9 ก.ค. 2021 เวลา 03:30 • ปรัชญา
#คำว่า “ขอโทษ” ทำไมพูดกันยากจัง
1
คนเรามักพูดว่า ขอโทษ เมื่อเดินชนใคร เมื่อเหยียบเท้าใคร แต่พออะไรที่มันลึกซึ้งกว่านั้น เรากลับไม่กล้าที่จะเอื้อนเอ่ย
Image by kalhh from Pixabay
“ขอโทษค่ะ” “ขอโทษครับ” เราพูดออกมาอย่างง่ายดายเมื่อเป็นเหตุการณ์ง่ายๆ
แต่พอเป็นเหตุการณ์ที่มันมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เกี่ยวข้องกับการตัดสิน เรากลับพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยว่า “ขอโทษ”
บางคนมาสาย แต่กลัวโดนตำหนิว่าไม่ตรงต่อเวลา จึงเลือกที่จะโกหกว่ารถติด มากกว่าบอกว่า “ขอโทษนะ ที่มาสาย”
พนักงานเสริฟ์ลืมจดออเดอร์อาหาร ได้แต่ยิ้มเจื่อนๆ แต่ไม่กล้าที่จะบอกลูกค้าว่า “ขอโทษครับ ผมผิดเอง ในครัวกำลังทำให้ลูกค้าตอนนี้เลยครับ”
พ่อแม่พูดกระทบจิตใจลูกเพราะว่าโกรธ แต่ไม่เคยที่จะพูดว่า “แม่ขอโทษนะ” หรือ "พ่อขอโทษนะ"
ลูกประชดใส่พ่อแม่ รู้ตัวว่าทำให้พ่อแม่เสียใจ แต่ทำไมพูดว่า “หนูขอโทษค่ะ” ออกไปไม่ได้
บางคนผิดสัญญากับคนรัก แต่คำว่า “ขอโทษ” มันช่างติดขัดอยู่ที่ลำคอ จึงได้แต่ปล่อยให้มันผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สิ่งที่ทำให้เราไม่อยากพูดคำว่า “ขอโทษ” คือ ความรู้สึกที่เราไม่อยากเป็นคนผิด ไม่อยากถูกตัดสินว่าเป็นคนผิด และ กังวลว่า หลังจากพูดคำขอโทษไปแล้ว อีกฝ่ายจะพูดอะไรกลับมา จะทำให้เราดูแย่ลงไปอีกรึเปล่า
1
การพูดคำว่า “ขอโทษ” ในหลายๆครั้ง ไม่ได้แปลว่าเราผิด เราแพ้ เราอ่อนแอ แต่มันคือการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผ่านมา เพราะหลายๆเหตุการณ์ไม่จำเป็นต้องมีคนผิดหรือคนถูก
ในบางครั้ง “ขอโทษ” คือคำปลอบโยนของคนรักกัน คือการถนอมน้ำใจกัน เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเสียใจ น้อยใจ หาใช่เป็นคนผิดไม่
“ขอโทษ” ยังช่วยบรรเทาให้บรรยากาศของอารมณ์ที่กำลังเริ่มปะทุอยู่นั้น เย็นลง เบาลง และจางหายไปในที่สุด
สิ่งที่สำคัญในการขอโทษ ก็คือ ความรู้สึกที่อยากจะพูดว่า “ขอโทษ” อย่างจริงใจ
1
เราไม่ต้องเสียสตางค์ ที่จะกล่าวคำว่า “ขอโทษ”
เราไม่ได้กลายเป็นผู้ร้าย เมื่อได้กล่าวคำว่า “ขอโทษ”
และเราก็ไม่ได้เป็นผู้แพ้ ซึ่งในขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็ไม่ได้เป็นผู้ชนะแต่อย่างใด
ถ้าเราลดทิฐิลง แล้วฝึกให้ปากของเราเคยชินกับการที่จะเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” ให้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิด
1
ความเข้าใจกัน ความรักในกันและกัน และ ความสุข ก็คงโบยบินอยู่ใกล้ๆ
#สมองสองช้อน ขอบคุณทุกคนที่แวะมาอ่านค่ะ ถ้าไม่อยากพลาดบทความของเรา กดติดตามไว้เลยนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา