Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
11 ส.ค. 2021 เวลา 04:08 • ปรัชญา
"ยุคนัทธสูตร การเดินปัญญาทำได้หลายแบบ"
1) สมาธินำปัญญา
2) ปัญญานำสมาธิ
3) สมาธิควบปัญญา
2
...
" ... พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ทั้งนั้น ในพระไตรปิฎกก็มี อย่างในยุคนัทธสูตร พระอานนท์ท่านสรุปไว้ การปฏิบัติมีสมาธินำปัญญา
อย่างฝึกให้จิตสงบแน่วแน่จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ จิตเป็นอุเบกขาเลย แล้วก็ทรงตัวอยู่นาน
ฝึกอย่างนี้ แล้วถอย จิตมันถอยออกมา
ถ้ามันไม่ถอยก็พามันถอยออกมาพิจารณาอยู่ในร่างกาย มาเจริญปัญญา มาดูร่างกาย
นี้เป็นเส้นทางที่หนึ่ง ใช้สมาธินำปัญญา
เส้นทางที่สอง สำหรับคนที่ทำอัปปนาสมาธิไม่ได้
ก็ใช้ปัญญานำสมาธิ ทำอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ไม่ได้หวังว่าจะต้องเข้าอัปปนาสมาธิอะไรหรอก จิตมันสงบลงไปได้นิดๆ หน่อยๆ ไม่สงบนานหรอก มันชั่วขณะเท่านั้นเอง
แล้วจิตมันก็ถอนขึ้นมา เราก็เห็นจิตมันทำงาน อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอย่างนี้ สงบลงไปนิดๆ หน่อยๆ จิตก็หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว จิตมันทำงาน
หรือเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตมันอยากสงบ มีตัณหา มันถลำลงไปเพ่งลมหายใจเรารู้ทัน รู้ทันเข้ามาที่จิต ตรงนี้เราเริ่มเจริญปัญญาแล้ว
สำหรับคนซึ่งไม่ได้อัปปนาสมาธิ การเจริญปัญญาที่เหมาะกับพวกเรา คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดูจิตเอา
ส่วนท่านที่ท่านทรงฌาน กรรมฐานที่เหมาะคือการดูกาย เพราะถ้าเข้าอัปปนาสมาธิจิตไม่ค่อยทำงาน จะไปดูจิต ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่เห็นไตรลักษณ์อะไรหรอก มันว่าง ๆ ไป
ฉะนั้นกรรมฐานที่เหมาะกับคนเล่นฌาน ก็เลยควรจะไปดูกาย หรือดูเวทนา 2 อย่างนี้ เวทนาทางร่างกายอย่างสายท่านโกเอ็นก้า เขาทำอานาปานสติก่อน จนกระทั่งจิตสงบจริงๆ แล้วไปดูเวทนาในกาย
ถามว่าอย่างนี้ถูกไหม ถูก แต่เป็นเส้นทางที่ถูกอีกแบบหนึ่ง
หรืออย่างครูบาอาจารย์วัดป่ารุ่นก่อนๆ ท่านพุทโธไปหายใจไปเข้าสมาธิลึกๆ อัปปนาสมาธิ ออกมาแล้วมาดูกาย พุทโธแล้วมาพิจารณากาย ถามว่าถูกไหม ถูก แต่กรรมฐานมันไม่ได้มีอยู่แค่นี้ มันมีเยอะแยะ
กรรมฐานที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ใช่ขีดวงว่าเราเคยทำอย่างนี้ก็ต้องอย่างนี้ มีอย่างเดียว ถ้าเราดูสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริง ๆ มีหลากหลาย
เพราะจริตนิสัยของคนมันแตกต่างกัน สิ่งที่สะสมมาวาสนาบารมีก็แตกต่างกัน อย่างบางคนฝึกมาทางสมาธิเยอะ เขามานั่งสมาธิไม่นานเขาก็สงบแล้ว จิตก็เงียบอยู่อย่างนั้น ท่านให้ออกมาพิจารณาร่างกาย
หลวงปู่มั่นท่านสอนบอก
“ทำความสงบมากเนิ่นช้า
คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน”
ท่านสอนอย่างนี้
“สิ่งสำคัญคือการมีสติในชีวิตประจำวัน”
นี่คือวรรคที่สาม
1
แล้วหัวใจของการปฏิบัติจริง ๆ
ก็คือสติในชีวิตประจำวัน
2
ตอนที่ฝึกในรูปแบบบางท่านก็ฝึกให้จิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตที่แน่วแน่ในอารมณ์อันเดียว เรียกอัปปนาสมาธิ
ถ้าเราทำอัปปนาสมาธิไม่ได้ เราทำความสงบได้นิดๆ หน่อยๆ ทีละนิด เดี๋ยวจิตมันก็ทำงานต่อแล้ว ตรงนี้เราเจริญจิตตานุปัสสนาไปได้เลย
เราจะเห็นจิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้
จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้คิด
จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้
จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้ไปดูรูป
จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้
เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปฟังเสียง
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้
เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปลิ้มรส
เดี๋ยวก็ไปดมกลิ่น ไปรู้สัมผัสทางกาย
มีจิตรู้สลับไปเรื่อย ๆ
1
2
ถ้าเราฝึกได้มีจิตรู้เป็นตัวกั้นระหว่างจิตหลงแต่ละชนิด
เราจะเห็นจิตมันเกิดดับ
"ปัญญานำสมาธิ"
ฉะนั้นเราถึงต้องฝึกให้ได้จิตรู้ จะทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด เคยทำอะไรแล้วมีความสุขก็ทำอันนั้น แล้วแทนที่มุ่งไปที่ความสุขความสงบ คอยรู้ทันจิตตัวเองไป เราจะเดินปัญญา อย่างนี้เรียกปัญญานำสมาธิ
ใช้สมาธิชนิดขณิกสมาธิ สมาธิทีละขณะๆ อย่างนี้ อย่างเรารู้ทันว่าจิตไหลไปปุ๊บ ตรงนี้สมาธิก็เกิดขึ้นชั่วขณะ เดี๋ยวก็ไหลไปอีกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมุนไปทุกหนทุกแห่งใน 6 ช่องทาง
ตรงที่เรามีสติรู้ มันจะมีจิตผู้รู้แทรกขึ้นมากั้นกลาง
จิตหลงไปดูเรารู้ว่าหลงไปดูปุ๊บ จิตรู้ก็เกิดขึ้นมากั้น
จิตหลงไปดูก็ดับ มีจิตรู้อยู่ชั่วคราว
จิตหนีไปคิดแล้ว นี่หลงไปคิดหลงทางใจ
เรามีสติรู้ทันว่าจิตหลงไปคิดปุ๊บ จิตหลงไปคิดก็ดับ
เกิดจิตรู้ขึ้นมาคั่นอีกแล้ว
จิตของเราจะขาดเป็นช่วงๆๆ ไป
ตรงนี้เป็นการเจริญปัญญา
เราจะเห็นว่าจิตมันเกิดแล้วดับ
จิตรู้เกิดแล้วก็ดับ จิตคิดเกิดแล้วก็ดับ
จิตไปดูรูป จิตไปฟังเสียง จิตไปดมกลิ่น จิตไปลิ้มรส
จิตไปรู้สัมผัสทางกายล้วนแต่เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น
นี้คือการเจริญปัญญา ทำวิปัสสนาแล้ว
สำหรับคนซึ่งเข้าฌานไม่ได้
ในตำราสอนไว้บอกว่า “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะกับสมถยานิก” เหมาะกับคนเล่นฌาน
“จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน กับ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะกับคนที่ไม่ได้เล่นฌาน มีสมาธิชั่วขณะๆ”
ค่อยๆ สังเกตไป จะเห็นความเปลี่ยนแปลง
กระทั่งการเห็นปฏิจจสมุปบาทที่เป็นธรรมะที่ลึกซึ้งที่สุด
อาศัยการเห็นเป็นขณะๆๆ นี่ล่ะ
เราจะเห็นจิตมันทำงานเป็นขณะๆ ไป
จิตไปเห็นรูปก็เป็นขณะหนึ่ง
พอจิตไปเห็นรูปมันก็ส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ
เราเห็นจิตมันส่งสัญญาณเข้ามาแล้วมันมาคิด
สัญญามันทำงาน มันคิดพิจารณารูปที่เห็น
พิจารณาแล้วมันก็จะเกิดสุข เกิดทุกข์
เกิดกุศล อกุศลขึ้น
เราจะเห็นจิตมันทำงานเป็นช็อตๆ ไป
ตรงที่จิตทำงานเป็นช็อตๆ
เราจะเห็นว่าจิตแต่ละดวง มันคนละดวงกัน
จิตที่เห็นรูปก็ดวงหนึ่ง
จิตที่ส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจเป็นอีกดวงหนึ่ง
จิตที่พิจารณาว่านี่คืออะไรเป็นอีกดวงหนึ่ง
จิตที่ตัดสินใจว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล
จะสุขหรือทุกข์เป็นอีกดวงหนึ่ง
แล้วจิตที่เสพอารมณ์เข้าไปคลุกอยู่กับอารมณ์เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง
1
พอมันเสพอารมณ์พอสมควรแล้ว
จิตมันจะเริ่มเซฟข้อมูลมันจะไม่สนใจตัวอารมณ์แล้ว
มันจะเก็บข้อมูล แล้วมันก็ตกภวังค์
ตรงที่จิตมันเก็บข้อมูล เป็นอีกช่วงหนึ่ง
ตรงที่จิตมันตกภวังค์เป็นอีกช่วงหนึ่ง เป็นอีกดวงหนึ่ง
เราจะเห็นว่าจิตมันทำงานสืบเนื่องกันไป
นี่เห็นเรื่องวิถีจิต
ก็อาศัยการมีสติรู้เป็นขณะๆๆ ไปนั่นเอง
แต่ว่าขณะของเรานี้ทำได้ชำนิชำนาญ
มันเกิดบ่อยจะเห็น หรือเราเห็นปฏิจจสมุปบาท
เห็นอะไรนี่ ดูมันเป็นขณะๆ นี้ ทำได้
ถ้าเราไม่ได้ทรงณาน อย่ากลัวจะไม่ได้มรรคได้ผล
ก็ฝึกใช้ปัญญานำสมาธิไป
เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน
อย่ากลัวว่าจะไม่ได้มรรคได้ผลอะไร
ก็ฝึกใช้ปัญญานำสมาธิไป
การปฏิบัติมีหลายสาย
ใช้สมาธินำปัญญาเข้าอัปปนาสมาธิให้ได้ ฝึกกันหลายปี บางคนหลายปี บางท่านไม่นาน บุญวาสนาเก่า ท่านฝึกมาทางฌานเยอะ ไม่นานท่านก็เข้าฌานได้ บางองค์ท่านก็มีฤทธิ์ มีอภิญญาอะไรของท่านไป มีอะไรทำอะไรได้แปลกๆ พอท่านเข้าฌานแล้วจิตมันสงบสุข จะไปดูจิตมันไม่มีความเปลี่ยนแปลงให้ดู ท่านถึงต้องไปดูกาย เพราะจิตมันจะนิ่งว่างอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน
ฉะนั้นอย่างครูบาอาจารย์บางท่าน ที่ท่านผ่านมาด้วยการทำอัปปนาสมาธิแล้วไปดูกาย ท่านจะบอกว่าไม่ได้หรอกต้องทำอัปปนาสมาธิก่อน ความจริงก็ถูกของท่าน มันถูกด้านหนึ่งใช้สมาธินำปัญญา ออกจากสมาธิมา มาดูกายไว้ กายดูง่ายกว่าเวทนาทางกาย ดูได้ 2 อัน กายกับเวทนาทางกายเหมาะกับพวกเล่นฌาน
ถ้าพวกไม่ได้เล่นฌาน อย่างคนส่วนใหญ่ในยุคนี้เข้าฌานไม่เป็น สิ่งที่เหมาะคือเวทนาทางใจ แล้วก็ตัวสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย ตรงสังขารนี้เรียกว่า จิตตานุปัสสนา
หรือเราเห็นจิตมันทำงานอยู่ทางทวารทั้ง 6 ทางอายตนะอะไรนี้เป็นธัมมานุปัสสนา ตัวนี้เหมาะกับคนที่ได้แค่ขณิกสมาธิ สมาธินำปัญญาก็ต้องทำสมาธิกันเยอะ แล้วมาดูกายหรือเวทนาในกาย ก็แยกขันธ์ได้
1
เห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเราของเรา เวทนาในกายก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา จิตที่เป็นคนรู้ก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา
ไม่ว่าจะฝึกสายไหนก็ต้องมีจิตที่เป็นคนรู้
ที่ทำอัปปนาสมาธิเพื่ออะไร เฉลยให้ก็ได้
ที่ต้องทำอัปปนาสมาธิ เพื่อให้ตัวรู้มันเข้มแข็ง
เพื่อให้จิตผู้รู้มันเข้มแข็ง
จิตผู้รู้ที่เราผ่านการฝึกมาจนได้อัปปนาสมาธิ ถอยออกจากอัปปนาสมาธิมาอยู่กับโลกข้างนอก ตัวรู้ยังตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ได้เป็นอาทิตย์เลย อยู่ได้เป็นอาทิตย์ไม่เกิน 7 วันหรอก บางท่านก็ 2 วัน 3 วันอะไรอย่างนี้ ท่านก็เข้าอัปปนาสมาธิทุกวัน ตัวรู้ของท่านจะแข็งแรงมากเลย แล้วท่านถึงจะดูธาตุดูขันธ์ หรือดูจิตผู้รู้อะไร เห็นมันเกิดดับไป ถามว่าดีไหม ดี ก็เหมาะกับบางท่านที่ท่านทำได้
1
ถ้าเราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราก็ใช้ขณิกสมาธิ
ก็เจริญสติไป อยู่กับกรรมฐานของเราไป
พอจิตมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไรเราคอยรู้ไว้
รู้ทัน มันก็จะเห็นจิตเกิดดับเป็นช็อตๆ ไป
เห็นสภาวะทั้งหลายอย่างความสุข ความทุกข์
ความเฉยๆ ที่เกิดขึ้นในใจ เป็นของข้างนอก
เป็นของถูกรู้ถูกดู เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป บังคับไม่ได้
ควบคุมไม่ได้ นี่คือการเจริญปัญญา
1
หรือเราเห็นจิตใจเดี๋ยวเป็นกุศล
เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ
เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ
เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ไม่หลง
นี้เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนา
ดูจิตไปเราเห็นเวทนาทางใจก็ได้
เป็นเวทนานุปัสสนาทางใจ
ถ้าดูสังขารปรุงดีปรุงชั่ว อันนี้เป็นจิตตานุปัสสนา
หรือถ้าดูเห็นตัวจิตมันทำงาน
ก็จะขึ้นไปสู่ธัมมานุปัสสนา
เราจะเห็นเลยจิตบางดวงทำงานได้
บางดวงทำงานไม่ได้
จิตบางดวงทำงานไม่ได้มันเป็นอย่างไร
เป็นจิตที่ถูกนิวรณ์กั้นเอาไว้ จะเห็นนิวรณ์
ฉะนั้นในธัมมานุปัสสนาจะมีเรื่องนิวรณ์
จะมีเรื่องอายตนะ จะเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ
จะมีเรื่องขันธ์ เห็นขันธ์มันทำงาน
จิตเป็นคนดูอยู่ จิตเหมือนเป็นประธานในที่ประชุม
องค์ประชุม 5 ตัวมันขยุกขยิก ๆ
ประธานก็มองก็รู้ทัน มันไม่ใช่ตัวเราของเรา
ลีลามันไม่เหมือนกัน
"สมาธิควบปัญญา"
เพราะฉะนั้นการฝึกใช้สมาธินำปัญญา
ใช้ปัญญานำสมาธิ
อีกอันหนึ่งอันที่สาม ใช้สมาธิควบกับปัญญา
ที่ในตำราสอน ท่านพระอานนท์ท่านก็สอนไว้
สมาธิควบกับปัญญาทำอย่างไร
ที่ว่าสมาธินำปัญญาว่ายากแล้ว
สมาธิควบปัญญายากกว่าอีก
เพราะสมาธิควบปัญญาต้องเก่งอัปปนาสมาธิ
ต้องเป็นวสีเลย นึกจะเข้าก็เข้าได้
นึกจะทรงอยู่ ก็ทรงอยู่ได้
นึกจะเจริญปัญญาในฌานก็ทำได้
นึกจะออกจากฌานก็ทำได้
ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการทรงอยู่
ชำนาญในการเดินปัญญา
ชำนาญในการออกจากฌาน
อย่างเราถ้าจิตมันเข้าฌาน ถ้าไม่ชำนาญ
พอภาวนาไปๆ หายใจๆ ไปจิตรวมปุ๊บลงไป
มันจะดีดตัวขึ้นมาเลย อันนี้ไม่ชำนาญเข้าไม่เป็น
เข้าไม่ได้ ตอนจะเข้าจิตกระเด็นออกมาแล้ว
พอเข้าได้มันจะเหมือนกัปตันขับเครื่องบินเก่งๆ
แลนดิ้งดี ไม่กระดอนเลย ลงนิ่มๆ ไม่กระเด้ง
ส่วนถ้าเราหัดใหม่ๆ เป็นกัปตันมือใหม่
เครื่องบินกระแทกโครมแล้วกระเด้งขึ้นมาอีก
ต้องชำนาญในการเข้า อยากจะเข้าเมื่อไรก็ได้
พอเข้าแล้วต้องชำนาญในการทรงอยู่
บางคนเข้าได้แวบเดียวไม่ทรงแล้ว ออกมาแล้ว
แต่ตรงนี้มีหลายอย่าง
อันหนึ่งก็คือยังไม่ชำนาญในฌาน
อีกชนิดหนึ่งก็คือเป็นพวกปัญญากล้า
พวกที่ปัญญาแก่กล้าจะไม่ทรงฌานนาน
นี้เป็นลักษณะของพวกปัญญาแก่กล้า
มันจะรู้สึกเลย
'จิต' มันจะรู้สึก ไม่ใช่ 'เรา' รู้สึก
จิตมันจะรู้สึกเลยว่า การไปเข้าฌานอยู่เสียเวลา
ไม่มีอะไร
เพราะฉะนั้นมันรวมไปนิดๆ หน่อยๆ
มันก็จะถอนขึ้นมา มาเดินปัญญาต่อ
ถ้าจะฝึกเดินปัญญาในฌาน
ก็ฝึกให้มันทรงได้ไม่ใช่อยู่ได้แป๊บๆ หนีขึ้นมาแล้ว
วสีอันที่สาม ความชำนาญอันที่สาม
ชำนาญในการเจริญปัญญาในฌาน
การเจริญปัญญาในฌานจะทำได้
ถ้าชำนาญในการดูจิต
เพราะเวลาเข้าฌาน
สิ่งที่เราจะดูความเกิดดับในฌานจริงๆ เลย ไม่ใช่นิมิต
ไม่ใช่นั่งแล้วก็เห็นร่างกายเป็นโครงกระดูก
เห็นอะไรอย่างนี้ อันนี้ยังไม่ใช่
ตรงที่นิมิตวุ่นวายอะไรขึ้นมา
จิตมันยังไม่ได้ถึงฌาน
แต่ถ้าเข้าฌานจริง มันเลยนิมิตไปแล้ว
สิ่งที่เราจะดูไม่ใช่รูปแล้ว แต่มันคือนามธรรม ดูอะไร
จิตมีวิตกรู้ว่าจิตมีวิตก
จิตมีวิจารรู้ว่าจิตมีวิจาร
วิตกคือการที่จิตมันตรึกถึงอารมณ์
มันนึกถึงอารมณ์ มันเข้าไปจับอารมณ์
วิจาร คือการที่จิตมันเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์
อย่างเราดูไป ลมหายใจเราระงับกลายเป็นแสง
จิตมันตรึกอยู่ในแสงนี้เรียกว่าวิตก
จิตมันเคล้าเคลียอยู่กับแสงโดยที่เราไม่ได้บังคับ
เรียกว่าวิจาร
แล้วมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง ตั้งมั่น
มันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง
เรียกเอกัคคตา องค์ของฌาน 5 ตัวนี้
เราจะเห็นองค์ฌานนี้มันเกิดดับ
เห็นปีติ เห็นวิตก วิจาร เกิดแล้วก็ดับ
เห็นปีติเกิดแล้วก็ดับ เห็นความสุขเกิดแล้วก็ดับ
เห็นความตั้งมั่นจะตั้งอยู่ ไม่ต้องไปดูเกิดดับหรอก
ถ้าตัวตั้งมั่นดับก็หลุดออกมาเลย จิตเราหลุดออกมา
ก็ดูวิตก วิจาร ปีติ สุข มันจะสลับไปเรื่อย ๆ
หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป แล้วก็จะเกิดปัญญา
เราจะเห็นเลยองค์ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้
เพราะฉะนั้นตรงเจริญปัญญากับสมาธิควบกัน ยาก
เพราะแค่สมาธิสงบเข้าอัปปนาสมาธิเรายังทำไม่ได้เลย
จะไปเดินปัญญาในอัปปนาสมาธิยิ่งยากหนักเข้าไปอีก
ในยุคของเราไม่ค่อยมีหรอก หายากแล้ว
จำนวนมากที่ท่านได้อัปปนาสมาธิ
ก็คือเข้าสมาธิจนกระทั่งจิตผู้รู้มันเด่นมากเลย
ที่เข้าอัปปนาสมาธิเพื่อให้ได้จิตผู้รู้ที่แข็งแรง
แล้วออกมามันจะเห็นธาตุ เห็นขันธ์
เห็นร่างกายมันทำงาน เห็นเวทนาในกายมันทำงาน
ดูจิตไม่อิน จิตไม่อินเข้าไปในกาย
ไม่อินเข้าไปกับเวทนา
เราจะเห็นกายก็ส่วนหนึ่ง เวทนาก็ส่วนหนึ่ง
จิตก็ส่วนหนึ่ง ต่างคนต่างทำงาน อันนี้ก็ยากรองลงมา
ที่ง่ายๆ สุดก็คืออย่างที่หลวงพ่อบอก
ทำกรรมฐานสักอันหนึ่ง จิตเคลื่อนไป
จิตไปทำอะไรคอยรู้เอาไว้ เราจะเดินปัญญาได้
แล้วตรงนี้ไม่ต้องเสียดาย ไม่ต้องเสียใจ
ว่าทำไมเข้าฌานไม่เป็น ทำไปเถอะ
ฉะนั้น เราฝึกของเราทุกวันๆ พยายามฝึกไป
เวลาภาวนามีสมาธิเป็นขณะๆๆ ไป เดินปัญญาไป
ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะรวมสงบเข้ามาเอง
แต่มันจะรวมไม่ลึกถึงขั้นอัปปนาสมาธิหรอก
มันจะรวมอยู่ในขณิกสมาธิ มันจะพักตัว
พอพักตัวชั่วคราวพอมีเรี่ยวมีแรงแล้ว
มันก็จะออกไปดูเป็นขณะๆ ใหม่
เห็นเกิดดับเป็นขณะๆ ใหม่
เราฝึกไปเรื่อยๆ เป็นขณะๆ
แล้วตอนที่เกิดอริยมรรค จิตมันจะเข้าอัปปนาสมาธิเอง
ไม่ต้องห่วง มันจะเป็นอัปปนาสมาธิอัตโนมัติ
อย่างเราดูจิตเกิดดับๆๆ อยู่อย่างนี้
ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิของมันเอง
ทำไมจิตมันรวม เพราะเวลาเราเจริญปัญญาไปเรื่อย ๆ
เราจะเห็นเลย ทุกอย่างเกิดแล้วดับ
ทุกอย่างเกิดแล้วดับ
ในที่สุดจิตก็เป็นกลาง
พอจิตมันเป็นกลางขึ้นมาแล้ว จิตก็หมดความดิ้นรน
ปัญญานำสมาธิไม่ได้แปลว่าไม่มีสมาธิ
แต่ต้องมีสมาธิคือขณิกสมาธิต้องมีก่อน
เวลาที่เราทำวิปัสสนาโดยใช้ขณิกสมาธิ
ทำมันทุกวันๆ เวลาจิตมันเดินปัญญาไปช่วงหนึ่ง
มันจะพักของมันเอง สงบลงมาชั่วขณะไม่นาน
บางทีช่วงสั้นๆ แล้วขึ้นมาทำงานอีก
มันเข้าไม่ถึงอัปปนาสมาธิหรอก
เข้าไปอุปจารสมาธิ ใกล้ๆ อัปปนาสมาธิ
ขึ้นมาได้มันก็มาเดินปัญญาต่อ
มาเห็นความเกิดดับของเวทนาทางใจ
ความเกิดดับของสังขาร กุศล อกุศลทางใจ
จริงๆ ใช้คำเกิน กุศล อกุศลต้องทางใจอยู่แล้ว
อยู่ที่ใจที่เดียว
หรือเห็นความเกิดดับของจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มันจะเห็นอย่างนี้ แล้วก็เดี๋ยวก็เข้าไปพัก
เดี๋ยวก็ออกมาเห็น สลับกัน
ไม่มีใครสามารถเจริญปัญญารวดไปได้หรอก
ถ้าขืนเจริญปัญญารวดไปจิตจะฟุ้งซ่าน
ดูอะไรไม่รู้เรื่องแล้ว จะหลงไปในโลกของความคิด
ฉะนั้นจิตมันจะต้องพักเป็นระยะๆ ไป
จนกระทั่งปัญญามันเกิด
มันจะเห็นว่าทุกสิ่งที่เกิดมาล้วนแต่ดับทั้งสิ้น
สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เกิดขึ้นแล้วก็ดับทั้งสิ้น
เสมอกันหมด พอเห็นอย่างนี้
พอความสุขเกิดขึ้นมันก็ไม่ดีใจ
ความทุกข์เกิดขึ้นมันก็ไม่เสียใจ
กุศลเกิดขึ้นก็ไม่ดีใจ
อกุศลเกิดขึ้นก็ไม่เสียใจ
จิตมันเป็นกลาง ตรงที่จิตมันเป็นกลาง
จิตมันก็หมดความดิ้นรน
พอจิตมันหมดความดิ้นรน
จิตมันจะรวม มันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ เข้าเอง
แล้วกระบวนการที่จิตล้างกิเลสสั้นนิดเดียวเลย
สั้นกว่าที่ฟ้าแลบอีก
ฟ้าแลบยังเห็นแปลบๆๆ อะไรอย่างนี้
หรือสว่างวาบขึ้นมาเลยค่อยดับ วาบแล้วดับ
ตรงที่จิตมันล้างกิเลสมันแป๊บเดียวเลยสั้นมาก
บางคนดูไม่ออกว่าจิตมันผ่านกระบวนการอะไร
ถ้าพวกทรงสมาธิเยอะๆ จะเห็นละเอียดขึ้นมา
สมาธิดี เคยฝึกจนชำนาญ
ในการเดินปัญญาในฌานอะไรอย่างนี้
จะเห็นกระบวนการของอริยมรรค ของอริยผลชัดเจน
เพราะเป็นการทำงานทางจิตล้วนๆ เลย
เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเจริญวิปัสสนามาแบบไหน
จะใช้สมาธินำปัญญา
ปัญญานำสมาธิ
สมาธิและปัญญาควบกัน
สุดท้ายมันจะได้ทั้งสมาธิ จะได้ทั้งปัญญา
เพียงแต่ความชำนิชำนาญของคนซึ่งไม่ได้เดินมาทางสมาธิมากๆ ก็จะไม่ชำนาญในสมาธิเท่าท่าน ที่ท่านเล่นฌานมาก่อน พวกนั้นเขาเข้าฌานได้เยอะแยะ
ถ้าเป็นพระอริยบุคคลธรรมดา ที่เดินมาด้วยการเจริญปัญญาเป็นขณะๆ อย่างนี้ เป็นพระสุกขวิปัสสกะอะไรอย่างนี้ เพราะไม่ชำนาญในฌาน แต่ก็ได้ฌานอย่างต่ำก็มีปฐมฌาน ทุกท่านต้องมี เป็นขั้นต่ำที่จะมีเป็นของแถม พอสำเร็จผลแล้ว ความชำนาญที่เคยฝึกมามันแตกต่างกัน
ท่านที่เคยฝึกมาทางสมาธินำปัญญา ท่านก็จะใช้กาย ส่วนใหญ่จะใช้กายเป็นวิหารธรรม พวกนี้จะใช้กายเป็นวิหารธรรม ส่วนท่านที่เดินมาทางใช้ปัญญานำสมาธิ ส่วนมากก็จะใช้จิตเป็นวิหารธรรม จะไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นถ้าเราดูผิวเผิน เราจะเห็นครูบาอาจารย์หลายๆ องค์จิตท่านจะทรงอยู่อย่างนี้ได้ทั้งวัน จะเห็นกายรู้สึกมันว่างเปล่า โลกก็ว่างเปล่า กายก็ว่างเปล่า จิตก็ว่างเปล่า เครื่องอยู่ยังไม่เหมือนกัน
เครื่องอยู่ของพระอรหันต์แต่ละองค์ก็จะไม่เหมือนกัน จะ 2 กลุ่มใหญ่ๆ พวกที่มาทางสมาธิก็ไปแบบหนึ่ง พวกที่มาทางเจริญปัญญาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แตกต่างกัน
ถ้าเข้าใจเราจะดูตรงไหน เราไม่ได้ดูว่าจิตท่านอยู่กับอะไร เราจะดูว่าจิตท่านยึดอะไรหรือเปล่า จิตมันจะไม่ยึดอะไร จิตมันจะไม่เกาะอะไรหรอก ทั้งๆ ที่เครื่องอยู่ไม่เหมือนกัน ... “
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
31 กรกฎาคม 2564
.
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มจาก :
1
เยี่ยมชม
dhamma.com
ปัญญานำสมาธิ
ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วแทนที่มุ่งไปที่ความสุขความสงบ คอยรู้ทันจิตตัวเองไป เราจะเดินปัญญา อย่างนี้เรียกปัญญานำสมาธิ
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash
13 บันทึก
15
14
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์
13
15
14
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย