22 ก.ค. 2021 เวลา 02:27 • ปรัชญา
เต๋าเต๊กเกง บทที่ ๓๙
第三十九章
昔之得一者:天得一以清;地得一以寧;神得一以靈;
谷得一以盈;萬物得一以生;侯王得一以為天下正。其致之一也。
天無以清,將恐裂;地無以寧,將恐廢;神無以靈,將恐歇;
谷無以盈,將恐竭;萬物無以生,將恐滅;侯王無以為正,將恐蹶。
故貴以賤為本,高以下為基。
是以侯王自謂孤、寡、不穀。此非以賤為本邪?非乎?
故致數譽無譽。
不欲琭琭如玉,珞珞如石。
บทที่ ๓๙
ผู้ที่ได้รับหนึ่งในอดีตนั้น ฟ้าได้รับหนึ่งจึงแจ่มจรัส ดินได้รับหนึ่งจึงสงบนิ่ง จิตได้รับหนึ่งจึงศักดิ์สิทธิ์ เหวได้รับหนึ่งจึงเต็มเปี่ยม สรรพสิ่งได้รับหนึ่งจึงอุบัติ ราชาได้รับหนึ่งจึงทำให้ใต้หล้าเที่ยง ทั้งหมดล้วนเพราะหนึ่งทั้งสิ้นแล
หากฟ้าไม่จรัส เกรงว่าจักแตกสลาย หากดินไม่สงบ เกรงว่าจักพังทลาย หากจิตไม่ศักดิ์สิทธิ์ เกรงว่าจักม้วยมลาย หากเหวไม่เต็มเปี่ยม เกรงว่าจักเหือดหาย หากสรรพสิ่งไม่อุบัติ เกรงว่าจักวอดวาย หากราชาไม่เที่ยงตรง เกรงว่าจักแพ้พ่าย
ดังนั้นความสูงค่าต้องมีความด้อยค่าเป็นหลัก ความสูงส่งต้องมีความต่ำต้อยเป็นฐาน
ดังนี้ ราชาจึงทรงเรียกพระองค์ว่า “ผู้อ่อนด้อย” “ผู้ไร้บารมี” “ผู้ไร้ความดี” นี่มิใช่ถือความต่ำต้อยเป็นฐานดอกฤๅ ? มิใช่ฤๅ ?
ฉะนั้น ผู้หวังในสรรเสริญจักไร้ผู้สรรเสริญ
ไม่ปรารถนาให้พราวพริ้งดั่งหินหยก หากควรหวังให้ขลุกขลักดั่งศิลา
ผู้ที่ได้รับหนึ่งในอดีตนั้น ฟ้าได้รับหนึ่งจึงแจ่มจรัส
ดินได้รับหนึ่งจึงสงบนิ่ง จิตได้รับหนึ่งจึงศักดิ์สิทธิ์
เหวได้รับหนึ่งจึงเต็มเปี่ยม สรรพสิ่งได้รับหนึ่งจึงอุบัติ
ราชาได้รับหนึ่งจึงทำให้ใต้หล้าเที่ยง
ทั้งหมดล้วนเพราะหนึ่งทั้งสิ้นแล
สรรพสิ่งเริ่มต้นจากหนึ่งเสมอ ตัวเลขอนันต์เริ่มจากตัวเลขเลขที่หนึ่ง ตึกสูงตระหง่านเริ่มจากฐานรากต้นที่หนึ่ง ทรัพย์ศฤงคารอันมั่งคั่งเริ่มจากเงินเหรียญที่หนึ่ง คุณธรรมอันอุกฤษฏ์เริ่มจากศีลข้อที่หนึ่ง และจิตอันทรงพลังก็เริ่มต้นจากจิตที่เป็นหนึ่ง ดังนั้น หนึ่งคือจุดเริ่มต้น หนึ่งคือแกนกลาง หนึ่งคือเสาหลัก ขาดซึ่งหนึ่ง ทุกสิ่งย่อมพินาศ
เต๋าคือสุญภาพ คือสัจธรรม ครั้นเต๋าขยับก็จะเป็นหนึ่ง หนึ่งแตกออกเป็นอินหยาง อินหยางผสมผสานเป็นสรรพสิ่ง ดังนั้น จากสุญภาพแห่งเต๋าที่ขยับเป็นหนึ่ง หนึ่งแยกออกเป็นอินหยางและแผ่ขยายกลายเป็นสรรพสิ่งนี้ ความจริงก็เสมือนหนึ่งเครื่องโม่แป้ง ยิ่งขยับก็ยิ่งเกิด ยิ่งโม่ก็ยิ่งมีแป้ง ในขณะที่โม่หมุนแป้งออกมา ก็ไม่มีสักคราที่โม่จะห่างหายจากความว่าง เมื่อไหร่ที่โม่ขาดซึ่งความว่าง เมื่อนั้นก็ย่อมมิอาจโม่แป้งออกมาได้เลย
ดังนั้น ความสำคัญของเต๋าที่มีต่อสรรพสิ่ง ก็เหมือนเช่นความสำคัญของเสาเอกที่มีต่ออาคาร เมื่อใดที่ไม่มีเสาเอกหรือเสาเอกแตกร้าวไป เมื่อนั้นย่อมกระทบต่ออาคารอย่างร้ายแรงเป็นแม่นมั่น
เต๋าและหนึ่งจึงเป็นรากฐานของทุกสิ่ง ดังนั้น เมื่อฟ้ามีหนึ่ง ดวงดาวดาราก็จะเป็นระเบียบ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ภูมิอากาศไม่วิปริตแปรปรวน หากดินมีหนึ่ง แผ่นดินก็จะเจริญงอกงาม ภูผาแม่น้ำไม่วิปริตวุ่นวาย พืชผลมีความอุดมสมบูรณ์ หากจิตมีหนึ่ง จิตนี้ก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์ จะมีพลัง พรตที่บำเพ็ญก็จะสูงล้ำ วัตรที่ปฏิบัติก็จะมีความแยบคาย หากหุบเหวมีหนึ่ง สายธาราก็จะอยู่ในระเบียบ หุบเหวก็จะมีความชุ่มฉ่ำด้วยธาราที่เปี่ยมล้น หากสรรพสิ่งมีหนึ่ง ทุกสิ่งก็จะมีชีวิตชีวา มีพลวัตร ไม่อับเฉา และหากพระราชาหรือเจ้าผู้ปกครองได้เข้าถึงหนึ่ง ท่านจึงจะปกครองใต้หล้าให้อยู่ในกรอบแห่งธรรม อันจะยังผลให้ใต้หล้ามีความเที่ยงธรรมขึ้นได้นั่นเอง และทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นหิตานุหิตประโยชน์แห่งเต๋าทั้งสิ้น
หากฟ้าไม่จรัส เกรงว่าจักแตกสลาย
หากดินไม่สงบ เกรงว่าจักพังทลาย
หากจิตไม่ศักดิ์สิทธิ์ เกรงว่าจักม้วยมลาย
หากเหวไม่เต็มเปี่ยม เกรงว่าจักเหือดหาย
หากสรรพสิ่งไม่อุบัติ เกรงว่าจักวอดวาย
หากราชาไม่เที่ยงตรง เกรงว่าจักแพ้พ่าย
ดังนั้น หากฟ้าไร้หนึ่ง เกรงว่าแผ่นฟ้าจะวิปริตแปรปรวนเป็นแน่แท้ หากแผ่นดินไร้หนึ่ง เกรงว่าแผ่นดินจะต้องพังทลายเป็นมั่นคง หากจิตไร้หนึ่ง จิตนี้ก็จักต้องเวียนว่ายเป็นแม่นมั่น หากหุบเหวไร้หนึ่ง หุบเหวก็จักต้องเหือดแห้งเป็นแน่แท้ หากสรรพสิ่งไร้หนึ่ง สรรพสิ่งย่อมจะต้องพินาศเป็นแน่นอน และหากราชาผู้ปกครองไร้หนึ่ง ราชาจักต้องทรงแพ้พ้ายมลายชีวีมิมีอื่น
ดังนั้นความสูงค่าต้องมีความด้อยค่าเป็นหลัก
ความสูงส่งต้องมีความต่ำต้อยเป็นฐาน
สรรพสิ่งทั้งหลายจะต้องเริ่มจากหนึ่ง ขึ้นชั้นสองต้องเริ่มจากชั้นที่หนึ่ง ระยะทางพันลี้ก็ต้องเริ่มจากก้าวที่หนึ่ง ความอิ่มท้องก็ต้องเริ่มจากคำที่หนึ่ง
ทุกสิ่งล้วนต้องมีหนึ่งเป็นรากฐาน ความรวยต้องมีความจนเป็นพื้นฐาน ความสูงต้องมีความต่ำเป็นพื้นฐาน ความอิ่มต้องมีความหิวเป็นพื้นฐาน และความสูงศักดิ์ก็ต้องมีความต่ำต้อยเป็นพื้นฐาน
หากความรวยไม่เกิดจากความจนเป็นพื้นฐาน เขาก็จะไม่ขยันหมั่นเพียร หากความสูงไร้ความต่ำเป็นพื้นฐาน ความสูงไม่มีทางเกิด หากความอิ่มไร้ความหิวเป็นพื้นฐาน เขาก็จะไม่ทานอาหาร และหากความสูงศักดิ์ไม่มีความต่ำต้อยหรือความอ่อนน้อมเป็นพื้นฐาน ความสูงศักดิ์นั้นก็คือความหยิ่งผยอง
ดังนี้ ราชาจึงทรงเรียกพระองค์ว่า
“ผู้อ่อนด้อย” “ผู้ไร้บารมี” “ผู้ไร้ความดี”
นี่มิใช่ถือความต่ำต้อยเป็นฐานดอกฤๅ ? มิใช่ฤๅ ?
ฉะนั้น ผู้หวังในสรรเสริญจักไร้ผู้สรรเสริญ
ด้วยเพราะเหตุนี้ พระราชาผู้ปกครองในอดีตจึงทรงเรียกพระองค์ว่า “ผู้อ่อนด้อย” “ผู้ไร้บารมี” “ผู้ไร้ความดี” สาเหตุก็เพราะพระองค์ทรงตั้งองค์ให้อยู่ในความอ่อนน้อมอยู่ทุกเวลานั่นเอง ด้วยเพราะทรงตั้งองค์ให้อยู่ในความอ่อนน้อมอยู่ทุกเวลา ดังนั้นพระองค์จึงทรงเป็นผู้ที่มากด้วยพระบารมี มากด้วยพระปรีชา และมากด้วยคุณความดีที่แท้จริง
จึงเห็นได้ว่า ผู้ที่ไม่ยอมดำรงตนอยู่ในความอ่อนน้อม หากจะพยายามยกยอตน ลำพองตน ถือดีในตัวตน เพื่อให้ตนเป็นที่เคารพนับถือของผู้อื่นแล้ว เขาจักไม่เป็นที่ยอมรับของชนในใต้หล้า และจักต้องพินาศย่อยยับเป็นแม่นมั่น
ไม่ปรารถนาให้พราวพริ้งดั่งหินหยก
หากควรหวังให้ขลุกขลักดั่งศิลา
เหลาจื่อจึงหวังให้ตนดำรงอยู่ในสถานะแห่งความอ่อนน้อม อยู่ในความติดดิน อยู่ในความสมถะ เพราะความเย่อหยิ่งจะทำให้ใจระเริง ความสุขสบายจะทำให้ใจกระเจิง ความสูงศักดิ์จะทำให้ใจหยิ่งผยอง ผู้เป็นวิญญูจึงปรารถนาติดดินดั่งศิลา หากจะไม่นิยมให้งดงามดั่งหยกที่แพรวพราว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา