Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
4 ส.ค. 2021 เวลา 02:09 • ความคิดเห็น
มีนักกีฬา ศิลปิน หรือดาราเป็นไอดอล ดีเสมอไปจริงเหรอ?
นักกีฬา ศิลปิน ดารา รวมถึงคนที่มีชื่อเสียงต่างๆ มักจะได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นต้นแบบหรือ “ไอดอล” จากคนจำนวนมาก ทั้งชื่นชมในความสามารถ หรือเรื่องราวของคนเหล่านี้ จนถึงขนาดที่หลายๆ คนอยากที่จะเปลี่ยนตนเองให้เป็นแบบไอดอลของตัวบ้าง อย่างไรก็ดี เรื่องราวการชื่นชม ยกย่องไอดอลไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงามและโปรยไปด้วยกลีบกุหลาบอย่างเดียว
มีไอดอลในดวงใจ ดีเสมอไปจริงเหรอ?
ในบทความนี้ ทาง Bnomics จะพาทุกท่านไปสำรวจในอีกแง่มุม ว่าการชื่นชม ยกย่องไอดอลจะมีด้านมืดได้อย่างไรบ้าง?
📌 ยกย่องไอดอล แต่ไม่ยกย่องตัวเอง
การติดตามและชื่นชมคนที่มีชื่อเสียงอย่างเหมาะสมอาจจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสุขและสบายใจได้ก็จริง แต่เมื่อการติดตามและชื่นชมเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่เป็นการหมกหมุ่น ลุ่มหลง บูชา ก็จะส่งผลเสียต่อการเข้าสังคมและชีวิตปกติได้ โดยกลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์แบบนี้มากที่สุด คือ “กลุ่มเด็กที่ขาดความมั่นใจตัวเอง”
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล (University of Buffalo) แสดงให้เห็นว่า เด็กที่มีความชื่นชอบหรือติดตามไอดอลของตัวเองอย่างใกล้ชิด มักจะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองที่ต่ำ การที่คนเหล่านี้ติดตามไอดอล ก็เสมือนเป็นการบริโภคในตัวตนของไอดอล และนำตัวตนเหล่านั้นเพื่อมาเติมเต็มความมั่นใจของตัวเอง ซึ่งถ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม มันก็สามารถสร้างความมั่นใจให้กับแฟนคลับได้ แต่ถ้ามากจนเกินไปอาจจะกลายเป็นโรค ที่เรียกกันว่า “อาการบูชาคนดัง (Celebrity Worship syndrome)”
รายงานจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (Leicester University) จากสหราชอาณาจักร บอกว่ามีคนกว่า 36% ที่มีปัญหาการบูชาคนดัง และตัวเลขก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย โดยผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวก็อาจจะมีอาการเครียดหรือกังวลในระดับสูง มีการปลีกตัวเองออกจากสังคม และก็อาจจะมีภาษากายที่แสดงออกมาได้ไม่ดีด้วย และอย่างที่กล่าวข้างต้น อาการนี้มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นกับเด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งอาจจะส่งผลรุนแรงต่อการสร้างตัวตนของตัวเองและการเรียนรู้การเข้าสังคม และที่สำคัญอีกอย่างคือ ผู้ปกครองก็มักจะไม่เข้าใจปัญหานี้อย่างแท้จริงด้วย
📌 ด้านมืดของการเลียนแบบไอดอล
นอกจากเรื่องอาการบูชาคนดัง เมื่อเราชื่นชมไอดอลก็มักจะมีการเลียนแบบพฤติกรรมของคนเหล่านั้นด้วย ซึ่งถ้าเป็นการเลียนแบบเพียงพฤติกรรมที่ดีก็คงไม่มีปัญหา แต่ปัญหา คือ การเลียนแบบพฤติกรรมในส่วนที่ไม่ดี เพราะยังไงกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงก็ยังเป็นคนธรรมดา ก็ยังมีด้านที่ไม่ดีในตัวเองเช่นกัน โดยการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดี เกิดขึ้นกับไอดอลในทุกวงการทั้งดารา ศิลปิน หรือแม้กระทั่ง “นักกีฬา” ที่น่าจะเป็นกลุ่มคนดังที่ส่งเสริมความพยายาม การรู้แพ้ รู้ชนะ และความมีวินัยให้กับผู้ติดตามได้มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง
ผลการศึกษาของเด็กๆ อายุระหว่าง 10 – 17 ปีของ The Kaiser Family Foundation ได้ชี้ให้เห็นอิทธิพลด้านไม่ดีที่เด็กๆ ได้รับจากนักกีฬาออกมาได้อย่างน่ากังวลใจ ยกตัวอย่างผลการศึกษา เช่น
1) มีเด็กกว่า 74% ที่มองว่าการต่อว่ากรรมการเป็นเรื่องที่ปกติ
2) มีเด็กกว่า 62% ที่มองว่าการใช้คำพูดคำจาแย่ๆ ใส่ฝ่ายตรงข้าม (trash-talk) เป็นเรื่องที่รับได้
สองตัวอย่างข้างต้นอาจจะดูหนักแล้วสำหรับบางคน แต่อาจจะเบาไปเลยเมื่อเทียบกับ เด็กจำนวนประมาณ 1 ใน 5 ของแบบสำรวจที่มองว่า “พวกเขาไม่จำเป็นต้องกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากการมีเซ็กส์” หรือเด็กจำนวนเกือบเท่ากันที่มองว่า “มันเป็นเรื่องที่โอเคที่จะดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด” นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็ยังมีเด็กๆ จำนวนไม่น้อยที่มองว่ามันก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ (เพียงเพราะต้นแบบของเขาทำสิ่งดังกล่าว) หลายๆ คนก็อาจจะตั้งคำถามขึ้นมาว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น?
📌 แรงจูงใจของการอยากเป็นคนดัง
เพื่อตอบคำถามข้างบน เราย้อนกลับมาดูกันก่อนดีกว่าว่าจริงๆ แล้วการเป็นคนดังมันดีอย่างไร? เพื่อจะได้เข้าใจถึงแรงจูงใจที่แฟนคลับต้องการจะเป็นเหมือนไอดอลของเขา
แรงจูงใจแรกที่เข้าใจง่ายและเห็นได้ชัด คือ แรงจูงใจทางด้านเศรษฐกิจ เราเห็นรายได้ที่มหาศาลของคนที่มีชื่อเสียงมากมาย ที่การทำงานของเขาเพียงหนึ่งสัปดาห์ หรือหนึ่งวัน ก็อาจจะเท่ากับทั้งปีของคนทั่วไป
อีกหนึ่งแรงจูงใจที่เกิดขึ้น คือ ชื่อเสียง การยอมรับจากคนทั่วไป และบางทีมันก็ตามมาด้วยสิทธิพิเศษบางอย่างด้วย ไล่ตั้งแต่การได้ใช้สินค้าพิเศษที่ยังไม่ปล่อยขายจากบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์ การได้จองโต๊ะอาหารที่วิวสวยกว่า ไปจนถึงขั้นที่อาจจะมีอิทธิพลทางการเมืองในการช่วยหาเสียงหรือแม้กระทั่งได้ตำแหน่งเอง อย่างเช่นกรณีของ โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เราจะเห็นว่าการเป็นคนดังมันมีผลประโยชน์ที่ได้ตามมา จนสร้างเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนอยากเป็นแบบเขาบ้าง แต่แรงจูงใจที่เรากำลังเห็นนี้ มันอาจจะกำลังไปบดบังสิ่งที่เรียกว่า “แรงจูงใจทางศีลธรรม” หรือก็คือแรงจูงใจที่จะทำสิ่งดี และรู้สึกไม่ดีเมื่อทำสิ่งที่ผิด ซึ่งเราเห็นกันแล้วว่าในกรณีของเด็กหลายคน แรงจูงใจส่วนแรกอาจจะมีมากกว่าแรงจูงใจทางศีลธรรม และก็นำมาซึ่งความคิดหรือพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงได้
ทางออกจากปัญหานี้ ก็คือ สังคมต้องสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมที่ดีกว่าเดิม เพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องโดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่อาจจะยังไม่มีดุลยพินิจมากพอ เช่น การไม่ยอมรับการกระทำที่ไม่ถูกต้องของคนดัง การลดสิทธิประโยชน์ที่คนดังไม่สมควรได้รับ และก็ต้องใส่ใจในปัญหาการพัฒนาตัวตนของเด็กๆ ให้มากขึ้น รับฟังปัญหา และช่วยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการสร้างความมั่นใจให้พวกเขา ให้รู้จักที่จะชื่นชมคนอื่นและตัวเองไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมันก็จะช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับด้านมืดของสิ่งต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องราวของไอดอลเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องราวอื่นๆ ที่จะต้องเจอต่อไปในชีวิตด้วย
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
https://www.medicaldaily.com/psychological-effects-idolatry-how-celebrity-crushes-impact-childrens-health-358604?fbclid=IwAR0QAZWWW65mKyc0_MZUthW3KBlKGHQ3697u5MUz_KwmwRu9LK1v_X89pj8
http://content.time.com/time/health/article/0,8599,1841093,00.html
https://abcnews.go.com/Sports/story?id=100296&fbclid=IwAR2lEi-l7OAiSsMw5DuXajdXKyTOOYBRS7JoMchv39kOSbxD2-4nWId4uYU
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.1467-9558.2007.00313.x
https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/19392397.2016.1104919?journalCode=rcel20
https://mcjblogproject.wordpress.com/2011/03/04/celebrity-worship-syndrome-good-or-bad/
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/in-excess/201307/celebrity-worship-syndrome
2 บันทึก
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economics Outside The Box
2
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย