21 พ.ค. 2021 เวลา 15:53 • ประวัติศาสตร์
Edward Jenner : วัคซีนกู้โลก (จบในตอน)
ถ้าพูดถึงข่าวที่ดังที่สุดในตอนนี้ เห็นจะหนีไม่พ้นข่าวเรื่องการฉีดวัคซีน Covid-19 ในประเทศไทยนะครับ ในขณะที่เรากำลังลังเลว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดดี หรือเราจะได้ฉีดยี่ห้ออะไรดี แล้วเราจะไปฉีดที่ไหน ลองถอยหลังกลับไป 1 ก้าว แล้วลองคิดกันครับว่าวัคซีนเข็มแรกของโลกนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในปัจจุบันโรคหลายชนิดสูญพันธุ์ไปเพราะวัคซีน โรคระบาดหลายอย่างได้รับการป้องกันจากการฉีดวัคซีน และหลายชีวิตก็ปลอดภัยจากการฉีดวัคซีน ดังนั้นวันนี้หยุดคิดว่าเราจะฉีดวัคซีน Covid-19 ยี่ห้ออะไรดี แล้วให้ Kang’s Journal พาทุกคนไปรู้จักกับชีวิตของบุคคลที่น่าจดจำอีกคนหนึ่ง บุคคลที่ได้ชื่อว่าช่วยชีวิตคนมากที่สุดในโลก "Edward Jenner : วัคซีนกู้โลก"
Edward Jenner ผู้ที่ได้ชื่อว่าช่วยชีวิตคนไว้มากที่สุดในโลก (Source: wikipedia)
ชีวิตวัยเด็ก
วันที่ 6 พฤษภาคม 1749 หนูน้อย Edward Jenner ลืมตาดูโลกขึ้นเป็นครั้งแรก ที่เมือง Berkeley เขต Gloucestershire ในประเทศอังกฤษ เขาเป็นลูกคนที่ 8 ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 9 คน พ่อของเขาเป็นบาทหลวงชื่อ Steven Jenner และแม่ของเขาเป็นแม่บ้านชื่อ Sarah Jenner แต่พ่อแม่ของเขามาเสียชีวิตจากไปตอน Jenner อายุเพียง 5 ขวบ ทำให้เขาเติบโตมากับการเลี้ยงดูของพี่ชาย
Jenner ได้รับการศึกษาขึ้นพื้นฐานเป็นอย่างดี และตอนที่อายุครบ 14 ปี Jenner ได้เข้าฝึกงานเป็นลูกมือของศัลยแพทย์คนหนึ่ง ที่นี่นี่เองที่ทำให้เขาได้สั่งสมประสบการณ์ และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเลือกเข้าเรียนวิชาแพทย์ในเวลาต่อมา
ในปี 1770 ตอนที่ Jenner อายุ 21 ปี เขาได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลที่กรุงลอนดอน โดยมีตำแหน่งเป็นศัลยแพทย์ฝึกหัดอีกเช่นเคย หัวหน้าของเขาคือ John Hunter ผู้ซึ่งมีคติประจำใจว่า “Don’t think, try : ไม่ต้องคิดมาก ลองเลย” และ Jenner ก็นำคตินี้ไปใช้จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตเขา และทั้งสองก็ติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้กันอยู่เสมอ
Edward Jenner ในวัย 21 ปี ตอนที่เข้ามาฝึกงานในกรุงลอนดอน
Hunter นี่เองที่เป็นคนเสนอชื่อของ Jenner ให้เข้าเป็นสมาชิกของ Royal Society สมาคมอุปถัมภ์วิทยาศาสตร์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอด และนำวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งในอนาคตจะมีประโยชน์ต่อ Jenner และการพัฒนาวัคซีนเป็นอย่างมาก
Jenner ใช้เวลา 3 ปีในลอนดอน และกลับไปยังบ้านเกิดของเขาในปี 1773 เพื่อกลับไปทำอาชีพศัลยแพทย์ และหมอทั่วไป
แต่ด้วยความเป็นคนขยัน Jenner และเพื่อน ๆ แพทย์ของเขาจึงจัดตั้งสมาคม Fleece Medical Society หรือ Gloucestershire Medical Society ขึ้น ซึ่งสมาชิกจะพบกันอาทิตย์ละครั้งที่โรงแรม Fleece Inn (ที่มาของชื่อสมาคม) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์ หรือวิธีการรักษาโรคใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น และ Jenner ก็กลายมาเป็นคนท้องที่ที่มีชื่อเสียงและผู้คนต่างก็ไว้วางใจ
3
โรงแรม Fleece Inn ในปัจจุบัน สถานที่ที่เมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว Edward Jenner และเพื่อน ๆ แพทย์จะมาพบปะกันพูดคุยกันเรื่องในวงการแพทย์ (Source: Pinterest)
ในปี 1792 Jenner ได้รับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย St. Andrews หนึ่งในเรื่องที่เขาศึกษาในระหว่างเรียนปริญญาโทคือเรื่อง Angina Pectoris หรืออาการปวดเค้นหัวใจ ซึ่ง Jenner คือหนึ่งในผู้ที่ทำให้ในปัจจุบันนี้เราเข้าใจว่า อาการนี้เกิดจากการที่มีไขมันไปอุดตันเส้นเลือดที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ จนส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกตินั่นเอง
ไขปริศนาฆาตกรรม
ในปี 1788 Jenner ได้รับเลือกให้เข้าเป็นสมาชิกของ The Royal Society แต่ไม่ใช่จากรายงานด้านการแพทย์ แต่กลับเป็นเพราะรายงานด้านสัตววิทยาเกี่ยวกับนกกาเหว่า ซึ่งเขาใช้เวลาในการศึกษาและทดลองเป็นเวลายาวนาน
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่านกกาเหว่า (ภาษาอังกฤษคือ Cuckoo) เป็นนกที่แปลก เพราะนกชนิดนี้มักจะไปวางไข่ในรังของนกชนิดอื่นเช่นนกกระจอก แล้วก็บินจากไป ปล่อยให้เจ้าของรัง คอยเลี้ยงดูฟูมฟักลูกของตนเองอย่างไม่สนใจไยดี
นกกาเหว่า (Cuckoo) เป็นนกที่ Jenner ทำการศึกษาจนกระทั่งรายงานของเขา ทำให้ Jenner ได้เข้าเป็นสมาชิกของ The Royal Society (Source: https://www.independent.co.uk)
แต่เรื่องก็คือ หลังจากที่ลูกนกกาเหว่าคลอดออกมาแล้ว มักจะพบไข่ของนกเจ้าของรัง หรือลูกนกที่เพิ่งคลอดตัวอื่น ๆ ตกลงมาอยู่รอบต้นไม้ และข้อสันนิษฐานของนักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นคือ พ่อแม่ของนกกาเหว่าเหล่านั้นแหละ บินกลับมาเพื่อมาจัดการสังหารลูกของเจ้าของรังซะ เพื่อที่ลูกของตนเองจะได้รับการดูอย่างดีที่สุด
Jenner คือคนที่เสนอรายงานที่เปลี่ยนข้อสันนิษฐานนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะจากการสำรวจของเขา เขาพบว่า เจ้าลูกนกกาเหว่าที่เพิ่งคลอดออกมา คือตัวการที่ผลักพวกไข่หรือลูกนกของเจ้าของรังตกลงมาจากต้นไม้นั่นเอง คำถามคือลูกนกตัวเล็กที่เพิ่งคลอดและยังไม่มีขน แถมยังตาบอดอีก จะสามารถทำอย่างนั้นได้อย่างไร
จากการศึกษาเพิ่มเติม เขาพบว่านกกาเหว่าที่เพิ่งคลอดจะมีสะบักที่กว้างกว่าลูกนกชนิดอื่น และมีหลุมเว้าโค้งลงไปตรงบริเวณหลัง ซึ่งหลุมนี้เองที่ลูกนกใช้ในการดันไข่หรือลูกนกตัวอื่นให้ตกลงมาจากรัง ซึ่งหลุมอันนี้จะหายไปหลังจากผ่านไป 12 วัน และเจ้าลูกนกกาเหว่า ก็จะมีลักษณะเหมือนลูกนกชนิดอื่น ๆ ที่เราพบเห็นทั่วไป
ภาพลูกนกกาเหว่า กำลังใช้หลังดันไข่ของนกเจ้าของรังให้ตกจากรัง (Source: youtube)
แต่ในช่วงแรก รายงานของเขายังไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันมากนัก เนื่องจากไม่มีหลักฐานมายืนยัน (กล้องถ่ายรูปเครื่องแรกของโลกวางขายในปี 1888) มีหลายคนที่ดูถูกหรือถึงขั้นกับหัวเราะเยาะรายงานของเขา จนกระทั่งมีจิตรกรชื่อว่า Jemima Blackburn ซึ่งเป็นผู้ที่ชอบศึกษาเรื่องของนก ได้มีโอกาสเห็นตอนที่ลูกนกกาเหว่าตาบอดเพิ่งคลอดกำลังดันลูกนกตัวอื่นออกมาจากรังพอดี และได้วาดภาพประกอบขึ้นอย่างละเอียด ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ยอมรับในทฤษฎีของเขาในที่สุด
จริง ๆ แล้วการที่ Jenner มีความสนใจเรื่องของสัตววิทยา และการแพทย์ ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก เพราะเขามีความเข้าใจเรื่องของกายวิภาคของทั้งมนุษย์ และสัตว์ ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องโรค ที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ได้เป็นอย่างดี และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เขามีความคิดที่จะนำชิ้นส่วนจากสัตว์ มาผ่านกระบวนการบางอย่าง เพื่อทำให้เกิดภูมิต้านทานในมนุษย์
ภาพของ Jemima Blackburn แสดงถึงการที่ลูกนกกาเหว่าที่เพิ่งคลอดดันลูกนกตัวอื่นออกจากรัง (Source: twitter)
รักแรกพบกับการตกของบอลลูน
วันหนึ่งในขณะที่ Jenner และเพื่อนของเขากำลังทำการทดลองเกี่ยวกับบอลลูนอยู่ ปรากฏว่าบอลลูนของพวกเขาลอยไปตกในสวนของบ้านของ Anthony Kingscote ซึ่งเป็นเศรษฐีคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อ Jenner และผองเพื่อนเข้าไปเพื่อเก็บบอลลูน สิ่งที่ได้กลับมานั้นมากกว่าบอลลูน เพราะเขาได้พบกับ Catherine Kingscote ลูกสาวคนสวยของ Anthony และทั้งคู่ก็ตกหลุมรักกันทันที
และในปี 1788 ปีเดียวกันกับที่เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม Royal Society ทั้งคู่ก็แต่งงานกัน และมีลูกด้วยกัน 3 คน
ภาพวาดของ Edward Jenner (Source: Pinterest)
ฝีดาษ : มหันตภัยคร่าชีวิต
ก่อนที่จะไปรู้จักกับวัคซีน ต้องมารู้จักกับโรคชนิดแรกที่ทำให้เกิดความคิดที่จะใช้ภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคกันก่อน ซึ่งโรคนั้นคือโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษนั่นเอง
หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการค้นพบเกี่ยวกับโรคฝีดาษ คือร่างของมัมมี่อียิปต์อายุกว่า 3000 ปีที่มีการค้นพบร่องรอยของเชื้อฝีดาษอยู่ และคาดกันว่าโรคฝีดาษเริ่มแพร่เข้ามาในอินเดีย ต่อด้วยจีนในช่วงศตวรรษที่ 1 และไปยังประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี ค.ศ. 735-737 ซึ่งภายใน 2 ปีนั้น ว่ากันว่า 1 ใน 3 ของประชากรชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตจากโรคมหันตภัยนี้
ภาพในตำราแพทย์ของจีนที่กล่าวถึงโรคฝีดาษ (Source: https://www.tfcg.ca/smallpox-in-canada)
ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับโรคฝีดาษในยุคกรีก และโรมันของยุโรป แต่คาดกันว่าโรคนี้แพร่เข้าสู่ยุโรป โดยพ่อค้าชาวอาหรับประมาณศตวรรษที่ 7-8 แต่การแพร่กระจายนั้น เกิดอย่างจริงจังในช่วงยุคกลาง โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 16 ที่มีการทำสงครามครูเสด และชาวยุโรปเริ่มเดินทางเข้ามาทำสงครามในตะวันออกกลางเพื่อแย่งชิงดินแดน ซึ่งในตอนนั้นถ้าคนไหนติดโรคนี้แล้วละก็ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30% เลยทีเดียว
และในช่วงศตวรรษที่ 16 นี้เอง ที่ชาวยุโรปเริ่มออกเดินทางไปล่าอาณานิคมทั่วโลก และสิ่งที่พวกเขานำไปพร้อมกับอาวุธสงครามก็คือ อาวุธทางชีวภาพ หรือเชื้อฝีดาษนั่นเอง
ชาวยุโรป นอกจากจะนำอาวุธสงครามเข้ามาแล้ว ยังนำโรคฝีดาษ ที่เลวร้ายกว่าอาวุธสงครามเข้ามาด้วย (Source: Pinterest)
ในแคริบเบียนและอเมริกาใต้ ที่ที่ไม่เคยมีโรคประเภทนี้มาก่อน ทหารชาวสเปนเป็นคนแพร่โรคร้ายนี้ให้กับชนพื้นเมืองเผ่าอินคาและแอซเท็ค และเนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่มีภูมิต้านทานโรคชนิดนี้เลย ส่งผลให้ประชากรพื้นเมืองล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก จากหลักฐานโอกาสการเสียชีวิตของโรคชนิดนี้ในชนพื้นเมืองนั้น สูงถึง 90% เลยทีเดียว ดังนั้นจึงพูดได้เลยว่าเพราะโรคฝีดาษนี่เองคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อาณาจักรอินคา และอาณาจักรแอซเท็คที่เคยยิ่งใหญ่ต้องล่มสลายลง
หนึ่งในสาเหตุที่อาณาจักรอินคาต้องล่มสลายลง ก็เพราะโรคฝีดาษนั่นเอง (Source: https://www.nlm.nih.gov)
ในอเมริกาเหนือก็ไม่ต่างกัน ชาวอินเดียนแดงหลายเผ่าต่างล้มตายกันมากมาย รวมถึงชาวอะเบอริจินของออสเตรเลีย การเสียชีวิตของชนพื้นเมืองเหล่านี้นี่เองที่ทำให้อาณาจักรเหล่านี้ถูกชาวยุโรปยึดครองมาเป็นอาณานิคมได้โดยง่าย
ชาวอินเดียนแดง ชนเผ่าพื้นเมืองของอเมริกาก็โดนผลกระทบอย่างหนักจากโรคฝีดาษเช่นกัน (Source: https://t1.bdtcdn.net)
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เมื่อการเดินทางไปมาหาสู่กัน ทำได้ง่ายมากขึ้น ทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโรคฝีดาษ ประชากรชาวยุโรปเสียชีวิตถึง 400,000 คนต่อปี คิดเป็นประมาณ 7% ของประชากรทั้งหมด
1
นอกจากนี้โรคฝีดาษไม่เคยเลือกคนจนคนรวย เพราะมีบุคคลสำคัญหลายคนที่เป็นโรคนี้เช่น จักรพรรดิคังซีของจีน กษัตริย์ Louise ที่ 1 ของสเปน พระเจ้า Louise ที่ 15 ของฝรั่งเศส รวมไปถึงราชวงศ์มากมาย แม้กระทั่ง George Washington และ Joseph Stalin ก็เคยเป็นโรคฝีดาษเช่นกัน
ป้ายที่บ่งบอกว่า สมาชิกที่อยู่ในบ้านหลังนี้มีคนติดเชื้อฝีดาษอยู่ในประเทษอเมริกา (Source: wikipedia)
แม้ว่าโรคฝีดาษจะไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทุกราย แต่ความทุกข์ทรมานในขณะที่เป็นนั้นเกินบรรยาย เพราะร่างกายของคนไข้จะเต็มไปด้วยแผลพุพองเป็นตุ่มน้ำ ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มหนองตามลำดับ พร้อมกับอาการปวดเมื่อยและไข้สูงอย่างรุนแรง ถ้าใครโชคดีแผลก็จะตกสะเก็ดและหายไปเอง แต่ถ้าโชคไม่ดีแผลเหล่านั้นก็จะทิ้งแผลเป็นเอาไว้ทั่วร่างกาย และหากอาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจจะตาบอด และเสียชีวิตในที่สุด โดยอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 30% ภายในสัปดาห์ที่สอง และถ้าเกิดในเด็กทารก อัตราการเสียชีวิตจะสูงถึง 90% เลยทีเดียว
ภาพของเด็กที่เป็นโรคฝีดาษ ถ้าเป็นภาพจริงจะค่อนข้างน่ากลัวกว่านี้ (Source: Pinterest)
ว่ากันว่ามีประชากรเกิน 1 พันล้านคนต้องเสียชีวิตด้วยโรคมหันตภัยนี้ โดยในศตวรรษที่ 20 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ประมาณ 300-500 ล้านคน ด้วยเหตุนี้นี่เองที่ในหลาย ๆ วัฒนธรรมถึงกับมีเทพผู้พิทักษ์โรคฝีดาษ ถ้าใครไม่อยากเป็น หรือเป็นแล้วต้องการให้หายก็ต้องมาขอพรกับเทพเจ้าเหล่านี้
สำหรับประเทศไทยนั้น มีการระบาดของโรคฝีดาษมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว และหนึ่งในผู้ที่ได้รับเชื้อก็คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั่นเอง แต่การระบาดครั้งใหญ่นั่นเกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3 และ 4 ซึ่งในตอนนั้นก็มีประชากรเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน
เทพเจ้า Sopona ของชนเผ่า Yoruba ในประเทศไนจีเรีย ตามตำนานคือถ้ามีการเกิดโรคฝีดาษระบาด หมายความว่ามีคนไปลบหลู่เทพเจ้าองค์นี้ (Source: wikipedia)
วัคซีนโบราณ
ก่อนที่จะไปพูดถึงการค้นพบวัคซีน ขอกล่าวถึงประวัติของการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อใช้ป้องกันโรคซักเล็กน้อย การสร้างภูมิคุ้มกัน (Inoculation) คือการ “ล่อ” ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคต่าง ๆ โดยการใช้เชื้อของโรคนั้น ๆ หรือโรคที่มาความใกล้เคียงกัน มาใส่ในร่างกายคนในปริมาณที่ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดโรคแบบรุนแรง แต่ก็มากพอที่จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้
พิธีสวดมนต์ไล่ผี เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคฝีดาษในอเมริกาใต้ (Source: amazon.com)
แต่ในสมัยก่อนการสร้างภูมิคุ้มกัน มีเพียงแค่การปลูกฝีหรือ Variolation (Variola เป็นภาษาลาติน แปลว่าแผลที่มีน้ำหนอง ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคฝีดาษนั่นเอง) เท่านั้น การปลูกฝีจึงใช้สำหรับป้องกันการเกิดโรคฝีดาษโดยเฉพาะ ซึ่งวิธีการก็คือการนำน้ำหนองซึ่งก็คือเชื้อจากคนที่เป็นโรคฝีดาษ มาใส่ในตัวของคนที่ไม่เป็น อาจจะโดยการทาน้ำหนองนั้นลงไปบนแผลเล็ก ๆ ที่ถูกกรีดไว้
มีการบันทึกว่าในประเทศจีนมีแนวคิดที่จะใช้น้ำหนอง เพื่อป้องกันโรคฝีดาษมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 1500 แต่พอมาถึงปี 1560-1570 วิธีการรักษาด้วยน้ำหนองถูกแบน เพราะมีการค้นพบวิธีการป้องกันโรคแบบใหม่ โดยการนำสะเก็ดจากแผลของผู้ป่วยโรคฝีดาษมาบดเป็นผง แล้วเป่าผงนั้นเข้าไปในจมูกของคนปกติแทน ซึ่งแม้จะไม่ได้ให้ผล 100% แต่ก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคฝีดาษได้พอประมาณ
ภาพประกอบ แพทย์กำลังเป่าผงที่ได้จากสะเก็ดแผลฝีดาษเข้าไปในจมูก (Source: https://www.scmp.com)
ในดินแดน Circasssia ซึ่งอยู่ติดกับประเทศตุรกีในปัจจุบัน ก็มีการสร้างภูมิคุ้มกันโดยการใช้น้ำหนองเช่นกัน โดยเด็กทุกคนที่เพิ่งคลอด ก่อนอายุ 6 เดือน จะถูกกรีดแขนเป็นแผลเล็ก ๆ เพื่อนำน้ำหนองจากเด็กที่เป็นโรคฝีดาษมาใส่ จากนั้นเมื่อเด็กคนนั้นมีอาการของโรคฝีดาษเบา ๆ ก็จะเอาน้ำหนองมาใส่ในเด็กคนต่อไปเรื่อย ๆ จนทำให้โรคฝีดาษเกือบหายไปจากดินแดนแห่งนี้
ในอาณาจักร Ottoman หรือตุรกีในปัจจุบัน มีการปรุงยาเพื่อรักษาโรคฝีดาษเช่นกัน (Source: https://www.dailysabah.com)
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้น้ำหนอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในลักษณะเดียวกันในอินเดีย เอธิโอเปีย และแอฟริกาด้วย และเริ่มมีการนำความรู้นี้เข้ามาในยุโรปในช่วงปี 1716 โดยภรรยาของฑูตอังกฤษประจำอาณาจักรออตโตมัน
เขียนมาตั้งนาน ถ้าการทำแบบนี้ดีจริง ทำไมถึงต้องมีการคิดเรื่องของวัคซีนขึ้นมา คำตอบก็คือ การกระทำแบบนี้นั้นมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง ผู้ที่ได้รับเชื้อมักจะเกิดอาการติดเชื้อขึ้น อาจจะไม่รุนแรงถึงตาย แต่ก็อาจจะสร้างแผลเป็น หรือมีอาการไข้นานหลายวัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่าถ้ามีการใช้เชื้อในปริมาณที่มากเกินไป หรือร่างกายของคนที่รับเชื้อไปนั้นไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ทันหรือเพียงพอ คน ๆ นั้นก็อาจจะติดโรคฝีดาษขั้นรุนแรงไปโดยปริยาย ซึ่งจากสถิติพบว่าจะเกิดขึ้น 1 ใน 50 ประกอบกับในตอนนั้นก็ยังไม่มีการเก็บน้ำหนองที่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เชื้อที่ได้อาจจะมีเชื้อโรคชนิดอื่นปะปน
ที่สำคัญคือผู้ที่ได้รับเชื้อไปจะกลายเป็นพาหะของโรคทันที และอาจจะนำเชื้อโรคนี้ไปติดกับคนอื่นได้โดยง่าย
ภาพของคนที่ทำการประท้วง เมื่อลูก ๆ ของตนเองที่ติดโรคฝีดาษถูกพาตัวไปแยกกักตัว (Source: canadahistory.ca)
โรคจากวัว สู่การรักษาคน
ในปี 1768 แพทย์ชาวอังกฤษนามว่า John Fewster ค้นพบว่าคนงานรีดนมวัวที่เป็นโรคฝีดาษวัว (Cowpox) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากวัวสู่คน จะไม่เป็นโรคฝีดาษ ซึ่งหมายความว่าหลังจากเป็นโรคฝีดาษวัวแล้ว ร่างกายของคนงานรีดนมวัวจะพัฒนาภูมิคุ้มกันต้านทานโรคฝีดาษได้นั่นเอง
1
อาการของผู้รับเชื้อโรคฝีดาษวัวคือมีไข้เล็กน้อย และบริเวณที่รับเชื้ออาจจะเกิดเป็นแผลตุ่มหนองขึ้น แต่จะไม่ลามไปทั่วตัวเหมือนโรคฝีดาษในคน สรุปก็คืออาการจะไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับโรคฝีดาษทั่วไป
เริ่มมีการสันนิษฐานกันว่าโรคฝีดาษวัว อาจจะช่วยให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษได้ (Source: Pinterest)
Jenner เองก็สามารถสังเกตเรื่องนี้ได้เช่นกัน และเขาได้ตั้งสมมุติฐานเพิ่มเติมลึกลงไปกว่าเดิมว่าน้้ำหนองที่เกิดจากแผลของโรคฝีดาษวัวนี่เอง คือสิ่งที่ช่วยให้คนงานรีดนมวัวมีภูมิต้านทานโรคฝีดาษได้
ดังนั้นเขาจึงไปที่ฟาร์มแห่งหนึ่ง และที่นั่นเขาได้พบกับคนรีดนมวัวชื่อว่า Sarah Nelmes ซึ่งเธอบอกเขาว่ามีวัวตัวหนึ่งในฟาร์มชื่อว่า Blossom เพิ่งจะเป็นโรคฝีดาษวัว และตัวเธอก็ได้รับเชื้อนี้มาเช่นกัน และตอนนี้ที่มือของเธอก็มีแผลพุพองที่มีหนองไหลออกมาอยู่ด้วย
1
ภาพวาดมือของ Sarah Nelmes ที่ติดเชื้อฝีดาษวัว (Source: https://www.researchgate.net)
เห็นดังนั้น Jenner จึงตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด คือเขาขอหนองจากแผลบนมือของ Sarah เพื่อเอาไปใช้ในการวิจัยต่อ ว่ากันว่าตอนนี้เธอตกใจมากที่อยู่ ๆ ก็มีคนมาขอของสกปรกแบบนี้ แต่สุดท้ายเธอก็ยอม
หลังจากได้น้ำหนองหรือเชื้อมาแล้วก็ต้องหาคนที่จะนำมาทดลองด้วย แน่นอนว่าต้องไม่มีใครอาสาอยู่แล้ว เพราะการที่อยู่ ๆ จะเอาน้ำหนองจากคนที่เป็นโรคมาใส่ในตัวเป็นสิ่งที่น่าสยดสยองพอสมควร เพราะผลลัพธ์จะเป็นตายร้ายดียังไง ก็ไม่มีใครรู้ แต่ในที่สุด Jenner ก็สามารถหาคน ๆ นั้นมาจนได้ เขาคือเด็กชายอายุ 8 ขวบชื่อว่า James Phipps ซึ่งเป็นลูกชายของชาวสวนของเขานั่นเอง
วันที่ 14 พฤษภาคม 1798 หนูน้อย James ส่งเสียงกรีดร้องในขณะโดนกรีดแขนทั้งสองข้างให้เป็นแผลเล็ก ๆ และน้ำหนองจาก Sarah ก็ถูกหยดลงไปในบาดแผลนั้น และนี่ถือเป็นการให้วัคซีนครั้งแรกของโลก วันรุ่งขึ้น Phipps ไข้ขึ้นทันทีและมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว แต่ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อผ่านไป 10 วัน อาการของ Phipps กลับมาเป็นปกติ และเข้าก็ได้รับเชื้อฝีดาษต่อทันที และ Phipps ก็ไม่แสดงอาการเจ็บไข้ใดใดเลย
ภาพวาดของการนำเชื้อฝีดาษวัว มาใส่ในแผลบนแขนของ James Phipps ซึ่งนี่ถือเป็นการให้วัคซีนครั้งแรกของโลก (Source: Wikipedia)
ต่อมามีการพยายามทำให้หนูน้อย James ติดโรคฝีดาษอีกหลายครั้ง (ว่ากันว่าประมาณ 20 ครั้งเลยทีเดียว) ซึ่งหนูน้อยก็แสดงให้เห็นว่าเขามีภูมิต้านทานโรคได้เป็นอย่างดี จากนั้น Jenner ใช้วิธีเดียวกันกับอาสาสมัครอีก 23 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือลูกชายอายุ 11 เดือนของเขาเอง และทุกคนก็แสดงให้เห็นว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคฝีดาษเช่นกัน การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่แห่งมวลมนุษย์ได้เกิดขึ้นแล้ว
และก็คือ Jenner นี่เองที่เป็นผู้นิยามคำว่าวัคซีนขึ้นมา ซึ่งคำว่า Vaccine มาจากภาษาละตินว่า Vacca ซึ่งแปลว่า “วัว” และการทดลองของ Jenner เป็นครั้งแรกที่มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังถึงการใช้เชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่ง (เชื้อฝีดาษวัว) มาใช้ในการป้องกันการเกิดโรคที่เกิดจากไวรัสที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกันแต่ความรุนแรงมากกว่า ซึ่งในที่นี้ก็คือโรคฝีดาษนั่นเอง และในปัจจุบันก็มีวัคซีนหลายชนิดที่ถูกผลิตมาด้วยแนวคิดแบบนี้
หลังจากที่ James Phipps แสดงให้เห็นว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคฝีดาษ Jenner จึงได้ทำการให้วัคซีนกับอาสาสมัครอีก 23 คน (Source: Wikipedia)
รายงานของ Jenner ได้รับการเสนอเข้าไปยังสมาคม Royal Society ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานในการศึกษาถึงความปลอดภัยในการใช้วัคซีน มีหลายคนที่ไม่เชื่อและค้านหัวชนฝา ถึงขั้นกล่าวหาว่า Jenner ต้องการที่จะสร้างเรื่องเพื่อให้เขามีชื่อเสียงเท่านั้น
แต่ Jenner ก็ไม่ได้ลดละความพยายาม เขายังยืนยันที่จะศึกษาเรื่องนี้ต่อไป และจุดประสงค์อีกอย่างของเขาก็คือ การทำให้วัคซีนนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเป็นของฟรีสำหรับทุกคน เขาทุ่มเทเวลาไปกับการพัฒนา และกระจายการให้วัคซีน จนไม่ได้ทำงานด้านการแพทย์ จนทำให้ให้เขามีปัญหาทางด้านการเงิน
Jenner พยายามเก็บเชื้อฝีดาษวัว เพื่อนำมาใช้เป็นวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ (Source: Pinterest)
วิธีการให้วัคซีนของ Jenner ในสมัยนั้นไม่ได้ฉีดเป็นเข็มเหมือนในปัจจุบันที่เราทำกัน แต่จะใช้วิธีการปลูกฝี แต่ใช้เชื้อฝีดาษวัวแทนเชื้อฝีดาษของคน วิธีการก็คือการทำให้ผิวหนังเป็นแผลแล้วใส่เชื้อเข้าไป ถ้าลองไปถามคนที่อายุ 50-60 ปีในปัจจุบัน ตอนเด็ก ๆ ทุกคนก็จะต้องได้รับการปลูกฝีกันโรคฝีดาษกันถ้วนหน้า โดยการใช้เข็มเล็ก ๆ เจาะผิวหนังเบาๆให้เป็นแผล และนำเชื้อมาทาที่บริเวณแผล จากนั้นจะเอาตะกร้อครอบเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกา ซึ่งการใช้เข็มจิ้มลงไปบนผิวหนังก็เป็นที่มาทีทำให้แขนของหลายคนมีแผลเป็นที่บริเวณต้นแขนนั่นเอง
ภาพซ้ายคือแผลที่เกิดจากวิธีปลูกฝีแบบเก่าที่ใช้เชื้อฝีดาษปกติ (Variolation) ส่วนด้านขวาคือแผลที่เกิดจากวิธีปลูกฝีโดยใช้เชื้อฝีดาษวัว (Vaccination)
ช่วยชีวิต
จากการค้นพบของ Jenner ทำให้เกิดการใช้วัคซีนอย่างกว้างขวาง เริ่มจากคณะสำรวจของสเปนที่ออกไปสำรวจดินแดนในอเมริกา ฟิลิปปินส์ จีน และมาเก๊า ได้มีการนำวัคซีนกันโรคฝีดาษไปเผยแพร่ ทำให้คนหลายล้านปลอดภัยจากโรคฝีดาษ
หลังจากการค้นพบของ Jenner ทำให้มีการใช้วัคซีนกันอย่างกว้างขวาง (Source: bbc.com)
ต่อด้วยนโปเลียน ที่แม้ตอนนั้นจะกำลังทำสงครามกับอังกฤษบ้านเกิดของ Jenner ก็สั่งให้มีการปลูกฝีให้กับทหารทุกคนในกองทัพฝรั่งเศส และยังมอบเหรียญเกียรติยศให้กับความสำเร็จของ Jenner รวมถึงปล่อยนักโทษชาวอังกฤษ 2 คนหลังจากที่ Jenner ขอร้อง ซึ่งภายหลังนโปเลียนกล่าวว่า “เขาคงไม่สามารถปฏิเสธคำขอร้องของผู้ทำคุณประโยชน์อย่างมากให้กับมวลมนุษยชาติได้”
จากการศึกษาเรื่องวัคซีน และหลังจากที่มีคนในสมาคม Royal Society ทราบว่าเขามีปัญหาด้านการเงิน Jenner ได้รับเงินจำนวน 10,000 ปอนด์ในปี 1802 หรือประมาณ 860,000 ปอนด์ในปัจจุบัน และอีก 20,000 ปอนด์ (1.8 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน) ในปี 1807 เพราะถึงตอนนั้นวัคซีนได้รับการพิสูจน์ในวงกว้างแล้วว่า สามารถป้องกันโรคฝีดาษได้จริง และวิธีการ Variolation หรือใช้เชื้อฝีดาษคนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ก็ถูกประกาศว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในที่สุด
เริ่มมีการปลูกฝีให้กับเด็กแรกเกิดเพื่อป้องกันการเกิดโรคฝีดาษ (Source: Pinterest)
ชื่อเสียงเกียรติยศ
ในปี 1802 Jenner ได้รับเลือกให้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม American Academy of Arts and Sciences ซึ่งเป็นเหมือนกับสมาคม Royal Soceity ของอังกฤษ และสมาคม Royal Swedish Academy of Sciences ในปี 1806
ต่อมาในปี 1811 Jenner เดินทางกลับมาลอนดอนอีกครั้ง และครั้งนี้เขาค้นพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไปแล้ว ก็สามารถเป็นได้อีก แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลงเยอะมาก (คล้าย ๆ กับวัคซีน Covid-19 ในปัจจุบันนี่แหละ) ทำให้เกิดการศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมถึงการทำวัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และในปี 1821 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะแพทย์หลวง ที่มีหน้าที่ถวายการรักษาให้กับพระเจ้า George ที่ 4 แห่งอังกฤษ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่สูงสุดของอาชีพแพทย์ในอังกฤษ และได้รับตำแหน่งผู้ว่าการเมือง Berkeley บ้านเกิดของเขาด้วย ผลงานสุดท้ายของเขาคือรายงานเรื่อง “Obervations on the Migration of Birds” ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องการอพยพของนกในฤดูต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีชื่อเสียงมากแค่ไหน เขาก็ยังไม่ทิ้งความหลงใหลในสิ่งที่เขารัก นั่นก็คือวิชาสัตววิทยานั่นเอง
รูปปั้นของ Jenner ที่สวนสาธาณะ Kensington ในกรุงลอนดอน (Source: https://www.royalparks.org.uk)
เช้าวันหนึ่งในเดือนมกราคมปี 1823 คนในบ้านต่างสงสัยว่าทำไม Jenner ถึงไม่ยอมลงมาทานอาหารเช้าซักที และเมื่อขึ้นไปดูปรากฏว่า Jenner เสียชีวิตอยู่ที่โต๊ะทำงานของเขาด้วยอาการหัวใจวาย เขาถูกฝังที่บ้านเกิดของเขา และหนึ่งในคนที่มาร่วมงานศพของเขาก็คือหนูน้อย James Phipps ที่ตอนนี้กลายมาเป็นผู้ใหญ่แข็งแรง สุขภาพดีแล้วนั่นเอง บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความโศกเศร้าที่โลกต้องเสียคนที่ทำคุณประโยชน์มหาศาลให้กับมวลมนุษยชาติไป
และอีกคนที่เราต้องไม่ลืมคือเจ้าวัวที่ให้เชื้อฝีดาษวัวตัวแรกกับ Jenner หรือ เจ้า Blossom นั่นเอง ในปัจจุบันเขาของ Blossom ถูกประดับไว้ที่บ้านของ Jenner ที่ถูกเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนหนังของ Blossom ก็ถูกแขวนไว้ที่ห้องสมุดของโรงเรียน St George Medical School ในประเทศอังกฤษ
แผ่นหนัง Blossom วัวที่ให้วัคซีนชุดแรกกับมวลมนุษยชาติ (Source: http://www.ozkizil.com/blossom-the-cow)
วัคซีนกลายเป็นเรื่องบังคับ
หลังจากพิสูจน์แล้วว่าการใช้วัคซีนคือวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคฝีดาษ ทำให้หลายประเทศเริ่มออกกฎหมาย Vaccination Act หรือกฎหมายบังคับฉีดวัคซีนขึ้น เช่นในปี 1853 ประเทศอังกฤษมีการออกกฎหมายบังคับให้เด็กแรกเกิดอายุไม่เกิน 3 เดือนทุกคนต้องได้รับการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ และในสหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันออกมาในปี 1905
และก็เหมือนในปัจจุบันที่มีการต่อต้านการฉีดวัคซีนในวงกว้าง เพราะความไม่มั่นใจและความกลัวในเรื่องของวัคซีน มีการพยายามเผยแพร่แผ่นพับหรือใบปลิวที่บ่งบอกถึงความอันตรายในการรับวัคซีน แต่สุดท้ายแล้วกฎหมายก็โดนบังคับใช้
หนึ่งในแผ่นพับต่อต้านการรับวัคซีน ซึ่งเนื้อหาหลักคือ ความตายจะเป็นคนให้วัคซีนกับคุณ (Source: https://www.historyofvaccines.org/Death-The-Vaccinator)
จากอังกฤษและอเมริกา วัคซีนเดินทางไปทั่วโลกทั้งในเอเชียและแอฟริกา มีการโปรโมทเรียกร้องให้ทุกคนทำการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษ ทางองค์การอนามัยโลกทุ่มเงินจำนวนมาก ส่งทีมแพทย์เข้าไปยังพื้นที่ทุรกันดารต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อไปทำการปลูกฝีให้กับคนพื้นเมือง ในหลายประเทศยังมีการให้รางวัลกับผู้ที่มีการรายงานเคสของโรคฝีดาษเข้ามาด้วย
โปสเตอร์โปรโมทรางวัลให้กับผู้ที่รายงานเคสผู้ติดโรคฝีดาษในประเทศอินเดีย (Source: https://www.york.ac.uk)
สำหรับวัคซีนของ Jenner นั้นเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปี 1836 โดยหมอบรัดเลย์ (ผู้นำแท่นพิมพ์เครื่องแรกเข้ามาในสยาม) ซึ่งตอนนั้นตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 4 แต่ตอนนั้นเนื่องจากการขนส่งที่ไม่สะดวกนัก เชื้อของหนองฝีวัวจึงเกิดการขาดแคลน
สิ่งที่หมอบรัดเลย์ทำคือนำเชื้อฝีดาษจากคน มาฉีดเข้าไปในวัว เพื่อให้วัวเป็นโรคฝีดาษวัวขึ้น แล้วค่อยนำหนองที่ได้วัวนั้นมาใช้เป็นวัคซีนต่อนั่นเอง จากนั้นจึงได้มีการปลูกฝีขึ้นเป็นวงกว้าง และเมื่อเวลาผ่านไป มีการส่งแพทย์จากไทยไปศึกษาการปลูกฝี จนกระทั่งประเทศไทยสามารถทำพันธุ์หนองฝีเองได้ และในปี 1913 รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนทุกคนปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษ
การปลูกฝีในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1836 (Source: https://www.hfocus.org/content/2015/01/8997)
และคำว่าปลูกฝี ก็มาจากการที่ร่างกายของเราต้องรับเชื้อฝีดาษเข้าไป หรือปลูกเชื้อของฝีเข้าไป เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานนั่นเอง และในสมัยก่อน ก็อาจจะทำให้ร่างกายอาการแพ้อ่อน ๆ และเกิดเป็นแผลเป็นลักษณะคล้ายฝีได้นั่นเอง
หลังจากมีการผ่านร่างกฎหมายวัคซีนแล้ว ทำให้เกิดการให้วัคซีนอย่างกว้างขวาง (Source: https://theconversation.com)
เมื่อเริ่มมีการกำหนดกฎหมายวัคซีน ทำให้โรคฝีดาษค่อย ๆ หายไปจากโลก โดยในปี 1962 มีประเทศเพียง 14 ประเทศเท่านั้นที่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษ และในปี 1965 อินเดียและปากีสถานที่มีประชากรรวมกันเกิน 1 พันล้านคนก็ประกาศว่าโรคฝีดาษเกือบจะหายไปจากประเทศแล้ว
โปสเตอร์โปรโมทการปลูกฝี เพื่อป้องกันโรคฝีดาษ (Source: Pinterest)
ในปี 1975 มีการรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคฝีดาษเป็นเด็กอายุ 3 ขวบ ในประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเป็นเคสการติดจากธรรมชาติ (ไม่ได้มาจากการติดต่อจากคน) เป็นคนสุดท้ายของโลก และผู้ป่วยโรคฝีดาษคนสุดท้ายเป็นผู้ป่วยจากประเทศโซมาเลีย ซึ่งติดเชื้อในปี 1978 และได้รับการรักษาจนหาย และหลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยจากโรคชนิดนี้อีกเลย
Rahima Banu เด็กชายชาวบังคลาเทศ ที่ถือว่าเป็นบุคคลคนสุดท้ายของโลกที่ติดโรคฝีดาษจากธรรมชาติ (Source: Wikipedia)
ในที่สุดความฝันของ Jenner ก็กลายเป็นจริงเพราะในปี 1980 ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ได้สุญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว ทำให้ในปัจจุบันไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกันโรคฝีดาษอีกต่อไป
ในปี 1980 ทาง WHO ได้ประกาศว่าโรคฝีดาษ เป็นโรคที่สูญพันธ์ไปจากโลกนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (Source: cdc.gov)
อาวุธชีวภาพ
แต่แม้จะสูญพันธุ์ไปจากโลก แต่ยังมีการเก็บตัวเชื้อฝีดาษไว้อยู่ในห้องแลปในประเทศอเมริกาและรัสเซีย ซึงนั่นหมายความว่าทั้งสองประเทศมีอาวุธทางชีวภาพที่รุนแรงอยู่ในมือ และเพราะประชากรในปัจจุบันไม่ได้มีภูมิต้านทานโรคฝีดาษ (เพราะหลังปี 1980 ก็แทบจะไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้ว) ทำให้ถ้ามีการนำเชื้อเหล่านี้มาใช้เป็นอาวุธทางชีวภาพจริง ๆ อาจจะทำให้มวลมนุษยชาติเกิดความหายนะอีกครั้งเลยก็ได้ เหมือนกับที่เกิดกับชนเผ่าต่าง ๆ ในทวีปอเมริกามาแล้วนั่นเอง
มีบันทึกไว้ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ต่างก็มีแนวคิดที่จะนำเชื้อฝีดาษมาทำอาวุธทางชีวภาพ แต่โครงการล้วนต้องถูกพับไป เพราะตอนนั้นประชากรส่วนมากได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว
ภาพของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษ (Source: https://www.sciencephoto.com)
แต่ในปี 1971 ในสหภาพโซเวียต เกิดการระเบิดของอาวุธทางชีวภาพที่ภายในบรรจุเชื้อฝีดาษขึ้นในเกาะแห่งหนึ่งในทะเล Aral แม้จะมีการพยายามปกปิดข่าว และป้องกันการรั่วไหล แต่ปรากฏว่ามีเรือสำรวจลำหนึ่ง เข้ามาใกล้บริเวณเกาะเกินขอบเขตที่กำหนด นักวิทยาศาสตร์บนเรือได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อใช้ในการทดสอบบางอย่าง และเธอก็ติดโรคฝีดาษเข้าจนได้ เธอได้แพร่กระจายโรคร้ายนี้ไปให้กับคนรอบตัวเธอ รวมทั้งเด็กอีกหลายคน และทุกคนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
โชคดีที่ทางรัฐบาลทราบถึงเรื่องนี้ก่อน และได้งดขบวนรถไฟที่จะเดินทางมายังเมืองนี้ทุกขบวน ทำให้โรคไม่แพร่กระจายไปไกลกว่านี้ และหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายสุดท้ายได้มีการสั่งทำลายอาวุธชีวภาพเหล่านี้ทั้งหมด และย้ายหัวเชื้อที่เหลือนั้นมาเก็บไว้ในห้องแลปที่เดียว
สุดท้ายเราก็ได้แต่หวังว่า ในเมื่อ Jenner ได้ค้นพบวิธีการช่วยชีวิตมวลมนุษยชาติไว้ได้แล้ว มนุษย์เราเองคงจะไม่ทำให้ความพยายามของเขานั้นต้องสูญเปล่าไป และทำให้โลกเราต้องเผชิญกับความเลวร้ายนี้อีกครั้งหนึ่ง
เกาะ Vozrozhdeniya สถานที่ที่เกิดเหตุระเบิดของอาวุธทางชีวภาพที่มีเชื้อฝีดาษอยู่ (Source: wikipedia)
จบกันไปแล้วนะครับกับเรื่องราวของ Edward Jenner บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งของโลก ผู้ช่วยชีวิตคนไว้มากมาย และทำให้โลกสงบสุขปราศจากโรคระบาดมาเป็นเวลานาน และเป็นอีกครั้งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าบางทีมนุษย์ก็อาจจะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้....แม้จะไม่ตลอดไปก็ตาม
Edward Jenner ชายผู้ช่วยชีวิตมนุษย์ไว้มากที่สุดในโลก (Source: Pinterest)
ส่วนตัวแล้วผมคิดว่า Jenner เป็นแพทย์อีกคนที่มีจรรยาบรรณสูงมากนะครับ จากการที่เขาพยายามทำให้วัคซีนเป็นของฟรีที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย และแม้การทดลองของเขาจะไม่ถูกหลักจริยธรรมนักสำหรับปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า ในสมัยนั้น การทดลองแบบนี้นี่แหละที่จะทำให้การวิจัยของเขามีคนเชื่อถือ
ปี 2019 โรคระบาดระดับ Global Pandemic กลับมาอีกครั้งกับ Covid-19 และด้วยการเดินทางเชื่อมต่อกันทำได้อย่างสะดวกง่ายดาย ทำให้โรคชนิดนี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีด้านการผลิดวัคซีนก็ก้าวหน้าไปมาก และปัจจุบันก็มีวัคซีนหลายชนิดที่เคลมว่าสามารถป้องกัน Covid-19 ได้ ก็ต้องมาดูกันครับว่า โรคร้ายนี้จะหายไปจากประเทศไทยเมื่อไร และพวกเราก็คงตั้งหน้าตั้งตารอวันที่ทุกคนจะกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และวันที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศว่าโรค Covid-19 ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ภาพปูนปั้นของ Monteverdi ที่แสดงให้เห็นถึงภาพตอนที่ Jenner กำลังให้วัคซีนกับลูกชายตนเอง (Source: Pinterest)
ที่มา:
Podcast:
Half-Arsed History "EP87: Edward Jenner, Father of the Vaccine"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา