16 ก.ค. 2021 เวลา 09:30 • ดนตรี เพลง
[ตอนที่ 32] ดนตรีธีมของกัมพูชาในเกม Civilization IV : ดนตรีแต่งใหม่ที่อาศัยแนวดนตรีพื้นเมืองแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนแผ่นดินใหญ่
Theme soundtrack of Khmer in Civilization IV game : the music that might be adapted from Mainland Southeast Asian music
1
เกม Sid Meier’s Civilization เป็นหนึ่งในเกมวางแผนบริหารประเทศในหลายด้าน (การพัฒนา นโยบายภายใน เศรษฐกิจ การค้นคว้าวิจัย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศาสนา การทหาร ฯลฯ) ซึ่งเริ่มมีดนตรีประกอบเป็นเพลงธีมประจำแต่ละชาติที่เปิดให้เล่นได้ในเกมตั้งแต่ภาค Civilization IV (เริ่มจำหน่ายในปี ค.ศ.2005) ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่แต่งหรือดัดแปลงมาจากเพลงในดนตรีของชาตินั้น ๆ
- อ่านเพิ่มเติมเรื่องซีรีส์เกม Civilization : https://en.wikipedia.org/wiki/Civilization_(series)
สำหรับเนื้อหาในซีรีส์ “ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านดนตรีในเกม Sid Meier’s Civilization” นี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้เรื่องราวแนวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แฝงมากับดนตรีนานาชาติที่ปรากฏในเกมนี้ครับ
ปราสาทนครวัด (Angkor Wat / អង្គរវត្ត) ศาสนสถานที่มีพื้นที่มากที่สุดในโลก และเป็นสัญลักษณ์สำคัญระดับชาติของประเทศกัมพูชา ซึ่งปรากฏบนธงชาติของประเทศนี้ [Credit ภาพ : Jean-Pierre Dalbéra]
หากเล่นเป็นกัมพูชา/เขมร (Khmer) ในเกม Civilization IV จะมีผู้นำของกัมพูชาในเกมนี้เป็นพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (Suryavarman II / សូរ្យវរ្ម័នទី២) กษัตริย์ผู้ขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรขอมในช่วง ค.ศ.1113 – 1150 และเป็นผู้ทรงรับสั่งให้สร้างปราสาทนครวัดขึ้นในเมืองหลวงของอาณาจักร ซึ่งมีดนตรีธีมในเกมเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่แล้วใส่เสียงให้ฟังดูออกแนวพื้นเมืองกัมพูชา แต่ไม่ได้อ้างอิงเพลงใดในดนตรีพื้นเมืองกัมพูชาเลย
- คลิปดนตรีธีมของกัมพูชาในเกม Civilization IV
เมื่อฟังแล้วพบว่าเป็นดนตรีที่ดูเน้นเสียงขลุ่ยและเครื่องตีทำจากไม้แบบโรเนียด (ระนาด) แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเสียงออกไปทางโปงลางมากกว่าระนาด เลยสันนิษฐานว่าเพลงแต่งใหม่ที่ใช้เป็นดนตรีธีมกัมพูชาในเกมนี้ อาจได้แรงบันดาลใจจากดนตรีพื้นเมืองในแถบกัมพูชา-ลาว-ไทย ปะปนกันมากกว่า
แม้ว่าดนตรีธีมในเกมจะไม่ได้อ้างอิงเพลงในดนตรีพื้นเมืองกัมพูชาโดยตรง แต่เราก็มาทำความรู้จักดนตรีพื้นเมืองกัมพูชาสักเล็กน้อยกันครับ
"ดนตรีพื้นเมืองกัมพูชา" สืบทอดมาจากดนตรีในท้องถิ่นของคนกัมพูชาตั้งแต่สมัยโบราณ ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่อยู่ใกล้เคียง ดนตรีอินเดีย และดนตรีจีน ซึ่งในช่วงที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจ (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9 – 15) มีการสร้างปราสาทหินตามวัดในศาสนาฮินดูจำนวนมาก และมีการสลักหินแสดงภาพต่าง ๆ รวมถึงภาพของเครื่องดนตรีที่ใช้ในดนตรีกัมพูชาสมัยนั้นและยังคงตกทอดถึงปัจจุบัน
1
ภาพสลักหินที่ผนังระเบียงคดของนครวัด แสดงชาวขอมโบราณใช้ฆ้องวง กลองและปี่ [Credit ภาพ : Gary Todd]
ภาพสลักหินที่ผนังระเบียงคดของนครวัด แสดงชาวขอมโบราณใช้ปี่ พิณน้ำเต้า และฉิ่งหรือฉาบ [Credit ภาพ : Gary Todd]
ดนตรีพื้นเมืองกัมพูชาแบ่งตามลักษณะการใช้งาน 3 แบบ ได้แก่
- ดนตรีในราชสำนัก แบ่งย่อยเป็นดนตรีประกอบพระราชพิธี และดนตรีประกอบกิจกรรมพระราชสำราญ
- ดนตรีประกอบศาสนพิธีในวัด
- ดนตรีพื้นบ้านกัมพูชา ใช้ในระดับชาวบ้าน ตามพิธีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตหรือประเพณี ประกอบนาฏศิลป์พื้นบ้าน และเพื่อความสนุกสนาน
คลิปการแสดงระบำเคาะกะลา ในภาพยนตร์กัมพูชาเมื่อ ค.ศ.1969 (ก่อนช่วงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา) ซึ่งมีดนตรีพื้นบ้านกัมพูชาที่ใช้ประกอบนาฏศิลป์พื้นบ้าน
อย่างไรก็ตาม กัมพูชาและสยามเป็นดินแดนเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคที่ใช้เครื่องดนตรีร่วมกันมาช้านาน เนื่องจากต่างฝ่ายก็มีการติดต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันในหลายแบบ เช่น
- อิทธิพลของอาณาจักรขอมที่เคยมีเหนือพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลางของไทยในปัจจุบัน อย่างลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล (เช่น พิมาย) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ละโว้-อโยธยา และสุโขทัย) จนถึงแถบกาญจนบุรี (ปราสาทเมืองสิงห์)
- สงครามที่สยามบุกไปตีเมืองหลวงของกัมพูชา อย่างเมืองพระนคร (ค.ศ.1431) และเมืองละแวก (ค.ศ.1594) เกิดการกวาดต้อนผู้คนเป็นเชลยจากกัมพูชากลับสยาม
- ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ ซึ่งสมาชิกราชวงศ์กัมพูชาเคยเป็นองค์ประกันที่เมืองหลวงของสยามในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงการขอครูดนตรีและนาฏศิลป์จากสยามไปสอนในราชสำนักกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาในช่วง ค.ศ.1431-1863 (ตั้งแต่เมืองพระนครแตกจนกระทั่งกัมพูชากลายเป็นรัฐในอารักขาฝรั่งเศส) ถือว่าเป็นช่วงยุคมืดของกัมพูชา เนื่องจากเพื่อนบ้านทั้งสองฝั่ง (สยามกับเวียดนาม) ทั้งสงครามของกัมพูชากับเพื่อนบ้าน ความวุ่นวายในการชิงราชบัลลังก์จนเปิดช่องให้เพื่อนบ้านเข้ามาแทรกแซง หรือสงครามระหว่างสยามกับเวียดนามในกัมพูชา ส่งผลให้การพัฒนาดนตรีพื้นเมืองในกัมพูชาชะลอตัวหรือหยุดชะงักไป
ภาพถ่ายในพระราชวังหลวง กรุงพนมเปญเมื่อปี ค.ศ.1907 ในโปสการ์ดหมายเลข 1662 ที่ถ่ายโดย Pierre Dieulefils ช่างภาพชาวฝรั่งเศส แสดงวงดนตรีที่ใช้ในราชสำนักกัมพูชา ซึ่งเป็นช่วงที่ราชสำนักพยายามฟื้นฟูดนตรีพื้นเมืองกัมพูชาระลอกแรก
- การติดต่อค้าขายหรือย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยในระดับชาวบ้านระหว่างสองฝั่ง รวมไปถึงชาวบ้านคนไทยและคนกัมพูชาที่ตั้งถิ่นฐานก่อนมีการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนตามลักษณะของรัฐสมัยใหม่ เช่น คนกัมพูชาเชื้อสายไทยที่เกาะกง หรือคนไทยเชื้อสายเขมรในแถบภาคอีสานตอนใต้
ดนตรีไทยภาคกลางยังได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทางดนตรีพื้นเมืองกัมพูชา จนเกิดการแต่งเพลงไทยเดิมที่มีสำเนียงเพลงกัมพูชา เช่น เพลงเขมรพายเรือ เพลงเขมรโพธิสัตว์ หรือเพลงเขมรเอวบาง เป็นต้น ขณะที่ตามหลายจังหวัดทางใต้ของภาคอีสานที่มีชายแดนติดกับกัมพูชา (เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ) ยังมีร่องรอยดนตรีกัมพูชาอยู่เรียกว่า “กันตรึม” ซึ่งเป็นรูปแบบดนตรีพื้นบ้านของกลุ่มคนเชื้อสายเขมร
- เพลงเขมรโพธิสัตว์ ในแบบดนตรีไทยประยุกต์ร่วมสมัย
- เพลงเขมรลออองค์ (เขมรเอวบาง) ในแบบบรรเลงออร์เคสตรา
- เพลงรักบ่าวอีสานใต้ โดยจินตหรา พูนลาภ ที่มาในแนวกันตรึม
ด้วยความเป็นมาของดนตรีที่มีต้นกำเนิดเดียวกันในดินแดนเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กันหลายแบบหลายระดับ ดนตรีพื้นเมืองของไทยกับกัมพูชา (รวมถึงลาว) จึงฟังดูคล้ายคลึงกันมากในมุมมองของบุคคลที่มาจากวัฒนธรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี การแต่งกายของนักดนตรี และนาฏศิลป์ที่ใช้ดนตรีประกอบ แม้ว่าแนวทาง สำเนียง หรือลีลาดนตรีระหว่างสยาม กัมพูชาและลาวจะมีความแตกต่างกันบ้างก็ตาม
หลังจากความพยายามฟื้นฟูดนตรีพื้นเมืองกัมพูชาในช่วงที่กัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาฝรั่งเศสจนกระทั่งได้รับเอกราชแล้ว แต่เนื่องจากสงครามกลางเมือง (ค.ศ.1968 – 1975) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา (ค.ศ.1975 - 1978) สงครามเวียดนามบุกกัมพูชา (ค.ศ.1978 – 1989) ทำให้นักดนตรีกัมพูชาบาดเจ็บล้มตายหรือลี้ภัยเป็นจำนวนมาก จนดนตรีพื้นเมืองกัมพูชาเสื่อมโทรมถึงจุดต่ำสุด เมื่อมีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติความไม่สงบในกัมพูชาเมื่อปี ค.ศ.1991 ดนตรีพื้นเมืองกัมพูชาถึงได้กลับมารื้อฟื้นอีกครั้งเพื่อสร้างอัตลักษณ์และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ รวมไปถึงใช้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ
- เพลง Time To Rise แบบดนตรีกัมพูชาประยุกต์สมัยใหม่ ที่ร่วมกันระหว่าง VannDa แรปเปอร์คนกัมพูชารุ่นใหม่ กับ Kong Nay นักดนตรีพื้นเมืองชั้นครูชาวกัมพูชารุ่นอาวุโส (หนึ่งในครูดนตรีพื้นเมืองกัมพูชาไม่กี่คนที่รอดจากช่วงสงครามกลางเมือง)
ตัวอย่างของวงดนตรีในดนตรีพื้นเมืองกัมพูชา คือ “ปินเปียด” (ពិណពាទ្យ ไทยเรียก “ปี่พาทย์” ลาวเรียก “ພິນພາດ”) ซึ่งเป็นวงดนตรีขั้นสูง ประกอบด้วยเซิง (ฉิ่ง) โรเนียด (ระนาด) สราไลย (ปี่ใน) จะเป็ย (กระจับปี่อย่างเขมร) กวงว็วง (ฆ้องวง) ตรัว (ซอ) และกลองหลายชนิด ใช้ในดนตรีราชสำนัก ละโคนโขล (โขนฝั่งกัมพูชา) สะแบกธมหรือหนังใหญ่เขมร (มหรสพการเล่นเงาแบบหนังตะลุงทางฝั่งกัมพูชา) และศาสนพิธี
- การบรรเลงของวงปินเปียดแบบราชสำนักกัมพูชา
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะเห็นว่าจากดนตรีธีมของกัมพูชาในเกม Civilization IV ซึ่งเป็นดนตรีเรียบเรียงใหม่ ทำให้ผมสันนิษฐานว่าอาจมีเค้าโครงดัดแปลงจากดนตรีพื้นเมืองในแถบกัมพูชา-ลาว-ไทย และพอเห็นภาพรวมของดนตรีพื้นเมืองกัมพูชาว่าเป็นอย่างไรครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
1
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- ดนตรีเขมร : รากฐานทรัพยากรทางวัฒนธรรมกับการอนุรักษ์ โดยนพพล ไชยสน (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ค.ศ.2019
1
โฆษณา