14 พ.ค. 2021 เวลา 13:33 • ประวัติศาสตร์
Imelda Marcos : จากนางงาม สู่การโกงระดับจักรวาล ตอนที่ 2 (จบ)
2
มาถึงตอนที่ 2 กับเรื่องราวของ Imelda Marcos นะครับ มาดูกันว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจอะไรจากเธออีกบ้าง
4
สามารถติดตามตอนที่ 1 ได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/609ab9f69f53670c5b7261ee
Edifice Complex
อำนาจในการดำเนินนโยบายต่างประเทศว่ามากแล้ว อำนาจในประเทศของเธอก็มากไม่แพ้กัน ในปี 1975 เธอได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของ Metro Manila และยังได้รับตำแหน่งผู้ว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องของการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ และเธอใช้งบประมาณในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างมากมายทั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคปอด ศูนย์การแสดงสินค้านานาชาติ หอภาพยนตร์แห่งชาติฟิลิปปินส์ เป็นต้น
4
ในตอนหลังมีการนิยามอาคารต่าง ๆ ที่ Imelda สร้างว่า “Edifice Complex” ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างแบบ Brutalistic คือเน้นความใหญ่ ไม่มีการประดับประดาหรือทาสีมากนัก โดยเน้นให้ภายนอกเห็นถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจริง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้อาคารหรือตึกนั้นแข็งแรง แต่จะดูตัน และไม่สวยงาม
3
Imelda Marcos ในวันเปิดหอภาพยนตร์แห่งชาติ (Source: https://www.werewoofs.com)
เริ่มจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ที่มีการอ้างว่าได้รับเงินสนับสนุนจาก “องค์กรการกุศล” มากมาย และสุดท้ายต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 15 ล้านดอลล่าร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 50000% จากงบประมาณที่ตั้งไว้ในตอนแรก และ Imelda ก็เรียกที่นี่ว่า “ศูนย์รวมจิตวิญญาณของคนฟิลิปปินส์”
1
ต่อด้วยหอภาพยนตร์แห่งชาติฟิลิปปินส์ ที่เธอต้องการใช้เป็นสถานที่จัดงานภาพยนตร์ระดับสากล เทียบเท่ากับเทศกาลภาพยนตร์เมือง Cannes ของฝรั่งเศส แต่ด้วยเวลาจำกัด ทำให้ไม่มีการรักษาความปลอดภัยเท่าที่ควร ส่งผลให้นั่งร้านพังถล่มลงมาตอนก่อสร้าง และมีผู้เสียชีวิตหลายคน ในปัจจุบันสถานที่แห่งนี้โดนทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ว่ากันว่าเฮี้ยนที่สุดในฟิลิปปินส์
4
หอภาพยนตร์แห่งชาติฟิลิปปินส์ ที่ปัจจุบันโดนทิ้งร้าง (Source: Pinterest)
ต่อมาคือ Coconut Palace ที่เธอสร้างขึ้นเพื่อต้อนรับการมาเยือนของพระสันตะปาปา John Paul II โดยใช้วัสดุท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ทั้งหมด ซึ่งหลังจากสร้างเสร็จเธอกล่าวว่า “From now, the poor cannot build an ugly home anymore : มาถึงตอนนี้ คนจนก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะสร้างบ้านที่น่าเกลียดอีกแล้วนะ” เพราะในเมื่อเธอสามารถใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาสร้างสิ่งสวยงามได้ คนจนก็ต้องทำได้เช่นกัน
2
Coconut Palace ที่ใช้วัสดุจากต้นมะพร้าวในการก่อสร้างเป็นหลัก (Source: https://www.esquiremag.ph)
สิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงมากอีกอย่างหนึ่งคือสะพาน San Juanico สะพานที่สร้างระหว่างเกาะ Samar กับเมือง Leyte บ้านเกิดของตระกูล Imelda ที่ใช้งบประมาณสูงถึง 22 ล้านดอลล่าร์ โดยสะพานแห่งนี้มีฉายาว่า “สะพานแห่งรัก” เพราะมันคือของขวัญวันเกิดที่ Ferdinand มอบให้กับ Imelda นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนรถที่มาใช้งานนั้นน้อยมาก จนในปัจจุบันก็ยังถือว่าไม่คุ้มกับค่าก่อสร้างเลย
3
ปัญหาคืองบประมาณส่วนมากที่นำมาใช้ก่อสร้างอาคารเหล่านี้มาจากการกู้ยืมจากต่างประเทศ แต่เมื่อกู้มาแล้วก็ต้องคืน และรัฐบาลก็ไม่มีเงินคืน ทำให้สุดท้ายแล้วประเทศตกอยู่ในภาวะที่มีหนี้สินจำนวนมาก และปัญหาทางเศรษฐกิจก็ตามมาในที่สุด
3
สะพาน San Juanico (Source: https://bayangpilipinas.com)
เกาะ Calauit สวนอีเดน สู่หายนะธรรมชาติ
อีกเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบเกี่ยวกับ Imelda คือ การสร้างเกาะซาฟารี Calauit Island เรื่องมีอยู่ว่าในปี 1970 สองสามีภรรยา Marcos เดินทางไปยังประเทศเคนยา และเธอตกหลุมรักเหล่าบรรดาสัตว์แอฟริกาต่าง ๆ เป็นอย่างมาก เธออยากให้ฟิลิปปินส์มีเกาะซาฟารี ที่บรรดาสัตว์ต่าง ๆ จะสามารถอยู่อาศัยได้อย่างอิสระ
1
เมื่อภรรยาสั่ง สามีก็ต้องทำตาม ก่อนจะกลับฟิลิปปินส์ Ferdinand สั่งให้ลูกน้องของเขามอบกระเป๋าเอกสารที่เต็มไปด้วยเงินให้กับนักจับสัตว์ชาวอังกฤษ พร้อมกับมอบ “เงินช่วยเหลือ” ให้กับประธานาธิบดีเคนยา เพื่อให้ช่วย “ปรับปรุง” กฎในการส่งออกสัตว์เป็นการชั่วคราว
ยีราฟ อิมพาล่า ม้าลาย หมูป่า เนื้อทราย และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย ถูกจับใส่กรง โหลดขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ ขึ้นเรือสินค้า และเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังเกาะ Calauit ของฟิลิปปินส์ทันที
2
ยีราฟที่ถูกส่งขึ้นเรือมายังเกาะ Calauit ของฟิลิปปินส์ (Source: Pinterest)
เกาะ Calauit เป็นเกาะห่างไกล แต่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกล ก็มีชาวเกาะประมาณ 270 ครัวเรือนอาศัยอยู่ที่นี่มาหลายชั่วคนแล้ว ครอบครัวเหล่านี้ถูกย้ายออกจากเกาะในชั่วข้ามคืนด้วยความไม่เต็มใจ เพื่อเปลี่ยนเกาะแห่งนี้ให้เป็นแอฟริกาแห่งฟิลิปปินส์ตามที่สตรีหมายเลขหนึ่งต้องการ
1
เวลาผ่านไป เงินทุนที่ใช้ในการทำนุบำรุงสถานที่เริ่มร่อยหรอลง และทั้งสองก็แทบไม่มาเยือนสถานที่แห่งนี้เลย สุดท้ายเกาะนี้ก็ถูกลืมเลือนไป โดยเฉพาะหลังจากที่ตระกูล Marcos โดนขับออกจากประเทศ
ม้าลายและยีราฟบนเกาะ Calauit (Source: klook.com)
ในปัจจุบัน เกาะที่ควรจะเป็นสวรรค์แห่งอีเดน กลับกลายเป็นความหายนะทางธรรมชาติ เพราะจำนวนสัตว์ที่มีจำกัด ทำให้สัตว์ต่าง ๆ นั้นต่างผสมพันธุ์กันเองภายในสายเลือดเดียวกันยาวนานถึง 4 รุ่น ทำให้สัตว์ที่เกิดมามีปัญหาทางพันธุกรรม เช่น ยีราฟที่คอสั้นลง ม้าลายที่ลายจางลง หรือสัตว์บางชนิดที่มีหนอนไชอยู่บริเวณผิวหนัง เนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง แถมตอนนี้ครอบครัวที่เคยโดนขับไล่ไปยังเกาะอื่น ก็เริ่มที่จะกลับมาอาศัยอยู่บนเกาะอีกครั้ง ทำให้เกิดปัญหาระหว่างคนกับสัตว์อีก มีความพยายามที่จะทำให้เกาะ Calauit เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังขาดเรื่องของเงินทุนอยู่ และทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะทำอย่างไรกับสัตว์เหล่านี้ดี
5
ยีราฟบนเกาะ Calauit ที่ในปัจจุบันเริ่มจะมีคอที่สั้นลง (Source: wikipedia)
ฆาตกรรมฉาวคาสนามบิน
อีกเรื่องอื้อฉาวของ Imelda คือเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับ Benigno Aquino Jr. หรือ Ninoy Aquino หัวหน้าฝ่ายค้าน จริง ๆ แล้วว่ากันว่าทั้งคู่เคยเดทกันก่อนเป็นเวลาสั้น ๆ แต่หลังจากนั้นทั้งสองก็รู้จักกันในฐานะนักการเมือง
1
Benigno Aquino Jr. หรือ Ninoy Aquino หัวหน้าฝ่ายค้าน ที่โดนจับเข้าคุกในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก (Source: wikipedia)
เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึก Aquino โดนจับเข้าคุกทันที เพราะเขาเป็นตัวหลักในการจัดการปราศรัยต่อต้านรัฐบาล แต่ในขณะอยู่ในคุกนั้น อาการโรคหัวใจของ Aquino เกิดกำเริบขึ้น และต้องได้รับการรักษาโดยด่วน วันหนึ่งหลังจากที่ Imelda มาเข้าเยี่ยม Aquino ในฐานะ “เพื่อนเก่า” เรียบร้อยแล้ว Aquino ก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ โดยเขาต้องให้สัญญาว่าจะกลับมาฟิลิปปินส์ และจะไม่พูดถึงตระกูล Marcos ในทางเสื่อมเสียตลอดช่วงเวลาที่รักษาตัวอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
5
เมื่อ Aquino อาการดีขึ้นแล้ว เขาเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเลวร้ายของเผด็จการ Marcos ทันที และเมื่อมีคนถามถึงคำสัญญาของเขากับ Imelda เขากล่าวว่า “a pact with a devil is no pact at all : ข้อตกลงที่ทำกับปีศาจ ไม่ถือว่าเป็นข้อตกลง”
6
Benigno Aquino Jr. หรือ Ninoy Aquino (Source: https://ph.asiatatler.com)
ต่อมาในปี 1981 หกเดือนหลังจากมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก Ferdinand Marcos ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกเป็นครั้งที่ 3 แต่ด้วยสุขภาพอันย่ำแย่ของเขา ว่ากันว่าคนที่มีอำนาจสูงสุดในมือจริง ๆ แล้วก็คือ Imelda นั่นเอง
1
ในเดือนสิงหาคม 1983 Aquino ตัดสินใจเดินทางกลับมายังฟิลิปปินส์ ท่ามกลางความสับสนทางการเมือง และการขู่ฆ่าต่าง ๆ นานา แต่เขากล่าวกับสื่อว่ามันถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องกลับไปทวงความยุติธรรมคืนให้กับฟิลิปปินส์
ตอนต่อเครื่องที่ไต้หวันนั้น ทาง Aquino ได้กล่าวกับนักข่าวและช่างกล้องของเขาว่า “เตรียมถ่ายไว้ให้ดีนะ เพราะทุกอย่างจะเกิดขึ้นไวมาก ทุกอย่างอาจจะจบลงในเวลาเพียง 3-4 นาทีเท่านั้น และผมก็อาจจะไม่มีโอกาสได้คุยกับคุณอีก”
Ninoy Aquino ให้สัมภาษณ์บนเครื่องบิน (Source: youtube.com)
วันที่ 21 สิงหาคม 1983 เครื่องบินสายการบิน China Airline ลงจอดที่สนามบินมะนิลาเวลา 13.04 น. บริเวณรอบสนามบินมีทหารและหน่วยคอมมานโดกว่า 1000 นาย ถูกเกณฑ์มาให้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทันทีที่ประตูเครื่องเปิดออก มีทหารขึ้นมาคุมตัว Aquino ทันที ทั้งหมดเดินไปตามสะพานเทียบเครื่องบิน แต่แทนที่จะเดินเข้าไปในตัวอาคาร Aquino กลับถูกพาตัวลงมาทางบันได ลงมาที่บริเวณลานจอดเครื่องบินแทน หลังจากนั้นมีคนได้ยินเสียงคนตะโกนว่า “Pusila ! Pusila !” หรือ “ยิงเลย ! ยิงเลย !” และมีเสียงปืนดังขึ้นติดต่อกันหลายนัด
1
มีทหารขึ้นมาจับ Aquino ทันที หลังจากที่เครื่องบินลงจอดที่มะนิลา (Source: https://iconicphotos.wordpress.com)
หลังเสียงปืนสงบลง กล้องจับภาพชายสองคนที่นอนแน่นิ่งอยู่ที่พื้นยางมะตอยบริเวณลานจอดเครื่องบิน หนึ่งในนั้นคือ Benigno Aquino Jr. หรือ Ninoy Aquino นั่นเอง เขาโดนสังหารหลังจากเหยียบแผ่นดินฟิลิปปินส์ได้ไม่ถึง 1 นาที
Ninoy Aquino (ชุดขาว) โดนสังหารทันทีหลังเหยียบแผ่นดินฟิลิปปินส์ (Source: https://iconicphotos.wordpress.com/2009/08/01/benigno-aquino-assassination)
ทั่วโลกต่างประนามการกระทำในครั้งนี้ทันที และไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Imelda Marcos สตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์นั่นเอง เพราะตอนนั้นสามีของเธอป่วยอยู่ในโรงพยาบาลในสภาพกึ่งโคม่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีคือนักลงทุนจากต่างประเทศหมดความเชื่อมั่นรัฐบาล Marcos รวมถึงสหรัฐอเมริกา พันธมิตรอันดับ 1 ก็เริ่มที่จะตีตนออกห่าง
3
มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนหาผู้กระทำความผิดอยู่นานหลายปี มีทหารหลายนายถูกจำคุก ซึ่งหลายคนพยายามอุทธรณ์โดยกล่าวว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการสังหารครั้งนี้คือคนในตระกูล Marcos แต่ข้อกล่าวหากลับถูกปัดตกไปเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
1
ในปัจจุบันนี้ Imelda ยังคงลอยนวลและไม่ได้ถูกไต่สวนถึงการสังหารในครั้งนี้ เธอให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสื่อต่าง ๆ ว่าเธอไม่ได้เป็นคนทำ โดยเธอกล่าวว่าถ้าเธอทำก็ต้องมีหลักฐานที่ชี้มาที่ตัวเธอแล้ว ส่วนสนามบินนานาชาติมะนิลา ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Manila Ninoy Aquino International Airport ในเวลาต่อมา เพื่อเป็นเกียรติให้กับ Aquino
5
ในเวลาต่อมา ทุก ๆ วันที่ 21 สิงหาคมคือวันรำลึกถึง Ninoy Aquino (Source: https://dohephilippines.com)
ขับไล่ทรราชย์
6 เดือนหลังจากการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น และ Marcos ก็ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง และการเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยการคดโกงอีกเช่นเคย
ในช่วงปี 1980 เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ประสบปัญหาอย่างหนักจากการหดตัวของเศรษฐกิจของอเมริกา และปัญหาการเมืองในประเทศ จนรัฐบาล Marcos ไม่สามารถหาเงินจ่ายหนี้ IMF ได้ ทำให้ต้องเกิดการเจรจาผัดผ่อนหนี้ และในปี 1984-1985 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์หดตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์ถึง 7.3% อัตราการว่างงานสูงถึง 11% โครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาลก็เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น
1
การประท้วงเพื่อขับไล่เผด็จการ Marcos ในปี 1984 (Source: wsj.com)
สุดท้ายในปี 1985 เกือบ 1 ปีก่อนจะหมดเทอม หลังจากที่ทนแรงกดดันจากสังคมและนานาชาติไม่ไหว Marcos จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้คู่แข่งของเขาคือ Corazon Aquino ภรรยาม่ายของ Ninoy Aquino ที่โดนสังหารนั่นเอง
Corazon Aquino ภรรยาม่ายของ Ninoy Aquino (Source: Pinterest)
การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เหมือนกับทุกครั้ง มีการนำกระดาษผลโหวตมาสลับแทนที่ผลโหวตของคู่แข่ง มีการปรับโปรแกรมของเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผลการเลือกตั้งออกมาตามที่ Marcos ต้องการ และอื่น ๆ อีกมากมาย และเป็นอีกครั้งที่ Marcos ชนะการเลือกตั้ง
แต่การชนะในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับครั้งอื่น เพราะคนฟิลิปปินส์จะไม่ทนกับความอยุติธรรมอีกต่อไป เผด็จการ Marcos ตลอด 21 ปี จะต้องถึงจุดสิ้นสุดลงเสียที มีการประท้วงและเดินขบวนขับไล่ Marcos ทั่วมะนิลา ผู้มีอิทธิพลที่เคยเป็นฝ่ายเดียวกับ Marcos ต่างก็ย้ายฝ่ายไปอยู่กับฝั่งประชาชนจนเกิดเป็น “People Power Movement” ขึ้น
การประท้วงเพื่อขับไล่เผด็จการ Marcos ในปี 1964 (Source: wikipedia)
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ สองสามีภรรยาออกมายืนที่ระเบียงของพระราชวัง Malacanang เพื่อมารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 4 และ Imelda ก็ร้องเพลงขับกล่อมผู้สนับสนุนทุกคนเหมือนทุกครั้งที่เธอทำ
1
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1985 ทั้งสองออกมายืนปราศรัยที่ระเบียงของพระราชวัง Malacanang ก่อนจะถูกขับไล่ (Source: Pinterest)
แต่ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง Ferdinand Marcos ตัดสินใจสละตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากทนแรงกดดันของทุกฝ่ายไม่ไหว และเที่ยงคืนวันที่ 26 ครอบครัว Marcos และคณะติดตามกว่าอีก 80 คน เดินทางไปหลี้ภัยไปยังฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในที่สุดสองสามีภรรยาที่ปกครองฟิลิปปินส์มากว่า 20 ปี ก็โดนต้องหนีออกจากแผ่นดินแม่ และ Corazon Aquino ก็ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน
2
มีการรายงานจากฝ่ายกรมศุลกากรของอเมริกาว่าครอบครัว Marcos ได้นำสิ่งของมีค่ามากมายติดตัวมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินสดเป็นล้านเหรียญ อัญมณี และทองคำแท่งมากมายที่เขียนว่า “มอบให้กับสามีของฉัน ในวันครบรอบ 24 ปี” เรียกได้ว่าขนาดต้องลี้ภัย พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะเอาสมบัติที่ได้มาจากภาษีของประชาชนติดตัวไปด้วย
2
Imelda Marcos เดินทางมาถึงฮาวาย พร้อมกับครอบครัวและสมบัติมากมาย (Source: Pinterest)
Ferdinand Marcos เสียชีวิตในเดือนกันยายน 1989 โดยมีเพียงลูกชายอยู่เคียงข้าง และศพของเขาก็ถูกฝังไว้ที่ฮาวาย 4 ปีหลังจากที่จากบ้านเกิดเมืองนอนมา และทางรัฐบาลก็ไม่อนุญาตให้มีการนำร่างของเขากลับมาฝังที่ฟิลิปปินส์
Ferdinand Marcos เสียชีวิตที่ฮาวายในปี 1989 และศพของเขาไม่ได้รับอนุญาตให้นำกลับมาฝังที่ฟิลิปินส์ (Source: https://madison.com)
ความลับเปิดเผย
หลังจากที่ทั้งคู่ลี้ภัย พระราชวัง Malacanang ถูกเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม นักข่าวหลายสำนักต่างพากันเข้าไปทำข่าว และตอนนี้เองที่ภาพของรองเท้ากว่า 3000 คู่ถูกเปิดเผยให้กับสาธารณชนได้เห็น นอกจากรองเท้าแล้ว ยังมีกระเป๋าถือราคาแพงกว่า 800 ใบ และชุดราตรีกว่า 500 ชุด นี่เป็นครั้งแรกที่ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ได้เห็นว่าเงินภาษีของพวกเขานั้น ถูกจับจ่ายใช้สอยไปกับอะไรบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเท่านั้น
2
รองเท้าของ Imelda กว่า 3000 คู่ ที่พบในพระราชวัง Malacanang หลังจากที่ทั้งคู่หนีออกนอกประเทศไป ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์รองเท้าที่กรุงมะนิลา (Source: https://eatdrinkfilms.com/2019/12/12/the-kingmaker-the-dark-star-rises)
ในปี 1988 ความลับอีกอย่างของเธอก็ถูกเปิดเผย เธอโดนฟ้องในคดีต้มตุ๋นและอื่น ๆ โดยศาลของรัฐนิวยอร์ค โดยที่เธอ สามี และคนอีก 8 คน โดนกล่าวหาว่าใช้เงินจากคลังของรัฐบาลจำนวน 103 ล้านดอลล่าร์ในการซื้ออสังหาต่าง ๆ ทั่วแมนฮัตตันอาทิตึก Crown Building และ Herald Center ที่มีราคาสูงมาก ว่ากันว่าเธอเคยได้รับข้อเสนอให้ซื้อตึก Empire State ด้วยซ้ำ แต่เธอกล่าวว่ามันดู “เว่อร์” เกินไป
1
เรื่องการช้อปปิ้งของเธอนั้น ก็เป็นตำนานอีกบทหนึ่งของเธอเช่นกัน เธอใช้จ่ายภาษีของประชาชนไปกับการช้อปปิ้งทั่วโลก แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะเท่ากับการช้อปปิ้งที่เกิดขึ้นในปี 1983 ในเวลาเพียง 90 วัน เธอใช้จ่ายเงินไปถึง 7 ล้านดอลล่าร์ในนิวยอร์ค โรม และโคเปนเฮเกน ว่ากันว่ามีวันหนึ่งในนิวยอร์คเธอถลุงเงินไปทั้งหมด 3 ล้านดอลล่าร์ ในการซื้อของ ซึ่งประกอบไปด้วยอัญมณีกว่า 2 ล้านดอลล่าร์ และรถลิมูซีน 1 คัน มูลค่า 35,000 ดอลล่าร์ ต่อมาในโรม เธอซื้อภาพวาดของ Michelangelo ราคา 3.5 ล้านดอลล่าร์ และตอนที่เธอเดินทางออกจากโรมนั้น เธอบอกนักบินให้เลี้ยวเครื่องกลับไปยังสนามบินใหม่ เพียงเพราะเธอลืมซื้อชีสฝากคนที่บ้าน นอกจากนี้เธอยังเคยซื้อขนมและหมากฝรั่งที่สนามบินซานฟรานซิสโกมูลค่ารวมถึง 2,000 ดอลล่าร์อีกต่างหาก
3
Imelda Marcos สวมเครื่องประดับทับทิม (Source: Pinterest)
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่การช้อปปิ้งของเธอได้ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ ในปี 1981 Sotherby ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทประมูลของเก่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังจะจัดงานประมูลศิลปะที่มีมูลค่ารวม 5 ล้านดอลล่าร์ขึ้น เมื่อ Imelda ทราบข่าว เธอสั่งให้ Sotherby ยกเลิกงาน และเหมาซื้องานศิลปะทุกชิ้นมาเป็นของตนเอง ในพระราชวัง Malacanang ในตอนนั้น เต็มไปด้วยงานศิลปะระดับโลกจาก Michelangelo, Botticelli, Claude Monet และ Raphael
2
ฉากหนึ่งจากเรื่อง The Kingsmaker ที่ด้านหลังของ Imelda เต็มไปด้วยรูปภาพราคาแพงจากศิลปินชื่อดัง (Source: Pinterest)
ในส่วนของอัญมณีไม่ต้องพูดถึง ในปี 2014 มีการจัดทำแคตตาล๊อคอัญมณีของเธอขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นอัญมณีที่ทางรัฐบาลยึดมาได้ โดยทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า Hawaii Collection ซึงเป็นอัญมณีที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ของกรมศุลกากรของอเมริกา ตอนที่ตระกูล Marcos ลี้ภัย ส่วนที่สองคือ Malacanang Collection ซึ่งก็คืออัญมณีที่เธอทิ้งไว้ที่พระราชวัง และส่วนที่สามคือ Roumeliotes Collection ที่ถูกยึดมาจากคนสนิทของ Marcos ที่พยายามลักลอบนำอัญมณีเหล่านี้ออกนอกประเทศ และถูกจับได้ที่สนามบินมะนิลา โดยมูลค่ารวมทั้งหมดของอัญมณีเหล่านี้คือ 21 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการจัดประมูลอัญมณีเหล่านี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ในปี 2015 ยังมีการค้นพบเพชรสีชมพูหายากมูลค่า 5 ล้านดอลล่าร์อยู่ในบรรดาอัญมณีของเธอด้วย
3
หนึ่งในอัญมณีของ Imelda Marcos ที่นำออกมาประมูล (Source: philstar.com)
มีคนเคยสัมภาษณ์เธอว่า ทำไมเธอจะต้องแต่งตัวด้วยชุดและเครื่องประดับราคาแพง ด้วย เธอกล่าวว่า “เธอต้องแต่งตัวให้สวยอยู่เสมอ เพื่อที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกคนจน แต่งตัวดีขึ้น” และ “เราต้องไม่แต่งตัวบ้าน ๆ ต่อหน้าคนจน ไม่งั้นพวกเขาจะไม่เคารพคุณ พวกเขาอยากให้สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศดูดีมีระดับอยู่เสมอ”
3
นอกจากนี้ในปี 1983 ลูกสาวคนเล็กของเธอ Irene จะจัดงานแต่งงานที่เมือง Sarrat ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ บ้านเกิดของ Ferdinand Marcos ดังนั้น Imelda ตัดสินใจจัดงานแต่งงานระดับราชวงศ์ขึ้น (เพราะตระกูล Marcos ก็เปรียบเสมือนราชวงศ์ของฟิลิปปินส์) งบประมาณกว่า 10.3 ล้านดอลล่าร์ถูกใช้ไปกับการพลิกโฉมหน้าเมืองชนบทเงียบ ๆ แห่งนี้ให้กลายเป็นเมืองที่มีบรรยากาศแบบสเปน ของเก่าถูกนำเข้ามาในเมือง คนที่มาร่วมงานถูกบังคับให้สวมใส่ชุดพื้นเมืองเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ ถนนหนทางถูกรื้อและสร้างใหม่ทั้งหมด โดย Imelda มีข้ออ้างว่าเป็นการลงทุนเพื่อการท่องเที่ยวในระยะยาว
3
โบสถ์ประจำเมือง Sarrat (Source: wikipedia)
การใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายของเธอ ก่อให้เกิดคำศัพท์ภาษาอังกฤษคำหนึ่งขึ้นมา คำว่า “Imeldific” หมายถึง ความเว่อร์วังอลังการณ์ในทางที่ไม่ดี หรือรสนิยมที่ไม่ดีนัก เช่น This building is so imeldific หมายความว่าตึกนี้ดูยิ่งใหญ่ แต่การออกแบบอาจจะไม่ค่อยดี เป็นต้น และคำคำนี้ถูกบรรจุลงไปในพจนานุกรมของ Lexicon ในที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นคำศัพท์ที่เธอคงไม่ชอบนัก
Imelda Marcos ในวัย 85 ปี (Source: Pinterest)
สู่กินเนสบุ๊ค
หลังจากที่ทั้งคู่เดินทางออกจากฟิลิปปินส์แล้ว มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อมาสืบสวนการกระทำต่าง ๆ ของตระกูล Marcos
ในปี 2012 Imelda Marcos ได้ทำการแจกแจงทรัพย์สินทั้งหมดที่เธอมี ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งหมด 22 ล้านเหรียญ ทำให้เธอเป็นนักการเมืองที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับสองของฟิลิปปินส์
2
ในปีเดียวกันนั้นเอง มีการตัดสินคดีของตระกูล Marcos ขึ้น ในข้อหาที่ว่าทั้งสองร่ำรวยผิดปกติ เพราะเงินเดือนของ Ferdinand จะอยู่ที่ 10,000 ดอลล่าร์ต่อปี ในขณะที่ของ Imelda จะอยู่ที่ประมาณ 12,000 ดอลล่าร์ต่อปี ดังนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่ทั้งสองจะมีสมบัติมากมายขนาดนั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าเงินที่ทั้งสองนำมาจับจ่ายใช้สอยนั้น มาจากการคอรัปชั่นหรือเงินในคลังของประเทศนั่นเอง
2
คู่สามีภรรยา Marcos ได้รับการสอบสวนเรื่องร่ำรวยผิดปกติ (Source: Pinterest)
จากการตัดสินในครั้งนี้นี่เองที่ทำให้เกิดการยึดทรัพย์ต่าง ๆ ของตระกูล Marcos มูลค่ากว่า 3.6 พันล้านดอลล่าร์ ซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวของเงินที่ทั้งคู่ขโมยไปจากภาษีประชาชน เพราะมีการคาดการณ์กันว่าเงินของหลวงที่ทั้งคู่โอนเข้ากระเป๋าตัวเองและคนในตระกูลนั้นมีค่าประมาณ 5 พัน ถึง 1 หมื่นล้านดอลล่าร์เลยทีเดียว ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้นี่เองที่ทำให้ชื่อของ Ferdinand และ Imelda เข้าไปอยู่ในกินเนสบุ๊คในหัวข้อ "The greatest robbery of a government : การโจรกรรมเงินจากรัฐบาลที่มากที่สุดในโลก" ซึ่งถ้าหากเงินจำนวนนี้ยังอยู่ในฟิลิปปินส์ จะสามารถนำไปจ่ายหนี้ IMF ของฟิลิปปินส์ได้ทั้งหมด
3
Ferdinand Marcos และ Imelda Marcos เป็นคู่สามีภรรยาที่ได้รับการบันทึกในกินเนสบุ๊คว่า ขโมยเงินจากรัฐบาลมากที่สุด (Source: facebook.com)
เธอเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อหนึ่งว่า “พวกเราเป็นเจ้าของทุกอย่างในประเทศ ตั้งแต่ไฟฟ้า การสื่อสาร ไปจนถึงสายการบิน ธนาคาร โรงแรม น้ำมันและเหมืองแร่ ไปจนถึงฟาร์มเล็ก ๆ ทั่วประเทศ” ซึ่งนักจิตวิทยาเคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า Imelda มีความคิดที่ว่าประเทศนี้เป็นของเธอ ดังนั้นเงินในคลังของฟิลิปปินส์ก็คือเงินของเธอ ซึ่งเธอและตระกูลมีสิทธิ์ที่จะใช้จ่ายได้อย่างอิสระ เพื่อตอบแทนที่พวกเขาคอยบริหารประเทศนั่นเอง
ในปี 2009 นิตยสาร Newsweek ให้เธอได้รับตำแหน่ง “หนึ่งในสิบบุคคลที่โลภที่สุดในโลก” ซึ่งเธอยอมรับโดยดุษฎี พร้อมกับกล่าว “คุณต้องเป็นคนโลภก่อน ก่อนที่คุณจะเป็นคนให้ ฉันเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งนานถึง 20 ปี ดังนั้นมันเป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้วที่จะโลภก่อน เพื่อที่ฉันจะสามารถเป็นผู้ให้ได้”
Imelda Marcos ได้รับการขนานนามจาก Newsweek ว่าเป็นหนึ่งในสิบบุคคลที่โลภที่สุดในโลก (Source: flickr.com)
กลับมาตุภูมิ
2
ในเดือนพฤศจิกายน 1991 ทางรัฐบาลอนุญาตให้ Imelda และลูก ๆ ของเธอเดินทางกลับมายังฟิลิปปินส์ได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำศพของ Ferdinand กลับมา ซึง Imelda ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นความอยุติธรรมที่สุดที่เธอเคยพบเจอ
2
หลังจากกลับมาฟิลิปปินส์ เธอและครอบครัวเริ่มเล่นการเมืองทันที ถึงแม้รัฐบาล Marcos จะเลวร้ายแค่ไหน ฐานเสียงของพวกเขาก็ยังคงแน่นหนาอยู่ เธอได้เป็น สส. เมือง Leyte บ้านเกิดของเธอในปี 1995 และเป็น สส. เมือง Ilocos Norte ถึงสามสมัยด้วยกัน เธอถึงกับขนาดเคยลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ด้วยซ้ำในปี 1992 ซึ่งเธอได้ที่ 5 จากผู้สมัครทั้งหมด 7 คน
Imelda Marcos ตอนได้รับตำแหน่งเป็น Congresswoman ของเมือง Leyte หลังกลับมาจากการถูกเนรเทศ (Source: rappler.com)
คดีความล้านแปด
2
นอกจากคดีในนิวยอร์ค และคดีร่ำรวยกว่าปกติแล้ว Imelda ยังเจอคดีความต่าง ๆ อีกมากมาย เพราะหลังจากที่เธอและสามีโดนเนรเทศไปยังฮาวาย ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนความผิดต่าง ๆ ของตระกูล Marcos ทันที
ต้นปี 1990 Imelda โดนคดีฉ้อโกงทั้งหมด 28 คดี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นอกจากคดีร่ำรวยผิดปกตินั้น คดีอื่น ๆ หลายคดีของเธอได้รับการยกฟ้องด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่นหลักฐานไม่เพียงพอ หรือขั้นตอนการฟ้องศาลไม่สมบูรณ์ เป็นต้น
Imelda Marcos ตอนขึ้นศาลในคดีความหนึ่งของเธอ (Source: Pinterest)
27 ปีต่อมาในปี 2018 เธอได้รับการตัดสินว่าผิดในคดีรับสินบน ทั้งหมด 7 คดี รวมมูลค่าเงินสินบนทั้งหมด 200 ล้านดอลล่าร์ และเธอถูกตัดสินให้จำคุก 42 ปี ซึ่งตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ เธอยังไม่ได้ก้าวขาเข้าไปในคุกเลยด้วยซ้ำ และในปัจจุบันเธอยังมีคดีสินบนติดตัวอยู่อีก 10 คดี และคดีอาญาอยู่อีก 25 คดี
2
อีกคดีที่น่าสนใจของเธอคือคดีของ Credit Suisse ในสวิสเซอร์แลนด์ เรื่องคือในปี 1968 Ferdinand และ Imelda เปิดบัญชีกับ Credit Suisse ไว้ 4 บัญชี ในชื่อปลอม และในระหว่างที่ทั้งคู่ปกครองฟิลิปปินส์ เงินจากคลังของฟิลิปปินส์จำนวน 683 ล้านดอลล่าร์ค่อย ๆ ถูกโอนเข้ามาในบัญชีเหล่านี้ และในปี 1990 หลังการล่มสลายของรัฐบาล Marcos บัญชีทั้งสี่ถูกยกเลิกทันที แต่เงินเหล่านี้จะสามารถโอนกลับคืนสู่คลังของฟิลิปปินส์ได้ ก็ต่อเมื่อศาลของฟิลิปปินส์ตัดสินว่าเงินเหล่านี้ เป็นเงินที่ผิดกฎหมายจริง ๆ และสุดท้ายต้องใช้เวลากว่า 24 ปี เงินจำนวนนี้ถึงได้รับการโอนกลับสู่ฟิลิปปินส์ในปี 2004
4
Imelda Marcos ตอนขึ้นศาลในคดีความหนึ่งของเธอ ด้านขวาคือลูกชายของเธอ Bongbong ส่วนด้ายซ้ายคือ Imee ลูกสาวของเธอ (Source: Pinterest)
แล้วเงินมาจากไหนกัน?
ช่วงที่เธอลี้ภัยอยู่ที่ฮาวาย เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติมากมาย ซึ่งคำถามที่เธอหนีไม่พ้นคือ ถ้าเธอและสามีไม่ได้ยักยอกเงินจากคลังของฟิลิปปินส์ แล้วทั้งสองไปเอาเงินใช้จ่ายมาจากไหน
1
เธอให้คำตอบสื่อว่า เธอมักจะได้รับเงินใช้จ่ายจาก Ferdinand อยู่เสมอ โดยเธอก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเอาเงินมาจากไหน จนกระทั่งวันหนึ่งเธอต้องการทำบ้านใหม่ และเมื่อเธอทุบกำแพง ปรากฏว่าภายในกำแพงนั้นกลับมีทองแท่งมูลค่ามหาศาลเต็มไปหมด ซึ่งเมื่อเธอถามสามีของเธอ สามีของเธอจึงสารภาพว่าเงินทั้งหมดที่เขาให้เธอนั้น มาจากสมบัติที่มีชื่อว่า Yamashita Gold
1
Yamashita Gold คือสมบัติที่ญี่ปุ่นไปปล้นสดมภ์มาจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งว่ากันว่าประกอบไปด้วยทองมากถึง 6000 แท่ง และสมบัติเหล่านี้ถูกซ่อนไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในถ้ำ และป่าดงดิบของประเทศฟิลิปปินส์ แต่ปัญหาคือสมบัติเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีอยู่จริง และนักวิชาการหลายคนเชื่อว่าเป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้นเอง หรืออาจจะมีจริง แต่ไม่ได้มีปริมาณเยอะขนาดนั้น ดังนั้นเรื่องที่เธออ้างจึงไม่น่าจะจริงแต่อย่างใด
5
Yamashita Gold สมบัติในตำนานที่ Marcos ใช้เป็นข้ออ้างในความร่ำรวยของเขา (Source: youtube)
ปัจจุบัน เป็นยังไง
ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฟิลิปปินส์คือ Rodrigo Duterte ซึ่งนโยบายกำจัดยาเสพติดของเขานั้นเป็นที่อื้อฉาว มีคนมากมายที่เสียชีวิตเพียงเพราะได้รับการกล่าว หาว่าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดโดยที่ยังไม่มีการสอบสวนอย่างเป็นทางการ
1
แต่สิ่งที่หลายคนไม่ทราบคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของ Duterte นั้น ก็คือคนของตระกูล Marcos นั่นเอง Duterte ถึงขนาดเคยพูดออกอากาศทั่วประเทศว่า เขาสามารถขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ เป็นเพราะการหนุนหลัง Imee Marcos ลูกสาวคนโตของตระกูล Marcos ซึ่งก็เป็นนักการเมืองเช่นกัน
1
สุดท้ายในปี 2016 Duterte ก็อนุญาตให้มีการนำร่างของ Ferdinand Marcos มาฝังในสุสานวีรบุรุษของฟิลิปปินส์ ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนมากมายที่ยังคงไม่ลืมเลือนความโหดร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาล Marcos
Imelda Marcos และลูกสาว Imee ตอนที่ร่างของ Ferdinand ได้รับอนุญาตให้นำกลับมาฝังในสุสานวีรบุรุษของชาติที่มะนิลา (Source: https://apnews.com)
ในการเลือกตั้งรองประธานาธิบดี Bongbong Marcos ลูกชายคนโตของ Imelda ลงแข่งเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่ง แต่เขาต้องพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายค้านอย่าง Leni Robredo ซึ่งเรียกได้ว่าอยู่ขั้วตรงข้ามกับตระกูล Marcos และ Duterte อย่างเห็นได้ชัด ตอนที่เธอชนะนั้้น Duterte ถึงขนาดจะให้ศาลพิจารณาตัดสินใหม่เลยทีเดียว ดังนั้น ณ ตอนนี้ ยังไม่มีคนจากตระกูล Marcos กลับเข้ามารับตำแหน่งสูงในรัฐบาล
Rodrigo Duterte ประธานาธิบดีคนปัจจุบันและ Leni Robredo รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (Source: qz.com)
ที่น่าสนใจคือการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2022 ทุกคนต่างจับตามองกันว่าขั้วการเมืองไหน จะกลายมาเป็นหัวหน้าของประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ แน่นอนว่า Duterte จะต้องพยายามผลักดันให้ Bongbong ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปอย่างแน่นอน ต้องมาดูกันว่าตระกูลที่เคยปกครองฟิลิปปินส์ด้วยระบอบเผด็จการกว่า 20 ปี จะได้กลับมาปกครองประเทศอีกมั้ย
2
ยังมีผู้คนที่รักตระกูล Marcos อยู่อีกมาก แม้ว่าจะมีข่าวฉาวอยู่รอบตัวมากแค่ไหนก็ตาม (Source: Pinterest)
เรื่องอื้อฉาวล่าสุดของเธอ เกิดขึ้นในงานวันเกิดครบรอบ 90 ปีที่จัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งหนึ่ง มีแขกมาร่วมงานกว่า 2000 คน และในระหว่างงาน ปรากฏว่ามีแขกประมาณ 200-300 คน เริ่มอาเจียนและมีอาการเวียนหัว จนกระทั่งต้องมีการระดมแพทย์พยาบาลจากโรงพยาบาลและสภากาชาดเป็นการด่วน ซึ่งทั้งหมดถูกวินิจฉัยว่าเกิดจากอาหารเป็นพิษ
1
ผู้เข้าร่วมงานวันเกิดครบรอบ 90 ปีของ Imelda Marcos จำนวนเกือบ 300 คนเกิดอาการอาหารเป็นพิษ (Source: https://www.mirror.co.uk)
ในปัจจุบัน Imelda Marcos ในวัย 90 ยังคงเดินทางหาเสียงร่วมกับลูกชายของเธอ และเธอก็จะขึ้นร้องเพลงขับกล่อมฝูงชนเสมอ ภาพที่เธอยื่นเงินเป็นฟ่อน ๆ แจกคนที่มาแบมือขอเงินจากหน้าต่างรถของเธอเป็นภาพที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เธอมักจะพูดอยู่เสมอว่าเธอไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบายอีกแล้ว เพราะทรัพย์สินหลายอย่างของตระกูลเธอถูกยึดไป แต่ปัจจุบันเธอก็ยังอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ราคาแพงระยับใจกลางกรุงมะนิลา และยังมีทรัพย์สินมากมาย คนสนิทของเธอกล่าวว่า “คุณต้องเข้าใจนะว่า Imelda ถือว่าชีวิตของเธอตอนเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งคือชีวิตปกติ ในเมื่อตอนนี้เธอไม่ได้เป็นแล้ว เธอก็เลยบอกว่าเธอไม่ได้สุขสบายยังไงหละ”
3
Imelda ในวัย 90 ยังคงหาเสียงพร้อมกับลูกชายของเธอ Bongbong (Source: inquirer.net)
คนฟิลิปปินส์จะลืมความโหดร้ายเมื่อ 40 ปีก่อนได้หรือไม่ คดีความต่าง ๆ ที่ยังค้างคาจะได้รับการตัดสินอย่างไร เงินที่ตระกูล Marcos ยักยอกออกนอกประเทศไปจะสามารถตามคืนได้หมดหรือไม่ จะมีการยึดทรัพย์สินอะไรอีกหรือไม่ และ Imelda จะต้องก้าวเท้าเข้าตาราง เพื่อชดใช้กรรมที่เธอก่อกับคนฟิลิปปินส์หรือไม่นั้น อนาคตเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสิน
1
มีคนมากมายที่เดินขบวนประท้วงไม่เห็นด้วยกับการที่ร่างของ Ferdinand Marcos จะถูกฝังในสุสานวีรบุรุษของมะนิลา (Source: AP)
Imelda Marcos คือหนึ่งในคนที่มีความ Controversial สูงมากนะครับ นั่นหมายถึงมีทั้งคนที่รักเธอสุดหัวใจ และเกลียดเธอจนเข้ากระดูกดำ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอคือคนที่ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์ ที่เพิ่งได้รับเอกราชในปี 1946 เป็นที่รู้จักทั่วโลก เหมือนกับที่หลานสาวของเธอเคยกล่าวไว้ “ก่อนมี Imelda คนอื่นยังคิดว่าคนฟิลิปปินส์อาศัยอยู่ในต้นไม้อยู่เลย” เสื้อ Terno ที่เธอสวมใส่กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศ รวมถึงภาพของเธอที่ถ่ายกับผู้นำต่าง ๆ ทั่วโลก ก็ทำให้เห็นว่าฟิลิปปินส์ไม่ใช่ประเทศเล็ก ๆ ที่ใครจะมองข้ามได้
2
แต่อย่างที่กล่าวไป เธอและสามียักยอกเงินจากคลังของฟิลิปปินส์ไปเป็นจำนวนมหาศาล การคอรัปชั่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงนิสัยเอาแต่ใจของเธอ ทำให้เธอมีชื่อเสียมากกว่าชื่อเสียง และความเลวร้ายของระบอบการปกครอง Marcos ยังส่งผลต่อจิตใจของคนหลายคนมาจนถึงปัจจุบัน
1
ภาพของ Imelda Marcos แจกเงินให่กับคนยากจน เป็นภาพที่เห็นได้บ่อย ๆ (Source: https://www.dailymail.co.uk)
ส่วนตัวของผม ถ้าเราฟังบทสัมภาษณ์ของเธอหลาย ๆ ครั้ง จะสังเกตได้ว่าเธอเหมือนอยู่ในโลกสมมุติ เธอคิดว่าในเมื่อเธอคือสตรีหมายเลขหนึ่ง เงินในคลังของประเทศก็คือเงินของเธอ และเป็นค่าตอบแทนที่เธอคอยบริหารประเทศ และทำให้ฟิลิปปินส์เป็นที่รู้จักกันของคนทั่วโลก คนทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนจะต้องมีความสุข ตราบใดที่เธอยังมีความสุขอยู่
2
ถ้าใครอยากรู้เรื่องราวของเธอมากขึ้นแนะนำให้ไปดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Kingsmaker นะครับ ทำออกมาได้ดีมาก เพราะจริง ๆ ตัวสารคดีไม่ได้เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง แต่ให้เราในฐานะคนดูตัดสินเอาเองว่า Imelda Marcos เป็นคนแบบไหนกันแน่
1
หนึ่งในรูปของ Imelda Marcos ที่โด่งดังไปทั่วโลก (Source: Pinterest)
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบนะครับ ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาไปพบกับเรื่องราวอะไรอีก ฝากติดตามด้วยนะครับ
3
ที่มา:
Podcast:
- The History Ese : "Imelda Marcos : a controversial legacy worth exploring"
- Just The Gist : "Imelda Marcos"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา