18 ส.ค. 2021 เวลา 02:40 • ความคิดเห็น
ในหลวงรัชกาลที่สี่ และพระสยามเทวาธิราช
ความเชื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของสังคมมนุษย์และอยู่คู่กันมาเนิ่นนาน บางเรื่องเชื่อกันเฉพาะกลุ่มขณะที่หลายเรื่องเชื่อกันอย่างแพร่หลาย เช่นผู้คนในสังคมไทยเชื่อการบนบานสานกล่าว การตั้งศาลพระพรหมหรือพระภูมิเจ้าที่ ทางสามแพร่งเป็นทางผีผ่าน เป็นต้น
ความเชื่อเรื่องพระสยามเทวาธิราชนั้นมีมาเนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สี่ทรงมีพระราชดำริถึงชะตากรรมของสยามประเทศเมื่อเทียบกับบ้านใกล้เรื่อนเคียงว่า “เมืองไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นมาได้เสมอ ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งคอยพิทักษ์รักษาอยู่ สมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้นไว้สักการะบูชา”
เทวรูปพระสยามเทวาธิราช (รูปจากเว็บไซต์ผู้จัดการ)
นั่นคือข้อเท็จจริงที่ชัดเจนและเรียบง่าย พระสยามเทวาธิราชเป็นความเชื่อส่วนพระองค์และน่าจะเป็นสิ่งที่เชื่อกันในหมู่ราชวงศ์ สืบทอดต่อกันเป็นการภายในมาจนปัจจุบัน การที่สมัยก่อนไม่เผยแพร่และไม่มีรูปหรือรูปจำลองให้เห็นโดยทั่วไปจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือลี้ลับแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิ่งที่เชื่อกันในหมู่ราชวงศ์เท่านั้น ไม่ใช่ว่าสงวนไว้หรือเป็นของต้องห้าม เพียงแต่ไม่มีความจำเป็นต้องเผยแพร่
อันที่จริงต้องถือเป็นความกล้าที่จะเปิดเผยและเปิดกว้างของราชวงศ์จักรีด้วยซ้ำที่เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยมาและมีพระราชพิธีต่าง ๆ มีการอัญเชิญเทวรูปออกมาสักการะแล้วก็บอกกล่าวกับผู้คนกับสังคมอย่างเปิดเผยว่า นี่คือพระสยามเทวาธิราช มีที่มาที่ไปอย่างไร บรรพกษัตริย์ทรงมีความเชื่อเช่นนี้ เหล่าราชวงศ์มีความเชื่ออย่างนี้ ก็บอกกล่าวกันธรรมดาโดยไม่ได้บังคับหรือโน้มน้าวให้ต้องเชื่อตามหรือมีข้อหวงห้ามอะไร เป็นสิ่งที่ใครใคร่จะเชื่อก็เชื่อตามได้
คนที่ไม่เคยเฉียดใกล้ความตายแล้วรอดชีวิต ไม่เคยเผชิญอุปสรรคจนแทบไม่เห็นทางรอดแต่สถานการณ์ก็พลิกผันจากร้ายเป็นดี ย่อมเห็นแต่ตนเองเป็นที่ตั้ง ฉันดีฉันเก่ง ยกย่องบูชาความรู้หรืออัตตากันไป ต่อเมื่อเจอสถานการณ์ดังว่าแล้ววางอัตตาทิ้งได้เท่านั้นจึงจะเปิดใจและเชื่อได้ว่า "โลกนี้ยังมีอะไรอื่นที่กุมความเป็นไปได้ของหลายสิ่งหลายอย่างอยู่"
นั่นน่าจะเป็นหัวใจของความเชื่อทั้งหลาย เช่นความเชื่อเรื่องพระสยามเทวาธิราช ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากแต่ยังเป็นกุศโลบายหล่อเลี้ยงจิตใจให้กษัตริย์ทรงเชื่อมั่นว่าประเทศชาติจะแคล้วคลาดปลอดภัย แล้วทรงทุ่มเทพระกำลังและพระสติปัญญาสอดส่องดูแลความเป็นไปของประเทศ
ทั้งที่หากมองอีกมุมหนึ่ง พระองค์ทรงสามารถกล่าวอ้างได้ว่า ที่รอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมนั้นเป็นผลจากพระสติปัญญาด้านนโยบายการต่างประเทศ ทรงกล่าวได้โดยชอบธรรมด้วยนั่นเป็นความสัตย์จริง ทว่ากลับกลายเป็นพระองค์ทรงยกเรื่องนั้นให้เป็นคุณงามความดีของเทวดาองค์หนึ่งแทน ช่างทรงถ่อมพระองค์ยิ่งนัก
“เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม” สื่อควรคาดข้อความนี้เมื่อนักการเมืองพูดว่าประชาชนต้องการอะไร นอกเหนือจากใช้ในเรื่องผีสาง
ในสมัยก่อนมีคำกล่าวว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยและเชื่อว่าใจความสำคัญที่ตกหล่นขาดหายไปจากการสอนต่อ ๆ กันมาควรจะเป็น “ไม่เชื่อ ไม่ลบหลู่” เนื่องจากมีคำโบราณอีกเช่นกันว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล การกระทำจะส่อเจตนาและนิสัยใจคอของคนว่าดีหรือชั่วได้ชัด
ทว่าในปัจจุบัน แม้จะเป็นยุคที่มีข้อมูลข่าวสารแพร่หลาย สามารถอ้างอิงที่มาของข้อมูลเพื่อความถูกต้องแม่นยำได้ไม่ยาก ก็ยังมีคนที่เชื่อง่ายและพร้อมจะหยิบยกเรื่องความเชื่อมาสร้างประเด็นให้เป็นปัญหาขึ้นมาเสมอ ๆ ราวกับว่า “ไม่เชื่อก็ไม่ฟังแล้วต้องล้มล้าง”
จากการสังเกตของผม พบว่ามีกลุ่มคนพยายามบิดเบือนให้พระสยามเทวาธิราชเป็นผีสาง หรือเป็นเครื่องหมายของสิ่งอื่นที่พวกเขาเห็นว่าไม่ควรมีอยู่ ซึ่งพวกเขาคงมีเหตุผลของตนเองที่ต้องพยายามขยาย "ความเชื่อของพวกเขา" หรือ “ความไม่เชื่อ” อันนี้ให้กว้างไกลออกไปทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรมองให้เห็นและตั้งคำถามต่อ "ความเชื่อ" เหล่านั้นด้วย ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกับการมองและตั้งคำถามต่อหลาย ๆ เรื่อง
ส่วนตัวผมมองว่าคนเราต่างจิตต่างใจ ความเชื่อไม่มีชีวิตจิตใจ จึงไม่ควรมีคนเป็น ๆ ต้องบาดหมางเอาชนะคะคานกันว่าฉันถูกแกผิดเพียงเพราะมีความเชื่อแตกต่างกัน
"เพราะความเชื่อและการนับถือศาสนาไม่ได้เป็นเพียงเรื่องส่วนบุคคล หากแต่เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญมีบัญญัติไว้ด้วย"
อ้างอิง
💡 สารคดี "บรมราชาภิเษก" ตอน : พระสยามเทวาธิราช

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา