10 ก.ค. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
โลกนิยายจีนกำลังภายในไม่มีวันเป็นเช่นที่เป็นอยู่ หากไม่มีบุคคลสองคนผู้กำหนดชะตากรรมของบู๊ลิ้ม
1
คนแรกย่อมคือกิมย้ง (金庸) ผู้ให้กำเนิดโครงสร้างของนิยายกำลังภายในแบบใหม่
1
กิมย้งหล่อหลอมเรื่องจีนด้วยกลวิธีเล่าเรื่องแบบตะวันตก เราจะเห็นดีเอนเองานเขียนของ อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ (Alexandre Dumas) ผู้เขียน The Count of Monte Cristo, The Three Musketeers มันทำให้นิยายมีความสนุก โลดโผนโจนทะยานต่างจากพงศาวดารจีนเดิม
2
คนที่สองคือโก้วเล้ง (古龍 - มังกรโบราณ)​ ผู้ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนตะวันตกเช่นกัน แต่ในอีกรูปหนึ่ง
เราอาจจัดเรียงตัวตนของโก้วเล้งเป็นไทม์ไลน์สามช่วง
ช่วงแรกคือดักแด้ ช่วงที่สองคือลอกคราบเป็นผีเสื้อเริงร่ากลางป่าอักษร ช่วงที่สามคือ ผีเสื้อเริ่มอ่อนล้า
งานยุคแรกของโก้วเล้งเดินตามรอยคนอื่นต้อยๆ เรื่องแก้แค้น ชิงอาวุธวิเศษ ตอนจบพระเอกแต่งงานกับหญิงสาวสิบคน บางเรื่องเขาก็ลอกงานกิมย้งมา
2
นี่ย่อมมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ช่วงนั้นใครๆ ก็ลอกงานกิมย้ง บางคนน่าเกลียดถึงขั้นลอกมาทั้งดุ้น
เวลานั้นกิมย้งคือเทพแห่งเทพ นักเขียนนิยายกำลังภายในคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ยังวนเวียนในบ่อโคลน
โก้วเล้งบอกว่า ช่วงนั้นน่าจะมีนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในราว 300 คน ทุกคนเขียนเรื่องเซมเซม
3
โก้วเล้งบอกตัวเองว่า ขืนกูเขียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คงตายในบ่อโคลนน้ำเน่านี่แหละ
1
ตะกายออกจากบ่อโคลนดีกว่าว่ะ
1
วิธีหลุดจากบ่อโคลนของโก้วเล้งคือขโมยงานคนอื่น
1
แต่ก่อนที่สาธุชนจะด่าโก้วเล้ง หรือใส่ hashtag #bangulong พึงฟังปิกัสโซพูดก่อน
ปิกัสโซบอกว่า “Good artists copy, great artists steal.”
3
ประโยคนี้ปิกัสโซพูดจริงหรือเปล่า ยังไม่ยืนยัน แต่ชาวโลกส่วนใหญ่ยกเครดิตให้เขา
G-A-C-G-A-S แปลว่า ศิลปินชั้นดีลอก ศิลปินชั้นเลิศขโมย
ยุคแรกของโก้วเล้งคือลอก คือตามเขาไปต้อยๆ
ยุคกลางคือขโมย แต่เป็นการขโมยที่ไม่ใช่ขโมยทื่อๆ เขาขโมยแกนเรื่อง หรือคอนเส็ปต์ของเรื่องไปเขียนใหม่เป็นนิยายจีนกำลังภายใน ไม่เหลือเปลือกเดิม
ขโมยอย่างนี้ต้องใช้ฝีมือ หรือพลังภายในอย่างน้อยก็แปดส่วน
1
โก้วเล้งโชคดีที่เคยทำงานกับฝรั่ง อ่านนิยายตะวันตกมาก วันหนึ่งอ่านเรื่อง The Godfather ของ มาริโอ พูโซ แล้วบรรลุซาโตริ นึกออกว่าจะออกจากบ่อโคลนยังไง
6
เขานำแก่นของ The Godfather มาปักหมุดไว้ แล้วแปะนิยายกำลังภายในเข้าไป
3
เป็นที่มาของ ดาวตก, ผีเสื้อ, กระบี่ (流星,蝴蝶,劍 ชื่อเดิม เดชอุกกาบาต และ เพชฌฆาตดาวตก)
1
ตัวละครเจ้าพ่อ ‘ดอน วีโต คอลิโอเน’ กลายเป็น ‘เล่าแป๊ะ’
‘ทอม เฮเกน’ กลายเป็น ‘ลุกเฮียงชวง’
1
มือปืน ‘ลูกา บราซี’ กลายเป็นนักฆ่า ‘ฮั่งทั้ง’
1
จากเส้นสปาเก็ตตีเป็นบะหมี่หยกฮ่องกง สร้างมรรคาใหม่ของยุทธจักร
ลูกา บราซี ใน The Godfather กลายเป็นปลาตายในทะเล ส่วนฮั่งทั้งใน ดาวตก, ผีเสื้อ, กระบี่ เป็นนักตกปลา ซ่อนคมดาบในคันเบ็ด
1
ข้าน้อยมิอาจไม่คารวะ แม้แต่ปลา โก้วเล้งก็ขโมย!
1
สำนวน ‘แววตาเหมือนปลาตาย’ ของโก้วเล้งน่าจะมีความสัมพันธ์กับ ‘ปลาตาย’ ของ The Godfather
1
ตัวละครนักฆ่าของโก้วเล้งกลายเป็นองค์ประกอบใหม่ของนิยายจีนกำลังภายใน
หลังจากเรื่องนี้ เราจะเห็นวงการนิยายบู๊เฮียบปรากฏนักฆ่าโผล่มาเป็นแถว ล้วนมีรากมาจากนักฆ่าของ มาริโอ พูโซ นี่เอง
3
พลันวงการนิยายกำลังภายในก็หลุดจากสภาวะน้ำเน่า เริ่มมีความสดใหม่
โก้วเล้งสร้างงานด้วยโมเดล 'G-A-C-G-A-S' อยู่หลายเรื่อง เช่น หงส์ผงาดฟ้า (陸小鳳)​ ตัวละครเอกแปลงมาจากตัวละครนักสืบอังกฤษ เชอร์ล็อค โฮล์มส์
ชอลิ้วเฮียง (楚留香) ตัวละครเอกแปลงมาจากตัวละครนักสืบชาวฝรั่งเศส อาร์แซน ลูแปง
1
ต่อมาโก้วเล้งลอกคราบอีกครั้ง เขายกระดับงานขึ้นไปอีกขั้น นั่นคือแปลงงานระดับวรรณกรรมฝรั่ง โดยไม่เหลือเงานิยายแบบต้นฉบับเลย เป็นนิยายกำลังภายในที่เล่าความสวยงามของมิตรภาพ ไม่เน้นวิชาการต่อสู้ เช่น วีรบุรุษสำราญ (歡樂英雄) ดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง Tortilla Flat (1935 ฉบับไทยชื่อ โลกียชน โดย ประมูล อุณหธูป) ของนักเขียนรางวัลโนเบล จอห์น สไตน์เบ็ค
5
งานช่วงกลางนี้มีหลายเรื่อง เช่น ฤทธิ์มีดสั้น ดาบจอมภพ จอมดาบหิมะแดง ซาเสียวเอี้ย
นี่เป็นงานเกรด เอ ทั้งนั้น แต่ที่จัดว่าสุดยอดแห่งสุดยอดคือ ฤทธิ์มีดสั้น (多情劍客無情劍)​ แปลงจากหนังเรื่อง Gunfight at the O.K. Corral
3
ชื่อเรื่องแปลว่า "มือกระบี่มากน้ำใจ กระบี่ไร้น้ำใจ"
เรื่องนี้ไม่มีกลิ่นฝรั่งเหลืออยู่เลย เป็นการขโมยที่สมบูรณ์แบบ บวกกับการประดิษฐ์ ‘สำนวนแบบโก้วเล้ง’ ทำให้โก้วเล้งกลายเป็น great artist อย่างเต็มภาคภูมิ
2
แต่สรรพสิ่งดำเนินไปตามสัจธรรมแห่งความไม่เที่ยง ผีเสื้อโก้วเล้งบินไปถึงช่วงที่สาม งานเริ่มเป๋ ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา
2
เช่นเดียวกับดาวตก เจิดจรัสวูบเดียวก็ลาลับ great artist มังกรโบราณจากไป ทิ้งความทรงจำให้เราจดจำช่วงที่เขายังเป็นผีเสื้อเริงร่ากลางป่าอักษร
อิทธิพลงานเขียนของมังกรโบราณกระจายไปสิบทิศ ทั้งเมืองจีนและเมืองไทย
นักเขียนนิยายกำลังภายในผู้รับอิทธิพลโก้วเล้งไปเต็มๆ คืออึ้งเอ็ง (黄鹰)​ ผู้แต่ง พยัคฆ์ลำพอง และ กระบี่ไร้เทียมทาน เขาเขียนเลียนแบบสำนวนโก้วเล้ง จนกระทั่งโก้วเล้งทนไม่ได้ ต้องออกมาบ่นดังๆ (ก็คือด่านั่นเอง)
1
นักเขียนไทยที่น่าจะรับสำนวนแบบโก้วเล้งมาไม่น้อยคนหนึ่งก็คือ พี่เสถียร จันทิมาธร "โปรดอย่ารอคอย แต่จงติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน"
3
อีกคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลโก้วเล้งมาโดยไม่ตั้งใจก็คือคนเขียนบทความนี้ไง
ขอคารวะซือแป๋ด้วยนารีแดง ใบไผ่เขียว และเฮนเนสซี
8
.
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ https://bit.ly/3amiAvG และ blockdit.com]

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา