5 พ.ค. 2021 เวลา 07:33 • กีฬา
ต่างเป้าหมาย ปลายทางเดียว
🏞️พิชิตอินทนนท์คนพันธุ์อึด
#เรื่องเล่าจากคลังภาพ #ลัดเลาะ
#inthanonchallenge #ดอยอินทนนท์
❤️ นี่ก็เป็นบทความที่ 22 แล้ว และก่อนเข้าเรื่อง ผมจึงอยากจะขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ ติดตามอ่านมาโดยตลอด และขอบคุณทุก comment ทุกสติ๊กเกอร์ที่ให้มา ถือเป็นกำลังใจที่ดี ที่ทำให้ผมมีแรงเขียนมันต่อไป ❤️
เขียนเรื่องเที่ยวมาก็เยอะ วกมาเรื่องกีฬากันบ้างครับ ตอนนี้อาจจะยาวซักหน่อย 🚵
ตั้งแต่เด็ก ๆ ผมก็มีจักรยานติดมือตลอดเวลา ช่วงมัธยมก็ได้มีโอกาสเป็นนักกีฬาจักรยานของเขต 10 กรุงเทพมหานคร พอวัยทำงานก็ bike to work เรียกได้ว่าไม่มีช่วงชีวิตไหนที่ขาดจักรยาน
สำหรับนักปั่นแล้ว การปั่นจักรยานพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทย เป็นหนึ่งในความฝันของผมและใครหลายคน ด้วยระยะทาง 31 กิโลเมตร กับความชันที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องเติมคำว่าโคตรนำหน้า หลายคนถอดใจตั้งแต่ยังไม่ถึงครึ่งทาง
การไปให้ถึงว่ายากแล้ว แต่การมีเงื่อนไขในการไปให้ถึงยิ่งยากกว่า การจัดอันดับในการแข่งขันก็เรื่องหนึ่ง แต่หากไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ อันดับอาจไม่สำคัญเท่าเป้าหมายที่วางไว้ในแต่ละคน
เช่นบางคนแค่ขอให้ถึงยอดดอย บางคนมีเวลาเป็นตัวตั้ง บางคนต้องมีอันดับที่พอใจ แต่สำหรับผมคือการไปให้ถึงในรวดเดียวโดยที่ไม่ต้องลงจอดหรือเข็น
ภาพจากตากล้องสายปั่น ตอนผม selfie ตัวเอง บนเนินพระมหาธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ งานอินทนนท์คนพันธุ์อึด 2017
เมื่อกุมภาพันธ์ปี 2015 ผมพลาดท่าให้กับดอยอินทนนท์ เป้าหมายที่จะปั่นจักรยานพิชิตยอดดอย โดยที่ขาไม่แตะพื้น ถูกความอ่อนซ้อมและการวางแผนที่ไม่รัดกุมพอทำลายลงจนหมดท่า
แม้ผมกับน้องชายจะมาถึงยอดดอยได้ก็จริง แต่ก็ต้องจอดพักหลายต่อหลายครั้ง จนไม่เหลือข้ออ้างไปชดเชยกับเป้าหมายที่วางไว้
งานอินทนนท์คนพันธุ์อึด 15 กุมภาพันธ์ 2015
สองปีถัดมาผมตั้งใจจะกลับมาคลายปมปัญหาคาใจอีกครั้ง แต่การเตรียมตัวเองให้ไปถึงจุดนั้นต้องอาศัยการฝึกซ้อมที่เหมาะสม
แล้วมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานห้าวัน หรือบางครั้งก็หกวันต่อสัปดาห์ กว่าจะกลับถึงบ้านก็ทุ่มกว่า จะเอาเวลาไหนไปซ้อมให้แกร่ง แค่การฝึกซ้อมในวันหยุดแบบ Sunday rider คงไม่สามารถไปให้ถึงฝั่งฝันได้
---เตรียมตัว---
ทางออกถูกแทรกไว้กับการเดินทาง แบบ Bike to work ระยะทางจากที่ทำงานถึงบ้านเพียง 15 กิโลเมตร ถูกจัดเรียงใหม่ด้วยเส้นทางอ้อมมากมาย ที่ทำให้ซ้อมเพิ่มได้อีกหลายกิโลและต่อเนื่อง
แนวทางการฝึกแบบ sweet spot intervals ที่อาศัยการกดแป้นบันไดด้วยเกียร์ที่หนักหน่วง และการคงอัตราการเต้นของหัวใจที่เกือบสูงเป็นเวลานาน สลับกับการผ่อนแรงในช่วงสั้น ๆ ถูกนำมาใช้ฝึกซ้อมในวันว่าง
แผนการซ้อมแบบนี้ถูกใช้อยู่ในระยะเวลาร่วมสามเดือน จนก่อนถึงวันจริงหนึ่งสัปดาห์ ผมก็ได้พาตัวเองไปทดสอบผลการฝึกซ้อม ด้วยการขึ้นเขาฉลากที่เมืองชลบุรีต่อเนื่องห้ารอบ จนมั่นใจว่าจะไม่แบกความผิดหวังกลับบ้านอีกแล้ว
---ถึงเวลาแก้มือ---
งานอินทนนท์คนพันธุ์อึดครั้งที่ 10 จัดขึ้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2017 ผมเดินทางมานอนค้างที่ตีนดอยในวันที่ 18 เพื่อจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ก่อนจะลุยของจริงในวันรุ่งขึ้น
และในเช้าวันงาน ผมตื่นมากับความสดชื่น เตรียมจัดแจงสวมชุดเก่งและรถคู่ใจ มารอยังจุดสตาร์ทอย่างใจจดใจจ่อ
งาน อินทนนท์คนพันธุ์อึด ครั้งที่ 10 19 กุมภาพันธ์ 2017
ทันทีที่สัญญาณปล่อยตัวดังขึ้น แผนการปั่นถูกขุดมาใช้ตั้งแต่เริ่มออก start เมื่อมีผู้เข้าร่วมกว่า 4000 คน ผมจำเป็นต้องเร่ง speed ให้ไปอยู่กลุ่มต้น ๆ ก่อนจะขึ้นเนินแรกที่มักจะเรียกติดปากว่าเนินคัดตัวหรือเนินรับน้อง
ความชันของเนินนี้ช่วยคัดกรองศักยภาพผู้เข้าแข่งขัน หลายคนยอมลงเข็นตั้งแต่ยังขึ้นไปได้ไม่กี่เมตร คนแล้วคนเล่า จนกลายเป็นกำแพงมนุษย์จูงจักรยานกั้นขวางถนนไว้ หากผมไปอยู่ท้ายกลุ่ม ก็คงไม่พ้นต้องได้ลงเข็นเหมือนกัน
หากใครยังนึกภาพไม่ออก ผมมีภาพให้ดู
( ภาพจาก Facebook Inthanon Challange
ภาพจาก Facebook Inthanon Challange
เมื่อหลุดจากเนินคัดตัว จะเห็นได้ชัดว่าผู้เข้าแข่งขันหายไปกว่าครึ่ง คราวนี้ระยะทางอีก 20 กว่ากิโลเมตร เป็นเรื่องของตัวเองล้วน ๆ
ความเข้าใจขีดจำกัดและศักยภาพตัวเอง เป็นหนึ่งในการเตรียมพร้อมที่จะไต่ขึ้นสู่จุดที่สูงที่สุดของประเทศไทย
การกดลูกบันไดจักรยานขึ้นเขา ต่างกับการปั่นในทางราบโดยสิ้นเชิง การรับรู้ความชัน ความเร็ว รอบขา และอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นรูปแบบตัวเลข ผ่านอุปกรณ์แสดงผล อย่าง Garmin edge 500 ที่ผมใช้ในตอนนั้น ถูกนำมาช่วยในการวางแผนอย่างมีนัยยะสำคัญ
และก็เหมือนกับการเจริญสติ การเลือกใช้เกียร์ แรงและรอบขาที่กดลงไป ต้องสัมพันธ์กับความชันที่เพิ่มขึ้นและลดลง เพื่อให้อัตราการเต้นของหัวใจไม่เกินไปจากที่ร่างกายจะทนไหว
อินทนนท์คนพันธุ์อึด 19 กุมภาพันธ์ 2017
ตลอดระยะทางผมควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ที่ราว ๆ 150 ถึง155 bpm (อัตราการเต้นต่อนาที) และดูเหมือนว่าการฝึกซ้อมที่ผ่านมาจะได้ผล ทำให้ผมยังสดชื่นอยู่จนมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าโหดที่สุดของเส้นทางคือ เนินโค้งหน้า พระมหาธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ
ณ จุดนี้ความชันเพิมขึ้นจากเดิมมาก เป็นจุดที่จะได้เห็นการจอดพักและการจูงจักรยานกันอย่างชินตา หลายคนถือโอกาสชมวิวไปในตัว
เกียร์ที่ใช้ถูกปรับมาที่เบาสุด รอบขาลดลงเพื่อให้ยังคงกำลังกดได้เท่าเดิม แต่ร่างกายก็ยังแพ้ทางธรรมชาติ อัตราการเต้นของหัวใจผม ขึ้นไปถึง 165 bpm แต่ก็ยังเป็นระดับที่ผมยังพอทนไหว เพราะผมรู้ว่าเมื่อพ้นหน้าพระธาตุฯไป ความชันจะลดลง
1
เนินหน้า พระมหาธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริเครดิตภาพจาก ตากล้องสายปั่น
จนในที่สุด ผมก็ผ่านเนินสุดโหดที่หน้าพระธาตุฯ มาได้โดยที่ไม่ถอดใจลงเข็นเสียก่อน ที่เหลือต่อจากนี้อีก 5 กิโลเมตร ก็ประคองตัวเองกับเรี่ยวแรงที่ยังพอมีไปให้ถึงเส้นชัย
ในที่สุดผมก็ลบเรื่องคาใจได้สำเร็จ ผมปั่นจักรยานถึงจุดสูงสุดของประเทศไทย โดยที่ขาไม่แตะพื้น ในตอนนั้น ความสุข ความดีใจความเหนื่อย ความภาคภูมิใจ ทุกอย่างที่สัมผัสได้ล้วนเป็นด้านบวก ท่วมท้นอยู่ในใจจนบรรยายไม่ถูก
2
ถึงผมจะใช้เวลาไป 4 ชั่วโมง 19 นาที ซึ่งก็ไม่ได้เร็วมากนัก และถึงแม้มันจะเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ แต่ก็ถือว่าทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และผมจะบันทึกไว้เป็นหนึ่งในความทรงจำที่ดีที่สุดของชีวิต
เหรียญที่ระลึก ผู้พิชิตอินทนนท์คนพันธุ์อึด ครั้งที่10
การปั่นจักรยานให้ถึงยอดดอยอินทนนท์ หลายคนคงทำได้ง่ายดาย อาจจะด้วยข้อได้เปรียบด้านเวลา สถานที่ฝึกซ้อม หรือพรสวรรค์ ผลลัพธ์ที่ได้จึงต่างออกไป
หากแต่มูลค่าของความสำเร็จ นั้นถูกตีราคาไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งจะเป็นตัววัดเองว่าสิ่งที่ได้มามีคุณค่าพอหรือยัง
เช่นเดียวกับในชีวิตจริง เราอาจเคยเผลอหยิบเอาเป้าหมายคนอื่นมาใช้วัดผลตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ถ้าความสำเร็จแบบของเขามันดูจะยากและเหนื่อยเกินไป ลองหามุมมองใหม่ให้เป็นแบบของเรา แล้วค่อย ๆ ขยับไปทีละขั้น
1
ถึงมันอาจจะช้า แต่ก็อาจพาไปถึงปลายทางได้เช่นกัน และต่อให้ไม่ถึงเราก็ยังมีโอกาสได้ชื่นชมความสำเร็จเล็ก ๆ ระหว่างทาง
เหมือนอย่างบทความที่ผมเขียน แม้จะเป็นที่รู้จักน้อย แต่การที่ท่านผู้อ่านมา comment ติชมแสดงความเห็น ถือเป็นกำลังใจและหนึ่งในความสำเร็จของผมแล้วล่ะครับ
เขียนโดย โจน ทะยาน ตะลุย
อ่าน เรื่องเล่าจากคลังภาพตอนอื่นได้ที่
และอีกหนึ่งช่องทางในการติดตามลัดเลาะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา