Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
28 ก.ค. 2021 เวลา 02:09 • ความคิดเห็น
ทำไม ผู้คนถึงเลือกที่จะอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber) และฟังความข้างเดียว?
2
ทำไม ผู้คนถึงเลือกที่จะอยู่ในห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) และฟังความข้างเดียว
แม้ว่าในปัจจุบันเราจะอาศัยอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล และสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นมาก เพียงผ่านปลายนิ้วสัมผัส แต่เรื่องราวของการเลือกที่จะรับและเลือกที่จะเชื่อในข่าวสาร ที่มาจากแค่กลุ่มของเขา จากคนที่ชอบแต่สิ่งที่เหมือนๆ กัน จากคนที่เชื่อในสิ่งที่เหมือนๆ กัน ที่หลายคนเรียกว่าเป็น “Echo Chamber” หรือภาษาไทย เรียกว่า “ห้องแห่งเสียงสะท้อน” ก็กลับได้รับการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ
2
ที่ถูกเรียกว่า “เสียงสะท้อนในห้อง” ก็เพราะว่าการที่คนที่ชอบในสิ่งที่เหมือนกัน คิดในสิ่งที่เหมือนกัน มาพูดคุยกัน เชื่อกันเอง และไม่ฟังเสียงของคนภายนอก มันก็เหมือนกับการส่งเสียงเดียวกันให้สะท้อนในห้อง พอมันสะท้อนไปสะท้อนมา คนที่อยู่ในห้องก็จะได้ยินเสียงในห้องดังขึ้นเรื่อยๆ จนคิดว่า สิ่งที่เขาได้ยินคือ สรณะที่แท้จริง และเสียงที่อยู่นอกห้องเป็นเสียงที่ไม่จริงหรือไม่ควรฟัง
10
ในบทความนี้ Bnomics จะพาทุกท่านไปดูว่า ทำไมเหตุการณ์การฟังความข้างเดียวจากห้องสะท้อนแบบนี้จึงเกิดขึ้นได้? และ ตัวอย่างของผลที่เกิดขึ้นจากมันคืออะไร?
📌 ผู้คนมักจะตามหาข้อมูลที่สนับสนุนความคิดของตัวเอง
2
หนึ่งในทฤษฎีที่อธิบายเรื่องนี้คือ Confirmation bias หรืออคติจากการยืนยันสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ที่บอกว่าผู้คนจะพยายามตามหาข้อมูลหรือหลักฐานที่จะมาสนับสนุนความคิดของตัวเขาเอง โดยมีตัวอย่างจากหนังสือของดร.ซี. เจมส์ กูดวิน (Dr. C. James Goodwin) ที่น่าสนใจอธิบายอคติเรื่องนี้ไว้ โดยยกตัวอย่างการได้รับโทรศัพท์จากแม่ในขณะที่กำลังคิดถึงแม่อยู่จริงๆ ผู้คนก็จะคิดว่า “นั่นไง ฉันว่าแล้วเชียวว่าแม่ต้องโทรมา ฉันสัมผัสได้”
1
อย่างไรก็ดี พวกเขาก็กลับลืมอีกหลายต่อหลายครั้ง ที่ตัวเองที่เคยคิดถึงแม่แต่เธอก็ไม่ได้โทรมา หรือบางทีแม่ก็โทรมาตอนไม่ได้คิดถึงสักหน่อย พอนับตัวเลขสถิติมานั่งคำนวณดูจริงๆ ก็จะเห็นว่าการคิดถึงเรื่องราวแบบนี้แล้วมันดันเกิดขึ้นจริงก็แทบจะเป็นเรื่องบังเอิญทั้งนั้น
ในเรื่องราวของ Echo chamber หรือการฟังความข้างเดียว อคติที่คล้ายคลึงกันแบบนี้เกิดขึ้นเช่นกัน เวลาที่ได้ฟังเรื่องราวที่ตรงกับตัวเองคิดไว้แล้ว มันช่างให้ความรู้สึกที่ดี และก็ดูเป็นเรื่องจริงไปทั้งหมด
1
แต่นี่ก็ยังไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่ทำให้คนตัดสินใจที่จะอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อนและฟังความข้างเดียว
📌 การทำใจเชื่อในความคิดต่างนั้นมีต้นทุน
อีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้คนเลือกจะเชื่อข้อความจากคนที่มีความชอบคล้ายกันมากกว่า ก็เพราะว่าจริงๆ แล้วมันมีต้นทุนที่เกิดขึ้นในความคิดเมื่อพวกเขาต้องเชื่อในสิ่งที่แตกต่าง
1
ต้นทุนแรกที่พวกเขาต้องเจอถูกเรียกว่า “Cognitive Dissonance หรือความขัดแย้งขององค์ความรู้” ที่ลีออน เฟสติงเจอร์ (Leon Festinger) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้พบและอธิบายไว้ว่า ผู้คนจะรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจ เมื่อค้นพบกับความรู้ใหม่ๆ ที่ขัดกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือรู้มาก่อนหน้า จนต้องพยายามปรับความรู้ใหม่ๆ ให้เข้ากับความเชื่อเก่าของตัวเอง ซึ่งบางครั้งการปรับความรู้ใหม่ๆ นี้ก็ไปไกลจนถึงขั้นที่มองว่าความรู้ใหม่ๆ ที่ได้รับมาเป็นสิ่งที่ไม่จริงไปเลย
1
อีกต้นทุนหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ “อคติของต้นทุนจม (Sunk Cost Fallacy)” คือ การที่คนยังอาลัยอาวรณ์กลับต้นทุนหรือสิ่งของที่เรียกกลับมาไม่ได้แล้ว และนำเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาตัดสินใจ หนึ่งในตัวอย่างคลาสสิคของเรื่องนี้ คือ การซื้อตั๋วไปดูหนังและพอดูไปสักพักก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ช่างไม่สนุกเอาเสียเลย ถ้าเป็นการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล เมื่อเรารับรู้แล้วว่า หนังเรื่องนี้มันไม่ดีเอาเสียเลย ก็ควรจะเลิกดูหนังและออกจากโรงตอนนั้นเลย (เพราะดูต่อไปก็มีแต่ทรมานและเสียเวลา) แต่คนจำนวนมากก็จะเลือกที่จะดูหนังต่อ เพราะเสียดายเงินค่าตั๋วที่จ่ายไปแล้ว กลายเป็นว่าเงินค่าตั๋วก็เสีย ความรู้สึกก็เสีย แทนที่จะเอาเวลาส่วนนั้นไปทำอย่างอื่น เช่น กินของอร่อยๆ แทน ซึ่งอาจจะทำให้มีความสุขมากกว่า
2
พอเป็นเรื่องของการรับข่าวสารข้อมูล ถ้าสิ่งที่เรารับรู้มาใหม่นั้นขัดกับความเชื่อสองข้อด้านบน ก็จะกลายเป็นต้นทุน ที่ทำให้ยากที่จะทำใจยอมรับทันที ยิ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ก่อน ก็จะทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ รู้สึกขัดหู ขัดใจ หรือหากเป็นเรื่องที่มันขัดกับสิ่งที่เขาลงทุนลงแรงเพื่อให้มันเกิดขึ้นมาแล้ว แม้ว่าไม่มีทางที่จะทุนที่ลงไปคืนมา ก็มีคนจำนวนมากยากที่จะตัดสินใจเปลี่ยนความเชื่ออยู่ดี
4
📌 สื่อออนไลน์ คือ ผู้ร้ายผู้ตีกรอบความคิดผู้บริโภค?
หนึ่งในตัวการที่ถูกโจมตีว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนต้องเข้าไปอยู่ใน Echo Chamber และเชื่อแต่ข้อมูลของคนฝั่งที่มีความชอบคล้ายกับตัวเอง คือ “สื่อออนไลน์” โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียต่างๆ เหตุผลที่มีคนออกมาโจมตีกันก็เพราะว่าสื่อออนไลน์เหล่านี้มักจะอนุญาตให้คนเลือกว่าจะตามใคร และมีอัลกอริทึมของระบบที่จะนำความชอบและลักษณะของผู้ใช้ไปวิเคราะห์ และก็จะนำเสนอแต่สิ่งที่ผู้ใช้ชอบอย่างเดียว จนไม่ได้เห็นข่าวสารจากฝั่งอื่นเลย (เพราะจะทำให้คนต้องใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านี้นานขึ้น มีปฏิกิริยาตอบโต้ กดไลค กดแชร์ ส่งต่อ) ซึ่งจะเป็นการซ้ำเสริมความเชื่อ ความคิดของคน ที่นอกจากได้ฟังจากคนรู้จักที่เขาเชื่อแต่เดิม แล้วยังมีคนที่เขาไม่รู้จักมาพูดสิ่งเดียวกันอีก
2
ทั้งนี้ งานศึกษาหลายชิ้น ในบริบทต่างประเทศ ได้ชี้ถึงมิติและมุมมองเพิ่มเติมที่น่าสนใจยิ่ง ในประเด็นนี้
ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาข้อมูลการเลือกรับข่าวของผู้ใหญ่ชาวอังกฤษกว่า 2,000 คนของ Dubois หรือการศึกษาในอเมริกาของ Oxford ที่ดูการเข้าถึงเว็บข่าวของคนอเมริกากว่า 50,000 คนย้อนหลังในปี 2013 หรืองานสถาบันวิจัย Pew ที่ศึกษาฟีดข่าวของคนในปี 2016 ก็ระบุว่า ผู้คนส่วนใหญ่ก็สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่นำเสนอแนวคิดต่างกันได้อยู่ แต่ปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้น ก็คือ พวกเขาไม่ได้เชื่อถือข้อมูลของแนวคิดฝ่ายตรงข้ามต่างหาก คือ ต่อให้ได้ฟัง ก็ไม่ได้ยิน ไม่ได้เข้าไปในหัวของเขา ผ่านไปเฉย ทำให้ไม่ได้ตัดสินข้อมูลที่แตกต่างจากความคิดของตัวเองตามที่ข้อมูลนั้นเป็นจริงๆ
1
📌 สรุปส่งท้าย
โดยทั่วไปการฟังข้อมูลไม่รอบด้านและเชื่อเพียงสิ่งที่ตนเองเชื่อ มีโอกาสที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่แย่ และก็อาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีตามมาได้ ไล่ตั้งแต่ เรื่องการทำธุรกิจหรือการลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจจะพลาดโอกาสดีๆ หรือติดหล่ม ติดดอยกับสินทรัพย์ที่แย่ๆ แม้กระทั่งเรื่องการแพทย์ก็อาจจะทำให้ตัดสินใจรักษาอาการผิดพลาด จนถึงเรื่องการเมืองที่การไม่รับฟังข่าวสารและความคิดให้รอบด้านก็อาจจะนำมาซึ่งนโยบายที่ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการ
แน่นอนว่าการแก้ปัญหาในระยะยาวเพื่อให้คนทำความเข้าใจและพิจารณาข่าวสารอย่างรอบด้านต้องเกิดจากการสอนและเผยแพร่ให้ผู้คนเข้าใจถึงอคติที่อาจเกิดขึ้นได้ ให้คนมีการคิดวิเคราะห์ตามหลักเหตุผลได้ดีขึ้น โดยรับฟังอย่างรอบด้าน (ตามที่เขาบอกกันว่า คนที่จะสำเร็จได้ต้องเริ่มจากการเป็นนักฟังที่ดี)
2
อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า อคติในการรับรู้ข่าวสารและการรับฟังความข้างเดียวก็ยากที่จะทำให้หมดไปได้จริงๆ
ด้วยเหตุนี้ อาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานต่างๆ โดยเฉพาะกับสายงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการโน้มน้าวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน เช่น พวกที่ต้องทำโฆษณาสินค้า หรือ แม้แต่นักการเมืองเอง เพราะการเข้าใจความคิดและอคติที่เกิดขึ้นในผู้คนตามที่เป็นจริงอย่างดี การเข้าใจห้องแห่งเสียงสะท้อน Echo Chamber ที่ทุกคนติดอยู่ในนั่น ว่าเราจะบุกเข้าไปอย่างไร จะเปลี่ยนเสียงที่สะท้อนอยู่อย่างไร ก็จะสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างแท้จริง
สำหรับสัปดาห์หน้าทาง Bnomics จะนำเรื่องราวเศรษฐศาสตร์นอกกรอบอะไรมาฝากผู้อ่านทุกท่าน ก็อย่าลืมมาติดตามกันด้วยครับ
#ฟังความข้างเดียว #ห้องสะท้อนเสียง #หาพวก #
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics
ผู้เขียน: ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
https://journals.sagepub.com/eprint/F2sFqWtZfpgU9nfK8u3E/full
https://academic.oup.com/poq/article-abstract/80/S1/298/2223402?redirectedFrom=fulltext
https://www.bbc.com/future/article/20180416-the-myth-of-the-online-echo-chamber
https://theconversation.com/the-problem-of-living-inside-echo-chambers-110486
https://www.medicalnewstoday.com/articles/326738?fbclid=IwAR1DgobS7V7IaFuDQilm7Tn8LhFeue2DsqkP-Mao63A41XPOPGeEajuTdGg#overview
https://www.uvic.ca/socialsciences/economics/assets/docs/honours/ryan_scott_thesis.pdf?fbclid=IwAR2B50SiahoFgXFHhVDOs5o2BJ-GN05iudAeftrJv_MJ5HM73zseicCMJY0
https://www.verywellmind.com/what-is-a-confirmation-bias-2795024
109 บันทึก
66
18
124
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economics Outside The Box
109
66
18
124
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย