18 มิ.ย. 2021 เวลา 13:00 • หนังสือ
'The bullet journal method วิถีบันทึกแบบบูโจ'
อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าถ้าเราอ่านหนังสือไปเยอะๆเราจะประทับใจหนังสือยากขึ้น ตัวเราเองก็มีปัญหานี้เหมือนกันค่ะ
แต่พอเราอ่านหนังสือเล่มนี้ โดยส่วนตัวเราว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดตั้งแต่อ่านมาในปี 2021 นี้เลย ตอนแรกยอมรับว่ายังไม่สนใจเท่าไหร่ เพราะด้วยความที่เรารู้จัก bullet journal หรือ BUJO (การจดบันทึกแบบ Bullet ประจำวันว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง) มานานแล้ว เราเองเคยทดลองทำแบบงูๆปลาๆมาหลายปี ก็เลยไม่คิดว่าเล่มนี้จะอธิบายการทำ BUJO ที่แตกต่างไปจากที่เคยทำเท่าไหร่นัก
แต่เราคิดผิดค่ะ เสน่ห์ที่เราชอบมากของหนังสือเล่มนี้คือ “ความยืดหยุ่นที่เป็นระบบ” (อันนี้เป็นคำของเราเองนะคะ ในหนังสือไม่ได้ใช้คำนี้นะ) จากที่เคยอ่านหนังสือประเภท How to จัดการชีวิตมาหลายเล่มมาก พบว่า BUJO มีลักษณะเด่นอยู่ 2 ข้อ ที่แตกต่างจากเล่มอื่นๆค่ะ
(1) Flexibility
วิธี How to หลายๆ วิธีเป็นกฎเกณฑ์ชัดเจน บางเล่มหรือบางวิธีนั้นแทบจะมีขั้นตอน 1 2 3 4 ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น ลงปฎิทินลอคเวลาทุก 30 นาที หรือ ต้องเขียนไดอารี่อย่างน้อย 1 หน้าทุกวัน ซึ่งโดยส่วนตัวพบว่าได้ผลดีในช่วงแรก แต่สุดท้ายจะทำไม่ไหว
ในขณะที่ BUJO คือการเขียนที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก การจดใช้เทคนิตการจดเร็ว ไม่ต้องสวย มีสัญลักษณ์ที่แยกระหว่างงานและ Note ธรรมดาออกจากกัน และสามารถคิด Collection ใหม่ๆมาเพิ่มได้ตามใจ โดยส่วนตัวแล้วชอบความยืดหยุ่นที่สามารถปรับได้ตาม Lifestyle ของคนๆนั้นจริงๆ
(2) System
ในขณะที่ BUJO มีความยืดหยุ่น แต่การจดบันทึกนั้นเป็นระบบมากค่ะ ยกตัวอย่างเช่นการกำกับเลขหน้าทุกหน้าและการทำดัชนี หรือ สารบัญว่าอะไรอยู่ที่หน้าไหน รวมไปถึงหลักการว่างานไหนสำคัญไม่สำคัญและขีดทิ้ง
ระบบในการทำ BUJO นั้นเข้าใจง่ายมากค่ะ อาจจะมีรายละเอียดเยอะหน่อย แต่ว่าพอลองทำตามแล้วจำง่ายมากเลยค่ะ
BUJO จะมีส่วนประกอบใหญ่ๆทั้งหมด 4 ส่วนด้วยกัน (ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากลองทำ BUJO ของตัวเอง ข้ามพาร์ทนี้และไปอ่านในหนังสือเลยจะละเอียดและเข้าใจกว่านะคะ อันนี้สรุปให้ฟังสั้นๆยังไม่มีวิธีการทำนะคะ :))
1. 'บันทึกประจำวัน'
ที่เราจะใช้เทคนิคบันทึกเร็วในการบันทึกเรื่องราวต่างๆตอนหมดวัน ทั้งงานที่ต้องทำ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงความรู้สึกหรือไดอารี่สั้นๆในแต่ละวัน โดยที่จะมีสัญลักษณ์ต่างๆ คอยช่วยให้เราแยกเป็นหัวข้อได้ง่าย จากที่ลองทำมานั้น บันทึกประจำวันมีประโยชน์มากกว่าแค่จะเตือนว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่เหมือนเป็นการขีดแบ่งระหว่างวันนี้ที่จบไปแล้ว และวันถัดไปและยังทำให้เราได้ Reflect อีกด้วยว่าวันนี้เราเจอเรื่องอะไรและมีความรู้สึกหรือเรื่องที่ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
4
2. 'บันทึกประจำเดือน'
คือการวางแผนของเดือนนี้ โดยที่ให้เราเห็นภาพรวมว่าต้องทำอะไรบ้างในเดือนนี้เช่นการนัดต่างๆ โดยที่ไฮไลท์ที่เราชอบคือการที่พอถึงต้นเดือน เราจะมาเขียนของเดือนที่กำลังจะมาถึง ด้วยการยกงานของเดือนก่อนมาไว้เดือนนี้ มันทำให้เราเห็นว่างานไหนของเดือนที่แล้วที่ยังไม่เสร็จและควรทำต่อ หรือ ยังไม่เสร็จแต่ไม่ต้องทำแล้วเพราะไม่สำคัญแล้วเป็นการตัดไขมันส่วนเกินออกจากชีวิตเรา
3. 'บันทึกอนาคต'
บันทึกนี้เอาไว้จดเรื่องราวที่จะทำในอนาคต โดยที่ยังไม่ได้มีแผนการชัดเจนว่าจะทำเมื่อไหร่ พอถึงเวลาที่จะเขียนบันทึกประจำเดือน เราก็จะยกบันทึกอนาคตที่อยากจะทำมาใส่ในเดือนนั้นๆ
4. 'Collection'
ส่วนนี้เราชอบเป็นพิเศษเลยเพราะว่ามันยืดหยุ่นตามความต้องการเรามาก Collection เหมือนเป็นการเปิดโปรเจค เช่น การวางแผนทริปเที่ยว หรือ การออก Product ตัวใหม่ว่ามีอะไรต้องทำบ้าง ซึ่งจะขอแอบบอกว่าเพจรีวิวทุกอย่างที่อ่านออกนี้ก็ได้ประโยชน์มากเลยจากการทำ Collection ใน BUJO ด้วยค่ะ 🙂
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ที่เราชอบมาก คือ ตลอดทั้งเล่มนี้มีการให้หลักการและเหตุผลของระบบต่างๆอยู่เสมอ ไม่ได้เพียงแค่เขียน How to และให้วิธีที่ชัดเจนเท่านั้นแต่ยังอธิบายด้วยว่าที่มาของระบบนั้นๆมาจากอะไร เช่น ในทุกต้นเดือน เราจะมาวางแผนของงานเดือนนั้นด้วยการเปิดดูงานของเดือนที่แล้วว่ายังเหลืออะไรอยู่บ้างจากเดือนก่อน และ “ลอก” ลงมาที่บันทึกประจำเดือนของเดือนถัดไป เหตุผลที่ต้องทำอย่างนั้นไม่ใช่เพื่อย้ำว่าเราทำอะไรไม่สำเร็จ แต่คือการ “เลือก” งานที่มีประโยชน์พอที่จะลอกมาในเดือนถัดไป ถ้างานนั้นไม่ควรค่าพอให้เราลอกก็แปลว่าอาจจะเป็นงานที่ไม่คุ้มค่าจะทำเช่นกัน
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ไม่ได้เพียงสอนวิธีจดโน้ตที่ทำให้ชีวิตเป็นระบบเท่านั้นแต่ยังให้แรงบันดาลใจอีกด้วย ก่อนที่จะเข้าทุกบทจะมีคำพูดดีๆในหัวข้อของบทนั้นๆ โดยส่วนตัวมีประโยคนี้ที่ชอบค่ะ
“นักออกแบบรู้ว่างานของตนสมบูรณ์แบบแล้ว ไม่ใช่เมื่อเพิ่มอะไรเข้าไปไม่ได้อีก แต่เมื่อขจัดอะไรทิ้งไม่ได้อีก” - อองตวน เดอ แซงแตกซูเปรี (หน้า 321)
Bullet Journal นั้นเป็นระบบที่แต่ละคนที่ใช้จะสามารถสร้างสรรค์กับมันได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นแล้วจึงเป็นวิธีที่ยังมีการพัฒนาอยู่เสมอ นักเขียนเล่มนี้ยังมี Website ให้เราสามารถซื้อสมุดและเข้าไป Join Community BUJO ได้ แถมยังมี Application ชื่อ Bullet Journal Companion ที่ให้เราไปโหลดได้อีกด้วย
เราแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้ทุกคนมากๆ โดยเฉพาะคนยุ่งที่ชีวิตวุ่นวาย ทำหลายอย่าง ทั้งเรื่องงานและส่วนตัว หนังสือเล่มนี้ให้ทั้งแรงบันดาลใจ ไอเดีย และวิธีทำ ถือว่าเป็น All-in-one ของหนังสือ How to เลยค่ะ 🙂
ปล. ส่วนตัวเราชอบกระดาษกับการออกแบบหนังสือของเล่มนี้ด้วย หนังสือสวยน่ารักดีมากเลย ซื้อไว้ประดับชั้นหนังสือก็ฟินแล้วค่ะ
……………………………………………………..
ชื่อหนังสือ: The bullet journal method วิถีบันทึกแบบบูโจ
นักเขียน: Ryder Carroll
ผู้แปล: นรา สุภัคโรจน์
จำนวนหน้า: 391
ราคา: 395 บาท
สำนักพิมพ์: Bookscape
Overall: 4.5/5
ซื้อหนังสือได้เลยที่ https://m.me/113063812694365?ref=askproduct_136455
……………………………………………………..
Score Explanation
Writing Style: 4/5 เพราะว่าเขียนสนุกดี มีวิธีการเปิดเรื่องที่น่าสนใจและจบประเด็นตัวเองได้แบบมีลีลา
Time worthiness: 4.5/5 หนังสือไม่ยาวเลยถ้าเทียบกับเนื้อหาที่ได้รับ แต่ละบทก็สั้นๆสามารถทยอยอ่านได้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลา
Content Usefulness: มีประโยชน์มากจริงๆค่ะ และเชื่อว่าจะมีประโยชน์ได้กับทุกคนที่อยากจัดการชีวิตตัวเองใหเป็นระเบียบขึ้น แต่สำหรับคนที่ใช้ BUJO อยู่แล้วก็อาจจะไม่จำเป็นต้องอ่านเล่มนี้ค่ะ
โฆษณา