3 ส.ค. 2021 เวลา 04:31 • ปรัชญา
"เชื้อโรคดื้อยา ... กลายพันธุ์ตลอดเวลา"
"... เราค่อยๆ เรียนไป
เราจะพบว่าที่ทำอยู่ไม่ถูกหรอก
หลวงพ่อสอนบ่อย ๆ ที่ทำอยู่ไม่ถูกหรอก
แต่ทำไปก่อน เพราะถ้าไม่ทำผิดมากกว่า
ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็คือปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส
เราก็จะมีทุคติเป็นที่ไป
มีสภาวะที่เสื่อมทรามลงไปเรื่อย ๆ
เพราะจิตนั้นมีธรรมชาติไหลลงต่ำ
ตามกิเลสมันตามง่าย
จิตที่จะยกระดับตัวเอง
ให้พ้นจากกระแสของกิเลสมันไม่ใช่เรื่องง่าย
เหมือนเราตกอยู่กลางน้ำเชี่ยว
จะขึ้นจากน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย
ก็ต้องฝืนต้องอดทนต้องอะไร
ทีแรกก็อดทนไปทำไปก่อน
ทำกรรมฐานอะไรก็ทำไป
จะพุทโธ จะหายใจ จะอะไรก็ทำไปก่อนสักอย่างหนึ่ง
ถามว่ามันถูกไหม มันก็ถูกในระดับหนึ่ง
อย่างเราพุทโธ ๆ จิตเราสงบอะไรอย่างนี้
ถามว่ามันถูกไหม มันเคยถูก
แต่ถ้ามันสงบอยู่เฉยๆ มันไม่ถูกหรอก
เพราะงานของเรายังไม่เสร็จ
คือเรายังไม่พ้นจากอำนาจของกิเลส
ฉะนั้น ของที่เราคิดว่าภาวนาอย่างนี้ถูก ๆ
มันถูกชั่วคราว ภาวนาไปเรื่อย ๆ พบว่ายังไม่ใช่หรอก
มันยังล้างกิเลสไม่ได้จริง
หรือมันข่มกิเลสได้ชั่วคราวเท่านั้น
เดี๋ยวกิเลสมาแล้วก็เอาไม่อยู่แล้ว
หาอุบายอะไรมาก็ตาม
สุดท้ายอุบายทั้งหลาย กิเลสมันรู้ทันอย่างรวดเร็วเลย
อย่างเรามีอุบายภาวนา
เช่นจิตเรามีราคะอย่างนี้ เราพิจารณาปฏิกูล
พิจารณาอสุภะ วันนี้จิตลงราคะดับเราก็จำไว้
อีกวันหนึ่งราคะมา เราพิจารณาปฏิกูลอสุภะอีก
ก็ได้ผลอีก ที่หลวงพ่อเคยสังเกตเอา
ได้ผลไม่เกิน 3 ครั้งหรอก พอครั้งที่สี่
มีราคะไปพิจารณาปฏิกูล อสุภะไม่ลงแล้ว
เราพยายามพิจารณาร่างกายของเราเอง
ร่างกายของสาวสวยที่เราชอบ
เป็นของไม่สวยไม่งาม
เป็นของสกปรกโสโครกอะไรอย่างนี้
ทีแรกใจมันก็สลดลงมา
พอหลายๆ วันเข้ากระแสกามมันก็พัฒนาตัว มันแรงขึ้น
มันก็เห็น เออ ... ไม่สวยไม่งามหรอก
แต่ตอนนี้ยังสวยยังงามอยู่ อีกหน่อยไม่สวยไม่งาม
แต่ตอนนี้ยังสวยยังงามจีบมันไว้ก่อน
เดี๋ยวพอมันไม่สวยไม่งามค่อยทิ้งมันทีหลัง
กิเลสมันหลอกเราไปได้สารพัดเลย เอาไม่ลง
อุบายกรรมฐานอะไรเคยใช้ได้ผล
พอใช้ซ้ำๆๆ เข้าไป
กิเลสจะกลายเป็นเชื้อโรคดื้อยาทันทีเลย
เป็นเชื้อกลายพันธุ์ตลอดเวลาเลย
1
ครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนว่า
กิเลสมันเป็นของเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ
ธรรมะก็ต้องสด ๆ ร้อน ๆ ต้องทันกัน
เหมือนมีเชื้อใหม่แล้วก็มีวัคซีนใหม่มาสู้กันได้
เวลาเราจะเลือกเครื่องมือในการสู้กิเลส
เราก็สังเกตเอา สังเกตเอาว่าสภาวะอันนี้
กิเลสอันนี้มันเกิดมาจากอะไร
หรือสิ่งที่เราภาวนาอยู่อะไรอยู่เบื้องหลัง
1
อย่างเราเห็นว่าราคะมันเกิด เราก็ค่อย ๆ สังเกตไป
พิจารณาปฏิกูลอสุภะแล้วมันลงทีแรก ต่อมาไม่ลงแล้ว
เราสังเกตดูเกิดอะไรขึ้นกับใจของเรา
ทำไมพิจารณาปฏิกูลอสุภะ
แล้วจิตไม่รวมไม่สงบเหมือนเดิม
หรือโกรธ เราเคยเจริญเมตตาแล้วหายโกรธ
ทำไมเจริญเมตตาแล้วรอบนี้ไม่หายโกรธ
ค่อยๆ สังเกตเอา
ถ้าปัญญาเราแก่กล้าเราจะปิ๊งขึ้นมาเลยว่า
อ๋อ ตรงนี้ล่ะคือธรรมะ
จิตจะเป็นกุศล หรือจิตจะเป็นอกุศล
จะโลภ หรือจะโกรธ หรือจะหลงอะไร
มันเป็นธรรมะล้วน ๆ เลย
ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ มันสอนไตรลักษณ์เรา
ถ้าหากเราเคยมีราคะ
เราพิจารณาอสุภะแล้วหายทุกครั้ง
เราจะรู้สึกว่าจิตเป็นอัตตา กูเก่ง กูจัดการได้
หรือโกรธขึ้นมาเราแผ่เมตตาแล้วหายทุกครั้ง
เราจะปลูกฝังความรู้สึกว่า กูเก่ง ๆ กูจัดการได้
แทนที่จะเห็นว่าจิตนี้มันเป็นอนัตตา
ไปเห็นว่าเป็นอัตตา กูบังคับได้ กูเก่ง
ถ้าเรามองเป็น เราจะค่อยๆ เข้าใจ
แต่ถ้าสติปัญญาเรายังไม่พอ
มองเข้ามาไม่ทะลุเข้ามาจนถึงแก่นของมันแบบนี้
ลงมาที่ไตรลักษณ์ของกายของใจยังดูไม่เห็น
เราก็ยังดิ้นแสวงหาเส้นทางต่อไป อย่างนี้น่าจะดีๆ
ถือศีลอย่างนี้น่าจะดี
มีข้อวัตรบำเพ็ญพรตอย่างนี้น่าจะดี
อย่างบางคนคิดว่า อดข้าวแล้วดีอะไรอย่างนี้
อดข้าวแล้วดี ไม่นอนแล้วดีอะไรอย่างนี้
มันดี ดีชั่วคราว
ถ้าพอทำไปเรื่อยๆ มันรู้สึกกูเก่ง
คนอื่นอดข้าวไม่ได้เท่ากู
อดนอนไม่ได้เท่ากู
ทำตัวเองให้ลำบากไม่ได้เท่ากู
กลายเป็นกูเก่งไปโดยไม่ทันเฉลียวใจ
อันนี้เรียกว่าเราพลาดแล้ว ... "
2
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กรกฎาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มจาก : ⬇️

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา