7 มิ.ย. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ดั่งสายน้ำไหล (๒๓)
มีพราหมณ์ผู้หนึ่งทูลถามพระพุทธเจ้าว่า วันหนึ่งๆ นั้นพระองค์ปฏิบัติโลกุตรธรรมอย่างไร โลกุตรธรรมนั้นหมายถึงธรรมเหนือโลก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อน พราหมณ์ วันหนึ่งๆ เรายืน เราเดิน เรานั่ง และเรานอน” พราหมณ์ผู้นั้นก็หัวเราะเยาะพระองค์ท่าน และพูดว่า “ใครๆ เขาก็ยืน เดิน นั่ง นอนทั้งนั้น แค่ยืน เดิน นั่ง นอนนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมชั้นเลิศสุดได้อย่างไรกัน”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนเธอ ก็แต่ว่าเมื่อเรายืนนั้น เรารู้ เมื่อเราเดินนั้น เรารู้ เมื่อนั่งนั้นรู้ เมื่อนอนนั้น รู้” ส่วนคนสามัญทั่วไปนั้น แม้จะยืน เดิน นอน นั่งโดยอาการไม่รู้”
กิริยาภายนอกของผู้ปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติธรรมนั้น สังเกตความแตกต่างได้ยาก คนธรรมดาเขาทำงาน กิน ดื่ม ไป มา เดิน ยืน นอน นั่ง ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูง ชั้นเหนือโลก, ชั้นที่ไปให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับคนธรรมดาสามัญ โดยรูปภายนอก
ส่วนความผิดแผกแตกต่างอยู่ตรงที่ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงนั้นมีความรู้สึกตัวอยู่ มีสติ ซึ่งด้วยการทำอย่างนี้จะนำไปสู่ผลที่แตกต่างกัน
บุคคลที่มีชีวิตอยู่โดยไม่เจริญภาวนานั้น ชีวิตจะค่อยๆ ขัดข้อง มืดมน...อารมณ์ก็เข้ามาเร้ารุม ทุกข์เป็นที่หมาย
ส่วนผู้เจริญภาวนาอยู่ แม้ในเบื้องต้นเหมือนคนทั่วไปทุกอย่าง แต่เมื่อสติเข้มข้น สมาธิชนิดที่เป็นเองปรากฎขึ้น ความทุกข์ยากทั้งหลายก็จะลดน้อยลง ที่สุดก็เข้าถึงที่สุดทุกข์ได้ในตัวเอง สุดสิ้นปัญหาที่เร้ารุมอยู่ ไม่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วกำลังจะเกิด หรือจะมีอีกในวันหน้า ข้อแตกต่างเป็นอย่างนี้
รวบรวมจากคำแนะนำต่อกลุ่มธรรมจาริณี ในรายการภาวนาประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ณ อาศรมศานติ-ไมตรี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา