7 ก.ค. 2021 เวลา 14:30 • ปรัชญา
คัมภีร์เต๋าเต็กเก็งบทที่ 78
第七十八章
天下莫柔弱于水,而攻堅強者莫之能先,以其無以易之也。
柔之勝剛也,弱之勝強也,天下莫弗知也,而莫之能行也。
是以聖人云:「受國之垢,是謂社稷之主;受國之不祥,是謂天下之王」。
正言若反。
บทที่ ๗๘
ในใต้หล้าไม่มีสิ่งใดที่จะอ่อนนุ่มเท่าน้ำได้อีกแล้ว
หากไร้สิ่งใดที่จะเหนือกว่าในการพิชิตความแข็งแกร่งได้อีกด้วย
ด้วยเพราะไม่มีสิ่งใดจะทดแทนได้นั่นเองแล
ความอ่อนย่อมชนะความแข็ง ความนุ่มย่อมชนะความแกร่ง
ในใต้หล้านี้ไม่มีใครที่ไม่รู้ หากแต่ไม่มีใครสามารถปฏิบัติได้แล
ดังนั้นจึงมีวาทะแห่งพระอริยเจ้าที่ว่า
“รับความอัปยศของชาติ จึงเป็นจ้าวแห่งชาติ
รับความอัปมงคลแห่งรัฐ จึงเป็นราชาแห่งใต้หล้า”
คำกล่าวที่ประจักษ์แต่เสมือนมีนัยที่กลับกัน
ในใต้หล้าไม่มีสิ่งใดที่จะอ่อนนุ่มเท่าน้ำได้อีกแล้ว
หากก็ไร้สิ่งใดที่จะเหนือกว่าในการพิชิตความแข็งแกร่งได้อีกด้วย
ด้วยเพราะไม่มีสิ่งใดจะทดแทนได้นั่นเองแล
ความอ่อนนุ่มที่แท้จริงจะต้องสามารถแทรกซอนในทุกซอกมุมของสรรพสิ่งได้อย่างไม่ขัดข้อง
อันปุยนุ่น แม้นจะมีความอ่อนนุ่มและบางเบา หากแต่มีรูปทรงที่ตายตัว ดังนั้นจึงมิอาจแทรกซอนในทุกซอกมุมของสรรพสิ่งได้ อันผ้าแพร แม้นจะมีความอ่อนนุ่มและเปลี่ยนรูปทรงได้อย่างไหลลื่นก็จริง แต่ผ้าแพรก็ได้แต่ไหลลงต่ำ มิอาจลอยขึ้นสู่ที่สูง ทั้งยังมิอาจไหลซึมเข้าไปในทุกอณูของสรรพสิ่งเหมือนเช่นน้ำได้
ดังนั้นในใต้หล้านี้ ก็คงมีเพียงน้ำเท่านั้นกระมังที่ไม่มีรูปร่างที่ตายตัว น้ำสามารถไหลลงสู่ที่ต่ำที่สุดในปฐพี ขณะเดียวกันก็สามารถลอยสูงอยู่เหนือวิหคทั้งหลาย น้ำมีความยิ่งใหญ่เท่ามหาสมุทร แต่ขณะเดียวกัน น้ำก็สามารถย่อเล็กได้เพียงอณูที่แทรกซอนอยู่ในทุกแห่งหน ดังนั้นในโลกนี้จึงไม่มีสิ่งใดที่จะอ่อนนุ่มเท่าน้ำได้อีกแล้ว
และแม้นน้ำจะอ่อนนุ่มจนเหมือนไม่มีพิษสงใดๆ ก็จริง แต่น้ำกลับสามารถทะลวงสิ่งที่แกร่งที่สุดในโลกได้อย่างง่ายดาย
ความอ่อนย่อมชนะความแข็ง
ความนุ่มย่อมชนะความแกร่ง
ในใต้หล้านี้ไม่มีใครที่ไม่รู้ หากแต่ไม่มีใครสามารถปฏิบัติได้แล
มีปรัชญาอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คืออ่อนชนะแข็ง นุ่มชนะแกร่ง แต่อ่อนจะชนะแข็ง และนุ่มจะชนะแกร่งได้อย่างไร?
แม้นเหล็กจะแข็งแกร่ง สามารถฟาดฟันทุกสิ่งให้สะบั้น แต่เหล็กก็ยังต้องกร่อนเป็นสนิมด้วยพลานุภาพที่แทรกซึมได้แห่งน้ำ แม้นกำแพงเหล็กจะแข็งแกร่ง สามารถทานการปะทะจากทุกสิ่ง แต่น้ำก็ยังสามารถแทรกเป็นอณูอยู่ภายในส่วนลึกของกำแพง ด้วยความสามารถที่ไม่มีรูปตายตัวของน้ำได้ แม้นศิลาจะแข็งแกร่ง จนแม้แต่เหล็กก็ยังมิอาจทะลวงเข้า แต่น้ำก็ยังสามารถเจาะหินเป็นรูลึก ด้วยความวิริยะที่ไม่ขาดตอนของน้ำได้ แม้นมหาไศลจะแข็งแกร่ง แต่น้ำก็ยังสามารถผ่าไศลให้แยกเป็นสายธาร ด้วยอำนาจความสามัคคีแห่งน้ำได้
จึงทราบได้ว่า เหตุที่ความอ่อนนุ่มแห่งน้ำสามารถเอาชนะความแข็งแกร่งของทุกสิ่ง นั่นก็เพราะน้ำไร้ความยึดติด ดังนั้นน้ำจึงสามารถเปลี่ยนรูปร่างอย่างไม่ตายตัว ด้วยเพราะน้ำมีขันติธรรมที่ไม่โต้เถียงเอาชนะ ดังนั้นน้ำจึงเยือกเย็นและพร้อมไหลลงสู่ล่างเป็นเสมอ ด้วยเพราะน้ำมีความเมตตาอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นน้ำจึงคอยชำระล้างสิ่งปฏิกูลทั้งหลายในโลกด้วยความอดทน
ด้วยเพราะเหตุนี้ อันความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง จึงเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่ง แลความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง จึงเป็นความเมตตากรุณาอย่างไม่มีที่สิ้น และความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง จึงเป็นความมีขันติธรรมที่พร้อมหลีกถอยไม่ปะทะ ยอมลงสู่ที่ในต่ำที่ไม่มีใครยอมดำรงอยู่ แลคุณธรรมทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนมีอยู่พร้อมแล้วในความอ่อนนุ่มแห่งน้ำ แลก็คงด้วยเหตุผลนี้กระมัง แม้นชนทั่วหล้าจะเข้าใจปรัชญาอ่อนชนะแข็ง นุ่มชนะแกร่งก็จริง แต่กลับไม่มีผู้ใดสามารถปฏิบัติได้แล
โดยปกติธรรมดาแห่งโลก สิ่งที่มีความแกร่งเหนือกว่า ย่อมสามารถชนะสิ่งที่มีความแกร่งด้อยกว่าเป็นแน่แท้ หากแต่น้ำหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะน้ำกลับสามารถเอาชนะสิ่งที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ด้วยคุณสมบัติที่มีความอ่อนนุ่มที่สุดในโลกของน้ำนั่นเอง ดังนั้น แม้นน้ำจะมีความอ่อนนุ่มจนไร้พิษสงใดๆ แต่ในโลกนี้กลับไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถพิชิตความแข็งแกร่งที่สุดในโลกได้ดีเท่าน้ำ
ดังนั้นจึงมีวาทะแห่งพระอริยเจ้าที่ว่า
“รับความอัปยศของชาติ จึงเป็นจ้าวแห่งชาติ
รับความอัปมงคลแห่งรัฐ จึงเป็นราชาแห่งใต้หล้า”
ด้วยเพราะคุณธรรมแห่งน้ำมีความล้ำลึกและเป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้เช่นนี้นี่เอง จึงมีคำสอนแห่งพระอริยเจ้าที่กล่าวว่า หากผู้ใดประสงค์เป็นจ้าวแห่งแผ่นดิน ฤๅประสงค์เป็นราชาแห่งใต้หล้า หาใช่จะเป็นได้ด้วยการสยบทุกคนในแผ่นดินให้อยู่ใต้อาณัติแห่งอำนาจไม่ หากแต่คือการลดตัวให้ต่ำลงจนติดแนบบนแผ่นดินต่างหาก ดังนั้นผู้เป็นจ้าวเป็นราชาที่แท้จริงจะต้องเป็นบริกรแห่งปวงประชา แลมีใจที่พร้อมจะยอมรับคำครหานินทาโดยไม่โกรธา ทั้งยังจะมีความมุ่งมั่นวิริยาในการรับใช้ปวงประชาด้วยความเมตตากรุณาอย่างไม่ขาดสาย เหมือนดั่งเช่นสายน้ำที่พร้อมจะชำระสิ่งปฏิกูลในใต้หล้าอย่างไม่ย่อท้อ
คำกล่าวที่ประจักษ์แต่เสมือนมีนัยที่กลับกัน
คำกล่าวที่ประจักษ์ว่า เป็นจ้าวแห่งแผ่นดิน เป็นราชาแห่งใต้หล้านั้น แท้จริงหาใช่เป็นจ้าวเป็นนายตามความหมายของภาษานั้นไม่ หากแต่โดยนัยที่หมายถึงนั้น คือ หากยิ่งจะเป็นจ้าวแห่งแผ่นดินมากเท่าไหร่ ก็จะต้องยิ่งสามารถรองรับความอัปยศแห่งแผ่นดินได้มากเท่านั้น และหากยิ่งจะเป็นราชาแห่งใต้หล้ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งควรที่จะรองรับความอัปมงคลแห่งใต้หล้าได้มากดุจเดียวกัน
ดังนั้นความเป็นจ้าวเป็นราชา จึงหาใช่ความเป็นจ้าวเป็นราชาที่จะมาเสวยสุขกับพระเกียรติยศแต่ประการใดไม่ หากแต่คือการปฏิบัติตนให้อ่อนนุ่มเหมือนเช่นน้ำ ด้วยเพราะจ้าวหรือราชามีความอ่อนนุ่มเหมือนดั่งเช่นน้ำ เขาจึงเป็นผู้ที่เริ่มเข้าถึงเต๋า แลสุดท้ายก็ได้บรรลุสู่ความยิ่งใหญ่ในปฐพีอย่างแท้จริงแล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา