11 ส.ค. 2021 เวลา 02:09 • การศึกษา
ทำไม คนเราถึงคลั่งไคล้คน 'หน้าตาดี' ?
ทำไม คนเราถึงชอบหรือคลั่งไคล้คนหน้าตาดี? เป็นคำถามที่ดูง่ายแต่ก็ถูกถกเถียงกันอย่างมาก บางคนก็ว่าจริงๆ แล้วความหน้าตาดีเป็นสิ่งที่ไม่มีจริงตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ เป็นสิ่งที่สังคมสร้างบรรทัดฐานกันขึ้นมาเองว่าหน้าตาแบบไหนถึงจะเรียกว่าหน้าตาดี เพราะจริงๆ แล้วสุดท้ายรูปลักษณ์ภายนอกก็เป็นเพียงแค่ก้อนเนื้อที่ห่อหุ้มกระดูกไว้เท่านั้น
ทำไม คนเราถึงคลั่งไคล้คน 'หน้าตาดี' ?
📌 แล้วแบบไหนล่ะถึงเรียกกันว่า ‘หน้าตาดี’ ?
 
อย่างไรก็ดี งานศึกษาของวารสาร Comparative Psychology และ Journal of Evolution & Human Behavior พบว่า ลักษณะของหน้าตาที่มีความดึงดูดและน่าหลงใหลมากกว่านั้นมีอยู่จริง และได้ฝังอยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยลักษณะหน้าตาที่ถูกค้นพบว่าดึงดูดผู้คนได้มากกว่า คือ หน้าตาที่มีความสมมาตรและมีส่วนต่างๆ อยู่ในค่าเฉลี่ยของทุกคนรวมกัน
ความสมมาตร ก็คือ การที่หน้าตาทั้งทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวามีความเหมือนกันมาก ยิ่งเหมือนกันมากเท่าใดก็ยิ่งมีความสมมาตรมากเท่านั้น
ส่วนการที่มีส่วนต่างๆ อยู่ระดับค่าเฉลี่ย ไม่ได้หมายถึง การที่มีหน้าตาแบบทั่วไป แต่หมายถึง ลักษณะแต่ละอย่าง ในขนาดที่เป็นค่าเฉลี่ยของคน เช่น จมูกไม่แบนหรือโด่งเกินไป ระยะห่างระหว่างตาไม่กว้างหรือแคบเกินไป เป็นต้น
ที่น่าสนใจมากที่สุด ก็คือ ลักษณะข้างต้นไม่ได้ดึงดูดแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่สามารถดึงดูดเด็กทารกได้ด้วย โดยเคยมีการทดลองทดสอบให้เด็กทารกให้ทารกมองหน้าของคนหลากหลาย สรุปว่าทารกก็มีแนวโน้มจะมองจ้องหน้าของคนที่มีความสมมาตรมากกว่า
📌อ่านมาจนถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ
คำอธิบายที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางคือ หน้าตาที่สมมาตรบ่งบอกถึงการมีลักษณะยีนที่ดี และการได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ส่วนปัจจัยทางด้านหน้าตาที่อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยก็บ่งบอกถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งข้อดีของมันก็คือจะทำให้สามารถต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้ดีกว่า
นอกจากนั้นการที่มีลักษณะของหลากหลายชาติพันธุ์ ก็ทำให้มีโอกาสสร้างความคุ้นเคยให้กับคนหลากหลายได้มากกว่าด้วย ดังนั้นลักษณะสองอย่างนี้ก็เลยเป็นลักษณะที่หมายถึง ความหน้าตาดีแบบทั่วๆ ไป ได้ดี
ด้วยเหตุนี้ในเชิงพันธุศาสตร์ คนหน้าตาดี จึงดึงดูดใจและสามารถส่งต่อพันธุกรรมของตนเองไปได้เพราะความที่สุดท้ายแล้ว คนทั่วไปมักชอบคนที่หน้าตาดี
📌 แล้วการคัดเลือกคู่ครองที่เหมาะที่ดีและเหมาะสมกับตัวเอง ควรเป็นอย่างไร
เราก็รู้ดีว่าปัจจัยทางด้านหน้าตาไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะบ่งบอกว่าความสัมพันธ์ของคู่รักจะประสบความสำเร็จไหม ในหลายงานวิจัยกลับบอกด้วยซ้ำว่าคนหน้าตาดีมีความสุขจากชีวิตคู่น้อยกว่า
หน้าตาดีไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ถ้าอยากรู้เรื่องที่เหลือมันก็ทำได้ยาก
แน่นอนว่าเรื่องอย่างอุปนิสัย รายได้ การศึกษา หรือสังคมอาชีพของคนแต่ละคนก็มีผลต่อความสัมพันธ์ของคู่รักด้วยเช่นกัน แต่ลักษณะที่เรากล่าวถึงเนี่ย ก็ยากที่จะบอกได้ตั้งแต่แรกเจอ เจ้าปัญหาการที่เราไม่รู้ข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามแบบนี้ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Asymmetric Information” หรือความไม่สมมาตรกันของข้อมูล
เจ้าปัญหาความไม่สมมาตรกันของข้อมูล ก็นำมาซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาด ในเรื่องความสัมพันธ์ก็อาจะมีประโยคแบบ “ถ้าฉันรู้ว่าเธอนิสัยแบบนี้ ฉันคงไม่คบกับเธอตั้งแต่แรก” และก็ในอีกหลากหลายเรื่อง อันที่จริงเจ้าปัญหานี้นำมาซึ่งอาชีพมากมายที่อาศัยความได้เปรียบของการเป็นคนที่มีข้อมูลเหนือกว่า
ยกตัวอย่างอาชีพ อย่างนายหน้าขายบ้านหรือผู้แนะนำการลงทุน คนเหล่านี้ก็ใช้ข้อมูลที่ตัวเองมีเหนือกว่าลูกค้าเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งมันก็ดูจะไม่ใช่เรื่องผิดอะไรขนาดนั้นเพราะเขาก็มีต้นทุนในการเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลในงานเหมือนกัน แต่ในบางครั้งถ้าแรงจูงใจจากค่าจ้างหรือผลตอบแทนต่างๆ น้อยเกินไป พวกเขาก็อาจจะไม่ตั้งใจทำงานเพื่อลูกค้าเต็มร้อยก็ได้ (ถ้าท่านผู้อ่านสนใจเราอาจจะหยิบประเด็นนี้มาเล่าให้ฟังกันในครั้งถัดๆ ไป)
3
อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่เราต้องพูดถึงเมื่อคิดถึงการตัดสินใจ ในตอนที่เจอกับสถานการณ์ที่ข้อมูลข่าวสารไม่เท่ากันก็คือ “ส่งสัญญาณ (Signaling)” ในที่นี้ก็หมายถึง การที่ทำอะไรสักอย่าง เพื่อบ่งบอกว่าฉันนี่แหละ คือ คนที่ดีจริงๆ เหมาะสมจริงๆ ตัวอย่างที่มักจะถูกยกมาเล่าเสมอก็คือ การสมัครงาน ที่ผู้สมัครก็ต้องพยายามไปเรียนหนังสือสูงๆ ลงคอร์สเพิ่มความสามารถต่างๆ เพื่อที่จะได้เอามาใส่ในเรซูเม่ที่จะส่งไปให้บริษัทต่างๆ และยืนยันกับบริษัทได้ว่าฉันนี่แหละคือ คนที่ใช่
📌 และแอพหาคู่กับการส่งสัญญาณบอกว่าฉันคือคู่ครองที่ใช่
ย้อนกลับมาที่หัวข้อต้นเรื่องของเราอีกครั้ง มีอยู่หนึ่งสิ่งที่สามารถรวมเรื่องของทั้งความสัมพันธ์ หน้าตา การเป็นตัวแทนและการส่งสัญญาณไว้ในที่เดียวกัน สิ่งนั้นก็คือ “แอพหรือเว็บไซต์หาคู่” ที่เป็นสถานที่ที่คุณจะโฆษณาตัวคุณเองด้วยข้อมูลและรูปภาพต่างๆ ที่ใส่ลงไปเพื่อที่จะได้มีโอกาสจับคู่กับคนอื่น และก็อาจจะพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไปได้
งานศึกษาของ อาลี ฮอร์ทักซู กุนเธอร์ เจ. ฮิทซ์ และ แดน อาเรียลลี่ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากเว็บไซต์หาคู่แถบบอสตันและซานดิเอโก เว็บหนึ่ง และก็ค้นพบข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับโฆษณาตัวเองของผู้คนในเว็บไซต์ที่กำลังหาคู่นี้ไม่น้อย โดยส่วนสำคัญที่เราเห็นก็คือไม่ใช่แค่เรื่องของหน้าตาเท่านั้นที่มีความสำคัญ แต่เรื่องอื่นๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน
ตัวอย่างปัจจัยอย่างเรื่อง รายได้และส่วนสูงของผู้ชายกลายมาเป็นเรื่องที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกของผู้หญิง และปัจจัยอย่างเรื่องน้ำหนักของผู้หญิงก็กลายมาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของผู้ชายเช่นกัน และที่น่าสนใจก็คือตัวเลขค่าเฉลี่ยของผู้ที่อยู่ในเว็บไซต์หาคู่นี้ดีกว่าค่าเฉลี่ยในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น การที่ผู้หญิงจะกรอกน้ำหนักของตัวเองต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 20 ปอนด์ ผู้ชายบอกว่าตัวเองสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปประมาณหนึ่งนิ้ว เป็นต้น
อีกเรื่องที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากก็ คือ ปัจจัยที่จะส่งผลให้คุณไม่สามารถจับคู่กับใครได้มากที่สุด ก็คือ การไม่ใส่รูปภาพของคุณลงไป โดยในกรณีของผู้ชายคนที่ไม่ลงรูปจะได้รับความสนใจเป็นแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายที่ลงรูป และในกรณีของผู้หญิงยิ่งแย่กว่าอีกเหลือแค่ 24 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ลงรูปเท่านั้น
อย่างที่บอกไปตั้งแต่ตอนแรก ว่าคนที่หน้าตาดีอาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่มีความสุขเสมอไป แต่หน้าตาของผู้คนก็เป็นเหมือนการส่งสัญญาณ (Signaling) รูปแบบหนึ่งเช่นกัน อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกคู่ครองของคนทั่วไปได้ในส่วนหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะไปหาข้อมูลส่วนอื่นที่หาได้ยากกว่าผ่านการทำความรู้จักกันเพิ่มเติม แต่การที่ไม่ลงรูปของตัวเองตั้งแต่ต้นในเว็บหาคู่ มันจะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีไปหาอีกฝ่ายแทน เหมือนกับเป็นการสร้างความน่าสงสัยว่าคนที่ไม่ลงรูปต้องมีปัญหาอะไรร้ายแรงแน่ๆ นั่นเอง
สำหรับสัปดาห์หน้าคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์นอกกรอบจะนำเสนอเรื่องราวสนุกๆ อะไรให้ทุกท่านได้อ่านกันอีก ก็ฝากติดตามกันด้วยนะครับ
#เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม #คนหน้าตาดี #คนคลั่งรัก #แฟนทิพย์
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา