25 มิ.ย. 2021 เวลา 12:10 • อาหาร
เรื่องราวของ "พริกไทย" พริกที่ไม่ได้กำเนิด จากประเทศไทย
พริกไทย แทบจะเป็นอีกหนึ่งไอเทมเครื่องปรุง ที่เราจะต้องมีติดตู้กับข้าวกันเกือบทุกบ้านเลย
ว่าแต่… พริกไทยที่มีความเผ็ดร้อน และ มีกลิ่นฉุน แต่ว่าดันมีขนาดเล็กทรงกลม บ้างก็ผิวขรุขระ บ้างก็ผิวเรียบ ลักษณะรวม ๆ แล้ว ดูไม่เหมือนกับ “พริก” ประเภทอื่น ๆ เลย
แล้วพริกไทยเนี่ย มีอะไรบ้าง ?
วันนี้ให้พวกเรา InfoStory พาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกันแบบคร่าว ๆ ในภาพอินโฟกราฟิกสบายตา ด้านล่างนี่กันเลย
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านเรื่องราวสนุกสมองกันต่อ เชิญด้านล่างได้เลยจ้า
พิเศษเฉพาะใน Blockdit เพิ่มเติมอรรถรสในการอ่าน ด้วยภาพประกอบบทความ ที่นี่ที่เดียว :)
พริกไทย ที่มีชื่อเรียกลงท้ายว่า ไทย แบบ ประเทศไทย
และเรียกโดยคนไทย…
ที่บอกว่าเรียกโดยคนไทย
ก็เพราะ ชาวฝรั่งจะไม่ได้เรียกว่า พริกไทยว่า “Thai Pepper“
แต่เขาจะเรียกว่า Black Pepper หรือ Peppercorn นั่นเอง
แต่ในทางกลับกัน หากเราพูดถึงชื่อภาษาอังกฤษอย่าง “Thai Pepper” กับชาวฝรั่ง
พวกเขาก็จะเข้าใจว่า เรากำลังเอ่ยถึง “พริกขี้หนู (Bird's eye chili)” นั่นเองจ้าา
อันนี้อาจต้องระวังนะ ในการสื่อสารหรือสั่งพริกไทย ที่ต่างประเทศ
ไม่งั้นเราอาจได้เป็นพริกขี้หนูมาแทน …
พริกขี้หนู (Bird's eye chili)
โอเค เพื่อน ๆ คงพอทราบคร่าว ๆ กันแล้ว ว่าแล้วพริกไทย ที่ไม่ได้มาจากไทย
ทำไมถึงเรียกว่า “พริกไทย” จากในภาพ Infographic
อธิบายเพิ่มเติมก็คือ คนไทยพบพริกเม็ดกลมสีแดงมีผลเป็นพวง จากการค้าขายกับชาวฝรั่ง ในสมัยอาณาจักรอยุธยา (ว่ากันว่าอยู่ในช่วงยุคสมัยของพระเอกาทศรถ)
ซึ่งเจ้าพริกที่ให้ความเผ็ดร้อนเม็ดนี้ กลับมีกลิ่นฉุนแบบแปลก ๆ แถมรูปร่าง ก็ยังดูแตกต่างไปจากพริกเม็ดเรียวยาวสีแดงปกติอีกด้วย
และเจ้าพริกธรรมดาที่ดูแปลกนี้ ก็กลายเป็นที่นิยมในหมู่ชาวสยามมาก ๆ
พวกเขาจึงได้ตั้งเรียกชื่อว่า พริกไทย นั่นเอง
เท่าที่พวกเราหามา เหมือนเขาไม่ได้เรียกพริกไทย มาตั้งแต่ยุคนั้นเลยนะ แต่มันค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมของยุคสมัย แต่เอาเป็นว่าชาวสยามยุคนั้น มีความภาคภูมิใจในความเอร็ดอร่อย และ ต้องการดึงจุดเด่นของเจ้าพริกนี้ ต้องการให้ถูกเรียกแบบแตกต่าง เพื่อทำการค้า โดยการดึงชื่อประเทศเข้ามาใช้นั่นเอง
ถ้าไม่ได้มาจากประเทศไทย
แล้วพริกไทย มาจากไหนกันละ ?
พริกไทย ถูกค้นพบและบันทึกว่ามีต้นกำเนิดมาจาก เทือกเขากาตของรัฐเกรละในประเทศอินเดีย โดยพบว่าเป็นเครื่องปรุงอาหารของอินเดีย ตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อน เลยทีเดียว
ก่อนที่ต่อมาช่วงประมาณศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา
นักสำรวจโลกชาวยุโรปและโปรตุเกส ได้เดินทางข้ามมายังฝั่งเอเชีย อย่างประเทศอินเดีย และได้ลิ้มรสอันเผ็ดร้อนของพริกไทย จึงนำกลับไปยังประเทศบ้านเกิดของตัวเอง เพื่อหวังสร้างเส้นทางการค้าเดินเรือ หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อ “เส้นทางการค้าเครื่องเทศ” นั่นเองจ้า
เรื่องราวตรงนี้ มีอิทธิพล จนกระทั่งมาถึงในยุคของนักสำรวจชื่อดังอย่าง “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” ที่ได้รับการสนับสนุนจากพระราชาและพระราชินีแห่งสเปน ให้ไปทำการเปิดเส้นทางการค้าเครื่องเทศพริกไทย กับ อินเดีย อีกด้วยนะ
(ซึ่งมันลากยาวจนไปถึงเรื่องตำนานต้นกำเนิดของการค้นพบทวีปอเมริกา ในแบบฉบับของโคลัมบัส ที่ว่าเขาเดินทางจะไปอินเดีย แต่ดันไปโผล่ดินแดนโลกใหม่อย่าง อเมริกา… เอ๊า โผล่มาเฉยเลย)
เครื่องเทศ ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่กระจายไปตามเส้นทางสายไหม
อีกหนึ่งบันทึก ก็บอกไว้ว่า พริกไทยเนี่ย ถูกเผยแพร่โดยชาวอาหรับ ที่ได้พบกับพริกไทย ในอินเดีย
ชาวอาหรับรู้สึกประทับใจในกลิ่นที่ฉุนและรสชาติที่เผ็ดร้อนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงได้นำกลับไปและขายต่อให้กับชาวอียิปต์
ชาวอาหรับ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพ่อค้าสุดหัวหมอ ก็ทำการขายพริกไทยให้กับชาวอียิปต์ โดยไม่ได้อ้างอิงถึงแหล่งที่มา …
ว่าง่าย ๆ คือ พยายามสร้างมูลค่านะแหละ ว่ามันหายากมากกก ก็เพื่อเป็นการผูกขาดการค้าแต่เพียงผู้เดียว
ส่วนเรื่องการเผยแพร่ไปยังยุโรป ของ พริกไทย เริ่มเป็นที่รู้จักหลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพมาบุกเข้าสู่เอเชียกลางจนมาถึงอินเดีย แล้วได้นำพริกไทยกลับไปยังยุโรปอีกด้วย
1
ต้องบอกว่า พริกไทยในยุคสมัยนั้นมีราคาแพงและมูลค่าสูงมาก
จนถูกขนานนามว่าเป็น “ทองคำสีดำ” เลยละ
ซึ่งชาวยุโรปส่วนใหญ่ เขาก็ไม่ได้ชอบรสชาติพริกไทยอะไรกันขนาดนั้นหรอก
แต่พริกไทย กลายเป็นเครื่องมือทางสัญลักษณ์ ที่แสดงสถานะของชนชั้นสูง หรือ เพื่อเป็นเครื่องแสดงสถานะความร่ำรวย นั่นเอง
หลังจากที่อ่านเรื่องราวที่สุดเวอร์วัง กับความเป็นมาของพริกไทยแล้ว
เพื่อน ๆ อาจจะเริ่มมีคำถามว่า
“ห้ะ.. นี่เธอกำลังใช้คำว่า มูลค่าของพริกเทียบกับทอง หรือ สัญลักษณ์ของความร่ำรวยอะไรนั่นเลยหรอ”
ใช่แล้ว !
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า พริกไทย เคยมีมูลค่าแลกเปลี่ยนเท่ากับ ทองคำ ในสมัยศตวรรษที่ 5 เลยเชียวนะ ?!
เอาแบบสั้น ๆ ก็คือ
ในปี ค.ศ. 408 เกิดสงครามระหว่างชาวโรมัน กับชนเผ่าเยอรมานิก
ซึ่งผู้ชนะคือ ฝั่งของชนเผ่าเยอรมานิก
และเพื่อแลกกับการให้อิสระภาพแก่กับกรุงโรม แก่ชาวโรมัน
ผู้นำชาวโรมันจึงยื่นขอเสนอ มอบทองคำ และ พริกไทยดำ ให้กับ ผู้นำชนเผ่าเยอรมานิก
(จากที่บันทึกประวัติศาสตร์ ผู้นำฝั่งเยอรมานิกคนนี้มีชื่อว่า อลาริกที่ 1 แห่งวิซิกอธ)
อลาริกที่ 1 แห่งวิซิกอธ
ซึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พริกไทย ก็เลยเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่ำรวย สัญลักษณ์แห่งการค้าการต่อรอง ในทันทีทันใด
โดยพริกไทย ได้มีอิทธิพลที่มากกว่าแค่ เครื่องเทศของกิน
โดยในช่วงศตวรรษที่ 11 ประเทศอังกฤษ ก็ยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าเดินเรือ ด้วย พริกไทย 1 กระสอบ (น้ำหนัก 10 ปอนด์)
จนไปถึงการใช้พริกไทยในเชิงสัญลักษณ์ กับการใช้เป็นหน่วยวัดมูลค่าที่ดินในแถบยุโรป ที่เราอาจจะคุ้นในชื่อ “Peppercorn Rent” กันอีกด้วยนะ
“Peppercorn Rent”
ตัวอย่างสัญญา “Peppercorn Rent”ที่แค่เห็นก็ต้องรีบขอแว่นขยายกันในทันที
ก่อนจะจบกันไป เพื่อน ๆ หลายคนอาจสงสัยว่า
เอ้อ ! ถ้าพริกไทย ถ้าไม่ใช่ของประเทศไทย
แล้วปัจจุบัน ใครส่งออกเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ในปี 2020 ?
(อ้างอิงจาก ยอดส่งออกพริกไทยดำ)
อันดับที่ 1 คือ ประเทศเวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกพริกไทยดำโลกอยู่ที่ 39%
อันดับที่ 2 คือ ประเทศบราซิล มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกพริกไทยดำโลกอยู่ที่ 14%
อันดับที่ 3 คือ ประเทศอินโดนีเซีย มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกพริกไทยดำโลกอยู่ที่ 11%
ปิดท้ายด้วยเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจของสายพันธุ์พริกไทย ในประเทศไทย
พันธุ์พริกไทยที่นิยมปลูกกันมากในบ้านของเรานั้น คือพริกไทยพันธุ์ซาราวัค มาจากมาเลเซีย และพันธุ์ซีลอนจากอินโดนีเซีย
ส่วนพริกไทยสายพันธุ์ท้องถิ่นของไทยเรา ก็มี พริกไทยพันธุ์จันทบุรี
พวกเราจึงขออนุญาตจบเรื่องราวของพริกไทย ไว้แต่เพียงเท่านี้ 🙂
พริกไทยพันธุ์ซาราวัค
พริกไทยพันธุ์จันทบุรี
#พริกไทย
#InfoStoryinBlockdit
โฆษณา