19 ก.ค. 2021 เวลา 11:36 • ปรัชญา
เต๋าเต๊กเกง บทที่ 16
第十六章
致虛極,守靜篤,萬物並作,吾以觀其復。
夫物芸芸,各復歸其根。
歸根曰靜,靜曰復命。
復命曰常,知常曰明。
不知常,妄作凶。
知常容,容乃公,公乃全,
全乃天,天乃道,道乃久;
沒身不殆。
บทที่ ๑๖
บรรลุสู่ที่สุดแห่งสุญตา ประคองความสงบอย่างมุ่งมั่น สรรพสิ่งพร้อมกันอุบัติ ข้าจึงได้พิจารณาถึงการย้อนคืน
สรรพสิ่งอันหลากหลาย ต่างหวนคืนสู่ราก
การคืนสู่รากคือความสงบ ความสงบเรียกว่าการย้อนคืนชีวิต การย้อนคืนชีวิตเรียกว่าสามัญ การรู้ซึ่งสามัญเรียกว่าความกระจ่าง
ไม่รู้ซึ่งสามัญ ก็จะสร้างภัยโดยวู่วาม
รู้สามัญจึงโอบอุ้ม การโอบอุ้มจึงเป็นสกล
สกลจึงเป็นบูรณาภาพ บูรณาภาพก็คือฟ้า
ฟ้าก็คือเต๋า เต๋าจึงเป็นความนิรันดร์
ตราบสิ้นสังขารก็จักไร้ภยันตราย
บรรลุสู่ที่สุดแห่งสุญตา
ประคองความสงบอย่างมุ่งมั่น
อันว่าความว่างนั้น หากเป็นจิตที่กำลังสำรวมให้ว่างจะยังไม่ใช่ความว่างแท้ เพราะมันคือความว่างที่เกิดจากการกระเพื่อมของจิตเพื่อให้ว่าง หากอยากจะรักษาความว่างนี้ไว้ ก็จะต้องบังเกิดจิตเพื่อประคองความว่างนี้ไว้ตลอดไป นี่จึงเป็นความว่างหลอก หาใช่ความว่างแท้ไม่
ครั้นต่อมา จิตที่บังเกิดจิตให้ว่างก็จะต้องวางลงไป แต่จิตที่ให้วางจิตที่สั่งให้ว่างก็ยังมิใช่ความว่างแท้อีก ข้อนี้จะเสมือนหนึ่งเดินย่ำอยู่บนสะพานแขวน หากย่ำเท้าซ้ายสะพานข้างขวาก็จะกระดก หากย่ำเท้าขวาเพื่อกดสะพานข้างขวา สะพานข้างซ้ายก็จะกระดก หากต้องการทำความสมดุลให้แก่สะพาน สุดท้ายก็คงจะต้องย่ำซ้ายขวาซ้ายขวาอยู่ร่ำไป ดังนั้น อันสิ่งที่ควรคือการหยุดย่ำเท้า เพียงหยุดทุกอย่างก็หยุด เพียงวางทุกอย่างก็ว่าง ด้วยการวางจนถึงที่สุดแห่งความว่างแล้ว ยามนั้นความว่างกับไม่ว่างก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน
ครั้นได้ปล่อยวางในทุกสิ่ง ไม่ปล่อยวางในทุกสิ่ง ยามนั้นจึงเป็นความสงบแท้ ด้วยความสงบแท้ดังนี้ จึงเป็นสมบัติที่สุดแสนล้ำค่าแห่งผู้เจริญในเต๋า
ดังนั้น
อันผู้เจริญในเต๋า จึงพึงเปลี่ยนความมุ่งมั่นในรูปให้เป็นความมุ่งมั่นในเต๋า เปลี่ยนความตั้งใจในทรัพย์ให้เป็นความตั้งใจในเต๋า เปลี่ยนพลังที่ทุ่มเทให้โลกให้เป็นการทุ่มเทให้เต๋า หากไม่สำเร็จในเต๋า ก็คงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว
สรรพสิ่งพร้อมกันอุบัติ
ข้าจึงได้พิจารณาถึงการย้อนคืน
สรรพสิ่งที่อุบัติขึ้นในโลกา จะมีการสะท้อนเกิดเป็นคู่ในจิตใจ เหมือนเช่นภาพที่เกิดเป็นคู่บนกระจกเงา คือเมื่อสิ่งหนึ่งเกิด อีกสิ่งหนึ่งก็จะเกิดเป็นเงาตามตัวในบัดดล ภาพของสรรพสิ่งทั้งสองไม่มีความผิดเพี้ยนกันแต่อย่างใด หากจะมีความแตกต่างไปตามการบิดเบือนของแต่ละบุคคล
อุปมาเหมือนดั่งต้นไม้ต้นหนึ่งที่อุบัติ ต้นไม้ที่ภายนอกหาได้มีความแตกต่างไปตามการดูของแต่ละบุคคลไม่ หากแต่ต้นไม้ภายในจิตใจกลับมีความแตกต่างไปตามอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละบุคคลอย่างมากมาย โดยบ้างก็มองว่าสวย บ้างก็มองว่าไม่สวย บ้างก็มองว่ามีประโยชน์ บ้างก็มองว่าเกะกะไร้ประโยชน์ ต้นไม้ในใจคนจะมีความแตกต่างไปตามอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ แต่ต้นไม้ภายนอกหาได้มีความเปลี่ยนแปลงไปเลยไม่ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะจิตใจของผู้คนไม่มีมาตรฐานเดียวกันนั่นเอง
ในด้านการชั่งตวงวัด หากทุกคนมีมาตรฐานของระบบชั่งตวงวัดที่ต่างกัน ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมต้องแตกต่างกัน แต่ครั้นทุกคนมีหน่วยการชั่งตวงวัดที่มีมาตรฐานเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมจะต้องเหมือนกัน การชั่งตวงวัดที่ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน และมีผลลัพ์ที่เหมือนกันเป็นฉันใด อันจิตใจของผู้คนที่มีมาตรฐานเดียวกัน และมีผลลัพธ์แห่งการพิจารณาสรรพสิ่งที่เหมือนกัน ก็เป็นฉันนั้นดุจเดียวกัน แลมาตรฐานที่เป็นเอกภาพของสรรพสิ่ง ก็คือเต๋านี้นั่นเอง
ดังนั้น ยามผู้คนได้เข้าถึงเต๋า และบรรลุสู่ที่สุดแห่งสุญตา ยามนั้นจึงจะพิจารณาในความเป็นไปแห่งสรรพสิ่งได้อย่างแท้จริง และการที่สามารถพิจารณาซึ่งความเป็นมาเป็นไปของสรรพสิ่งได้อย่างแท้จริง จึงจะเป็นการย้อนคืน ด้วยเพราะเขารู้ว่าควรย้อนคืนกลับสู่ ณ จุดใด และหยุดเป็นมาตรฐานแห่งจิตใจอยู่ ณ จุดนั้น
สรรพสิ่งอันหลากหลาย
ต่างหวนคืนสู่ราก
จิตที่ย้อนคืนสู่เต๋าเรียกว่าคืนสู่ต้นราก เนื่องจากสรรพสิ่งมีความหลากหลาย ผู้ที่ไม่รู้ซึ่งต้นรากแห่งตน ก็คงได้แต่ปล่อยจิตให้ล่องลอยไปตามสรรพสิ่งจนไม่รู้หวนคืน ดังนั้นจึงเร่ร่อนพเนจรไปตามกระแสอย่างไม่หยุดนิ่ง
สรรพสิ่งอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสรรพสิ่งภายนอกก็ดี สรรพสิ่งภายในก็ดี แบบที่สรรพสิ่งทำให้เกิดจิตก็ดี หรือแบบที่จิตทำให้เกิดเป็นสรรพสิ่งก็ดี อันความหลากหลายของสรรพสิ่งเหล่านี้ ต่างก็สะท้อนให้รู้ให้เห็นโดยจิต แต่ครั้นได้บรรลุสู่ที่สุดแห่งสุญตา หรือการบรรลุสู่เต๋าแล้ว การรู้เห็นทั้งหลายของจิตจึงมีความเป็นกลาง มีความกระจ่าง และจึงจะนับว่าได้หวนคืนสู่ต้นรากได้อย่างแท้จริง
การคืนสู่รากคือความสงบ
ความสงบเรียกว่าการย้อนคืนชีวิต
อันต้นรากที่ว่านี้คือต้นรากแห่งจิตใจ ต้นรากเปรียบเหมือนดั่งบ้าน การได้กลับสู่บ้านจึงจะเป็นจุดต้นกำเนิด การกลับสู่จุดต้นกำเนิดแห่งจิตใจจึงจะเป็นความสงบที่แท้จริง
จุดต้นกำเนิดหมายถึงจุดต้นกำเนิดแห่งชีวิต บ้านคือชีวิต คือถิ่นกำเนิด คือต้นรากของสรรพสิ่งทั้งหลาย ดังนั้นการกลับคืนสู่รากจึงเป็นความสงบ มีความสงบจึงเป็นการกลับสู่บ้าน การกลับคืนสู่บ้านจึงจะนับว่าเป็นการย้อนคืนสู่ชีวิตดั้งเดิมที่แท้จริง
การย้อนคืนชีวิตเรียกว่าสามัญ
การรู้ซึ่งสามัญเรียกว่าความกระจ่าง
ชีวิตดั้งเดิมเป็นความเรียบง่าย เหมือนเช่นทารกแรกเกิดที่บริสุทธิ์ไร้เดียวสา ไร้การปรุงแต่ง ไร้การแบ่งแยก ดังนั้นการกลับคืนสู่ต้นรากแห่งชีวิตดั้งเดิมจึงเป็นความธรรมดาสามัญ ความธรรมดาสามัญคือการไร้ปรุงแต่งจนบิดเบือนธรรมชาติเดิม
อันว่าความสามัญ เปรียบเหมือนเช่นน้ำชา น้ำชาคือน้ำที่ผ่านการปรุงแต่ง มีสิ่งเจือปน จึงไม่ใช่ความบริสุทธิ์ แต่น้ำเปล่าคือความบริสุทธิ์ คือสิ่งดั้งเดิม ไร้การปรุงแต่ง ไร้การบิดเบี้ยว อนึ่ง ความธรรมดาสามัญยังเปรียบเหมือนเช่นเด็กทารก เด็กทารกไร้การปรุงแต่ง ไร้โกรธไร้เกลียด ไร้มารยาท ไร้การเสียมารยาท ไร้ความรัก ไร้ความเสียใจ หากแต่เด็กที่ผ่านการอบรมดีอบรมชั่วคือการปรุงแต่ง คือการปรุงแต่งจากจริยธรรมให้มีมารยาท หรือเป็นการปรุงแต่งจากความโกรธเกลียดให้เสียมารยาท จึงไม่ใช่บริสุทธิ์ จึงไม่ใช่ความธรรมดาสามัญ
ดังนั้น การกลับสู่สามัญจึงจะเป็นความว่าง จิตที่ว่างจึงจะมีอานุภาพ อันเหมือนเช่นแก้วที่ว่างเปล่า แก้วที่ว่างเปล่าจึงจะมีอานุภาพในการใส่น้ำ หากเป็นแก้วเต็มก็จะไร้อานุภาพหรือประโยชน์ในการใช้งาน ด้วยเหตุนี้ การกลับสู่ธรรมดาสามัญจึงจะทำให้อยู่เหนือภาวะแห่งการแบ่งแยก การที่อยู่เหนืออิทธิพลของการแบ่งแยกจากสภาวะ จึงจะทำให้มีความกระจ่างสรรเพชญโดยแท้จริง
ไม่รู้ซึ่งสามัญ
ก็จะสร้างภัยโดยวู่วาม
หากผู้คนมิอาจเข้าถึงความสงบ ย่อมมิอาจเข้าถึงต้นรากแห่งชีวิต ไม่รู้ซึ่งต้นรากแห่งชีวิตก็จะไม่เข้าถึงความธรรมดา ไร้ความธรรมดาก็จะมีแต่ความวุ่นวายอลหม่าน แลยามนั้นก็จะสร้างแต่ความวิบัติแห่งชีวิตเป็นแน่แท้
รู้สามัญจึงโอบอุ้ม การโอบอุ้มจึงเป็นสกล
สำหรับผู้ที่รู้จักความสามัญ จึงจะมีใจอันกว้างใหญ่ที่สามารถโอบอุ้มแลให้อภัยแก่ทุกสิ่ง เขาจึงนับว่าเป็นผู้ที่มีจิตเมตตาอันแท้จริง แลผู้ที่มีใจกว้างใหญ่แลเมตตาในการโอบอุ้มทุกสิ่งนั้น ก็จะไร้ความแบ่งแยกระหว่างเรากับเขา เมื่อไม่แบ่งแยกเขาเราก็คือหนึ่งเดียว ความเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่แบ่งแยกเช่นนี้จึงจะมีใจที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสากลจักรวาล
สกลจึงเป็นบูรณาภาพ บูรณาภาพก็คือฟ้า
ฟ้าก็คือเต๋า เต๋าจึงเป็นความนิรันดร์
การที่ได้หลวมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสากลจักรวาลอันกว้างใหญ่นั้น เขาผู้นั้นจึงจะนับว่ามีความสมบูรณ์อย่างแท้จริง ความสมบูรณ์อันแท้จริงเช่นนี้จึงจะเป็นเหมือนเช่นฟ้า ด้วยฟ้ามีใจเมตตาต่อสรรพสิ่งอย่างเสมอภาคและไร้การแบ่งแยกยากดีมีจน ฟ้าไม่โกรธเกลียดต่อการปรามาสของสรรพสิ่ง ฟ้าจะไม่โปรดปรานหรือยินดีต่อการเยินยอของสรรพสิ่ง ไม่ว่าสรรพสิ่งจะปฏิบัติดีหรือปฏิบัติชั่วอย่างไร ฟ้ายังคงให้ลมฝน ให้แสงแดด และให้ชีวิตแก่สรรพสิ่งโดยไม่แบ่งแยก
ดังนั้นผู้ที่มีความสามัญ มีใจโอบอุ้มแลเมตตาแก่ทุกสิ่ง เขาจึงจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสกล การที่มีใจดั่งสกลอันกว้างใหญ่จึงจะเป็นใจฟ้า และจิตใจของฟ้าดั่งนี้ก็คือเต๋า ผู้ที่เข้าถึงเต๋าจึงจะมีความอมตะ
ตราบสิ้นสังขารก็จักไร้ภยันตราย
เต๋าคือความนิรันดร์ ผู้ที่มีความนิรันดร์จะไม่กระทำความหม่นหมองขึ้นแก่จิตใจแลวัตรปฏิบัติ หากจะมีแต่ยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั่วทศทิศ ดังนั้นเขาจึงไร้ซึ่งภัยพาลตราบชั่วนิรันดร์โดยแท้จริง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา