29 มิ.ย. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
นิยายกำลังภายในมีสำนวนเฉพาะมากมายที่นักอ่านชาวไทยรู้สึกว่าแปลก หรืออาจจะขำด้วยซ้ำ ครั้งแรกที่ผมอ่าน มึนงงไปหลายวัน
6
ยกตัวอย่าง เช่น 'ผายลมมารดาเจ้า' (放你媽的屁) อะไรกันเนี่ย?
นี่ย่อมมิใช่คำชม ปกติคำว่า 'ผายลม' (放屁)​ ในภาษาจีนมีความหมายว่า คำพูดของอีกฝ่ายตอแหลหรือไร้ค่า
2
เติม 'มารดาเจ้า' เข้าไป ก็เพิ่มความเข้มข้นขึ้น
อีกคำคือ "มารดามันเถอะ" (他媽的) น่าจะประมาณ "ช่างแม่ง" หรือ "What the heck!"
2
นอกจากมารดาแล้ว คำด่ามักโยงเข้าหาสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง เต่าไงล่ะ
"เจ้าลูกเต่า" (王八蛋) เป็นคำด่า
ถ้าให้ละเอียดอ่อนขึ้นก็เป็น "เจ้าลูกเต่าบัดซบ"
8
พวกปิศาจ (กุ่ย/กุ้ย) ก็เกี่ยวกับคำด่าเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยแรงมาก บางทีเป็นลักษณะบ่น เช่น ปิศาจน้อย (小鬼) = rascal ในภาษาอังกฤษ
ปิศาจสุรา (酒鬼) คือพวกดื่มเหล้าหัวราน้ำ
1
แต่คำด่าปิศาจที่แรงหน่อยไม่ได้อยู่ในนิยายกำลังภายใน แต่ใช้ทั่วไป
ขณะที่พวกฝรั่งเรียกคนจีนหรือคนเอเชียในเชิงเหยียดหยามว่า "Yellow" (yellow ยังมีความหมายว่าขี้ขลาด) คนจีนก็ด่าฝรั่งว่า อั้งม้อกุ้ย (紅毛鬼) = ปิศาจผมแดง
พูดถึงสีเหลือง สีแดงแล้ว ก็ต้องพูดถึงสีเขียว
2
สีเขียว (青) ในจีนมักหมายถึงความสดใสของหนุ่มสาว
年青 (เหนียนชิง) = อายุน้อย (年 = ปี 青 = เขียว)
แต่ความหมายของ 'สวมหมวกเขียว' เป็นคนละเรื่อง
3
'สวมหมวกเขียว' (戴綠帽子) นี่ไม่ใช่พวก Green Berets ของอเมริกันแต่อย่างใด สวมหมวกเขียวมีความหมายตรงกับเพลงของแมนซิตี้ไลอ้อนว่า "เมียพี่มีชู้"
สำนวน "ไหน้ำส้ม" (吃醋) (คำจริงคือดื่มน้ำส้ม) แปลว่าขี้หึง น้ำส้มในที่นี้คือน้ำส้มสายชู ไม่ใช่น้ำส้มล่อซื้อ เช่น ฮูหยินของข้าฯเป็นไหน้ำส้ม แปลว่าเมียข้าฯขี้หึงเหลือประมาณ
4
ด่ากันแล้วก็ต้องสู้กันตามธรรมเนียมชาวบู๊ลิ้ม มักมากับประโยค "บุญคุณต้องทดแทน ความแค้นต้องชำระ" หรือ “ฆ่าได้ หยามไม่ได้” ที่ใช้เป็นข้ออ้างในการตีกัน
เวลาจะสู้กับใคร ก็บอก "ขอคำชี้แนะ"
ก่อนลงมือก็ "ขอล่วงเกิน"
4
เวลาคิดจะต่อยตีใครหรือคิดว่ามีโอกาสชนะ ก็บอก "อย่าหาว่าข้าฯมิเกรงใจ"
สู้เสร็จแล้วก็บอกว่า "ขอบคุณที่ชี้แนะ"
ถ้าชนะก็บอก "ขอบคุณที่ยั้งมือ" (พูดตามมารยาทไปอย่างนั้น)
ถ้าแพ้ก็บอก "ลูกผู้ชายฆ่าได้ หยามมิได้"
หรือ "แค้นสิบปีก็มิสาย"
5
ปกติเจ้าสำนักมักด่าคนมาท้าประลองว่า "สวรรค์มีทางมิไป นรกไร้ทางกลับบุกเข้ามา"
ใครมา 'กวงติง' มากๆ ก็บอก "มิเห็นโลงศพมิหลั่งน้ำตา"
ถ้าคนท้าเป็นเด็กวานซืนก็ว่า "กินดีหมีหัวใจเสือมาหรือไร?"
เวลามีคนมาท้าสู้กับเจ้าสำนัก ศิษย์สักคนก็มักบอกว่า "ฆ่าไก่ไยใช้มีดโค" แปลว่าให้กูสู้เถอะ เพราะมันฝีมือต่ำต้อย ชนะแหงๆ
คนแพ้ก็มักเอ่ยว่า "เหลือขุนเขาแมกไม้ไว้ มิต้องวิตกไร้ฟืนไฟ" แปลว่า เดี๋ยวกูกลับมาใหม่
.
ชาวบู๊ลิ้มเป็นพวกตอแหลเก่งเหมือนกัน เช่น เมื่อเจอคนที่ไม่รู้จักก็บอกว่า "นับถือมานาน" หรือ "ชื่อเสียงของท่านดังอสนีบาตกรอกหู"
ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ระดับเจ้าสำนักพูด ก็บอก "ล้างหูน้อมรับฟัง" แปลว่า I am ready to listen.
12
เวลาใครชม ก็บอกว่า "มิกล้ามิกล้า" หรือ "มิกล้ารับ" ในใจอาจคิดตรงข้าม
จะใช้งานคนอื่นก็บอก "ลำบากท่านแล้ว"
1
ถ้าจะใช้กลยุทธ์สกปรกก็บอกว่า "ไร้พิษมิใช่ชายชาตรี"
เวลาไม่รู้จะพูดอะไร ก็เอ่ย "ประเสริฐ ประเสริฐ" ไว้ก่อน (ประเสริฐไม่ใช่ชื่อคน)
ถ้าพูดถูกใจตน ก็ว่า “พูดดี พูดดี”
6
"ลูกผู้ชายกล้าทำกล้ารับ" ประโยคนี้ใช้ตอนถูกจับได้คาหนังคาเขา ถ้าให้ดีก็ชิงด่าตัวเองก่อน เผื่อจะได้รับลดโทษ โดยเอ่ยว่า "ข้าน้อยสมควรตาย"
"เรามิลงนรกแล้วใครจะลง" แปลว่าใช้กูอีกแล้ว
"มิมีงานเลี้ยงใดมิเลิกรา" แปลว่า เลิกเถอะ กินเหล้ากูเปลืองมาก
"มีสุขร่วมเสพ มีภัยร่วมต้าน" แปลว่า กินฟรีมาหลายรอบแล้ว ตอนนี้ช่วยกูหน่อย
เวลาจากกันก็เอ่ย "ส่งพันลี้ก็ต้องจาก"
6
ส่วน "กระบี่อยู่ที่ใจ พังงาอยู่ใกล้ภูเก็ต" อันนี้ไม่ใช่สำนวนบู๊ลิ้ม
เวลาพระจะห้ามฆราวาส ก็บอก "ประสกโปรดยั้งมือไว้ไมตรี"
7
ว. ณ เมืองลุง มีคลังศัพท์เยอะ แทนที่จะใช้คำว่า 'โยม' ก็ใช้ 'ประสก' กลายเป็นคำประจำนิยายกำลังภายในไป
ถ้าพระบอกให้คนสำนึกผิด ก็ว่า "ทะเลทุกข์ไร้ขอบเขต กลับใจคือฟากฝั่ง" (苦海无边,回头是岸)
4
ถ้าพากย์ฝรั่งก็เป็น Suffering sea is limitless, return heart is shore.
คงฟังรู้เรื่องหรอกนะ
9
สมัยผมอยู่อเมริกา มีหนังจีนกำลังภายในไปฉาย พากย์ฝรั่งกันอุตลุด ฟังตลกมาก
หลายสำนวนไม่เพียงใช้ในนิยาย ยังใช้กันนอกวงการบู๊ลิ้ม เราคงได้ยินบ่อยๆ
"คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต" (人算不如天算)​ นี่เป็นคำเก่า หมายถึงวางแผนอย่างไรก็สู้ชะตาไม่ได้
"สูงสุดคืนสู่สามัญ"
"ลิขิตฟ้าฤาจะสู้มานะคน"
"เงยหน้ามิอายฟ้า ก้มหน้ามิอายดิน"
4
ในบรรดานักเขียนนิยายกำลังภายใน โก้วเล้งน่าจะประดิษฐ์คำคมคายที่คนจำได้มากที่สุด เช่น "คนในยุทธจักรมิเป็นตัวของตัวเอง" (ก็คุณพี่ดื่มจนเมาไม่รู้เรื่องอย่างนี้)
6
"ที่ฆ่าคนมิใช่อาวุธ ที่ฆ่าคนคือคน" Very sharp indeed.
"พบคนรู้ใจ สุราพันจอกน้อยเกินไป สนทนาไม่ถูกคอ เพียงครึ่งคำก็มากเกิน"
"กระบี่ไร้ใจ คนมากน้ำใจ" (เป็นชื่อเรื่องภาษาจีนของฤทธิ์มีดสั้น)
คมเหลือประมาณ
8
ตัวอย่างการใช้คำ :
"มารดามันเถอะ เจ้าลูกเต่าบัดซบมาบุกสำนักเราอีกแล้ว ท่านกินดีหมีหัวใจเสือมาจากที่ใด มิเห็นโลงศพมิหลั่งน้ำตา สวรรค์มีทางมิไป นรกไร้ทางกลับบุกเข้ามา อย่าหาว่าเล่าฮูมิเกรงใจ ทว่าเล่าฮูเป็นถึงเจ้าสำนัก ย่อมมิต่อยตีกับเด็ก อีกประการฆ่าไก่ไยใช้มีดโค เล่าฮูจะให้ศิษย์ขอคำชี้แนะจากท่าน ทว่าท่านอายุยังน้อย ทะเลทุกข์ไร้ขอบเขต กลับใจคือฟากฝั่ง อย่าคิดสู้เลย มาร่ำดื่มสุราดีกว่า เป็นปิศาจสุราที่มีชีวิตดีกว่าเป็นปิศาจไร้ชีวิต ท่านตกลงจะดื่ม? ประเสริฐ ประเสริฐ ประเสริฐอยู่ไหน นำเหล้าดีที่สุดมาสองชั่ง"
.
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ https://bit.ly/3amiAvG และ blockdit.com]
10

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา