18 ส.ค. 2021 เวลา 02:09 • ความคิดเห็น
'PARIS Syndrome' ความผิดหวังของคนญี่ปุ่นที่ไปเที่ยวปารีส
ความคาดหวังของมนุษย์บางครั้งก็เป็นแรงผลักดันให้คนพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่หลายครั้งความคาดหวังของมนุษย์ก็สามารถย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองได้เช่นกัน
Paris Syndrome ความผิดหวังของคนญี่ปุ่นที่ไปเที่ยวปารีส
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจของเรื่องความผิดหวังที่ทางผู้เขียนพึ่งพบเมื่อไม่นานมานี้ เกิดขึ้นกับเมืองที่จะเป็นเจ้าภาพการจัดงานโอลิมปิก ในอีกสามปีข้างหน้าที่ปารีส ซึ่งแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวที่ผิดหวังอย่างรุนแรงจากการไปเที่ยวที่เมืองหลวงของฝรั่งเศสแห่งนี้ ซึ่งเราเรียกอาการนี้ว่า “Paris Syndrome” โดยมีรายงานว่านักท่องเที่ยวบางคนถึงกับต้องเข้าพบกับจิตแพทย์เลยทีเดียว
นักท่องเที่ยวชาติที่ประสบกับอาการนี้มากที่สุด (เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมด) ก็คือ นักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น ที่มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นหลายคนมองกันว่าปารีสเป็นเมืองดังยูโทเปีย (เมืองในอุดมคติ) ที่ต้องมีความโรแมนติก แสงสีสวยงาม และอบอวลไปด้วยความอบอุ่น แต่เมื่อมาพบกับด้านไม่ดีบางอย่างเข้า ก็ใจสลายจนหลายคนบอกว่าจะไม่กลับมาที่นี่อีกแล้ว โดยผู้ที่ค้นพบอาการนี้คนแรกคือจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่นผู้ที่ทำงานในฝรั่งศสชื่อว่า “ศาสตราจารย์ Hiroaki Ota” พร้อมกันนี้ยังมีรายงานจากสำนักข่าว The Atlantic ที่บอกว่าบางปีอาจจะมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นประสบปัญหานี้ถึง 20 คน
3
เมื่อการส่งไม้การจัดโอลิมปิกจากโตเกียวมาสู่ปารีสเกิดขึ้น อาการนี้ก็เลยถูกดึงกลับมาพูดถึงอีกครั้งด้วย
📌 Reference Point คือ ตัวการ
หนึ่งในทฤษฎีที่น่าจะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างดีก็คือ Reference Point หรือ จุดอ้างอิง โดยในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะอธิบายไว้ว่า ผู้คนจะประเมินผลลัพธ์ของสิ่งต่างๆ โดยวัดเทียบกับจุดอ้างอิงบางอย่าง ไม่ได้มองผลลัพธ์นั้นตามมูลค่าของสิ่งที่มันเป็นจริงๆ
อ่านความหมายอาจจะยังไม่เข้าใจ ขอยกตัวอย่าง เช่น สมมติถ้ามีคนนำเงินมาให้มูลค่า 1,000 บาท แล้วคุณกำลังต้องการเงิน จำนวนเท่าๆ กันนี้ไปใช้ในเรื่องจำเป็นเร่งด่วนพอดี เงินมูลค่า 1,000 บาท นี้ก็จะมีมูลค่ากับคุณสูงมาก แต่ถ้าคุณเป็นเศรษฐีพันล้าน ก็จริงอยู่ที่ว่าได้เงินฟรีก็คงจะรู้สึกดี แต่ฉันรวยเป็นพันล้านแล้ว เงินแค่นี้ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกดีขนาดนั้น
ที่คนสองคนรู้สึกแตกต่างกันก็เพราะแต่ละคนมีจุดอ้างอิงในใจเวลาประเมินผลลัพธ์ต่างกัน ซึ่งในตัวอย่างข้างบนจุดอ้างอิงที่ว่าก็คือ ทรัพย์สินที่ตัวเองมีอยู่ คนที่มีทรัพย์สินน้อยก็จะรู้สึกว่าเงินมูลค่า 1,000 บาท มีคุณค่ามากกว่าที่คนที่เป็นเศรษฐีพันล้านรู้สึก แต่แล้วจะเป็นอย่างไรเมื่อจุดอ้างอิงนี้เปลี่ยนไปเป็นความคาดหวังในเรื่องอื่นแทน?
📌 เมื่อความคาดหวัง คือ จุดอ้างอิงในผลลัพธ์
หนังสือ Misbehaving ของศาสตราจารน์ริชาร์ด เทเลอร์ เจ้าของรางวัลโนลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2017 ได้เขียนเปิดเรื่องในบทที่ 1 ของหนังสือที่แสดงเรื่องราวของความคาดหวังของคนได้อย่างน่าสนใจ โดยเขาเล่าว่าในสมัยที่เขาสอนวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคตอนแรกๆ มีนักศึกษาจำนวนมากไม่พอใจบอกว่าข้อสอบของเขายากเกินไป
ตอนนั้นวิชาที่เขาสอนนักศึกษาทำคะแนนเฉลี่ยได้ 72 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน แต่นักศึกษาก็บอกว่ามหาลัยของเราเป็นมหาลัยชั้นนำ คะแนนเฉลี่ยเท่านี้ถือว่าน้อยมากๆ คะแนนที่พวกเขาคาดหวัง คือ 80 หรือ 90 คะแนนขึ้นไป อย่างไรก็ดีทางคุณเทเลอร์ก็ไม่ยอมที่จะออกข้อสอบให้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่เขาทำในการสอบครั้งถัดๆ มาคือการปรับเพิ่มคะแนนเต็มจาก 100 คะแนนเป็น 137 คะแนน พออ่านถึงจุดนี้หลายๆ คนก็น่าจะเดาได้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น
2
ในการสอบครั้งต่อมา คะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาก็เพิ่มมากขึ้นเป็น 96 คะแนน ซึ่งพอคิดมาเป็นเปอร์เซ็นแล้วจะเท่ากับ 70% ที่เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 72 คะแนนเต็มจากคะแนนเต็มร้อยเสียอีก แต่ว่ากลับไม่มีนักศึกษาคนไหนบ่นว่าข้อสอบยากเลย ทำให้ในการออกข้อสอบครั้งต่อๆ มา เขาก็เลยเลือกที่จะใช้คะแนนเต็ม 137 คะแนนมาตลอด
1
ข้อสังเกตของเรื่องนี้ก็ คือ ความคาดหวังที่เป็นจุดอ้างอิงของนักศึกษา คือ ตัวเองต้องได้ระดับคะแนนมากกว่า 90 คะแนนขึ้นไปถึงจะดี ทั้งๆ ที่พอคิดเป็นสัดส่วนแล้ว คะแนนที่ออกมาหลังจากเปลี่ยนคะแนนเต็มของข้อสอบก็ไม่ได้แตกต่างจากตอนแรกเลย นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่แสดงพลังของจุดอ้างอิงและก็ความไม่สมเหตุสมผลของมนุษย์ได้
📌 คาดหวังไว้สูง พอผลลัพธ์ออกมาต่ำก็เลยเจ็บปวด
ย้อนกลับไปที่เรื่อง Paris Syndrome ในเหตุการณ์ข้างต้น เราก็สามารถใช้แนวคิดของ Reference Point อธิบายได้เช่นกัน โดยสมมติเพื่อให้เห็นภาพว่าเราสามารถวัดความสุขออกมาเป็นตัวเลขได้ (ทางเศรษฐศาสตร์มีการวัดสิ่งที่คล้ายกับความสุขเช่นกัน เรียกกันว่า Utility หรือภาษาไทยแปลว่าอรรถประโยชน์) ถ้าทำอะไรแล้วรู้สึกดีความสุขที่ได้รับก็ตีค่าออกมาเป็นบวก แต่ถ้าทำอะไรแล้วรู้สึกไม่ดีความสุขที่ได้รับก็จะตีค่าออกมาเป็นลบ
แต่ความพิเศษของการมีจุดอ้างอิงก็คือ เราดันไม่ได้วัดความสุขโดยตั้งต้นจากค่า 0 แต่ไปเริ่มที่จุดอ้างอิงอื่นแทน
ปารีสในฐานะเมืองการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลกมาอย่างยาวนานก็ย่อมต้องมีด้านที่พิเศษและสวยงาม ทั้งความวิจิตรของสถาปัตยกรรมหรือประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในเมืองและภาพวาดชื่อดัง แท้จริงแล้วนักท่องเที่ยวที่เกิดอาการช็อคจากภาพของเมืองปารีสอาจจะมีความสุขเป็นบวกก็ได้ ถ้าไม่ได้คาดหวังภาพเมืองในอุดมคติไว้ในใจ อาจมีความสุขเป็นบวกสัก 10 หรือ 20 หน่วยก็ได้ แต่พอความคาดหวังของเมืองปารีสอยู่ที่ 100 แบบนี้ ความสุขที่ได้รับก็กลายเป็นติดลบ 90 หรือ 80 แทน
แนวคิดเรื่อง Reference Point หรือจุดอ้างอิงยังถูกนำไปใช้อธิบายการตัดสินใจของคนในอีกหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่เรื่องธรรมดาทั่วไป เรื่อง ความสัมพันธ์ การลงทุน หรือแม้แต่การตลาดก็หยิบนำเจ้าทฤษฎีไปใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในเว็บขายไวน์ถ้ามีไวน์สองชนิดราคา 800 บาท และ 1200 บาท คนก็จะรู้สึกว่า 1200 บาท เป็นราคาที่แพงและไม่ค่อยซื้อ แต่ถ้าเพิ่มไวน์เป็นสามชนิด ราคา 800 1200 และ 2000 บาท ไวน์ในราคา 1200 บาท ก็จะดูถูกลงและขายได้มากขึ้น เพราะว่าคนเปลี่ยนจุดอ้างอิงไปสู่ไวน์ราคา 2000 บาทด้วยนั่นเอง ซึ่งพอเรารู้ว่าตัวเองอาจจะมีความไม่เป็นเหตุเป็นผลแบบนี้แล้ว ต่อไปเราก็สามารถสำรวจการตัดสินใจของตัวเองได้ และเลือกที่จะประเมินสิ่งต่างๆ ตามมูลค่าของตัวมันเองอย่างที่เป็นได้มากขึ้น
1
สำหรับนักการตลาดก็เช่นกัน เมื่อเขารู้ว่า คนมีพฤติกรรมเช่นนี้ เขาก็สามารถใช้เทคนิคนี้ ในการทำการตลาด หลอกล่อให้คนซื้อของที่แพงขึ้นได้เช่นกัน
เรื่องราวความไม่เป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ที่น่าสนุกยังมีอีกมากมาย ในสัปดาห์หน้าทาง Bnomics จะนำเรื่องราวใดมาเล่าให้ทุกท่านอ่านกันอีก ก็อย่าลืมติดตามด้วยครับ
#Paris_Syndrome #Reference_Point #เที่ยวปารีส #ความผิดหวัง #จุดอ้างอิง
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
1
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
หนังสือ Misbehaving: The Making of Behavioral Economics โดย Richard H.Thaler

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา