13 มิ.ย. 2021 เวลา 23:00 • การศึกษา
เรื่องชื่อ-ชื่อของคนไทย ชาวต่างชาติ และเรื่องเบ็ดเตล็ดของชื่อ
ชื่อของคนเรานอกจากมีไว้เรียกขานแล้ว ยังเกี่ยวพันกับสายสัมพันธ์เครือญาติ ความเชื่อ และการปกครอง หากเราพิจารณาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าการตั้งชื่อของคนไทยนั้นแปรผันไปตามบริบทของสังคม
ใครรู้จักทุกคำบ้างยกมือขึ้น ?
ย้อนกลับไปสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินตอนต้น ไพร่หรือประชาชนคนหนึ่งเมื่อเข้ารับราชการเป็นขุนนาง ชื่อตัวจะหายไปคงเหลือไว้แต่ "ราชทินนาม" ที่เป็นเครื่องบอกตำแหน่งสังกัดกรมกอง เนื่องจากมีบรรดาศักดิ์กำกับไว้ด้วย
เช่นนายปาน กลายเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี นายภู่ กลายเป็นพระสุนทรโวหาร
คำว่าเจ้าพระยา และพระ ที่นำหน้านั้นเป็นบรรดาศักดิ์ที่บอกยศ ส่วนที่เหลือคือราชทินนามตามคุณลักษณะของขุนนางผู้นั้น
มีข้อสันนิษฐานสองอย่างเกี่ยวกับราชทินนามดังนี้
หนึ่ง ราชทินนามนี้เป็นกุศโลบายเพื่อละลายความเป็นบุคคลให้หายไป หลงเหลือไว้เพียงงานราชการเท่านั้น หรือก็คือผลประโยชน์ของราชการนั้นเหนือกว่าผลประโยชน์ของบุคคล และราชทินนามนี้ก็เปลี่ยนแปลงได้ตามโชคชะตาในการรับราชการของขุนนางแต่ละคนว่าเจริญก้าวหน้าหรือเสื่อมถอย
สอง พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) สันนิษฐานว่า พระมหากษัตริย์พระราชทานราชทินนามแก่ขุนนางตามธรรมเนียมที่มีมาและเพื่อให้สมฐานะ เนื่องจากบางคนมีชื่อตัวไม่เพราะ เช่น เหม็น อึ่ง เขียด
มีความเชื่อเกี่ยวกับชื่อที่มีพื้นฐานมาจากคติทางผีว่า ถ้าปิศาจเอ็นดูอยากได้เด็กก็อาจบันดาลให้ตายเพื่อเอาไปเลี้ยงดูในเมืองผี
ทางเมืองเชียงใหม่ในอดีตจึงมีธรรมเนียมว่า ถ้าลูกเจ้าหลานนายเกิดมาก็ให้เด็กมีสองชื่อ คือชื่อสามัญสำหรับตัว กับชื่อเรียกให้ผีเกลียดเช่น อึ่ง กบ เขียด ซึ่งคตินี้อาจสืบทอดมาสู่ผู้คนในสังคมสมัยนั้นด้วย
คนสมัยก่อนนั้นคล้ายว่าตั้งชื่อกันแต่พอเรียกให้รู้ว่าคือใคร ชื่อก็เป็นคำสั้น ๆ 1-2 พยางค์ บางครั้งก็เรียกพ่วงไปด้วยว่าเป็นลูกหลานใคร เช่น ไอ้มีลูกอีแดง (สมัยนั้นไอ้และอีเรียกแทนเพศ ไม่ใช่คำหยาบ)
ถ้าสังคมมีเพียงระดับหมู่บ้านอาจไม่เป็นปัญหา แต่หากเป็นในระดับจังหวัดหรือประเทศที่ต้องมีสำมโนประชากร การตั้งชื่อแบบนี้จะเป็นปัญหามาก
ฉะนั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น ดังเนื้อความที่ปรากฏคือ
"ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า สมควรจะมีบัญญัติวิธีจดทะเบียนคนเกิด คนตาย แลทำงานสมรส ให้เปนการมั่นคงชัดเจนสืบไป" กับ "บุคคลทุก ๆ คนจำต้องมีทั้งชื่อตัวแลชื่อสกุล"
นับแต่นั้นดูเหมือนชื่อตัวและนามสกุลจะมีพัฒนาการเรื่อยมา เดิมทียึดถือเพียงแค่อ่านง่ายความหมายดี มาถึงปัจจุบันบางครั้งก็อ่านยากหรือไม่ก็สุดแสนจะแฟนตาซี
เพราะมีทั้งนำคำจากภาษาบาลีสันสกฤติมาใช้ มีการอิงคติโหราศาสตร์ใช้การคำนวณให้ได้ผลลัพธ์เป็นมงคล
อย่างเช่น ธนัช ธณัฐ ธณรรถ ที่ล้วนอ่านว่า ทะ-นัด เหมือนกันทว่าใช้ตัวอักษรแตกต่างกัน
บางคนคงเห็นว่าเป็นความแฟนตาซีอย่างยิ่ง จึงนำมาล้อเลียน เช่น คฤจภัคฐ์ คิศถฤงคิษแคธฏ์ (คิดจะพัก คิดถึงคิดแคท) เป็นต้น อืม หรือว่าเป็นช็อคโกแลตนะ
คนไทยสมัยนี้มีชื่อเล่นต่างหากนอกจากชื่อตัว เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมค้นไม่เจอว่าเริ่มต้นจากไหน
หากให้สันนิษฐานผมเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาหลังจากมีพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อคนไทยเริ่มใช้ชื่อตัวที่เป็นคำ 2-3 พยางค์ จึงอาจอยากเรียกชื่อที่ง่าย สั้น กระชับกว่าชื่อตัว อีกทั้งชื่อที่ว่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องตรงหรือพ้องกับชื่อตัว นี่อาจเป็นมูลเหตุของชื่อเล่นก็เป็นได้
ในขณะที่ nickname ของชาวต่างประเทศนั้น หมายถึงชื่อที่สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนมักจะเรียกอย่างลำลองแทนชื่อจริง (An informal name that is used instead of your real name, usually by your family or friends)
นอกจากนี้ ชาวต่างชาติอย่างฝั่งยุโรปและอเมริกามักอิงการเรียกชื่อแบบสั้น ๆ นี้กับชื่อจริง (firstname) คือกร่อนเสียงให้สั้นหรือเรียกแค่พยางค์หน้าแทน
เช่น จอนนี่ก็เรียกแค่จอห์น หรือเจนนิเฟอร์กลายเป็นเจนนี่
ชื่อของชาวต่างชาติ เช่นชาวยุโรปนั้นจะมีโครงสร้างแตกต่างจากไทย คือเริ่มต้นด้วยชื่อตัว (first name/given name/christian name) ตามด้วยชื่อกลาง (middle name) ที่อาจมีมากกว่าหนึ่งชื่อ แล้วปิดท้ายด้วยนามสกุล (surname/family name)
สำหรับชื่อตัวรวมกับชื่อกลางจะเรียกว่า forenames
ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของสามี นามสกุลเดิมของเธอเรียกว่า maiden name
ธรรมเนียมการใช้ middle name ต้องย้อนไปถึงช่วงที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ ชนชั้นนำของจักรวรรดินิยมใช้ชื่อกลางบอกสถานภาพและสายสัมพันธ์เครือญาติ
แต่หลังจากนั้นการใช้ชื่อกลางก็เสื่อมความนิยมลงจนหายไป
กระทั่งช่วงศตวรรษที่ 13 ในอิตาลี พบว่าเหล่าชนชั้นนำใช้ชื่อกลางกันเป็นเรื่องปกติ และเป็นเช่นนั้นจนถึงปลายศตวรรศที่ 14 จากนั้นการใช้ชื่อกลางจึงกลายเป็นธรรมเนียมของคนทั่วไป
ปัจจุบันชื่อกลางนั้นยังคงใช้เพื่อระลึกถึงสายสัมพันธ์ทั้งของครอบครัวและในทางอื่น อาจเป็นชื่อบรรพบุรุษหรือคนที่สำคัญต่อครอบครัว เช่นชื่อของบาทหลวงผู้ทำพิธีล้างบาป (Baptism) ให้ลูก
นอกจากนี้หญิงที่แต่งงานและเปลี่ยนนามสกุลก็ยังสงวน maiden name ไว้ได้โดยนำมาใช้เป็น middle name ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปของหญิงชาวอเมริกันนับตั้งแต่ช่วงกลาง ค.ศ. 1930 เรื่อยมา
การตั้งชื่อลูกของชาวต่างชาติอย่างยุโรปและอเมริกัน
พวกเขาอาจตั้งชื่อลูกด้วยชื่อของผู้ใหญ่ในครอบครัว เช่นชื่อโรเบิร์ต จอห์น (ชื่อตัวและชื่อกลาง) หรือจอร์จของพ่อ ก็นำมาตั้งให้เป็นชื่อลูกชาย บางครั้งเมื่อเรียกขานกันจึงต้องกำกับว่าเรียกคนพ่อ (senior) หรือคนลูก (junior)
ซึ่งที่ยกตัวอย่างนั้นเป็นชื่อของพระเอกไอร่อนแมน Robert John Downey Jr. และอดีตประธานาธิบดี George Walker Bush
นอกจากนี้เราก็มักเห็นการตั้งชื่อตามชื่อนักบุญ (saint) ของศาสนาคริสต์อีกด้วย เช่น ปีเตอร์ โจเซฟ บางครั้งก็ใช้เป็นชื่อกลางด้วยความเชื่อว่าชื่อของท่านจะปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย
น่าคิดว่าชาวยุโรปและอเมริกันดูเหมือนจะมีความอนุรักษ์นิยมในการตั้งชื่อตัว (firstname หรือ forenames) พอควร จึงตั้งชื่อลูกตามชื่อของพ่อแม่หรือบรรพบุรุษ
นอกเหนือจากสายสัมพันธ์แล้ว นี่อาจเป็นคติที่ว่า เมื่อให้กำเนิดลูกก็ปรารถนาให้ชีวิตน้อย ๆ นี้ประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับตนในภายภาคหน้า สิ่งแรกที่จะมอบให้เขาย่อมต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
นั่นก็คือชื่อของพ่อหรือแม่ซึ่งได้ใช้มาก่อนแล้ว
เมื่อเจ้าของชื่อนี้ผ่านช่วงเวลาของชีวิตจนประสบความสำเร็จหรือมีความเจริญรุ่งเรือง ย่อมเป็นข้อพิสูจน์เพียงพอว่าเป็นชื่อที่ดี
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผมเท่านั้น ใครมีเพื่อนฝูงหรือคนรู้จักเป็นชาวต่างประเทศ หากอยากรู้ลองถามดูก็น่าจะไม่เป็นไร หากได้ความอย่างไรรบกวนเล่าสู่กันฟัง แบ่งปันกันบ้างนะครับ
ห้าเรื่องเบ็ดเตล็ดของชื่อ
1. ชื่อตัวนั้นนอกใช้เรียกขานแล้ว บางครั้งยังกลายเป็นคำนิยามหรือคำตราหน้าได้ด้วย
เช่น มีช่วงเวลาหนึ่งที่ "เหวง" หมายถึงการพูดจาวกไปวนมาจนฟังไม่รู้เรื่องเพราะไร้ประเด็นใจความสำคัญ ซึ่ง นพ. เหวง โตจิราการ เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในเชิงภาคภูมิใจว่าไม่อึดอัดและไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา
อันนี้ก็แล้วแต่จะว่ากันไป แต่ที่แน่ ๆ คนอื่นที่ชื่อเหวงเหมือนกันก็พลอยซวยไปด้วย
2. บางคนประสบกับสภาวะที่ตรงกันข้ามกับชื่อของตนเองโดยสิ้นเชิง
เช่น ปลื้ม VRZO ที่อดีตเพื่อนร่วมงานทุกคนไม่ใช่แค่ “ไม่ปลื้ม” เขา หลายคนไม่ได้หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเขาแต่ด่าเต็มที่ชนิดสาดเสียเทเสียเลย เข้าใจว่าคงแค้นกันชนิดที่ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ
และ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล (ปลื้ม) ที่โพสท์ด่า ป.ป.ช. กรณีที่ชี้มูลความผิดสรยุทธ สุทัศนะจินดา ภายหลังพ่อของเขา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ให้สัมภาษณ์สื่อว่าได้ตำหนิลูกไปแล้ว แบบนี้ไม่ใช่แค่พ่อที่ "ไม่ปลื้ม" อย่างแน่นอน
3. นักเรียนที่ชื่อตัวหรือนามสกุลแปลกกว่าเพื่อน อาจถูกล้อเมื่ออยู่ในโรงเรียน
แต่นอกจากชื่อจริงแล้ว "ชื่อพ่อและแม่" ของแต่ละคนนั้นเป็นสิ่งที่นักเรียนประถมและมัธยมขวนขวายค้นหา (สาระแน ?) มาใช้เรียกเพื่อนเพื่อล้อเลียนยั่วโมโห จนบางครั้งสนิทกันมากก็ติดปากถึงขนาดโทรศัพท์ไปหาแล้วขอสายคุยกับเพื่อนแต่เรียกชื่อแม่
"ขอสายปราณี"
"พูดอยู่ค่ะ"
แล้วปลายสายที่โทรมาก็นิ่งเงียบตะลึงงัน
🤣 🤣 🤣
หรือเคยปากจนตะโกนเรียกหาเจ้าตัวที่หน้าบ้านด้วยชื่อพ่อ เมื่อนึกได้ก็อับอายในหมู่เพื่อนฝูงกันถ้วนหน้า
"กูไม่มีเพื่อนเหี้ย ๆ ยังงี้"
พ่อหันไปบอกลูก หลังจากได้ยินเสียงที่ไม่คุ้นหูเรียกชื่อตนเองโหวกเหวกหน้าบ้าน
🤪 🤪 🤪
4. Lilibet Diana Mountbatten-Windsor
พระนามขององค์หญิงน้อยแห่งราชวงศ์วินเซอร์ ซึ่งภายหลังการประกาศก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา เช่นไม่เหมาสมที่จะนำ nickname ของควีนมาใช้เรียกลูกสาว
เพราะมีเพียงพระบิดาและเจ้าชายฟิลิปที่เคยเรียกขานพระนามนี้ นี่จึงเป็นการหมิ่นเกียรติของควีน
รวมถึงเลือกใช้ชื่อ Lilibet และ Diana นั้น ก็เพื่อสื่อสารถึงราชวงศ์เป็นนัยว่าองค์หญิงน้อย (กับเจ้าชายแฮรี่ ดัชเชสเมแกน และอาจรวมถึงเจ้าหญิงไดแอนา) เป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ และไม่อาจตัดขาดได้
5. การตั้งชื่อบัญชีโซเชียลมีเดียหรือโซเชียลเน็ตเวิร์คของแต่ละผู้ให้บริการล้วนมีข้อกำหนดตายตัวที่แตกต่างกัน
เช่น Linkedin กำหนดให้ใช้ชื่อจริง (real name)
ขณะที่ Twitter ผู้ใช้จะมีสองชื่อคือ display name กับ username หรือ handle (ชื่อสีเทาที่มี @ ขึ้นต้นและปรากฏท้าย display name เมื่อ tweet) ซึ่งทั้งสองชื่อนั้นผู้ให้บริการค่อนข้างเปิดกว้างให้ใช้อย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่มีคำต้องห้าม
ส่วน Facebook นั้นเคยมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการตั้งชื่อผู้ใช้งานให้รัดกุมขึ้นแต่ท้ายที่สุดก็ไม่ถึงขั้นบังคับให้ใช้ชื่อจริง ซึ่งถ้าจำไม่ผิดก็คล้ายเตรียมจะบังคับแต่ผู้ใช้จำนวนมากต่อต้าน
ในปัจจุบัน Facebook อนุญาตให้ใช้ชื่อที่เรียกกันในชีวิตประจำวัน (Authentic name) สำหรับบัญชีผู้ใช้ส่วนบุคคลได้ โดยให้เหตุผลไว้ว่า เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยซึ่งผู้คนสามารถไว้วางใจและรับผิดชอบต่อกันและกัน
ซึ่งขณะนี้ดูจะห่างไกลจากความเป็นจริงเหลือเกิน
อ้างอิง
💡 หนังสือชุดลักษณะไทย เล่ม ๑ ภูมิหลัง
💡 “หลวงการ์เดนกิจบริรักษ์” ขุนนางสยาม ราชทินนามอังกฤษ สมัย ร.5 https://www.silpa-mag.com/culture/article_24040
💡 ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
💡 พรบ. ขนานนามสกุล พ.ศ. ๒๔๕๖ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/A/283.PDF
💡 nickname และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของชื่อชาวต่างชาติ ค้นคำแปลจาก Oxford wordpower dictionary พิมพ์ในปี ค.ศ. 2000
💡 Now You Know: Why Do We Have Middle Names? ของเว็บไซต์นิตยสารไทมส์ https://time.com/4451977/history-of-middle-names/
💡 เหวง ไม่แคร์คำฮิต “อย่ามาเหวง” พอใจเป็นสัญลักษณ์ทิ่มแทงอำมาตย์ https://www.thairath.co.th/content/74274
💡 "แชมป์ VRZO"แฉยับ!หลอกใช้งานจนป่วย รายการดังแล้วลืมเพื่อน https://www.posttoday.com/ent/news/346465 ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างเท่านั้น
💡 “หม่อมอุ๋ย” สวด “ลูกปลื้ม” หลังโพสต์หนุนสรยุทธ-ด่า ป.ป.ช. เสียใจไม่รู้จักอุเบกขา-จริยธรรม https://mgronline.com/politics/detail/9590000023226
💡 สื่ออย่าง BBC, The Guardian และ The Irish Times วิเคราะห์เรื่องพระนามขององค์หญิงน้อยไว้ เช่น https://www.theguardian.com/uk-news/2021/jun/09/lilibet-diana-baby-name-royal-rift-audacious-hope

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา