20 มิ.ย. 2021 เวลา 12:40 • คริปโทเคอร์เรนซี
คนที่สนใจในเรื่องของคริปโตเคอเรนซีรวมถึงด้านการเงิน การธนาคาร คงเคยได้ยินชื่อของ Ripple (XRP) กันมาพอสมควร อีกทั้งปัจจุบันต้องยอมรับว่าเหล่าธนาคารทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศก็ให้ความสนใจในตัวของ Ripple มากขึ้นด้วย ในบทความนี้จะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักว่า Ripple (XRP) คืออะไร ทำไมหลายแบงค์ถึงให้ความสนใจ
Ripple (XRP) คืออะไร
ต้องขออธิบายเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องกันสักนิดว่า สำหรับ Ripple (XRP) จะถูกแยกออกเป็น 2 ความหมาย โดย Ripple คือ แพลตฟอร์มบล็อกเชนประเภท Open Payment Network ที่ใช้เพื่อทำการรับ-ส่งตัวเงินผ่านรูปแบบ Digital Asset ประเภทต่าง ๆ ซึ่ง Ripple จะเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินคล้ายธนาคาร และนอกจากใช้เพื่อรับ-ส่งเงินแล้ว ยังเป็นช่องทางที่จะส่งทรัพย์สินอิเล็กทรอนิกส์อย่างคริปโตเคอเรนซี และสินทรัพย์อื่น ๆ อย่างสินทรัพย์โภคภัณฑ์ด้วย เช่น ทองคำ เป็นต้น
โดยคุณ Pat White CEO ของบริษัท Bitwave ได้กล่าวว่า “Ripple นั้นถูกออกแบบมาเพื่อแทนที่ผู้นำบริษัทที่ให้บริการทางด้านการเงินชั้นนำอย่าง SWIFT”
จนถึงปัจจุบัน Ripple ได้กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเองอย่างหนักเพื่อคาดหวังในการก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกในการรับ-ส่งเงินและทรัพย์สินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานจนทุกคนบนโลกเลือกใช้ช่องทางนี้เป็นหลัก และถ้าหากทำได้การโอนเงินระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ก็จะง่ายขึ้นกว่าเดิม แถมยังลดต้นทุนเพราะไม่ต้องผ่านคนกลางหลายทอด ไม่ว่าโอนเงินหรือทรัพย์สินดิจิทัลไปยังประเทศไหนก็สะดวก ปลอดภัย อันแสดงถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกในปัจจุบัน และนับเป็นก้าวสำคัญครั้งใหญ่ในแวดวงการเงิน การธนาคารอีกด้วย
ส่วน XRP คือ เป็นอีกชื่อย่อของสกุลเงินดิจิทัล หรือเหรียญคริปโตเคอเรนซีที่สร้างขึ้นมาโดย Ripple Labs วัตถุประสงค์ของสกุลเงินดังกล่าวต้องการให้กลายเป็นสื่อกลางสำหรับการทำ Settlement ของธนาคารแต่ละแห่ง หรือก็คือใช้สำหรับจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มบล็อกเชนของ Ripple นั่นเอง ดังนั้นจะเห็นว่า ทั้ง 2 สิ่งนี้จะให้ความหมายที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังจัดว่าไม่สามารถแยกกันได้อย่างสิ้นเชิง
เหรียญ XRP
นอกจากนั้นการทำธุรกรรมผ่าน Ripple ยังมีค่าธรรมเนียมที่ถูกมากจนเรียกได้ว่าจ่ายแค่นั้นอย่าจ่ายเลยดีกว่า โดยคุณ El Lee คณะกรรมการของ Onchain Custodian ได้กล่าวถึงการทำธุรกรรมผ่าน Ripple ไว้ว่า “ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มของ Ripple นั้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมเพียง 0.00001 XRP เท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเรียกเก็บจากการทำธุรกรรมข้ามประเทศ” ซึ่งในเดือนมิถุนายน เหรียญ XRP มีราคาอยู่ที่ประมาณ 0.7-0.8 USD นั่นหมายความว่าการทำธุรกรรมแต่ละครั้งจะเสียค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอยู่ที่ประมาณ 0.000007-0.000008 USD
แม้ Ripple จะได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงินมากมาย แต่ในปัจจุบัน Ripple กำลังมีขอพิพาททางกฏหมายกับ กลต.ของสหรัฐฯ (SEC) โดย Ripple ถูกฟ้องร้องในข้อหาว่า มีการขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์มูลค่า 1.3 พันล้าน USD ในกรณีนี้ XRP ถูก กลต. มองว่าเป็นหุ้นไม่ใช่ สกุลเงินอย่างที่ควรจะเป็น เพระาทาง Ripple นั้นถือเหรียญ XRP ไว้ค่อนข้างเยอะ โดยมีการโต้แย้งจากทางทนายของ Ripple อ้างว่า การที่ Ripple ถือ XRP ไว้เยอะเป็นเหมือนการสต็อกสินค้าไว้ ดังนั้นถ้าหากบริษัทไหนสต๊อกสินค้าเอาไว้เยอะแปลว่าพวกเขาเก็บหุ้นไว้อย่างนั้นหรือ ซึ่งการโต้แย้งครั้งนั้นทำเอา SEC พูดไม่ออกเลยก็ว่าได้
SEC VS Ripple
ถึงแม้ว่า Ripple มีทีท่าว่าจะชนะคดีมากกว่า แต่นักลงทุนอย่างพวกเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคดีนี้มีเบื้องลึกตื้นหนาบางแค่ไหน อาจจะมีเรื่องของการเมือง หรืออะไรก็ตามที่ใหญ่กว่านั้น ดังนั้นพวกเรานักลงทุนควรจะเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนให้มากขึ้น
ถ้า Ripple แพ้แล้วจะเป็นอย่างไรล่ะ ณ ตอนนี้คงตอบได้อย่างไม่มั่นใจนัก แต่ในอดีตก็เคยมีหลายเหรียญที่โดนฟ้องแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกปิดไปเลย ส่วนมากก็จะแค่จ่ายค่าปรับเท่านั้น เช่นเดียวกันกับ Ripple หากแพ้อย่างมากก็แค่จ่ายค่าปรับและย้ายฐานไปเปิดที่ประเทศอื่น เพราะสหรัฐฯ เป็นเพียง 1 ประเทศ จาก 20 ประเทศ เท่านั้นที่มองว่า XRP เป็นหุ้น…
Ripple (XRP) แตกต่างจาก คริปโตเหรียญอื่นอย่างไร
ระบบการทำงานของ Ripple ค่อนข้างแตกต่างจาก คริปโตเคอเรนซีเหรียญอื่น เนื่องจากโดยปกติแล้ว คริปโตเคอเรนซีส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็น Decentralized Finance (DIFI) ที่ให้ Node ของบล็อกเชนนั้น ๆ เข้ารหัสลับเพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมว่าถูกต้องหรือไม่ เปรียบเสมือนเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี และ พยานการตกลงทำสัญญาต่าง ๆ ระบบ Decentralize จะค่อนข้างปลอดภัยโอกาสที่จะถูก Hacker โจมตีได้สำเร็จนั้นยากมาก ถ้าอยากรู้ว่าทำไมถึงยากต้องย้อนกลับไปอ่านในบทความที่อธิบายเรื่องของ บล็อกเชน
ในทางกลับกัน Ripple นั้นค่อนข้างที่จะมีลักษณะเป็น Centralized Finance เนื่องจากถึงแม้ว่า Ripple จะทำงานอยู่บนระบบบล็อกเชนก็ตาม แต่ระบบนี้ใช่ว่าจะไม่มีช่องโหว่เลย โดยช่องโหว่ขนาดใหญ่นั้นก็คือ 51% Attack คือการที่มีกลุ่มคนหรือองค์กรมีเหรียญคริปโตที่ใช้สำหรับการยืนยันการทำธุรกรรมนั้นมากกว่า 51% ของ Supply เหรียญทั้งหมด ซึ่งเหรียญ XRP ที่เริ่มออกมาให้ขุดนั้นมีจำนวณประมาณ 100 พันล้านเหรียญ แต่ประมาณ 63 พันล้านเหรียญอยู่ในมือของ Ripple Labs นั่นหมายความว่า Ripple ถูกควบคุมโดยมีศูนย์กลางคือ Ripple Foundation
ควรลงทุนในเหรียญ XRP ไหม ?
หากคุณเชื่อว่า Ripple สามารถชนะการต่อสู้คดีกับ กลต.สหรัฐฯ และสามารถเข้ามาแทนที่ระบบ Payment แบบเก่า ๆ ได้ การตัดสินใจลงทุนในเหรียญ XRP ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่มีเหตุผลมากพอ แต่ขอแนะนำว่าให้ใช้เงินเย็นที่ยอมเสียได้เท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้เงินทั้งหมดในการลงทุน
ทำไมบรรดาธนาคารจำนวนมากจึงให้ความสนใจ
สถาบันการเงินซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของ Ripple
หลังจากรู้ความหมายของ Ripple (XRP) กันไปแล้ว คราวนี้หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมว่าทำไมบรรดาธนาคารทั้งเมืองไทยและต่างประเทศจึงให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก เหตุผลหลักคือ ปกติธนาคารเองก็เปรียบเสมือนคนกลางที่คอยทำหน้าที่ในเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศให้กับบุคคลหรือธุรกิจอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมีช่องทางดี ๆ ที่จะช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ปลอดภัย รวดเร็ว แถมยังประหยัดต้นทุน ย่อมเป็นสิ่งที่องค์กรทุกแห่งย่อมอยากให้เกิดขึ้นกับตนเองทั้งสิ้น อีกด้านคือธนาคารไหนที่เริ่มมีการนำเอาช่องทางรับ-ส่งเงินและสินทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้เข้ามาใช้ยังได้ในเรื่องของความทันสมัย ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ถือเป็นประโยชน์ที่เกิดความคุ้มค่าหลายต่อนั่นเอง
จุดเด่นของ Ripple
1.ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต่ำมาก 0.00001 XRP
2.นอกจากสกุลเงิน Fiat และ คริปโตเคอเรนซีจะสามารถใช้ทำธุรกรรมบน Ripple ได้แล้ว สินทรัพย์ที่เป็นโภคภัณฑ์ก็ทำธุรรกรรมผ่าน Ripple ได้เช่นกัน
3.เวลาที่ใช้ในการทำธุรกรรมมีความรวดเร็วสูง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-5 วินาทีเท่านั้น
4.ได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่ง
ข้อด้อยของ Ripple
1.ปัจจุบันซึ่งเป็นประเด็นร้อนคือการมีข้อพิพาททางกฏหมายกับ กลต.ของสหรัฐฯ (SEC) จนกว่าข้อพิพาทนี้จะคลี่คลายลงสถาบันการเงินและบริษัทหลายแห่งจึงพักแผนการให้ Ripple เป็นระบบ Payment หลักไปก่อน
2.XRP นั้นมี Supply ค่อนข้างสูงและยังมีส่วนที่เก็บไว้สำรองซึ่งไม่รู้ว่าจะปล่อยออกมาเมื่อไหร่ นั่นอาจทำให้มูลค่าของ XRP ลดลงได้
คำถามที่ว่า Ripple (XRP) คืออะไร ทำไมหลายแบงค์ถึงให้ความสนใจ ทุกคนคงจะได้คำตอบจากบทความนี้ไปไม่มากก็น้อยแล้ว ไม่แน่ว่า Ripple (XRP) ในอนาคตแพลตฟอร์มนี้จะพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้คนทั่วไปก็มีสิทธิ์ได้ใช้ประโยชน์มากกว่าเดิมด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา