20 ก.ค. 2021 เวลา 02:46 • ดนตรี เพลง
สองนิทานหิ่งห้อย เรื่องหนึ่งคือสองชีวิตที่ไปไม่รอดกับความรักส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือความงามตามธรรมชาติ
ผมเชื่อว่าเพลงคือการเล่าเรื่องแบบหนึ่งและไม่บ่อยนักที่สองเพลงสองแนวจะใช้ชื่อซ้ำกัน นิทานหิ่งห้อย พ.ศ. 2548 เป็นเพลงของเป๊ก ผลิตโชคในอัลบัมแรกของเขา PECK ONE ผลิตโชค ส่วนนิทานหิ่งห้อย พ.ศ. 2530 เป็นเพลงของเฉลียงในอัลบัมเอกเขนก
นิทานหิ่งห้อยของเป๊กเล่าเรื่องหิ่งห้อยโชคร้ายกับแมงมุมสาว หิ่งห้อยส่องแสงนำทางให้แมงมุมสาวผู้หลงทางในคืนเดือนมืดกลับบ้าน
“ก็รู้ว่าเราต่างกันไม่ช้าก็คงห่างไกล แต่เสียงหัวใจไม่เคยทวงถามสิ่งที่ได้ทุ่มเทไป”
ทว่าเมื่อถึงบ้านของแมงมุม ปีกของหิ่งห้อยก็ติดใยขยับตัวไปไหนไม่ได้
“สุดท้ายแสงไฟซีดจาง พลันแสงสว่างมืดดับไป ดับแสงลงบนใยเจ้าแมงมุม”
ซึ่งจนปัจจุบันเราก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหิ่งห้อยเคราะห์ร้ายตัวนั้นเป็นเพศอะไร นอกจากนี้ผมยังตีความไปอีกแบบหนึ่งด้วยเพราะนิทานเรื่องนี้แฟนตาซีและไม่ได้บอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับแมงมุมสาว บางทีหิ่งห้อยอาจไม่ตายเดี่ยวบนใยแมงมุมก็เป็นได้
Plot twist : ทันทีที่แมงมุมสาวกัดหิ่งห้อยตายมันก็โดนไฟฟ้าช็อตเหมือนยุงที่บินผ่านไม้ช็อตไฟฟ้า จากนั้นนอนแอ้งแม้งหงายแปดขาชี้ฟ้าตายคาใยตัวเองเพราะเลือกกินแมลงผิดตัว
ส่วนนิทานหิ่งห้อยของเฉลียงเล่าเรื่องราวของเด็กน้อยที่อาศัยอยู่กับยาย ละแวกบ้านมีต้นลำพูและหิ่งห้อยชุกชุม วันหนึ่งเด็กน้อยได้ยินมาว่าหากจับหิ่งห้อยมาเก็บไว้ใต้หมอน
“นอนคืนนั้นจะฝันดี ฝันเห็นดวงดาวมากมาย ฝันเห็นเจ้าชายเจ้าหญิงฝันแสนสวยงาม”
แล้วเพลงก็บรรยายเรื่องราวไปเรื่อยจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น คุณยายก็คุยกับเด็กน้อยแล้วสอนอย่างเอ็นดู
“จะมองเห็นความงามที่จริง อย่าขังความจริงที่เห็นอย่าขังความงาม”
และเช่นเดียวกันกับเพลงแรก ปัจจุบันเราก็ยังไม่รู้ว่าเด็กน้อยในเพลงนั้นเพศอะไร บางคนอาจรู้สึกดีใจว่านี่ไง ! ทั้งสองเพลงสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ LGTV เอ๊ะ ! ไม่ใช่ ๆ ผมหมายถึง LGBTQIA+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer, Intersex and Asexual) ซึ่งคงเป็นความบังเอิญเสียมากกว่า
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามุมมองนี้กับเพลงรักอย่างนิทานหิ่งห้อยของเป๊กนั้นก็ยังเข้ากับเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ว่า
“ได้เรียนรู้ความจริงไม่มีชีวิตใด ๆ ไปกันได้ไกลเมื่อจุดหมายต่างกัน”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา