9 ก.ค. 2021 เวลา 15:59 • ปรัชญา
เต๋าเต็กเก็ง
บทที่ ๘๐
第八十章
小國寡民。
使有什佰之器而不用,使民重死而不遠徙。
雖有舟輿,無所乘之。
雖有甲兵,無所陳之。
使民復結繩而用之。
民各甘其食,美其服,安其居,樂其俗。
鄰國相望,雞犬之聲相聞,民至老死,不相往來。
อันชาติเล็กพลเมืองน้อย
ทำให้มีอุปกรณ์มากมายแลไม่นำใช้
ทำให้ประชาชนเกรงความตายแลไม่เดินทางไกล
แม้นมีรถเรือ แต่ไร้ที่จะผันผาย
แม้นมีทแกล้วเกราะศัตรา แต่ไร้ที่ร่ายกลพยุหะ
ทำให้ประชาราษฎร์ย้อนกลับไปใช้วิธีถักปมเชือก
ประชาชนต่างอิ่มเอมในอาหาร
สำรวยในพัสตรา
สุขสงบในเคหา
สำราญในขนบ
แม้ชาติข้างเคียงประชิดใกล้ เสียงหมาไก่ได้ยินทั่วไป
แต่ตราบกระทั่งปวงชนอยู่จนแก่ตาย ก็ไม่เยื้องกรายสมาคมต่อกัน
อันชาติเล็กพลเมืองน้อย
ทำให้มีอุปกรณ์มากมายแลไม่นำใช้
ทำให้ประชาชนเกรงความตายแลไม่เดินทางไกล
ชีวิตพอเพียง คือชีวิตที่มักน้อย ไม่ไขว่คว้า ไม่ทะเยอทะยาน คือชีวิตที่ความเป็นอยู่ทางวัตถุไม่เดือดร้อน สถานะทางจิตวิญญาณมีความเจริญ เป็นความสมดุลระหว่างวัตถุและวิญญาณ ไม่มากเกินจนจิตใจเห่อเหิม ไม่ขาดเกินจนร่างกายทุกข์เข็ญ
แต่หากมีความมักใหญ่ใฝ่สูงไม่รู้พอ อยากให้ประชาชนยำเกรงพินอบพิเทา อยากให้มีพระราชวังยิ่งใหญ่โอฬาร อยากให้มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล เสียงสรรเสริญพระบารมีกึกก้องก่องปฐพี หากเป็นเช่นนี้ ในแต่ละวันก็คงคิดแต่จะเพิ่มพูนกำลังรบ วางแผนรุกบุกดินแดน คิดอยากเป็นใหญ่ในปฐพี แลสุดท้ายก็ต้องกังวลกับการสูญเสีย ต้องคอยระแวงคนประทุษร้าย สุดท้ายก็ลงเอยที่การเขียนเสือให้วัวกลัวด้วยการใช้อำนาจบาตรใหญ่ และนำไปสู่วงจรการล้มอำนาจในที่สุด
ดังนั้น ชาติเล็กพลเมืองน้อย คือความรู้พอ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ไม่เบียดเบียนเพื่อนบ้าน แลประศาสน์ปวงประชาให้ร่มเย็นเป็นสุข
ผู้ปกครองพึงทำให้ปวงประชาตระหนักรู้ว่า ยิ่งไขว่คว้าจะยิ่งตีบตัน ยิ่งครอบครองจะยิ่งสูญเสีย สุดท้ายจะมีแต่ยิ่งห่างไกลจากเต๋ามากขึ้นเป็นทวี จนต้องเวียนวนไปอย่างมิรู้สิ้น อันเหมือนเช่นผึ้งงานแสนขยันที่สร้างน้ำหวาน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้กินนั่นเอง
ดังนั้น สิ่งที่สร้างสมมาทุกอย่าง สุดท้ายก็ไม่ได้ครอบครอง ไยจึงไม่ใช้ชีวิตที่พอเพียง แลหันมาเจริญทางจิตวิญญาณเล่า? ด้วยเพราะเหตุนี้ ผู้ปกครองจึงพึงตระหนักในการประศาสน์ปวงประชาให้เข้าใจว่า แม้นสิ่งของจะมีมากมายก็จริง แต่ใจก็อย่าได้ยึดมั่นถือมั่น ชีวิตแม้นยังต้องดำเนิน แต่ก็ต้องดำเนินอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลรู้ประมาณตน
ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองยังต้องทำให้ปวงชนเข้าใจความหมายของความเกิดตายว่า อันทุกสิ่ง เมื่อมีเกิดก็ย่อมมีตาย เมื่อมีตายก็ย่อมวนสู่การเกิด เกิดคือการสิ้นสุดของความตาย ตายคือการสิ้นสุดของความเกิด เกิดเกิดตายตาย ตายตายเกิดเกิด เวียนวนไม่รู้สิ้น ดังนั้น ความตายมิใช่สิ่งอัปมงคล ความเกิดต่างหากที่เป็นสิ่งอัปมงคล เพราะเรายังต้องกลับมาเกิดอีกนั่นเอง
ดังนั้น เราจึงควรทำอย่างไรให้เข้าถึงคุณค่าที่ควรทำแห่งชีวิต ให้เข้าถึงเต๋า และหลอมรวมจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋าที่อมตะ หาใช่เอาแต่เสพสุขแลทุ่มเทให้กับสิ่งที่สุดท้ายก็ไร้ความจีรังนี้เลย
ครั้นผู้คนต่างเข้าใจคุณค่าแห่งความเกิดตายที่แท้จริงแล้ว ยังจะต้องเดินทางไกลเพื่อไขว่คว้าในสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนอีกไหมเล่า?
แม้นมีรถเรือ แต่ไร้ที่จะผันผาย
แม้นมีทแกล้วเกราะศัตรา แต่ไร้ที่ร่ายกลพยุหะ
ครั้นผู้คนสมถะและรู้พอ ไม่ทะเยอทะยานไขว่คว้า รู้ใช้เต๋าดำรงชีวิตอย่างเงียบสงบแล้ว แม้นเขาจะมีรถมีเรือเพื่อเดินทาง แต่หากไม่มีความคิดอยากท่องเที่ยวจรัลไกล แล้วรถเรือยังจะมีประโยชน์อันใดเล่า? และด้วยแม้นจะมีทแกล้วผู้กล้าหาญ มีเกราะศาสตราอันพร้อมพรั่ง แต่หากไม่มีจิตใจคิดครอบครอง แล้วยังจะตั้งค่ายกลพยุหะ รุกรานดินแดนเพื่อสะสมทรัพย์ศฤงคารอีกหรือเล่า?
ทำให้ประชาราษฎร์ย้อนกลับไปใช้วิธีถักปมเชือก
การถักปมเชือก คือภาษาที่ดั้งเดิมที่สุดแห่งการใช้อักขระ ประโยชน์หลักคือการบันทึกจำนวนตัวเลข
การถักปมเชือกจึงมีนัยที่หมายถึงการไม่ไขว่คว้า เพราะอันว่าภาษา แม้นจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสื่อสารความหมาย และเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการส่งมอบความรู้ จากหนึ่งคนสู่อีกหนึ่งคน จากหนึ่งรุ่นสู่อีกหนึ่งรุ่น ตกทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ความรู้เหล่านี้จึงเกิดการสะสมและเกิดการวิวัฒนาการ ดังนั้นภาษาจึงมีคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ไพศาล ภาษาจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้
ความรู้คือการอธิบายสรรพสิ่งภายนอก ให้รู้สูงรู้ต่ำ รู้สั้นรู้ยาว รู้ดีรู้ชั่ว แต่สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นหยินหยาง เป็นความเกิดดับ เป็นการเปรียบเทียบ เมื่อเป็นการเปรียบเทียบ จึงเป็นการเกิดดับ เป็นทวิภาวะแห่งหยินหยาง เมื่อเป็นหยินหยาง เป็นทวิภาวะ เป็นความเกิดดับ ความรู้จึงมิใช่เต๋าที่เป็นสัจธรรม
ดังนั้น ความรู้ที่เกิดดับ เป็นความรู้นอก จึงหาใช่เต๋าที่เป็นความรู้ในไม่ ดังนั้นยิ่งศึกษาจึงยิ่งห่างไกลสัจธรรม ยิ่งเรียนรู้จึงยิ่งห่างไกลจากเต๋า
แต่ครั้นเข้าสู่ความเรียบง่าย ง่ายจนกระทั่งเหลือเพียงภาษาตัวเลขที่ได้จากการถักเชือก ง่ายจนกระทั่งความคิดไม่มีความซับซ้อน ง่ายจนกระทั่งเหลือเพียงความคิดที่เล็กน้อย เมื่อความคิดยิ่งน้อย ภาษาที่เวียนอยู่ในความคิดก็ไม่มีความจำเป็น
หากความคิดน้อยลงไปอีกจนเป็นสุญตา ยามนั้นก็เข้าสู่เต๋า
ประชาชนต่างอิ่มเอมในอาหาร
สำรวยในพัสตรา
สุขสงบในเคหา
สำราญในขนบ
เมื่อมีความเรียบง่ายและพอเพียง อาหารแค่อิ่มท้องและมีประโยชน์ก็พอแล้ว ไยจึงต้องโอชาหารรสมังกร ด้วยแม้นจะเป็นเพียงผักป่าผลาหาร แต่ก็อิ่มเอมเปรมฤทัย
เมื่อมีความเรียบง่ายและพอเพียง พัสตราอาภรณ์แค่อุ่นกายคลายความหนาว ไยจึงต้องเพชรนิลจินดาพร่างพราว ด้วยแม้นจะเป็นเพียงผ้าหยาบทาบผิวกาย แต่ใจก็รู้สึกสำรวยสลวยใส
เมื่อมีความเรียบง่ายและพอเพียง เคหาอาลัยแค่คุ้มเกล้ากันลมหนาว ไยต้องสลักเสาเหลามังกรสุกสกาว ด้วยแม้นจะไม่วิจิตรอลังการ แต่ใจก็สุขสงบจบสุญญา
เมื่อมีความเรียบง่ายและพอเพียง ไยต้องจำเรียงเลี้ยงรำให้เห่อเหิม เพียงแค่สุขสำราญในขนบประเพณี สุขชีวีหาได้มีใดจะเปรียบปาน
แม้ชาติข้างเคียงประชิดใกล้ เสียงหมาไก่ได้ยินทั่วไป
แต่ตราบกระทั่งปวงชนอยู่จนแก่ตาย ก็ไม่เยื้องกรายสมาคมต่อกัน
เพียงประชาสำราญเต๋า เจริญวิถีอกรรมอันวิเศษ รู้สมถะแลพอเพียง สองชาติอยู่เคียงประชิดใกล้ จนแม้นเสียงหมาไก่ร้องระงมจนได้ยิน แต่ด้วยใจที่รู้พอไม่ไขว่คว้า แม้นอยู่จนแก่เฒ่าวายชีวา มรณาอุเบกขา ทุกสิ่งคือปกติธรรมดา เมื่อยามเกิดไม่ต้องโลดเต้นยินดีปรีดา เมื่อม้วยมรณาก็ไม่ต้องโศกาสะเทือนฟ้า ทุกสิ่งก็เช่นนั้นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา