22 ก.ค. 2021 เวลา 07:30 • อาหาร
ชวนรู้จัก "อาหารสัญชาติเยอรมัน" ดินแดนที่ไม่ได้มีดีแค่เบียร์ !
หากเรานึกถึงประเทศเยอรมนี เราก็คงจะนึกถึงปราสาทในเทพนิยาย หรือ เบียร์ Lager ชื่นใจสักแก้ว
ซึ่งก็ไม่แปลก หากเราจะนึกถึง 2 จุดเด่นเหล่านี้มาเป็นอันดับแรก ๆ
เพราะ ประเทศเยอรมนี เป็นที่ตั้งของปราสาทในเทพนิยาย มากถึง 13 แห่ง อย่างเช่น Neuschwanstein, Schloss Lichtenstein หรือ Eltz Castle
หรือ เพราะ ประเทศเยอรมนี มีปริมาณการใช้จ่ายและการดื่มเบียร์ มากที่สุดในโลก ซึ่งราคาเบียร์ 1 ขวด ก็เฉลี่ยออกมาพอ ๆ กับ น้ำดื่ม แถมยังมีเทศกาล “Oktoberfest” ที่โด่งดังในทุก ๆ เดือนตุลาคม อีกด้วย
พอพูดถึงเรื่องราวแบบนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะท่องเที่ยว “ปราสาทนอยชวานชไตน์ (Neuschwanstein)” หรือไปเข้าร่วมเทศกาล“Oktoberfest”
สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “อาหารเยอรมัน” นั่นเอง !
(เพราะเราก็คงต้องเติมพลังกันทุกมื้ออาหารเนอะ)
ถ้าหยั่งงั้น วันนี้พวกเรา InfoStory จะพาเพื่อน ๆ มารู้จักเมนูอาหารยอดฮิต ที่น่าสนใจของประเทศเยอรมนีกัน
วันนี้ พวกเราก็ขอหยิบเรื่องราวของบางเมนู มาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังกัน
เริ่มกันที่ “Bratwurst”
Bratwurst
เมนูยอดนิยมที่ทำให้เรานึกถึงประเทศเยอรมนี ก็คงจะไม่พ้น “ไส้กรอก”
แต่ไส้กรอกเยอรมัน ที่ว่าเนี่ย มันไม่ได้เป็นแท่งเล็กที่ขนาดไม่พอดีคำนะสิ
ยกตัวอย่างเช่น “Bratwurst” หรือ ไส้กรอกเยอรมัน (เนื้อหรือหมู) ที่มีขนาดหนาใหญ่ นำไปย่างในกระทะจนหอมผิวกรอบเกรียม เสิร์ฟพร้อมซอสมัสตาร์ด
ซึ่งที่มาของชื่อ ก็แสนง่าย เพราะมันคือความหมายตรง ๆ เลย
อย่าง Brät ที่แปลว่า เนื้อที่ถูกสับมาอย่างดีแล้ว กับคำ Wurst แปลว่า ไส้กรอก โดยมากใช้เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อลูกวัว
ว่ากันว่า ไส้กรอกเยอรมันชนิดนี้ มีความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1300 เลยทีเดียว ในยุคสมัยก่อนนั้น จะนิยมเอาไส้หมูมาทุบอัดกันเป็นไส้กรอก ซึ่งจะไม่เหมือนในยุคปัจจุบัน ที่ใช้เป็นเนื้อหมู เนื้อวัว แทน
อย่างไรก็ดี เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ไส้กรอกประเภทของ Bratwurst นี้ มีมากถึง 40 รูปแบบด้วยกันเลยทีเดียวนะ !
และหากเราพูดถึงไส้กรอกเยอรมัน แบบอื่น ๆ ที่เราอาจคุ้นหูกัน ก็จะมี
- Currywurst เมนูนี้คือ ไส้กรอกต้มหรือทอด สุดคลาสสิค (ที่เราอาจไม่ได้เข้าใจว่าเป็นไส้กรอกเยอรมัน) ราดด้วยซอสมะเขือเทศ และโรยผงกะหรี่ มีต้นกำเนิดในเบอร์ลินยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยแฮร์ตา ฮอยแวร์ (Herta Heuwer)
Currywurst
- Nürnberger ไส้กรอกเยอรมันขนาดพอดีคำ ชิ้นนึงจะไม่ใหญ่มาก นิยมทานคู่กับ Sauerkraut หรือ ผักกาด/กะหล่ำปีดอง คล้าย ๆ กับ การทาน Bratwurst นั่นละ ไส้กรอกประเภทนี้ ก็มีต้นกำเนิดใกล้เคียงกัน อีกด้วย ในช่วงปี ค.ศ. 1313
Nürnberger
- Leberwurst หรือ ไส้กรอกตับ มีทั้งเนื้อหยาบเนื้อละเอียด (คล้าย ๆ กับตับบดที่เราทาบนขนมปัง)
Leberwurst
- Blutwurst หรือ ไส้กรอกเลือด ก็จะทำมาจากเลือดหมูและเบคอน ผ่านกรรมวิธีการปรุงสุกแล้ว
Blutwurst
“Käsespätzle”
Käsespätzle
ต่อมา อีกหนึ่งเมนูสำหรับสายสุขภาพ แต่ก็ยังอยากทานอะไรอร่อย ๆ
ที่เยอรมัน เขาก็มีอาหารจานก๋วยเตี๋ยวมังสวิรัตินี้ เหมือนกันนะ
ใช่แล้ว เพื่อน ๆ ไม่ได้อ่านผิด เมนูนี้ มีชื่อว่า “Käsespätzle” หรือ เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ "ก๋วยเตี๋ยวเยอรมัน" หรือ "พาสต้าเยอรมัน" โดยจะทานคู่กับชีสประเภทแข็งหรือกึ่งแข็ง อย่าง Edam, Gouda หรือ Gruyère
Käsespätzle
ซึ่งเจ้าเส้นแป้งที่ว่านี่ ก็คือ เส้นที่ทำมาจากแป้งชเป็ทซ์เลอ (Spätzle) ตามชื่อพยางค์สุดท้ายของเมนู
เส้นแป้งชเป็ทซ์เลอ ทำมาจากแป้งสาลี ไข่ และน้ำอุ่น บางสูตรก็อาจจะมีการผสมนมและเกลือลงไปด้วย
โดยแป้งชเป็ทซ์เลอจะแตกต่างจากแป้งที่ทำเส้นพาสต้าตรงที่จะชื้นและนิ่มมากกว่าแต่เหนียวน้อยกว่า จึงทำให้รีดเป็นเหมือนเส้นพาสต้าไม่ได้ นั่นเอง
(เพราะงั้นจึงไม่สามารถเรียกเมนูนี้ว่า พาสต้า ได้อย่างเต็มปาก ทำได้แค่เรียกเชิงแซว ๆ เท่านั้นนะ)
แป้งชเป็ทซ์เลอ (Spätzle)
จึงนำมาประยุกต์โดยการนำเส้นแป้งชเป็ทซ์เลอ มาอบและโรยด้วยชีสทานคู่กับหัวหอมย่าง เสิร์ฟบนกระทะร้อน กลายเป็นเมนู Käsespätzle นี้เองจ้า
“Münchner Schnitzel”
“Münchner Schnitzel”
อีกหนึ่งเมนูที่เราช๊อบชอบ เพราะความเรียบง่ายและเข้าถึงได้ อย่างเมนูของทอด
“Münchner Schnitzel” เนื้อสัตว์ หรือ ลูกวัวที่ถูกทุบให้บาง ชุบเกล็ดขนมปังและไข่ แล้วนำไปทอดด้วยน้ำมัน
จากนั้นก็จะนำมาเสิร์ฟพร้อมมัสตาร์ดน้ำผึ้ง (หรือมัสตาร์ดหวาน)
เมนูนี้ เป็นเมนูที่ขึ้นชื่อของเมืองมิวนิก (ก็แน่นอน มีชื่อเมืองกำกับอยู่ที่เมนูเลยนี่นา)
แต่เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า เจ้าเมนูประจำถิ่นมิวนิกนี้ จริง ๆ แล้วกลับได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เมนู "Wiener Schnitzel"
ซึ่ง "Wiener Schnitzel" ตามชื่อต้นพยางค์ ก็พอจะเดาได้เลยว่า มาจากประเทศไหน...
“Wiener” หรือ Wien ซึ่งก็จะพูดถึงชาวเวียนนา
ประเทศออสเตรีย นั่นเอง
Wiener Schnitzel ไม่ได้มีความเป็นมาที่เก่ามากเท่าไร เพราะมีประวัติถูกบันทึกย้อนไปแค่ปี ค.ศ. 1845 ซึ่งสูตรดั้งเดิมเลยเนี่ย จะต้องทำมาจากเนื้อลูกวัว (Veal) เท่านั้น
โดยจะนำมาแล่บาง ๆ ราว 4 มิลลิเมตร และนำมาทุบต่อให้แบน โรยเกลือ ชุบแป้ง คลุกไข่และเกล็ดขนมปัง
โดยต้องระวังไม่ให้เกล็ดขนมปังกดทับเข้าไปในตัวเนื้อ เพื่อให้เกล็ดขนมปังแห้งและกรอบตอนนำไปทอดในน้ำมันหมูที่อุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส จนกระทั่งมีสีเหลืองทองหรือน้ำตาล เสิร์ฟพร้อมด้วยเลมอนฝานและสลัดมันฝรั่ง พร้อมทั้งใบพาสลีย์และเนย
จนต่อมา เมนู Wiener Schnitzel ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับความคุ้มครอง (Protected Geographical Indication (PGI) ตามกฎหมายสหภาพยุโรป
Wiener Schnitzel
แต่พวกเราหาไปหา ก็ไปพบข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงหนึ่งที่บอกว่า
จริง ๆ แล้ว เจ้าเมนู Schnitzel เนี่ย (ไม่ต้องอ้างอิงชื่อเมืองในพยางค์แรกนะ)
มีต้นกำเนิดและเผยแพร่มาจาก ชาวอิสราเอลตั้งแต่ศควรรษที่ 1 แล้ว ตะหากละ
ซึ่งเมนูนี้ ได้ถูกเผยแพร่โดยชาวยิว ที่ไปอพยพอาศัยอยู่ในแคว้นบาวาเรียของประเทศเยอรมนี และ กรุงเวียนนาประเทศออสเตรีย
“Schweinshaxe” และ “Eisbein”
Schweinshaxe
อีกหนึ่งเมนูที่หากไม่พูดถึงเนี่ย
เชื่อว่าเพื่อน ๆ คงจะต้องเรียกถามถึงกันอย่างแน่นอน นั่นก็คือ ขาหมูกรอบเยอรมัน ! (Schweinshaxe)
Schweinshaxe คือ ขาหมูหนังกรอบ หรือ ขาหมูไปต้มจนสุก ผึ่งแดดให้แห้งแล้วเอาไปทอดจนเหลืองกรอบ เสิร์ฟพร้อมกะหล่ำดองเยอรมัน (Sauerkraut)
จริง ๆ ต้องบอกว่า ชาวเยอรมันเนี่ย ดั้งเดิมเขาจะชอบทานเนื้อหมูมากกว่าเนื้อวัว
นั่นจึงทำให้เมนูขาหมูเยอรมันเนี่ย มันเป็นที่นิยมเอาเสียมาก
โดย เมนูขาหมูกรอบ (Schweinshaxe) เป็นอาหารดั้งเดิมของชาวบาวาเรียตอนใต้ และยังเป็นเมนูยอดฮิตจากเทศกาล "Oktoberfest"
Schweinshaxe
แต่แบบไม่ทอดกรอบ ก็มีนะ !
โดยเมนูนี้ คือ เมนูขาหมูต้ม ที่เรียกว่า “Eisbein” หรือ ขาหมูที่นำไปบ่มเกลือ และเคี่ยวทิ้งไว้เป็นเวลาหลายชั่วโมง จะเสิร์ฟพร้อมน้ำซุป (บ้างก็เสิร์ฟในน้ำซุปเลย) พร้อมกับกะหล่ำปลีดองและถั่วฝักยาว
1
ซึ่งเมนู Eisbein นี้ จะเป็นที่นิยมกันในแคว้นบาวาเรียทางตอนเหรือ
(เหมือนที่เราค้นหามา มันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองนิด ๆ อีกด้วยนะ)
Eisbein
ซึ่งโดยวัฒนธรรมการทานทั่วไปแล้ว คนเยอรมันจะสั่งขาหมู 1 ขา มาทานสำหรับ 1 คน
(แต่สำหรับพวกเราแล้ว 1 ขา รุมทานได้ 3 คนเลยทีเดียว)
และเมนูนี้ยังเป็นที่นิยมในสาธารณรัฐเช็กอีกด้วยนะ !
ปิดท้ายด้วยเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ
ต้องขอบอกว่า อันนี้น่าสนใจจริง ๆ
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า “เยอรมัน” กับ “เยอรมนี” มีลักษณะการใช้ในภาษาไทยที่ต่างกัน (แต่ความเข้าใจในความหมายคืออันเดียวกันนะ)
ถ้าเราใช้เรียกเป็น ภาษา, ผู้คน, สัญชาติ เราจะใช้คำว่า “เยอรมัน” เช่น ภาษาเยอรมัน, รู้จักชาวเยอรมัน, ทีมชาติเยอรมัน
แต่ถ้าเราเรียกเป็นประเทศ หรือ เรากำลังกล่าวถึงประเทศ ก็จะต้องใช้ชื่อ “เยอรมนี”
ยกตัวอย่างเช่น ทำไมประเทศเยอรมนี ถึงเป็น ประเทศแห่งเบียร์ ? หรือ ทำไม เยอรมนี จึงเป็นประเทศแห่ง วิศวกรรม?
(อันนี้เราสังเกตมาจากบทความของเพจลงทุนแมน ที่เขามีการใช้คำว่าเยอรมนีและเยอรมันได้อย่างถูกต้อง)
ซึ่งเราไปหาเพิ่มเติมในชื่อของการเรียกจักรพรรดิของเยอรมัน ก็มีปรากฎไว้อย่างชัดเจนนะ อย่างเช่น
- พระจักรพรรดิ์แห่งเยอรมัน (German Emperor) หรือ Deutscher Kaiser ซึ่งจะกล่าวถึง จักรพรรดิที่เป็นคนเยอรมัน
- พระจักรพรรดิ์แห่งเยอรมนี (Emperor of Germany) หรือ Kaiser von Deutschland ซึ่งจะกล่าวถึง จักรพรรดิที่มีอำนาจเหนือกษัตริย์เยอรมันรัฐอื่น ๆ ในประเทศเยอรมันนี
Wilhelm II, Deutscher Kaiser
Freidrich, Kaiser von Deutschland
ก็เป็นอีกหนึ่งเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจดี แต่เดี๋ยวจะยาวกันเกินไป ไว้พวกเราขอหยิบเรื่องชื่อตรงนี้ มาเล่าให้โพสต่อ ๆ ไปละกันนะ
วันนี้พวกเรา InfoStory ก็ขออนุญาตจบเรื่องราวสบายสมอง ไว้ที่ตรงนี้ 🙂
โฆษณา