcos มีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติฟิลิปปินสขึ้น และ Imelda ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่จะจัดการแสดง โปรโมท และสนับสนุนวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์
1
Imelda Marcos หน้าศูนย์วัฒนาธรรมแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Source: https://wheatoncollege.blog/on-campus-announcements/provost/marcos-romance-cultural-center-philippines-melodrama-philippine-cultural-policy-19651986)
หลังเข้ารับตำแหน่ง Imelda ทำโครงการต่าง ๆ มากมาย เริ่มจากการบูรณะสวนสาธารณะ Paco และป้อม Santiago มรดกโลกของฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองที่ใช้งบประมาณไปมากถึง 25 ล้านเปโซ หรือประมาณ 8.3 ล้านดอลล่าร์ (มีค่าเท่ากับ 51 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน)
1
จากนั้นเธอใช้งบประมาณอีก 12 ล้านเปโซ ในการก่อตั้งหมู่บ้านสงเคราะห์ขึ้นสำหรับผู้ยากไร้ ทำให้เกิดหมู่บ้านต่าง ๆ ตามหัวเมืองใหญ่ และยังทำโครงการ “Share for Progress” ซึ่งเป็นโครงการแจกจ่ายเมล็ดผักไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ให้นำไปปลูกเพื่อรับประทานกันในครัวเรือน
1
Imelda Marcos (Source: Pinterest)
สตรีสีน้ำเงิน “The Blue Ladies”
1
สตรีสีน้ำเงิน เป็นชื่อของกลุ่มผู้หญิง ที่อยู่ล้อมรอบตัวของ Imelda พวกเธอก็คือเหล่าภรรยาของนักการเมืองพรรค Nacionalista และสาวในวงสังคมไฮโซของฟิลิปปินส์ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ติดตาม และทำทุกอย่างที่ Imelda ขอร้องให้ทำ พวกเธอมีส่วนอย่างมากในการหาเสียงของ Marcos ตั้งแต่การจัดแคมเปญ จัดงานการกุศล วางแผนการเยี่ยมชมโรงงาน และประชาชนในเขตสลัม
2
Imelda Marcos และกลุ่ม The Blue Ladies (Source: https://lifestyleasia.onemega.com/love-letter-grandmother-blue-lady)
แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติการหาเสียงในตอนนั้นคือมีการซื้อโฆษณาในโทรทัศน์และวิทยุท้องถิ่น ซึ่งงบประมาณต่่าง ๆ นั้น ก็ได้มาจากการช่วยเหลือของเหล่าบรรดา Blue Ladies นี้เอง
4
ต่อมาตลอดช่วงเวลาการบริหารประเทศของ Marcos กลุ่ม Blue Ladies กลายมาเป็นกลุ่มสตรีที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในฟิลิปปินส์ ถ้าใครอยากจะให้ประธานาธิบดี Marcos ทำอะไรให้ ก็จะเข้าหาทางกลุ่ม Blue Ladies ซึ่งจะไปกระซิบบอก Imelda ซึ่งก็จะไปกระซิบบอกสามีของเธออีกที นอกจากนี้พวกเธอยังคอยติดตาม Imelda เวลาเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และช่วยเหลือเธอในการทำธุรกรรมทุกอย่าง และคำว่า “ทุกอย่าง” ในที่นี้ แน่นอนว่ามีทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี
2
Imelda Marcos และเหล่าสตรีสีน้ำเงิน ที่จะติดตามเธอไปในทุกที่ (Source: flickr.com)
4 เต่าทอง เกือบไม่รอด
มาถึงเรื่องฉาวระดับโลกเรื่องแรกของ Imelda กันบ้าง ในวันที่ 3 กรกฎาคม 1966 เวลา 16.30 น. เครื่องบินของสายการบิน Cathay Pacific ร่อนลงจอดที่สนามบินนานาชาติมะนิลา พร้อมกับผู้โดยสาร 4 คนที่เป็นสมาชิกของวงดนตรีชื่อดังระดับโลก พวกเขาคือ The Beatles ที่เดินทางมาฟิลิปปินส์ เพื่อเปิดคอนเสิร์ต ว่ากันว่าการต้อนรับนั้นยิ่งใหญ่พอพอกับตอนที่ประธานาธิบดี Eisenhower ของอเมริกาเดินทางมาเยือนฟิลิปปินส์เลยทีเดียว สมาชิกคนหนึ่งของ The Beatles ถึงกับเอ่ยปากออกมาว่า ประเทศฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในภาวะสงครามหรือเปล่า เพราะมีทหารถือปืนอยู่เต็มไปหมด
2
วง The Beatles เดินทางมาถึงมะนิลา ท่ามกลางการคุ้มกันอย่างแน่นหนา (Source: https://www.esquiremag.ph)
จากสนามบิน พวกเขาถูกพาขึ้นรถของทหาร แต่แทนที่จะพาไปโรงแรม พวกเขากลับถูกพาไปขึ้นเรือยอร์ชของเศรษฐีคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนสนิทของ Marcos เพราะลูกชายของเขาต้องการจะจัด Party สุดหรูบนเรือกับเพื่อน ๆ และอยากได้ The Beatles มาเป็นแขก แน่นอนทางทีมงานของ The Beatles นั้นไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย และกว่าพวกเขาจะกลับมาถึงโรงแรมก็เป็นเวลาตีสี่แล้ว
2
รุ่งเช้าเป็นวันแสดงคอนเสิร์ต แต่สมาชิกของวงศ์กลับถูกปลุกขึ้นมาในตอนสาย ให้ไปร่วมงานปาร์ตี้ที่พระราชวัง Malacanang หลังจากงงกันอยู่พักใหญ่ทุกคนจึงทราบเรื่องว่า Imelda ได้มีการประกาศว่าจะมีวง The Beatles มาแสดงที่พระราชวังตอนบ่ายในงาน Party ส่วนตัวที่เธอจัดขึ้น แน่นอนว่าไม่มีสมาชิกของวงคนใด หรือแม้แต่ผู้จัดการของวงรู้เรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย และพวกเขาก็ปฏิเสธที่จะเดินทางไปยังงานปาร์ตี้ในครั้งนี้
โปสเตอร์โฆษณาการมาเยือนของ The Beatles ในมะนิลา (Source: Pinterest)
ปรากฏว่า Imelda ตัดสินใจเรียกสำนักข่าวมาทำข่าวที่พระราชวัง ซึ่งภาพที่ออกมานั้นเป็นภาพของที่นั่งว่างเปล่า และเด็ก ๆ ที่กำลังร้องไห้ด้วยความเสียใจ และเธอก็ให้สัมภาษณ์ว่าเธอรู้สึกผิดหวังมากที่ The Beatles ปฏิเสธที่จะมาร่วมงานที่เธอจัดขึ้น
เย็นวันนั้น The Beatles ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตถึง 2 ครั้งต่อหน้าผู้ชมกว่า 80,000 หมื่นคนที่สนามกีฬาแห่งชาติ และในระหว่างการแสดงผู้จัดการวงได้แถลงข่าวถึงสาเหตุที่วงปฏิเสธที่จะไปร่วมงานปาร์ตี้ของ Imelda แต่ทุกอย่างสายไปเสียแล้ว พลังของ Imelda นั่นยิ่งใหญ่กว่าที่ใครคาดคิด หลังจากคอนเสิร์ตจบและวง The Beatles เดินทางถึงโรงแรม เริ่มมีจดหมายขู่ฆ่าพวกเขา เพราะพวกเขาบังอาจทำให้สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศต้องอับอาย
4
การแสดงคอนเสิร์ตของวง The Beatles ในกรุงมะนิลา (Source: https://www.esquiremag.ph)
ในวันรุ่งขึ้น The Beatles ต้องเดินทางต่อไปยังประเทศอินเดีย ผลปรากฏว่าความช่วยเหลือจากรัฐบาลทุกอย่างถูกถอดออกทั้งหมด ไม่มีคนมาช่วยยกกระเป๋า ไม่มีใครช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายโรงแรม คนขับรถที่พาพวกเขาไปสนามบินขับรถวนไปวนมาในมะนิลา จนทำให้ผู้จัดการวงต้องโทรไปสายการบินให้ดีเลย์เวลาออก เพื่อรอพวกเขา
4
เมื่อเดินทางถึงสนามบิน ทุกคนต้องหิ้วกระเป๋าเอง แม้แต่บันไดเลื่อนยังถูกปิดไม่ให้พวกเขาได้ใช้บริการ บริเวณรอบอาคารสนามบินมีกลุ่มคนที่โกรธแค้นมาล้อมรอบและตะโกนก่นด่าพวกเขาที่บังอาจทำให้ Imelda ต้องขายหน้า และหลังจากที่ทุกคนขึ้นเครื่องแล้ว ยังมีตำรวจมาลากตัวผู้จัดการวงลงไป เพื่อให้จ่ายเงินค่าภาษีอีก เรียกได้ว่ากว่าที่ทั้งคณะจะเดินทางออกมาได้นั้นเรียกว่าทุลักทุเลเอาการเลยทีเดียว ถึงขนาดที่มือกลองของวง Ringo Starr บอกว่า “เหตุการณ์ในมะนิลาคือเหตุการณ์ที่น่ากลัวที่สุดที่เขาเคยเจอตั้งแต่เกิดมา” ส่วน John Lennon ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า "มีหลายเรื่องที่เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับฟิลิปปินส์ อย่างแรกคือการหนีออกมาจากที่นั่นให้เร็วที่สุด"
7
สุดท้ายแล้ว The Beatles เกือบจะไม่ได้ออกมาจากมะนิลา เพราะทำให้ Imelda ต้อง "ผิดหวัง" และทุกคนต้องหิ้วสัมภาระเองโดยไม่มีใครช่วยเหลือ (Source: https://www.esquiremag.ph)
ซื้อตั๋วขึ้น Air Force One
อีกอย่างที่ Imelda มีชื่อเสียงมากคือ เธอมักจะเป็นตัวแทนของสามีเพื่อเดินทางไปพบกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เริ่มจากในปี 1966 เธอเดินทางไปพบกับประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ผู้มอบเงินจำนวน 28 ล้านดอลล่าร์เป็นค่าปฏิกรรมสงคราม และมอบเงินอีก 3.5 ล้านดอลล่าร์ เพื่อเป็นเงินสนับสนุนในการสร้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติฟิลิปปินส์ขึ้น
1
Imelda Marcos และประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ในการเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการของสามีภรรยา Marcos ในปี 1966 (Source: wikipedia)
ในวันเปิดตัวศูนย์นั้น มีการจัดงานกาล่าอย่างยิ่งใหญ่ มีการเชิญประธานาธิบดี Richard Nixon ให้มาร่วมงาน แต่ทาง Nixon ตัดสินใจส่งผู้ว่าการของรัฐแคลิฟอร์เนีย Ronald Reagan มาแทน เรื่องเด็ดก็คือ Reagan ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องบินของประธานาธิบดี หรือ Air Force One ในการเดินทางได้ และ Imelda ก็พยายามที่จะซื้อ “ตั๋ว” ให้กับนักแสดงหรือดาราที่มีชื่อเสียงบางคน ให้ขึ้น Air Force One มาพร้อมกับ Reagan ซึ่งแน่นอนว่าเธอทำไม่สำเร็จ
4
แต่สิ่งที่เธอทำสำเร็จคือ ครอบครัว Marcos กับครอบครัว Reagan ได้มีโอกาสสร้างสัมพันธ์อันดีต่อกัน จนทำให้เมื่อ Reagan ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ทางครอบครัว Marcos จึงได้รับการช่วยเหลือจากอเมริกาค่อนข้างมาก
สามีภรรยา Marcos และประธานาธิบดี Ronald Reagan มีความสนิทสนมกัน (Source: amazon.com)
เลือกตั้งครั้งที่ 2
เมื่อครบ 4 ปี ถึงเวลาจัดการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในปี 1969 และครั้งนี้ Marcos และพรรค Nacionalista ก็ต้องการชนะอีกเช่นเคย โดยในช่วงสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาล Marcos ทุ่มเงินกว่า 50 ล้านดอลล่าร์ (400 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน) เพื่ออัพเกรดระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั่วฟิลิปปินส์ มีการวิเคราะห์ว่าทุก ๆ 1 เปโซที่คู่แข่งของเขาใช้ Marcos จะใช้เงิน 100 เปโซ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อให้ประชาชนเลือกเขาเป็นครั้งที่สองนั่นเอง
1
ภาพการหาเสียงของ Ferdinand Marcos ในปี 1969 (Source: Pinterest)
นิตยสาร Times และ Newsweek ของอเมริกากล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ โดยให้นิยามการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า 3G: Gold แจกทองเพื่อให้คนสนับสนุนและซื้อเสียง Gun ใช้ปืนเพื่อบังคับขู่เข็ญ และ Goons เล่นพรรคเล่นพวก
2
แน่นอนว่า สุดท้ายความสำเร็จก็ตกอยู่ในมือของ Marcos เขาได้รับการโหวตอย่างท่วมถ้นให้เข้ารับตำแหน่ง และกลายเป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ชนะการเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกัน
4
พิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 1969 (Source: flickr.com)
แต่เงิน 50 ล้านดอลล่าร์ที่ลงทุนไปนั้น ไม่ใช่ว่าจะสามารถเสกออกมาได้จากอากาศ เงินทั้งหมดถูกดึงมาจากคลังเงินทุนสำรองของฟิลิปปินส์จนแทบจะไม่เหลือ ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นอย่างหนัก จนสุดท้ายสิ่งแรกที่ Marcos ทำหลังเข้ารับตำแหน่ง คือการกู้เงินจาก IMF เพื่อมาหมุนในระบบเศรษฐกิจ ส่วนค่าเงินเปโซก็ถูกปล่อยให้ลอยตัว ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนกระโดดจาก 3.90 เปโซต่อดอลล่าร์ เป็น 6.46 เปโซต่อดอลล่าร์ ในชั่วข้ามคืนค่าเงินฟิลิปปินส์มีมูลค่าลดลงไปถึง 50% เลยทีเดียว
2
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง และประชาชนหลายกลุ่มเริ่มไม่พอใจในตัวรัฐบาล เริ่มมีการโจมตีรัฐบาลในสื่อสิ่งพิมพ์ และเวทีปราศรัยต่าง ๆ และ Marcos ก็มักจะใช้กำลังทางทหารในการจัดการกับบุคคลเหล่านี้
1
ข่าวฉาวข้ามโลก
มาถึงเรื่องราวสุดฉาวอีกเรื่องของ Marcos กันบ้าง ในปี 1968 ทางรัฐบาลมีแนวคิดที่จะสร้างภาพยนตร์เพื่อโปรโมท Marcos หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Propaganda Film ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ Marcos สมัยที่เป็นทหาร สู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามารุกรานฟิลิปปินส์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางความยากลำบากต่าง ๆ (ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องไม่จริง) และมีนักแสดงสาวชาวอเมริกันนามว่า Dovie Beam ได้รับเลือกให้มารับบทเป็นคนรักของ Marcos
1
Maharlika ภาพยนตร์ "พันล้าน" ที่ฟิลิปปินส์ที่สร้างขึ้นเพื่อโปรโมทตัว Ferdinand Marcos นำแสดงโดยนักแสดงเกรด C จากอเมริกา Dovie Beams (Source: http://jronaldmyork.com)
ปรากฏว่านางเอกในจอ ดันกลายเป็นนางเอกนอกจอด้วย เพราะตั้งแต่ปี 1968 ทั้งคู่เริ่มมีสัมพันธ์ลับ ๆ กัน เวลาที่ Imelda เดินทางไปท่องเที่ยว หรือไปพบปะกับผู้นำต่าง ๆ ในต่างประเทศ โดยที่ความสัมพันธ์นี้ดำเนินไปนานถึง 2 ปี
1
ในที่สุด เมื่อความลับเริ่มถูกเปิดเผยในวงแคบ ๆ เธอเริ่มได้รับจดหมายคุกคามมากมาย เธอจึงตัดสินใจจัดงานแถลงข่าว และปล่อยคลิปเสียงที่ทั้งสองกำลังคุยกัน และมีเพศสัมพันธ์กันออกสู่สาธารณชนในปี 1971 นำความอับอายมาสู่คู่สามีภรรยา Marcos เป็นอย่างมาก
2
ประธานาธิบดี Ferdinand Marcos และดาราสาว Dovie Beams (Source: https://www.esquiremag.ph)
ที่เด็ดที่สุดคือ กลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านการปกครองของ Marcos เอาเทปเสียงนี้ไปเปิดวนลูปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยตอนที่พวกเขาคัดมานั้นคือตอนที่ Marcos กำลังขอให้ Dovie ทำ Oral Sex ให้กับเขานั่นเอง
6
แต่สำหรับ Imelda นั้น แม้จะอับอายขายหน้าถึงขั้นสุด แต่เธอก็ใช้ประโยชน์จากความเจ้าชู้ของสามีเธอในครั้งนี้ เธอเริ่มใช้เรื่องฉาวระหว่างเขา กับ Dovie เป็นข้ออ้างในการทำโครงการต่าง ๆ และเริ่มที่จะเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดผีเสื้อเหล็กก็พร้อมที่จะโบยบินอย่างเต็มที่แล้ว
3
ห้อง Music Room ของ Imelda ในพระราชวัง Malacanang ที่เธอใช้ต้อนรับแขก กลายมาเป็นสถานที่ที่นักการเมือง หรือนักธุรกิจที่ต้องการขอความช่วยเหลือ หรือ “สิทธิพิเศษ” จากรัฐบาล Marcos จะต้องมาเยี่ยมเยียน และถ้าหากมีคำสั่งใดที่บอกว่า คำสั่งนั้นมาจากห้อง Music Room นั่นหมายความว่าคำสั่งนั้น มาจากสตรีหมายเลขหนึ่ง Imelda Marcos นั่นเอง
1
ห้อง Music Room ในพระราชวัง Malacanang ที่ใช้เป็นที่รับแขกของ Imelda Marcos (Source: http://malacanang.gov.ph)
โดนข้อกล่าวหาครั้งแรก และการแท้งทิพย์
อย่างไรก็ตาม โอกาสยังไม่ได้เอื้ออำนวยเธอมากนัก ในเดือนพฤษภาคม 1972 ส.ส. จากเมือง Leyte กล่าวหา Imelda และพรรคพวกอีก 13 คนว่าให้เงินสินบนกับสมาชิกสภาบางคน เพื่อให้โหวตเห็นชอบกับข้อกฎหมายที่กล่าวว่า คนคนเดิมสามารถเป็นประธานาธิบดีได้สองสมัยติดต่อกัน (กฎเก่าของประเทศฟิลิปปินส์คือ ประธานาธิบดี 1 คน จะทำงานได้เพียง 1 เทอมเท่านั้น และกฎนี้ถูกแก้ในสมัยของประธานาธิบดี Marcos)
1
หลังจากโดนข้อกล่าวหานี้ไป ประกอบกับเรื่องฉาวของสามีเธอ และการเดินประท้วงต่อต้านรัฐบาลในเมืองใหญ่ทั่วฟิลิปปินส์ Imelda ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเธอแท้งลูก จนในที่สุดศาลก็ยกฟ้องเธอในข้อกล่าวหาเรื่องสินบน แต่สุดท้ายผลปรากฏว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เธอแต่งขึ้นมา เพื่อให้ศาลเกิดความเห็นใจเท่านั้น
2
การประท้วงของกลุ่มนักศึกษาในช่วงปี 1970 (Source: twitter.com)
กฎอัยการศึก
ในปี 1972 เกิดการประท้วงขึ้นเป็นวงกว้างจนเเริ่มที่จะเอาไม่อยู่ เศรษฐกิจประสบภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก เริ่มมีข่าวหนาหูว่ามีผู้มีอิทธิพลหลายคนกำลังวางแผนก่อรัฐประหาร และลอบฆ่าประธานาธิบดี คะแนนนิยมของ Marcos ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว และตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนกันยายน 1972 มีการก่อการร้ายเกิดขึ้นกว่า 20 ครั้ง โดยครั้งที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นที่ Plaza Miranda จัตุรัสใจกลางกรุงมะนิลา ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงของพรรคเสรีนิยม โดยในระหว่างหาเสียงนั้นคนร้ายได้โยนระเบิดมือ 2 ลูกเข้าไปในฝูงชน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และหนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 5 ขวบ และสมาชิกของพรรคหลายคนก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งในปัจจุบันก็ยังหาผู้กระทำผิดไม่ได้
5
เหตุคนร้ายปาระเบิดมือใส่ผู้ปราศรัยที่ Plaza Miranda (Source: flickr.com)
แต่ที่น่าสนใจคือ การก่อการร้ายกว่า 20 ครั้งที่เกิดขึ้น มีหลายครั้งที่การสืบสวนของ CIA ของอเมริกาพบว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็คือ ประธานาธิบดี Ferdinand Marcos นั่นเอง เพราะเขาต้องการที่จะใช้การก่อความไม่สงบเหล่านี้ เป็นข้ออ้างในการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งจะทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำแบบเบ็ดเสร็จได้นั่นเอง
และในที่สุดในวันที่ 5 กันยายน 1972 ผู้ว่าการกระทรวงท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพในการจัดงานเลี้ยง โดยเชิญนักข่าวต่างประเทศทั้งหมดมาร่วมงาน และ Imelda ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยถึงความสำคัญของประชาธิปไตย และการที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันยับยั้งระบอบคอมมิวนิสต์
2
การประท้วงในช่วงปี 1970 ที่เริ่มบานปลายจนรัฐบาลเริ่มที่จะเอาไม่อยู่ (Source: https://www.esquiremag.ph)
และในค่ำวันนั้น มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ Ferdinand Marcos กล่าวว่ากฎอัยการศึกครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดความสงบสุข ขจัดปัญหาอาชญากรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และขจัดการคอรัปชั่นให้หมดสิ้น ส่วน Imelda กล่าวว่ากฎอัยการศึกในครั้งนี้คือ “กฎอัยการศึกที่มาพร้อมกับรอยยิ้ม”
สื่อทุกอย่างถูกจำกัด หนังสือพิมพ์ 14 ฉบับจาก 15 ฉบับถูกปิดตัวลง สถานีโทรทัศน์และวิทยุถูกควบคุม นักศึกษา นักเคลื่อนไหว และนักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนถูกจับเข้าคุก หรือถูกทรมานอย่างสาหัส และฟิลิปปินส์ก็เข้าสู่ยุคมืดที่ทุกอย่างถูกปิดกั้น และการเห็นต่างกับรัฐบาลเป็นเรื่องต้องห้าม
1
วันที่ 5 กันยายน 1972 ประธานาธิบดี Ferdinand Marcos ประกาศกฎอัยการศึกที่กินเวลายาวนานถึง 14 ปี (Source: emaze.com)
มีเรื่องราวของนักเคลื่อนไหวหญิงคนหนึ่งจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Kingsmaker ซึ่งเป็นสารคดีที่เกี่ยวข้องกับ Imelda Marcos เธอให้สัมภาษณ์ว่าเธอถูกจับ แล้วพาเข้าไปในห้องห้องหนึ่งเพื่อทำการสอบสวน เธอถูกสั่งให้เปลือยกายต่อหน้าเหล่าทหารชาย และเธอกลัวมากว่าจะโดนรุมข่มขืน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทหารคนนึงเอานิ้วมือสอดเข้าไปในอวัยวะเพศของเธอ เพื่อที่จะดูว่าเธอซ่อนอะไรเอาไว้รึป่าว เธอเจ็บมาก แต่แล้วอยู่ ๆ ทหารเหล่านั้นก็ถูกเรียกตัวออกไป
4
เธอถูกทิ้งไว้ในห้องเพียงลำพัง แต่แทนที่เธอจะลุกขึ้น เธอบอกว่าเธอไม่มีแรง เธอทรุดตัวลงแล้วนั่งร้องไห้ เพราะเธอไม่อยากจะเชื่อเลยว่า นี่คือสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงกระทำกับมนุษย์อีกคนหนึ่งได้ นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของเรื่องราวในตอนนั้น ตอนที่สิทธิมนุษยชนของชาวฟิลิปปินส์ถูกย่ำยีไม่มีชิ้นดี
1
ภาพของผู้ประท้วงโดนทหารทำร้าย ในช่วงการประกาศกฎอับการศึก (Source: rappler.com)
นอกจากนี้ในสารคดียังมีการสัมภาษณ์นักวิชาการบางคนที่บอกว่า ถ้าเวลาคุณโดนกระทำอะไร คุณก็จะไปหาตำรวจ แต่นี่พวกตำรวจเป็นผู้กระทำความผิดซะเอง แล้วคุณจะหันไปพึ่งใครหละ
ภาพการ์ตูนล้อเลียนของความโหดร้ายในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก (Source: pinoyartist.com)
โครงการไหลมาอีกครั้ง
1
ในเมื่อสามีของเธอกลายเป็นผู้นำแบบเบ็ดเสร็จ Imelda จึงสามารถทำทุกอย่างได้ตามใจปรารถนา เธอใช้เงินงบประมาณประเทศไปกับการจับจ่ายใช้สอยส่วนตัว รวมไปถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างทั่วมะนิลา และจัดงานเทศกาลต่าง ๆ โดยเธออ้างว่าทุกอย่างที่เธอทำก็เพื่อให้มะนิลา กลายเป็นเมืองทันสมัยระดับโลก ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ในสลัม
5
เนื่องจากเธอเคยเป็นนางงามมาก่อน ในปี 1974 เธอเลยตัดสินใจให้ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพในการจัดการประกวด Miss Universe งบประมาณมากมายถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงทัศนียภาพรอบ ๆ มะนิลา และเมืองที่เหล่าสาวงามไปเก็บตัว และเธอสั่งให้มีการสร้างอาคาร Folk Art Theatre ขึ้นมาใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ในเวลาเพียง 3 เดือน และถ้าใครไปดูคลิบการประกวดในครั้งนี้ จะเห็นเลยว่าผู้ชมต่างก็ใช้กระดาษพัดโบกดับความร้อนกันถ้วนหน้า เพราะสถานที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ “อากาศอันสดชื่นของมะนิลาได้พัดผ่านถ่ายเทอย่างสะดวก” ซึ่งคนสร้างอาจจะลืมนึกไปว่า อากาศของฟิลิปปินส์นั้นเป็นอากาศแบบร้อนชื้นตลอดแทบทั้งปี
4
Imelda Marcos และสาวงามผู้เข้าประกวด Miss Universe ปี 1974 ในปีนั้นผู้ชนะเป็นสาวงามจากประเทศสเปน (Source: Pinterest)
โครงการต่อมาที่เธอทำคือ Green Revolution ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชให้ชาวบ้านไปปลูกนั่นเอง ตามมาด้วยโครงการวางแผนครอบครัว และโครงการ NutriBun โครงการแจกจ่ายขนมปังให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นขนมปังที่ได้รับเงินสนับสนุนจากอเมริกา แต่ผลสุดท้ายปรากฎว่ามีการลดคุณภาพของส่วนประกอบ ทำให้สารอาหารที่ควรจะได้ต่อก้อนลดลง และที่สำคัญคือ ทางนักเรียนต้องซื้ออีกต่างหาก ยกเว้นคนที่ได้รับการเลือกแล้วว่ายากจนจริง ๆ
5
โครงการ Nutribun หนึ่งในโครงการอื้อฉาวของสองสามีภรรยา Marcos (Source: https://malaya.com.ph/index.php/news_news/marcos-propaganda-in-a-time-of-plague)
ผูกมิตรกับต่างชาติ
อีกเรื่องที่เมื่อพูดถึง Imelda Marcos จะไม่พูดถึงไม่ได้คือการที่เธอมักจะเป็นตัวแทนสามี ไปพบปะกับผู้นำต่าง ๆ ทั่วโลก (ว่ากันว่าตัว Marcos เอง จะพยายามอยู่ในพระราชวัง Malacanang ให้มากที่สุด เพราะเขาเชื่อว่ามีคนร้ายจากฝั่งคอมมิวนิสต์ พยายามลอบสังหารเขาอยู่) เธอเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสพบปะกับผู้นำจากฝั่งเสรีนิยมอย่างอเมริกา และฝั่งผู้นำจากประเทศคอมมิวนิสต์หลายประเทศ
เริ่มจากในปี 1972 เธอเดินทางไปพบกับผู้นำของสหภาพโซเวียต จุดประสงค์ของการเดินทางในครั้งนี้คือเพื่อเป็นการ “แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” แต่จริง ๆ แล้วเธอคือผู้เจรจากับผู้นำโซเวียต และทำให้ทั้งสองประเทศเกิดความสัมพันธ์ทางการค้ากันขึ้น และเธอเดินทางไปมอสโคว์อีกถึง 7 ครั้ง ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกคนต่างรู้ดีว่า เธอต้องการสร้างความสัมพันธ์กับโซเวียต เพื่อถ่วงดุลกับอเมริกานั่นเอง
3
Ferdinand และ Imelda Marcos เยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการในปี 1976 (Source: http://philippinediplomaticvisits.blogspot.com/2017/05/soviet-union-philippines-1976.html)
ต่อมาในปี 1975 เธอต้องการที่จะเดินทางไปยังประเทศซาอุดิอารเบีย เพื่อเข้าร่วมพิธีพระบรมศพของกษัตริย์ Faisal แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าที่ซาอุดิอารเบียนั้น สตรีจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีที่จัดขึ้นในวังถ้าไม่มีสามีเดินทางมาด้วย แต่เธอก็สามารถใช้เส้นสายจนได้รับเชิญให้เป็นสตรีต่างชาติคนแรกและคนเดียวที่ได้เข้าร่วมในพระราชพิธี
5
Imelda Marcos เข้าร่วมงานพระบรมศพของกษัตริย์ Faisal (Source: http://philippinediplomaticvisits.blogspot.com)
ในปี 1978 เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นฑูตกิตติมศักดิ์ที่สามารถเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก เธอกลายมาเป็นคนสนิทของ Richard Nixon ประธานาธิบดีของอเมริกา เธอมีโอกาสเดินทางไปพบกับ Joseph Tito ผู้นำของยูโกสลาเวีย Muammar Gaddafi ผู้นำเผด็จการของลิเบีย Fidel Castro ผู้นำของคิวบา เหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำของจีน แม้กระทั่ง Suddam Hussien ผู้นำของอิรัก เธอก็เคยไปพบมาแล้ว เรียกได้ว่าเธอน่าจะเป็นผู้หญิงที่มีโอกาสพบผู้นำของประเทศทั่วโลกมากที่สุดในยุคนั้น
5
Richard Nixon และภรรยา พร้อมกับ Imelda และ Ferdinand Marcos (Source: Pinterest)
เธอเล่าว่าทุกครั้งที่เธอไปพบปะกับเหล่าผู้นำที่มีชื่อเสียงน่ากลัว เธอจะไม่อ่านหนังสือ หรือศึกษาข้อมูลของพวกเขาไปก่อนเลย เพราะเธอต้องการใช้สัญชาตญาณส่วนตัวของเธอในการตัดสินพวกเขา โดยปราศจากอคติใดใด และเธอกล่าวว่าผู้นำหลายคนที่ทั่วโลกประนามนั้น จริง ๆ แล้วไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
4
Imelda Marcos พบกับ Suddam Hussein ผู้นำอิรัก (Source: instagram)
เรื่องราวโด่งดังระหว่างเธอกับเหล่าผู้นำนั้นมีมากมาย Fidel Castro เคยกล่าวว่า “ในชีวิตของเขานั้น เขาเคยขับรถให้กับผู้หญิงเพียง 2 คนเท่านั้น คือแม่ของเขากับมาดาม Imelda”
2
Fedel Castro ขับรถให้ Imelda Marcos ตอนที่เธอเยือนคิวบาอย่างเป็นทางการ (Source: https://newslab.philstar.com)
ภาพของเหมา เจ๋า ตุง จูบหลังมือของ Imelda ในขณะที่ศีรษะของเขาเกือบชนกับหน้าอกของเธอกลายเป็นภาพที่โด่งดังไปทั่วโลก และเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีน ยอมรับในตัวของรัฐบาล Marcos
1
ภาพประวัติศาสตร์ของท่านประธาน เหมา เจ๋อ ตุง กับ Imelda Marcos (Source: Pinterest)
แต่ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของ Muammar Gaddafi จริง ๆ แล้วภารกิจของ Imelda ในการไปพบกับ Gadaffi คือเธอต้อง “หว่านสเน่ห์” ให้ Gaddafi หยุดการสนับสนุนอาวุธและการเงินให้กลุ่มก่อการร้ายอิสลามในเกาะมินดาเนา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ และเธอก็ทำสำเร็จ เพราะในปี 1976 มีการเซ็นสนธิสัญญา Tripoli ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ และหัวหน้าของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยรัฐบาลอนุญาตให้จังหวัดบางจังหวัดในเกาะมินดาเนามีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้น ว่ากันว่าเธอพูดกับ Gaddafi ซ้ำ ๆ ว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ศาสนาแห่งความสงบ จนสุดท้ายผู้นำที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับมหาอำนาจตะวันตก ยังต้องยอมสิโรราบให้กับเธอ
5
Imelda Marcos กับ Muammar Gaddafi ผู้นำลิเบีย (Source: Pinterest)
Pest more than guest
แต่ใช่ว่าการเดินทางทุกครั้งของเธอจะได้รับการต้อนรับ เพราะในระยะหลัง ๆ เธอมักจะเดินทางโดยไม่ได้แจ้งประเทศเจ้าบ้านก่อน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เธอเดินทางไปยังทำเนียบขาว และเธอถูกห้ามไม่ให้เข้า เนื่องจากไม่มีการแจ้งว่าเธอจะมาเยือน ว่ากันว่าเธอโกรธมาก และถึงแม้เธอจะได้มีโอกาสพบกับสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา Betty Ford และมีเวลาดื่มชาด้วยกัน แต่ประธานาธิบดี Gerald Ford ซึ่งติดภารกิจอยู่ไม่สามารถมาพบเธอได้ ซึ่งเธอกล่าวในภายหลังว่าเธอรู้สึกโดนหลู่เกียรติเป็นอย่างมาก
5
Imelda Marcos ผู้ชอบไปงานสังคมต่าง ๆ โดยไม่บอกล่วงหน้า (Source:
นอกจากนี้เธอมักจะเชิญตัวเองไปงานเปิดตัว หรืองานสังคมต่าง ๆ โดยที่ไม่ได้บอกใคร และคาดหวังว่าเจ้าภาพจะต้องมารับเธอเหมือนกับเป็นราชวงศ์ ซึ่งครั้งที่โด่งดังที่สุดคือตอนที่เธอเชิญตัวเองไปร่วมงานเปิดตัว Opera House ที่ซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย ในงานนั้นสมเด็จพระราชินี Elizabeth ที่ 2 ของอังกฤษได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธี และ Imelda ก็แต่งตัวเต็มยศ พร้อมกับสวมมงกุฎบนศีรษะของเธอ แต่ในขณะที่เธอกำลังจะเดินเข้างานนั้น เธอถูกเจ้าภาพบอกว่าเธอจะไม่มีสิทธิ์เข้างานถ้าหากว่าเธอไม่ถอดมงกุฎออกซะ เพราะมีเพียงพระราชินีเท่านั้นที่จะสวมมงกุฎได้
7
การที่เธอมักจะชอบโผล่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในต่างประเทศโดยไม่ได้นัดหมายมาก่อน ทำให้เธอโดนกล่าวถึงในเอกสารทางการฑูตของอเมริกาว่าเธอคือ "Pest more than guest : เป็นวัชพืช มากกว่าเป็นแขกรับเชิญ"
3
Imelda Marcos ในงานเปิดตัว Opera House ที่ซิดนั่ย์ (Source: http://www.themcwhirtersproject.com)
จบไปแล้วนะครับ กับตอนแรกของ Imelda Marcos ในตอนนี้เธอและสามีดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศสองสมัยติดต่อกัน อีกทั้งประเทศยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกอีก ทำให้อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือทั้งสองคน
จากนางงาม สู่สตรีหมายเลขหนึ่ง ตอนนี้เธอมีทั้งอำนาจและเงินตรา ที่จะสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา เพราะการเห็นต่างกับรัฐบาลถือเป็นสิ่งต้องห้าม เงินจำนวนมากถูกใช้จ่ายไปกับการก่อสร้าง และโครงการต่าง ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัว ครั้งหน้าเราจะมาดูเรื่องอื้อฉาวอื่น ๆ ของเธอกัน และมาดูว่าชีวิตบั้นปลายของเธอเป็นอย่างไร แล้วจริงหรือป่าวที่เธอเป็นเจ้าของรองเท้ากว่า 3000 คู่
2
สามารถอ่านตอนที่ 2 ได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/609c0ff107186f191c51e3f2
1
ที่มา:
1
Podcast:
- The History Ese : "Imelda Marcos : a controversial legacy worth exploring"
- Just The Gist : "Imelda Marcos"
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา