9 มิ.ย. 2021 เวลา 11:46 • สุขภาพ
“ความรักสอนอะไรเราบ้าง ?”
เราจะไม่เห็นบทเรียน หากเรามีความรักอย่างทิ้งขว้าง
บทความนี้
ถือเป็นการปิดไตรภาคเรื่องราวก่อนหน้านี้ครับ นั่นคือ
-วิธีเลือกแฟนฉบับนักจิตฯ
-คบกันมานานก็เลิกกันได้
(ซึ่งผมเองก็ไม่คิดเหมือนกันครับว่าจะมีถึงไตรภาค 5555)
โดยผมตั้งใจเขียนในสิ่งที่บทความก่อนหน้านี้ไม่ได้พูดถึง (หรือเล่าไม่ละเอียด)
และเป็นการสรุปบทเรียนจากเรื่องราวของความรัก-ความสัมพันธ์
ซึ่งผมเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้
มนุษย์เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตเลยครับ
ถ้าเปรียบเรื่องความรักเป็นบทเรียนแล้วล่ะก็
การเรียนซ้ำชั้นก็คงเป็นการตกหลุมเดิม ๆ
เช่น
-เลือกรักผิดคน (โดนหลอก/โดนทำร้าย)
-ครอบงำคนรัก (บังคับ/ควบคุม/ทะเลาะ/แตกหัก)
-ไม่เข้าใจคนรัก (ไม่ใส่ใจ/ไม่ฟัง/ไม่ดูแล/ละเลย)
-ไม่กล้าเริ่มที่จะรัก (หนี/หลบเลี่ยง/ไม่เปิดใจ/ปิดกั้นตัวเอง)
-ใช้คนรักเพื่อผลประโยชน์ (หลอกลวง/เอาไว้เป็นของเล่น)
ฯลฯ
“สรุปว่า พอเป็นเรื่องรักทีไรก็พังทุกที”
บทความนี้ผมจึงตั้งใจเขียนขึ้นมา
เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทาง
ในการเรียนรู้บทเรียนที่ความรักได้มอบให้แก่เราครับ ^^
[1]
“ความรักสอนให้เรารู้จักตัวเอง”
การรู้จักตัวเองก็คล้ายกับการเลือกสิ่งที่เราจะสวมใส่ครับ
เราย่อมรู้ว่า เสื้อไซส์ไหนที่ใส่แล้วอึดอัด
และเราก็ย่อมรู้ว่า รองเท้าไซส์ไหนที่ใส่แล้วมันหลวม
“เราย่อมรู้ถึง ความไม่พอดี”
ลองนึกภาพดูนะครับ
-ถ้าเราใส่เสื้อ/กางเกง/กระโปรงตัวไหนที่มันเล็กมาก ๆ
มันก็จะทำให้เราอึดอัด บางทีก็เล่นเอาหายใจไม่ออก
จริงอยู่ที่เราอาจทนได้ในช่วงแรก
แต่ถ้านานไปมันก็อาจกระทบถึงสุขภาพของเราได้ครับ
-ถ้าเราใส่รองเท้าที่มันโคตรหลวม
มันก็จะทำให้เราสะดุดล้มหัวทิ่มเอาได้
ถึงแม้เราจะบอกว่าไม่เป็นไร/ใส่ไปนาน ๆ ก็ชิน
แต่อะไรที่มันก่ออันตราย มันก็จะไม่หยุดเล่นงานเราครับ
“ความสัมพันธ์ที่พอดี ก็เช่นเดียวกัน”
สิ่งที่เราพึงทำก็คือ การรู้จักธรรมชาติของตัวเอง
ทั้งในเรื่องของความสนใจ วิธีการมองโลก
การทำงาน งานอดิเรก รูปแบบการมีความสุข
“ง่าย ๆ ก็คือ แนวทางการใช้ชีวิต”
ยิ่งเรารู้จักตัวเองได้อย่างกระจ่างชัด
เราก็จะรู้ว่า
คนไหนที่เราเลือกแล้วมีแนวโน้มไปกันได้
หรือ คนไหนที่เราเลือกแล้วมีแนวโน้มขัดแย้งกัน
“เลือกให้เหมาะ – ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องฝืน”
*ปัญหาชีวิตรักที่มักจะเกิดก็คือ
เราดันไปเลือกคนที่ไม่พอดีกับเรา
แล้วเรากลับไปพยายามเปลี่ยนให้เค้าเป็นเหมือนเรา
(ไปบังคับฝืนใจกันจนเกิดความขัดแย้งตามมา)
รวมทั้งการฝืนทนกับคนที่ไม่เข้ากับเราเลย
แต่เรากลับไปหวังว่า ถ้าทนต่อไปสักวันมันคงจะดีขึ้นเอง
(ซึ่งคล้ายกับการหลอกตัวเอง จนต้องทนอยู่กับความทุกข์)
[2]
“ความรักสอนให้เรารู้จักการเกื้อกูล”
การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลนั้น
หมายถึงการพึ่งพาอาศัยกันครับ
เป็นการช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของกันและกัน
(ไม่ใช่ยึดติดแบบขาดกันไม่ได้/ไม่ใช่ยัดเยียดการดูแล)
มันเป็นการให้อิสระตัวเองและคนที่เรารัก
“ได้เติบโตอย่างเป็นอิสระ”
โดยที่เราไม่เข้าไปบีบคั้นให้คนรักเป็นไปตามใจเรา
ซึ่งจะช่วยให้เราไม่เอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง
และยังช่วยให้เรารู้จักการให้อย่างไม่มีเงื่อนไข
(ไม่ใส่เล่ห์กลไว้ในความสัมพันธ์)
จนเราเผลอไปบีบบังคับ เบียดเบียน
ไม่สนใจไยดี และทำร้ายคนที่อยู่กับเรา
“ความรักที่มีพลังแห่งความเกื้อกูลนั้น”
จะช่วยให้เกิดความช่วยเหลือดูแล
นำมาซึ่งความรู้สึกมั่นคง อบอุ่น
และเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น
*ปัญหาชีวิตรักที่มักจะเกิดก็คือ
เราตั้งต้นด้วยคำว่า “ผลประโยชน์”
แล้วเราก็มัวแต่หมกมุ่นกับการเสาะหาสิ่งที่อยากได้จากคนรัก
คล้ายกับเราปล้นทุกอย่าง/รีดเอาเลือดทุกหยดจากคนรัก
ซึ่งการทำเช่นนี้คือการสร้างความสุขให้แก่ตนเองเพียงอย่างเดียว
และสร้างรอยบาดแผลให้กับคนรัก
จนนำมาซึ่งสัมพันธภาพที่ไม่มีความสุข
[3]
“ความรักสอนให้เรารู้จักการเข้าใจผู้อื่น”
การที่เราจะเข้าใจบางสิ่งได้
เราจำเป็นต้องนำสิ่งนั้นมาไว้ในความสนใจ
จากนั้นเราก็สังเกตและทำความเข้าใจสิ่งนั้นอย่างรอบด้าน
หากเราต้องการเข้าใจคนรัก
เราก็ต้องเริ่มจากการให้ความใส่ใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ
(ถ้าไม่มอง/ไม่สนใจ แล้วจะเห็นได้ยังไง 5555)
สิ่งที่เราสามารถนำมาไว้ในความสนใจก็มีมากมายเลยครับ
ทั้งเรื่องภายนอกอย่างของกิน ของใช้ เสื้อผ้า
สิ่งอำนวยความสะดวก
ถ้าเรื่องภายในก็ความคิด ความสนใจ ความรู้สึก
ความต้องการ สิ่งที่พูด สิ่งที่ทำ
“ทุกสิ่งที่เป็นคนรัก”
เนื่องจากทั้งหมดนั้นคือชีวิตจิตใจของคนที่เรารัก
ไม่ว่าเราจะละเลย หรือ ไม่สนใจ
สิ่งเหล่านั้นก็จะยังคงอยู่กับคนรักครับ
ดังนั้น การสังเกต การได้สื่อสาร และการทำความเข้าใจ
รวมทั้งการได้แบ่งปันเรื่องราว/ประสบการณ์ต่าง ๆ
ก็จะช่วยให้เราเข้าใจกันได้อย่างกว้างขวาง
และลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ซึ่งเมื่อเข้าใจกันแล้ว
ก็จะสามารถดูแลกันได้อย่างถูกที่/ถูกทาง/ถูกเวลา
ช่วยให้เรามีหัวใจที่สามารถสังเกตได้อย่างละเอียดอ่อน
อีกทั้งยังช่วยให้เกิดเป็นสายสัมพันธ์ที่อบอุ่น
*ปัญหาชีวิตรักที่มักจะเกิดก็คือ
เรามักจะสนใจแค่เพียงบางสิ่ง และ มองข้ามหลายอย่างไป
จุดนี้เองที่มักจะทำให้เกิดความไม่ใส่ใจ การละเลย
จนนำมาซึ่งความเสียใจ น้อยใจ จนเกิดความขัดแย้งขึ้นมา
[4]
“ความรักสอนให้เรารู้จักการรักตัวเอง”
ข้อนี้สำคัญอย่างยิ่งเลยครับ
หากเรารักแต่คนอื่นจนละเลยตัวเอง
จนถึงจุดหนึ่งเราก็จะหมดแรงและไม่มีความสุข
พอเราไม่มีความสุข ใจเราก็จะถูกครอบงำด้วยความทุกข์
ด้วยเหตุนี้เอง
สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำ
“ก็จะถูกเจือปนด้วยความทุกข์”
แล้วการดำรงชีวิยอยู่ด้วยการไม่มีความสุข
มันก็จะทำให้เราไปกระทบ/ขัดแย้งกับทุกสิ่งรอบตัว
ดังนั้นการรู้จักรักตัวเองจึงมีความสำคัญ
ซึ่งเริ่มจากการรู้จักตัวเอง
แล้วมอบสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับตัวเอง
ทั้งการชื่นชม การให้คุณค่า การใจดีกับตัวเอง
การให้รางวัลตัวเอง การได้พักผ่อน การพัฒนาตนเอง
“สรุปว่า เป็นการดูแลใส่ใจตัวเอง”
เมื่อเราเติมรักให้ตัวเองได้
เราก็จะมีรักเหลือล้นไปเผื่อแผ่ให้กับคนอื่นครับ
*ปัญหาชีวิตรักที่มักจะเกิดก็คือ
เราเผลอเชื่อว่า ถ้าเรารักคนอื่น คนอื่นก็จะรักตอบ
แต่ปัญหาก็คือ มันไม่เพียงพอครับ
(เติมไม่ตรงจุด)
เนื่องจากเราไม่เคยมอบรักให้แก่ตัวเองเลย
มันก็จะทำให้เรารู้สึกโหยหา/ขาดพร่องอยู่ลึก ๆ
จนนำไปสู่การเรียกร้อง หรือ การดูแลคนอื่นจนลืมดูแลตัวเอง
[5]
“ความรักสอนให้เรารู้จักการเปิดใจ”
การไม่ยอมเปิดใจนั้น
คล้ายกับบ้านที่ปิดประตูหน้าต่างจนหมด
แถมยังปิดม่านไม่ให้แสงเข้ามา
แค่นั้นยังไม่พอ
ยังสร้างกำแพงสูงล้อมรอบบ้าน
คล้ายกับเป็นป้อมปราการที่ไม่ยอมให้ใครเข้ามาได้
ผลที่เกิดตามมาก็คือ
“บ้านกลายเป็นสถานที่อันโดดเดี่ยวและไม่ต้อนรับผู้ใด”
จิตใจมนุษย์เราก็เช่นกันครับ
การตั้งกำแพง การตัดขาดจากผู้อื่น
ล้วนนำมาซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เชื่อมโยง
มันเหมือนกับการดำเนินชีวิตไปอย่างด้านชา
จริงอยู่ที่ “การปิดใจ” มันอาจจะช่วยให้เราไม่ต้องทุกข์
(เหมือนฉีดยาชาให้ตัวเอง)
แต่มันก็ทำให้เราเป็นสุขกับชีวิตได้ยากขึ้นด้วย
“การเปิดใจ”
จึงหมายถึงการอยู่กับความเป็นจริง
แล้วยินดีรับความเปลี่ยนแปลงของชีวิต
อยู่กับทุกฤดูกาลของชีวิต และเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น
*ปัญหาชีวิตรักที่มักจะเกิดก็คือ
เราพาตัวเองไปอยู่กับคน หรือ สถานการณ์ที่อันตราย
เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้สึกที่เร่าร้อนรุนแรง
(เพื่อทำลายความด้านชา และ เพื่อมีความสุข)
มันจึงเป็นความรักและความสุขที่ตั้งอยู่บนความเสี่ยง
ซึ่งไกลห่างจากความเกื้อกูล ความเข้าใจ และความอบอุ่น
ทั้งหมดนี้คือบทเรียนแห่งรักที่ผมนำมาบอกเล่าครับ
ผมเข้าใจว่า ถ้าใจเรามีความรัก
“เราย่อมไม่ใช้ความรุนแรง”
ท่าทีของเราจะอ่อนโยน ยืดหยุ่น
และมีความเกื้อกูลต่อทุกสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง
“การจะสอบบทเรียนความรักให้ผ่านได้นั้น”
ล้วนเริ่มจาก
การสังเกตในสิ่งที่เราพลั้งพลาดในชีวิตรักบ่อย ๆ
รวมทั้งสังเกตสิ่งที่เรามักเอาแต่โทษผู้อื่น
“เพื่อกลับมารับผิดชอบตนเอง”
เมื่อเราพร้อมเรียนรู้บทเรียน
เราก็จะมีความตั้งใจมากขึ้น
(แทนที่การมีความรักอย่างทิ้งขว้าง)
ดังนั้น ยิ่งเราสอบผ่านบทเรียนแห่งรัก
ใจเราก็จะมีเงื่อนไขน้อยลง
และใจเราก็จะมีความรุนแรงน้อยลงด้วยครับ
“รักได้มากขึ้น รุนแรงน้อยลง”
ซึ่งจะทำให้เรามีความสุขสงบยิ่งขึ้น
ใช้ชีวิตได้อย่างเรียบง่ายมากขึ้น
และดำเนินชีวิตไปด้วยใจแห่งความรัก ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา