16 ก.ค. 2021 เวลา 03:17 • ปรัชญา
"หนีโลกต่างจากเหนือโลก"
"... การที่ออกไปทำงานคือการกระทบผัสสะ
มันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของใจ
ถ้าเราไปนั่งสมาธิ โยมก็เหมือนกัน
วันๆ ไม่ยุ่งกับใคร นั่งสมาธิอย่างเดียว
เดินจงกรมอย่างเดียว
1
พอออกไปกระทบอารมณ์
เหมือนใจจะระเบิด มันอึดอัดไปหมด
วุ่นวาย หงุดหงิด รำคาญ
เพราะมันติดสุข ติดสงบ
การภาวนานี่ไม่ใช่ภาวนาเพื่อจะหนีโลก
การหนีโลกไม่ใช่เรื่องของชาวพุทธเลย
พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้พวกเราหนีโลก
พระพุทธเจ้าให้เรารู้โลก
รู้โลกตามความเป็นจริง
ถ้าเรารู้โลกตามความเป็นจริง
จิตมันก็ปล่อยวาง
คราวนี้จิตก็ไม่ได้หนีโลก แต่จิตอยู่เหนือโลก
ระหว่างหนีโลกกับเหนือโลกไม่เหมือนกัน
หนีโลกนี่เหมือนคนอ่อนแอ แพ้ผัสสะ มันหนี
แสวงหาแต่ความสุขความสบายอะไรอย่างนี้
ไม่อยากกระทบอารมณ์
พวกหนีโลกนี่ไม่สามารถพ้นโลกได้
มันเอาแต่หนี มันก็จะหนีจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง
ในขณะที่พวกที่เรียนรู้โลก
สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือกายกับใจเรานี่ล่ะ
เรียนรู้มากๆ เห็นความจริงของกาย
เห็นความจริงของใจ
จิตมันคลายความยึดถือในกายในใจ
จิตไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ
ก็เรียกจิตมันพ้นโลก
นิยามของคำว่าโลกมีหลายนิยามในของศาสนาพุทธ
ต้องดูบริบทว่าธรรมะบทนั้นพูดเรื่องอะไร
บางครั้งท่านก็บอกว่า
สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือสัตว์ทั้งหลายนี้เอง
หมู่สัตว์ทั้งหลายนี้ล่ะเรียกว่า โลก
ถ้าเป็นนักปฏิบัติ ท่านบอกว่าขันธ์ 5 นั่นคือโลก
ขันธ์ 5 คือตัวรูปตัวนาม ก็คือตัวโลก
ฉะนั้น ที่เราภาวนานี่ไม่ได้เพื่อพ้นจากหมู่สัตว์หรอก
อย่างไรเราก็ต้องมีชีวิตอยู่ในหมู่สัตว์
อย่างตอนนี้ก็อยู่กับหมู่คนทั้งหลาย
พระก็อยู่กับหมู่พระ มันหนีไม่ได้
พวกนี้อย่างไรก็ต้องอยู่
โลกมันเป็นอย่างนี้ หนีออกจากโลกไม่ได้หรอก
แต่โลกก็คือรูปนาม อันนี้เป็นนักปฏิบัติ
เราก็เรียนรูปโลก นามโลก
ดูลงมาที่กายดูลงมาที่ใจ
ให้เห็นความจริงของกายของใจ
พอเห็นแล้วจิตมันจะคลายความยึดถือ
จิตมันหลุดพ้นจากกาย
จิตมันหลุดพ้นจากความยึดถือใจ
1
หลุดพ้นจากกาย บางคนก็เข้าใจผิด
ได้ยินว่าหลุดพ้นจากกาย
คิดว่าคือการถอดจิตออกไปอยู่ข้างบน
อย่างนั่งภาวนากำหนดจิต
มันมีสมาธิอยู่ข้างบนนี่ มองลงมาเห็นร่างกายนั่ง
อย่างนี้ไม่เรียกว่า หลุดพ้นจากโลกหรอก
ตรงนี้ก็เป็นโลกอีกโลกหนึ่ง
เป็นโลกของพวกเล่นสมาธิ
หลุดพ้นจากโลกก็คือจิตมันไม่ยึดถือ
ถ้าเมื่อไหร่จิตไม่ยึดถือร่างกาย
จิตก็จะไม่ยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย
พอไม่ยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย
มันก็ไม่ยึดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย
เมื่อมันไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
มันไม่ยึดถือ มันก็ไม่ยินดียินร้าย
ยังยึดถืออยู่ก็ยังยินดียินร้ายอยู่
เมื่อมันไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
มันก็ละกามและปฏิฆะได้ ก็เป็นพระอนาคามี
ถ้าเราเรียนรู้จนกระทั่งเราวางกายได้
มันก็จะเป็นพระอนาคามี
แล้วเราเรียนรู้ต่อไปอีก ก็จะวางจิตได้
ขั้นสุดท้ายจะปล่อยวางจิต ... "
2
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
4 กรกฎาคม 2564
ติดตามการบรรยายฉบับเต็มจาก
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา