11 พ.ค. 2021 เวลา 12:15 • ประวัติศาสตร์
เรื่องน่ารู้ในยุคกลาง:
ความรักและการแต่งงาน
มีคำกล่าวเกี่ยวกับการแต่งงานโดย St. Jerome ผู้ซึ่งเป็นพระและนักเทววิทยาว่า “การแต่งงานนั้นดีต่อเหล่าคนที่กลัวการนอนคนเดียวตามลำพังในยามค่ำคืน”
ในตอนต้นของยุคกลางกฎเกณฑ์การแต่งงานยังไม่ได้เป็นแบบแผนดังเช่นช่วงเวลาต่อมา แต่เมื่อระบบฟิวดัลเริ่มเติบโตขึ้น ความสำคัญของการกำหนดสิทธิ์การสืบทอดทรัพย์สมบัติที่มีความจำเป็นมากขึ้น และประจวบกับการที่คริสตจักรต้องการควบคุมความประพฤติของ ‘ฝูงแกะ’ คือผู้คนในเวลานั้น กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งงานจึงเกิดขึ้น
ผู้คนในยุคกลางของยุโรปมีชีวิตรักและการแต่งงานที่แตกต่างไปจากคนสมัยปัจจุบันมาก แต่ธรรมเนียมและลักษณะบางอย่างก็ส่งต่อมาถึงชาวตะวันตกในปัจจุบัน เช่น การกล่าวคำสาบานในรูป ‘present tense’ หรือคำว่า ‘wedding’ ในภาษาอังกฤษก็มีจุดกำเนิดมาตั้งแต่ยุคกลาง มีประเด็นน่ารู้อยู่หลายประการเกี่ยวกับความรักและการแต่งงานของคนสมัยนั้นดังต่อไปนี้
1. คู่รักสามารถแต่งงานที่ใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องแต่งงานที่โบสถ์
ในยุคกลาง การแต่งงานสำหรับชาวคริสเตียนทั่วไปในยุโรปตะวันตกเป็นเรื่องง่ายดายมาก ถึงแม้คริสตจักรจะพยายามเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และบังคับใช้กฎหมายการแต่งงานขึ้นมา แต่คริสตจักรไม่ได้บังคับว่าคู่รักจะต้องแต่งงานกันในโบสถ์ ต้องมีบาทหลวงมาประกอบพิธีให้ หรือต้องได้รับอนุญาตจากครอบครัวแต่อย่างใด
1
คู่รักจะแต่งงานที่ใดก็ได้แล้วแต่จะสะดวก จะแต่งงานกันบนถนน ในผับ ในบ้านที่มีเพื่อน ๆ อยู่รายรอบ หรือแม้กระทั่งบนเตียงก็ได้ไม่มีใครว่า (เป็นโชคดีที่เรื่องเหล่านี้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานไว้ให้เรารู้กันในเวลาต่อมา) อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมีพยานคนอื่นอีกในการแต่งงาน เพราะเชื่อว่าพระเจ้าคือพยานอันสูงสุดแล้ว แต่กระนั้น คู่รักสามารถไปแต่งงานที่โบสถ์โดยมีบาทหลวงเป็นพยานให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้บังคับ แถมมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่ามีเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ไปแต่งงานกันในโบสถ์ และในบรรดาคู่รักที่มาแต่งงานกันในโบสถ์นั้นส่วนใหญ่แต่งงานโดยชอบด้วยกฎหมายทางวาจาหรือทางการกระทำก่อนที่จะมาสาบานรักต่อหน้าบาทหลวงแล้วเสียด้วย
ดังนั้น การแต่งงานที่ชอบและมีผลผูกมัดทางกฎหมายคือการยินยอมพร้อมใจของคนสองคนที่จะแต่งงานกัน แต่ปัญหาที่ตามมาคือถ้าคู่รักแต่งงานแบบโลกนี้มีเพียงแค่เราสองคนจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครแต่งงานแล้วหรือยังไม่ได้แต่งงานถ้าคู่นั้นมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่ยอมปริปากบอก แล้วในอังกฤษเองระหว่างปี 1217-1219 ศาสนจักรก็ออกบทบัญญัติเตือนฝ่ายชายไม่ให้มอบแหวนหรือวัตถุใด ๆ จะมีค่าหรือไม่มีค่าไว้ให้กับฝ่ายหญิง (เพื่อจะได้หาเรื่องลักลอบได้เสียกันก่อนแต่งงานง่ายขึ้น) จึงยิ่งทำให้ไม่มีหลักฐานมายืนยันไปกันใหญ่ ด้วยเหตนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ศาลในสมัยนั้นจะคับคั่งไปด้วยคดีเรื่องการแต่งงานที่ยื่นต่อศาลเพื่อให้ศาลพิสูจน์หรือบังคับว่าการแต่งงานนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว
ด้วยความอลเวงที่เกิดขึ้นเช่นนี้ และเพื่อประโยชน์ในการถ่ายโอนทรัพย์สินและมรดกตกทอดที่เกิดขึ้นจากการแต่งงาน จึงเป็นเหตุให้การแต่งงานแบบลับ ๆ ถึงทำได้แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นการแต่งงานที่เหมาะสมต้องมีพยานและเกิดขึ้นในโบสถ์ในเวลาต่อมา และกลายเป็นธรรมเนียมของชาวตะวันตกต่อไป
พระทำพิธีแต่งงาน Photo: https://www.medievalists.net/2014/02/12/medieval-images-of-love/detail-of-a-miniature-of-a-priest-marrying-a-couple/
2. แต่งงานได้ถ้าถึงวัยเจริญพันธุ์โดยไม่จำเป็นต้องให้พ่อแม่ยินยอม
ในยุคกลาง การแต่งงานเป็นช่องทางเดียวที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้โดยเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นคริสตจักรเลยอนุญาตให้แต่งงานได้ทันทีที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ในผู้หญิงคืออายุได้ 12 ปี ส่วนในผู้ชายคืออายุได้ 14 ปี และสามารถแต่งงานกันได้โดยไม่ต้องให้พ่อแม่อนุญาต
แต่ถึงแม้ว่าคริสจักรจะให้อิสระในการแต่งงานสำหรับคู่รัก แต่ในทางปฏิบัติแล้วครอบครัวและเครือข่ายทางสังคมมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการเลือกคู่ครองและการอนุญาตให้แต่งงาน แถมยังเป็นเรื่องปกติที่ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนของสังคมครอบครัวจะมีการทำข้อตกลงก่อนแต่งเกี่ยวกับทรัพย์สินเผื่อเกิดกรณีการเป็นม่ายขึ้น ยิ่งเป็นชนชั้นสูงในราชวงศ์ยิ่งจะถูกคาดหวังให้ขออนุญาตแต่งงานจากกษัตริย์เสียก่อน และการแต่งงานข้ามชนชั้นแม้จะทำได้แต่ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ
ในทางปฏิบัติอีกอย่างคือการแต่งงานแบบคลุมถุงชนเกิดขึ้นทั่วไป โดยเฉพาะการแต่งงานของชนชั้นสูงและสมาชิกราชวงศ์ที่เป็นการแต่งงานทางการเมือง การคลุมถุงชนจึงถือว่าเป็นเรื่องปกติแถมมีการจัดแจงตั้งแต่คู่แต่งงานยังเป็นเด็กกันอยู่ ดังนั้นคู่บ่าวสาวผู้สูงศักดิ์มักจะไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนเลยด้วยซ้ำ การแต่งงานเพราะความรักเป็นเรื่องที่หาได้ยากยิ่งในคนกลุ่มนี้ (แต่มีบ้างในบางกรณีไม่ใช่ไม่มีเลย)
ริชาร์ดที่ 2 มารับเจ้าสาวคือเจ้าหญิงอิสซาเบลแห่งฝรั่งเศสจากกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 6 ผู้เป็นบิดา Photo: https://blogs.bl.uk/digitisedmanuscripts/2018/05/everyone-loves-a-royal-wedding.html
3. การมีเพศสัมพันธ์สร้างการแต่งงานที่ผูกมัดทางกฎหมาย
มีหลายวิธีที่คู่รักในยุคกลางสามารถเลือกทำเพื่อให้การแต่งงานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทาง ‘วาจา’ หรือทาง ‘กาย’
ในทางวาจา การยินยอมที่จะแต่งงานสามารถกล่าวได้ทางวาจาโดยใช้ ‘คำพูดที่เป็นการกล่าวยินยอมในรูปปัจจุบัน’ ซึ่งไม่ได้มีวลีหรือประโยคเฉพาะเจาะจงใดเป็นพิเศษ และการแต่งงานที่เกิดจากการยินยอมที่เป็นปัจจุบันไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้สมบูรณ์โดยการกินอยู่หลับนอนกันทันทีก็ได้ แค่เพียงเอ่ยวาจาว่าแต่งงานกันก็ถือว่าสำเร็จแล้ว
แต่ถ้าคู่รักตกลงกันว่าจะแต่งงานกันไม่ว่าจะเป็นตอนไหนในอนาคตแต่กลับ ‘ได้เสียกันแล้ว’ ก็ถือว่าเป็น ‘การยินยอมที่เป็นการแสดงออกทางกายอันเป็นปัจจุบัน’ ดังนั้น คู่รักที่หมั้นหมายกันแต่มีอะไรกันแล้วก็ถือว่าเป็นการแต่งงานที่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย
ในอังกฤษ การยินยอมสามารถแสดงออกได้ด้วยการให้และการรับสิ่งของที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า ‘wed’ ซึ่งจะเป็นของขวัญที่เป็นอะไรก็ได้แต่คนที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานนี้เข้าใจกันว่าสิ่งนั้นหมายถึงการยินยอมที่จะแต่งงานกัน ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะเป็นแหวนนั่นแหละ
นักบวชมาประสาทพรให้คู่บ่าวสาวบนเตียง Photo: https://www.themedievalmagazine.com/past-issue-features/2020/2/14/a-guide-to-medieval-marital-sex-by-lucie-laumonier
4. แต่งงานกับญาติตัวเองไม่ได้
ในยุคกลาง การมีสายโลหิตร่วมกันหรือมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติแต่งงานกันไม่ได้ โดยก่อนปี 1215 ใครก็ตามที่มีทวดของทวดร่วมกันถือว่าเลือดชิดกันเกินไปแต่งงานกันไม่ได้ แต่เนื่องจากว่ากฎนี้บังคับใช้ยากและกลายเป็นข้ออ้างถูกนำไปใช้เพื่อยุติการแต่งงานได้ง่าย ดังนั้นจึงมีการแก้กฎใหม่ในปี 1215 ให้เหลือเพียงมีเทียดร่วมกันก็พอ
นอกเหนือจากการมีสายเลือดเดียวกัน ยังมีข้ออื่นซึ่งห้ามไม่ให้แต่งงานกันด้วย เช่น พ่อแม่บุญธรรมแต่งงานกับลูกบุญธรรมไม่ได้เพราะถือว่าเกี่ยวข้องเป็นญาติกันทางจิตวิญญาณ หรือแม้กระทั่งเป็นญาติที่ ‘ดอง’ กันใกล้ชิดก็ห้ามไม่ให้แต่งงานกัน อย่างเช่นพี่สะใภ้ห้ามแต่งงานกับน้องชายของสามีตัวเอง เป็นต้น
ในทางการเมือง พระสันตปาปาสามารถออกประกาศยกเว้นกฎเช่นนี้ให้ได้ในบางโอกาส ดังกรณีของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ของอังกฤษเมื่อต้องการแต่งงานกับพี่สะใภ้ม่ายของตัวเอง คือแคทเธอรีนแห่งอรากอน เจ้าหญิงจากสเปน ก็ได้พยายามพิสูจน์กับคริสตจักรว่าการแต่งงานครั้งก่อนนั้นมิได้มีการ ‘เสพสม’ กันเกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายแคทเธอรีนแห่งอรากอนเองก็ได้ให้ความร่วมมือด้วยการให้การยืนยันว่าการแต่งงานอันแสนสั้นกับพี่ชายของเฮนรีที่ 8 นั้นไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศเกิดขึ้น ทั้งสองจึงได้แต่งงานกันในที่สุด (แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยการที่เฮนรีที่ 8 พยายามให้การแต่งงานนั้นเป็นโมฆะทุกวิถีทาง ซึ่งการกล่าวหาว่าพระนางเคยเสียพรหมจรรย์จากการแต่งงานครั้งแรกแล้วก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย)
1
ข้าราชสำนักและข้ารับใช้กับคู่แต่งงานบนเตียง Photo: https://www.medievalists.net/2014/02/medieval-images-of-love/
5. สินสอดและประเพณีงานแต่ง
ในยุคกลาง ก่อนการแต่งงานจะจัดขึ้น จะมีการอ่านประกาศที่แจ้งว่าจะมีการจัดงานแต่งขึ้นที่โบสถ์ จำนวน 3 ครั้งในวันอาทิตย์ติดต่อกัน วัตถุประสงค์เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะมีงานแต่ง และทำให้การแต่งงานลับ ๆ ก่อนหน้านี้ถูกเปิดเผย (เพราะคู่กรณีที่เคยแต่งก่อนด้วยจะมาแสดงตัว)
เจ้าสาวในยุคกลางไม่ได้สวมชุดแต่งงานเป็นสีขาว (ธรรมเนียมนี้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียที่ทำให้เกิดความนิยมแพร่หลายต่อมา) ภาพวาดการแต่งงานในยุคกลางที่ยังคงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าเจ้าสาวสวมชุดแต่งงานด้วยสีที่หลากหลาย เจ้าสาวจะสวมชุดที่ดีที่สุดที่ตัวเองมี และในยุคกลางมีเพียงเจ้าสาวเท่านั้นที่ได้แหวน ซึ่งแสดงเป็นสัญลักษณ์ถึงการให้คำมั่นสัญญาในการรับแต่งงาน (เกร็ด: แม่ชีผู้ซึ่งแต่งงานกับศาสนาก็สวมแหวนที่นิ้วนางข้างซ้ายด้วยเช่นกัน
หลังพิธีแต่งงาน ครอบครัวของบ่าวสาวจะจัดงานเลี้ยงการแต่งงานที่ใหญ่โต โดยเจ้าบ่าวจะต้องเป็นคนจ่ายค่างานเลี้ยง (ถือว่าเป็นค่าชดเชยที่ทำให้หนุ่มโสดในชุนชนแห่งนั้นเสียโอกาสมีเจ้าสาวไป 1 ราย) ธรรมเนียมเหล่านี้ได้สืบทอดอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และงานแต่งเป็นช่วงเวลาที่ใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย ในระบบฟิวดัลยุคกลางนั้น นายที่ดินหรือลอร์ดสามารถเก็บเงินจากข้าที่ดินหรือวัสซัลได้เมื่อลูกสาวคนโตแต่งงานได้
ในคืนส่งตัวเข้าหอคนทั้งชุมชนต่างมีส่วนร่วม ฝ่ายหญิงจะพาเจ้าสาวขึ้นเตียง ฝ่ายชายก็พาเจ้าบ่าวขึ้นเตียงเช่นเดียวกัน แล้วคนทั้งบางก็จะทำเสียงดังโหวกเหวกภายนอกห้องหอหรือนอกบ้าน อาจจะเป็นเพราะสมัยก่อนไม่มีการตรวจ DNA คนทั้งชุมชนจึงมีส่วนร่วมเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กที่จะเกิดมานั้นชอบด้วยกฎหมายจริง ยิ่งถ้าเป็นชนชั้นสูงจะมีประจักษ์พยานเฝ้าอยู่ข้างเตียงเลยทีเดียว
ลูกสาวมีสิทธิ์ในการได้ทรัพย์สินของผู้เป็นพ่อ แต่เมื่อแต่งงานไปจะกลายเป็นของสามี (แต่บางครั้งก็ยังเป็นของฝ่ายหญิงอยู่ถ้ามีการทำข้อตกลงกันก่อนแต่ง) ดังนั้นผู้หญิงที่มีสินสมรสจะเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
ภาพในศตวรรษที่ 14 เจ้าบ่าวสวมแหวนให้เจ้าสาว Photo: http://www.rosslynchapel.com/wp-content/uploads/2015/09/171_Rosslyn_Adult_Learning_Guide_Marriage_in_the_Middle_Ages_FINAL.pdf
6. เพศสัมพันธ์ในการแต่งงาน
สำหรับคริสตจักร การแต่งงานคือวิธีการควบคุมกิจกรรมทางเพศและควบคุมความต้องการทางเนื้อหนังมังสา เพศสัมพันธ์นอกการแต่งงานทุกอย่างถือว่าเป็นบาป และเพศสัมพันธ์ภายใต้การแต่งงานที่ยอมรับได้คือทำเพื่อให้มีบุตรเท่านั้น การมีเพศสัมพันธ์เพราะความปราถนาและความเพลิดเพลินไม่ควรจะมีอยู่ในการแต่งงาน นักศาสนาและเทววิทยาอย่าง Thomas Aquinas ระบุว่าสามีที่นอนกับภรรยาเพียงเพื่อความเพลินเพลินจำเริญใจแต่อย่างเดียวนั้นเป็นการปฏิบัติต่อภรรยาของตัวเองเฉกเช่นโสเภณี หรือ St. Jerome เคยกล่าวไว้ว่า “ชายที่มีความรักเชิงปรารถนากับภรรยาของตัวเองมากเกินไปเป็นชายที่ประพฤติตนเช่นชายชู้” ซึ่งแนวคิดเช่นนี้มีอยู่อย่างแพร่หลายไปจนสิ้นศตวรรษที่ 16
ศาสนจักรไม่ได้พยายามควบคุมแต่เฉพาะ’จุดประสงค์’ ของการมีเพศสัมพันธ์ภายใต้การแต่งงานเพียงอย่างเดียว ‘จำนวน’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีการควบคุม คู่มือสำหรับผู้สารภาพบาปที่ชื่อว่า Summae Confessorum ตีพิมพ์เมื่อต้นศตวรรษที่ 13 ได้ระบุเวลาที่ห้ามไม่ให้มีกิจกรรมทางเพศระหว่างสามีกับภรรยาเกิดขึ้น เช่น วันอาทิตย์ ทุกวันที่มีการเฉลิมฉลองและการอดอาหาร และทุกเวลาที่ผู้หญิงมีประจำเดือน ตั้งท้อง ให้นมลูก รวมไปถึง 40 วันหลังจากที่ให้กำเนิดบุตร หมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วคู่สามีภรรยาจะสามารถมีเพศสัมพันธ์กันอย่างถูกกฎหมายได้น้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์
คริสจักรยังมีการอธิบายกำกับการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยาด้วย ตำราชื่อว่า De secretis mulierum ให้รายละเอียดบรรยายขั้นตอนและแนะนำการเตรียมพร้อมทางร่างกายและจิตใจด้วย เช่น ให้ลำไส้และกระเพาะปัสสาวะนั้นว่างก่อน มีการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ ให้ลูบไล้ส่วนล่าง ๆ ก่อนเพื่อเพิ่มความร้อนในตัวของผู้หญิงจะได้ไปถึงจุดที่อุณหภูมิเหมาะสม หรือเมื่อฝ่ายภรรยาเริ่มพูดไม่เป็นภาษาแล้วฝ่ายสามีควรจะรู้ว่าว่าต้องเริ่มต้นลงมือแล้ว เป็นต้น
การมีชู้ในยุคกลางเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้สำหรับสังคมในเวลานั้น ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีชู้อาจถูกลงโทษอย่างหนักได้ (ถึงแม้ในทางปฏิบัติการมีชู้ยังดำเนินไปตามปกติอยู่) แต่หากคู่แต่งงานตายสามารถแต่งงานใหม่ได้
ภาพที่ชื่อว่าการล่อลวง Lancelot Photo: https://www.medievalists.net/2014/02/medieval-images-of-love/
7. ไม่มีการหย่ามีแต่การแต่งงานที่เป็นโมฆะ
การหย่าตามที่เราเข้าใจในปัจจุบันนั้นไม่เกิดขึ้นในยุคกลาง ทางเดียวที่อยากจะยุติการแต่งงานคือการพิสูจน์ว่าการแต่งงานนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก
ชาวคริสต์สามารถแต่งงานได้กับคนเพียงคนเดียว (ต่อครั้ง) และคนที่กล่าวคำสาบานในโบสถ์ซึ่งได้ถูกผูกมัดแล้วในทางศาสนาแต่กลับไปแต่งงานอีกจะถือว่ามีความผิด ซึ่งชาวคริสต์ต้องแต่งงานกับคนที่เป็นชาวคริสต์ด้วยกันเท่านั้น การละเมิดกฎเหล่านี้มีผลทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะทันที
การข่มขืน มีชู้ หรือการแต่งงานในช่วงเวลาอดอาหาร การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนที่มีสายเลือดเดียวกัน หรือการแต่งงานกับคนที่เคยฆ่าพระมาก่อน ถ้ารู้ก่อนแต่งงานแล้ว (รู้ทั้งรู้ว่าห้ามแต่งงานในกรณีแบบนี้แต่ก็ยังแต่ง) เหตุเหล่านี้ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อให้การแต่งงานนั้นเป็นโมฆะได้ในภายหลัง
โดยสิทธิ์ในการสมรสแล้วทั้งสามีและภรรยาสามารถมีสิทธิ์ในการเรียกร้องให้มีกิจกรรมทางเพศตามประสาคู่แต่งงานได้ แต่หากสามีละเลยไม่ปฏิบัติกิจดังกล่าว ฝ่ายภรรยาสามารถขอให้การแต่งงานนั้นเป็นโมฆะได้ (แต่ฝ่ายหญิงต้องระวังการใช้เหตุผลข้อนี้สักหน่อยเพราะโสเภณีสามารถถูกเรียกมาเป็นพยานได้)
เมื่อพบว่าคู่มีชู้ Photo: https://notchesblog.com/2017/10/31/southon-on-incest/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา