25 ก.ค. 2021 เวลา 04:49 • ปรัชญา
เต๋าเต๊กเกง บทที่ ๕๗
第五十七章
以正治國,以奇用兵,以無事取天下。
吾何以知其然哉?以此:
天下多忌諱,而民彌貧;民多利器,國家滋昏;
人多伎巧,奇物滋起;法令滋彰,盜賊多有。
故聖人云:我無為而民自化,我好靜而民自正;
我無事而民自富,我無欲而民自樸。
บทที่ ๕๗
ใช้ความเที่ยงตรงปกครองชาติ ใช้ความเหนือเมฆบริหารทัพ
ใช้ความอกิจครองใต้นภา
ไฉนข้าจึงรู้สิ่งนี้ได้ ? ก็โดยดังนี้
หากใต้หล้ามากด้วยข้อต้องห้าม ปวงประชาจักยิ่งยากจน
หากหมู่ชนมากด้วยคมศาสตรา ประเทศชาติจักยิ่งจลาจล
หากปวงชนมากด้วยความเก่งกาจ สิ่งพิสดารจักยิ่งบังเกิด
หากกฎบัญญัติยิ่งมากมาย โจรผู้ร้ายจักยิ่งชุกชุม
ดังนั้นพระอริยเจ้าจึงกล่าวว่า
“ข้าอกรรมแล้วปวงประชาจักจำเริญ
ข้าใฝ่สงบแล้วทวยราษฎร์จักเที่ยงตรง
ข้าอกิจแล้วชาวประชาจักมั่งมี
ข้าไร้กิเลสแล้วชนใต้หล้าจักบริสุทธิ์”
ใช้ความเที่ยงตรงปกครองชาติ
ในการบริหารชาติ แม้นจะมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย จนดูเหมือนจะเป็นการยากที่จะบริหารใจคนนับล้านให้มีคุณธรรมและหลวมรวมทุกดวงใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น อันหลักการแห่งการบริหารชาติก็คือการบริหารสองสิ่งให้มีความเที่ยงตรง นั่นก็คือการบริหารบำเหน็จและอาญาให้เที่ยงตรงนั่นเอง
หากการปูนบำเหน็จไร้ความยุติธรรม คนดีก็จะท้อถอยไม่ยอมทำความดี คนชั่วก็จะได้ใจและประจบสอพลอจนได้ดิบได้ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ คนดีจะเร้นกาย คนชั่วจะได้เป็นใหญ่ ประเทศชาติก็จะพินาศย่อยยับเป็นมั่นคง
อนึ่ง หากมีการลงอาญาอย่างอยุติธรรม ยามนั้นคนดีก็ห่อเหี่ยวและหันหน้าไปทำความเลว ส่วนคนเลวก็จะได้ใจและยิ่งฮึกเหิมที่จะทำความชั่ว ยามนั้น คนดีจะกลายเป็นคนเลว คนเลวก็จะยิ่งทำความชั่วอย่างฮึกเหิม เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศชาติย่อมจะตกต่ำและยากที่จะกอบกู้หวนคืนได้อีก
แต่หัวใจของการบริหารบำเหน็จและอาญาให้เที่ยงตรงนั้น สิ่งสำคัญก็คือการบริหารใจให้เที่ยงตรง ธำรงใจให้มีคุณธรรม ยามใจเที่ยงตรงและมีคุณธรรม จึงจะสามารถแยกแยะผิดชอบได้อย่างถูกต้อง บำเหน็จจึงจะปูนได้อย่างเหมาะสม และอาญาก็จะบริหารได้อย่างยุติธรรม เมื่อความเที่ยงตรงได้เป็นหลักแห่งชาติบ้านเมืองแล้ว จึงจะเป็นหลักให้ขุนนางประชาราษฎร์พึ่งพาได้
จุดนี้ก็อุปมาดั่งประตูหน้าต่างที่สามารถจัดวางได้อย่างสวยงาม ประการแรกจะต้องตั้งเสาเอกและขื่อคานให้เที่ยงตรงเสียก่อน หากเสาเอกและขื่อคานขาดความเที่ยงตรงแล้วไซร้ ทุกองค์ประกอบแห่งบ้านก็จะต้องบิดเบี้ยวหมดเป็นแน่แท้
ใช้ความเหนือเมฆบริหารทัพ
อันการทัพอยู่ที่ความพิสดารอย่างเหนือความคาดหมาย หากการขยับรุกรับเป็นสิ่งที่คาดหมายได้แล้ว กองทัพนี้ย่อมจะพ่ายแพ้เป็นแม่นมั่น
อันยุทธการ อยากจะรุกไกลก็ให้เข้าใจว่าจะรุกใกล้ อยากจะรุกใกล้ก็ให้เข้าใจว่าจะรุกไกล อยากจะรุกซ้ายก็ให้เข้าใจว่าจะรุกขวา อยากจะรุกขวาก็ให้เข้าใจว่าจะรุกซ้าย มีความสามารถก็ลวงให้รู้ว่าไร้ความสามารถ ต้องการจะใช้ก็ลวงว่าไม่อยากจะใช้ ด้วยการแสดงให้แยกจริงแยกเท็จไม่ออกดังนี้ จึงจะมีชัยเหนือข้าศึก รบร้อยครั้งย่อมชนะร้อยครั้ง
ใช้ความอกิจครองใต้นภา
เต๋าสร้างสรรค์สรรพสิ่ง ปกครองสรรพสิ่ง แต่ไฉนเราจึงไม่รู้สึกถึงการถูกปกครองแห่งเต๋า เหตุนั้นเป็นไฉน นั่นก็เพราะเต๋าปกครองโดยอกรรม ครอบครองโดยอกิจนั่นเอง
อกิจ หาใช่อยู่เฉยโดยไม่ทำอะไรไม่ หากแต่คือทำทุกสิ่งโดยไม่ยึดติดในทุกสิ่ง ในทุกห้วงเวลาแห่งโลกา เต๋าได้ทำการประสิทธิ์ประศาสน์สรรพสิ่งอยู่ทุกเวลา หากแต่เต๋าไม่ยึดติดในการประสิทธิ์ประศาสน์ เต๋าใช้หลักแห่งอกรรมเป็นที่ตั้ง ใช้เกณฑ์แห่งอกิจเป็นที่หมาย เต๋าจึงสามารถบริหารสรรพสิ่งให้อยู่ในครรลองอย่างเป็นระเบียบ เหตุที่สรรพสิ่งในใต้หล้ามิอาจรับรู้ถึงการถูกปกครองแห่งเต๋า นี่ก็คือความสำเร็จในการปกครองโดยอกรรม แลสัมฤทธิ์ผลในความอกิจแห่งเต๋านั่นเอง
สรรพสัตว์อยู่ในอากาศโดยมิสัมผัสรับรู้ถึงการมีอยู่ของกาศ มัจฉาอยู่ในวารีโดยมิสัมผัสรับรู้ถึงการมีอยู่แห่งวารี เป็นฉันใด สรรพสิ่งที่อยู่ภายใต้การปกครองโดยอกรรม บริหารโดยอกิจแห่งเต๋า ก็เป็นฉันนั้นดุจเดียวกัน
ไฉนข้าจึงรู้สิ่งนี้ได้
ก็โดยดังนี้
หากเป็นการปกครองชาติก็ใช้หลักแห่งความเที่ยงตรง หากเป็นการบริหารทัพก็ใช้หลักแห่งความเหนือเมฆ แต่หากเป็นการปกครองใต้หล้าแล้ว จำเป็นต้องไร้การปกครอง จำเป็นต้องอกิจ จำเป็นต้องอกรรม หากจะมีผู้คนถามว่าข้าทราบเรื่องนี้ได้อย่างไร ก็โดยดังนี้นั่นแล
หากใต้หล้ามากด้วยข้อต้องห้าม
ปวงประชาจักยิ่งยากจน
อันชาติใดเมืองใดที่ผู้ปกครองประกาศกฎข้อต้องห้ามต่างๆ มากมาย ประชาชนที่อาศัยในบ้านนั้นเมืองนั้นย่อมจะอึดอัดและขาดอิสระ ความคิดสร้างสรรค์ของประชาชนจะถูกจำกัดกีดกั้น กำลังใจที่มุ่งมั่นในการประกอบกิจต่างๆ ย่อมจะเหือดหายไปเป็นธรรมดา ทุกคนจะคิดกันเช่นนี้ว่า “อย่าไปทำเลย เดี๋ยวก็ผิดกฎหรอก จะโดนตำหนิติโทษเสียเปล่าๆ” ดังนี้แล้ว ประชาชนก็จะเกี่ยงกันไปมา ไม่มีใครคิดรับผิดชอบในหน้าที่ ต่างคนต่างอยู่เพื่อให้ตนเองอยู่รอดไปวันๆ ในยามนี้ หากกฎระเบียบข้อต้องห้ามยิ่งมาก ความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะยิ่งแร้นแค้นขัดเคืองมากขึ้นเป็นทวี
ยามเกิดมหาอุทกภัย มนุษย์ผู้อหังการ์คิดใหญ่จะพิชิตมหาวารี ข้าปิด วารีโอบ ข้ากั้น วารีเลี้ยว ข้าล้อม วารีมุด ข้ากลบ วารีซึม สุดท้าย ยิ่งห้ามยิ่งวุ่นวาย ยิ่งกั้นยิ่งเสียหาย เพราะมนุษย์ไม่เข้าใจธรรมชาติ และทำตัวอหังการ์เอาชนะธรรมชาตินั่นแล
หากหมู่ชนมากด้วยคมศาสตรา
ประเทศชาติจักยิ่งจลาจล
อันชาติใดเมืองใดที่ประชาชนสะสมคมศาสตรา ทุกคนก็จะมีใจฮึกเหิมมุทะลุ ส่วนจิตใจก็จะหุนหันและขาดสติความยั้งคิด เมื่อใดที่ไม่ถูกใจก็จะหยิบฉวยอาวุธเข้าห้ำหั่น เช่นนี้ ความจลาจลวุ่นวายย่อมจะเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด
อนึ่ง คมศาสตราภายนอกก็เพียงแค่ทำให้เกิดการห้ำหั่น สิ่งนี้ยังพอเห็นและสามารถป้องกัน หากแต่คมศาสตราภายในที่หมายถึงความฉลาดแกมโกง หมายถึงสติปัญญาที่เต็มไปด้วยความเจ้าเล่ห์เพทุบายนั้น คมศาสตราประเภทนี้จะมีความร้ายกาจและน่ากลัวยิ่งกว่าคมศาสตราอาวุธเสียมากมาย และหากผู้คนยิ่งสะสมคมศาสตราประเภทนี้ยิ่งมาก ยิ่งสั่งสมแต่ความรู้โดยไม่เหลียวแลคุณธรรมกันมากยิ่งขึ้น ยามนั้น ผู้คนก็จะมีแต่สวมหน้ากากจอมปลอมเข้าหากัน มีแต่จะวางแผนแย่งชิงประโยชน์โภคผลกันและกัน สังคมเช่นนี้ย่อมจะฟอนเฟะและวุ่นวายจนเป็นจลาจลอย่างแน่นอน
หากปวงชนมากด้วยความเก่งกาจ
สิ่งพิสดารจักยิ่งบังเกิด
หากบ้านใดเมืองใดที่ประชาชนเก่งทักษะมากความสามารถ ผู้คนก็จะประดิษฐ์สิ่งของอันแปลกพิสดารขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นของมีค่า ของล่อตา หรือของล่อใจ อันสิ่งเหล่านี้ล้วนยุยงให้ผู้คนแย่งกันสั่งสมจนเกิดความชุลมุนวุ่นวาย สังคมจะเทิดทูนแต่คนที่มีของล้ำค่า ใจของผู้คนจะขาดซึ่งความบริสุทธิ์ ความเรียบง่ายสมถะล้วนมลายหายสิ้น สังคมจะเปี่ยมด้วยการเปรียบเทียบและแข่งขัน แลจิตใจของผู้คนก็จะยิ่งห่ายหายจากเต๋าและถูกกลบกลืนด้วยกิเลสตัณหาอย่างยากจะหวนคืน
เพราะทุกคนล้วนเก่งกาจ จิตใจจึงคดเคี้ยว จึงชอบเอาเปรียบมากกว่ารู้เสียเปรียบ ชอบครอบครองมากกว่ารู้เสียสละ ชอบสุขสบายมากกว่าสู้ความลำบาก ชอบไขว่คว้ามากกว่าใฝ่ความสงบ สังคมจึงวุ่นวาย
เพราะทุกคนล้วนเก่งกาจ ดังนั้นจึงปากเก่ง วาจาจึงเฉือดเฉือน คารมก็อ่อนหวาน ตีฝีปากเก่งกว่าลิงตีฉาบ ยอกย้อนเก่งกว่าศรีธนญชัย ปลิ้นปล้อนดุจปลาไหลในโคลนตม ในเมื่อผู้คนล้วนเก่งกาจจนขาดความสัตย์ซื่อ ศิลปะฉูดฉาดจนขาดความน่ามอง แล้วสังคมจะสุขสงบได้ไย
หากกฎบัญญัติยิ่งมากมาย
โจรผู้ร้ายจักยิ่งชุกชุม
จรรยาเสื่อมกฎหมายจึงเกิด จรรยามีกฎหมายก็ไม่มี
ดังนั้น หากบ้านใดเมืองใดที่ผู้ปกครองบัญญัติข้อกฎหมายไว้มากมาย โดยหาได้มุ่งประศาสน์ปวงชนด้วยคุณธรรมความดีแล้วไซร้ นี่คือการแก้ไขที่ปลายเหตุ โดยหาได้ปรับปรุงแก้ไขที่ต้นเหตุแห่งปัญหาเลยไม่ หากยังกระทำเช่นนี้อยู่ต่อไป ยามนั้นประชาชนจะขาดความละอายที่จะยั้งคิดไม่ทำความผิด หากจะมีแต่ใจที่เปี่ยมด้วยทิฐิไม่ยอมรับผิดและมุ่งแต่แหกกฎไม่เคารพกฎหมาย สังคมยามนั้นก็จะมีแต่โจรผู้ร้าย ทั้งโจรที่ประกาศตัวเป็นโจรอย่างเปิดเผย หรือโจรที่แฝงเร้นไม่ประกาศตัวเป็นโจรและอาศัยอยู่ตามชุมชนอีกมากมาย สังคมเช่นนี้จึงเป็นสังคมที่เห็นแก่ตัวและแก่งแย่งชิงดี ด้วยแม้นจะพยายามยกระดับกฎหมายให้มากขึ้นเท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะยิ่งมีแต่โจรผู้ร้ายเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
อุปมาดั่งมนุษย์ที่พยายามอุดกั้นน้ำ แลมนุษย์ก็หาได้เคยเอาชนะน้ำแต่อย่างใดไม่ เป็นฉันใด การปกครองที่มุ่งแต่สร้างกฎหมายข้อบังคับอันมากมาย ก็มิอาจปิดกั้นโจรผู้ร้ายที่คิดแต่จะก่ออกุศลได้ฉันนั้นดุจเดียวกัน
นับหลายพันปีล่วงมา กฎหมายตราตั้งมีมากมายสุดประมาณ แต่หลายพันปีมานี้ หาได้เห็นโจรผู้ร้ายลดลงแต่อย่างใดไม่
แก้ปลายเหตุ จึงหาได้มีประสิทธิภาพเท่าการแก้ไขที่ต้นเหตุไม่
ดังนั้นพระอริยเจ้าจึงกล่าวว่า
“ข้าอกรรมแล้วปวงประชาจักจำเริญ
ข้าใฝ่สงบแล้วทวยราษฎร์จักเที่ยงตรง
เนื่องด้วยหนึ่งคนเป็นหลักของผู้คน หนึ่งคนดีผู้คนย่อมเอาอย่างและทำความดี หนึ่งคนคดผู้คนย่อมจะเอาอย่างและคดโกงตาม ดังนั้นบิดาจึงเป็นหลักแห่งครอบครัว ประมุขจึงเป็นหลักแห่งแผ่นดิน
ด้วยเหตุผลที่หนึ่งคนมีความสำคัญต่อผู้คนได้มากมายเช่นนี้ พระอริยเจ้าแต่โบราณจึงได้ประสิทธิ์ประศาสน์คำสอนไว้ว่า ขอเพียงแต่เรามั่นคงในอกรรม ทำนุคุณธรรมให้เจริญ แลประสิทธิ์ประศาสน์ปวงชนให้ดำรงมั่นในคุณธรรมความดีแล้ว ด้วยพระบารมีแห่งอริยเจ้าที่สั่งสมมาอย่างประเสริฐเรืองโรจน์ แสงแห่งพระบารมีจึงสาดส่องนำพาจิตใจของปวงชนจนอาบอิ่มอยู่ในคุณธรรมความดี
อนึ่ง หากพระอริยเจ้าใฝ่ในความสงบ มีความสุขุมหนักแน่นน่าเคารพ ยามผจญเหตุวุ่นวายก็ยังคงมีความหนักแน่นไม่วุ่นวายตามสภาวะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวประชาก็จะเจริญตามแบบอย่างและมีวัตรปฏิบัติที่เที่ยงตรง
ข้าอกิจแล้วชาวประชาจักมั่งมี
ข้าไร้กิเลสแล้วชนใต้หล้าจักบริสุทธิ์”
ทั้งนี้ หากพระอริยเจ้าไม่วุ่นวายตามสภาวะ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ทำ ไม่เหนื่อยหน่ายท้อแท้ตามสภาวะที่ลำบาก หากจะมุ่งมั่นประสิทธิ์ประศาสน์ปวงชนให้ธำรงรักษาคุณธรรมความดีอย่างวิริยะ และไม่รบกวนก้าวก่ายปวงชนจนขาดอิสระ ยามนั้น ปวงประชาจะมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์และประกอบกิจแห่งตนตามทำนองที่ตนเป็น สิ่งใดควรเป็นสิ่งใดควรดับ สิ่งใดควรอยู่สิ่งใดควรไป ทั้งหมดล้วนปล่อยให้เป็นไปตามวิถีที่ควรเป็น เมื่อเป็นเช่นนี้ ปวงประชาก็จะมั่งมีขึ้นเองตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ หากพระอริยเจ้ารักษาความบริสุทธิ์แห่งจิตใจ ไม่ฟุ้งเฟ้อไปตามวัตถุที่ยวนเย้า ไม่ปล่อยให้กิเลสตัณหาจู่โจมเข้ากำแพงแห่งหัวใจ มีความพอเพียงสมถะในชีวิต เมื่อนั้น ปวงประชาก็จะเจริญตามแบบอย่างแห่งความพอเพียง ไม่หลงใหลไปตามอำนาจแห่งความอยาก เช่นนี้ ปวงชนทั้งหลายก็จะมีแต่ความบริสุทธิ์เรียบง่าย
ด้วยการที่ผู้ปกครองรักษาจิตแห่งกอรรมที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ประกอบกิจด้วยความอกิจและไม่รบกวนปวงชนจนสิ้นอิสระ พร้อมทั้งหล่อเลี้ยงคุณธรรมด้วยการรักษาความสงบ ดำรงความสมถะ ด้วยจริยวัตรแบบอย่างอันงดงามและเป็นหลักที่พึ่งแห่งปวงชนดังนี้ ยามนั้น ปวงชนก็จะมีความจำเริญในคุณธรรม มีความเที่ยงตรงในจริยวัตร มีความมั่งมีในชีวิต และมีความบริสุทธิ์ในศีลวินัย ด้วยการปกครองใต้หล้าดังนี้ จึงจะนับว่าเป็นการปกครองใต้หล้าให้อยู่ในสถานะสถาพร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา