12 ส.ค. 2021 เวลา 06:54 • อาหาร
เรื่องราวของ "อาหารเช้า (Breakfast)"
อาหารเช้าถือว่าเป็นมื้ออาหารที่พวกเราหลายคน อาจจะข้าม ๆ มันไป…
หรือ หลายคนอาจจะตื่นมาไม่ทัน ต้องรีบออกไปทำงาน เลยต้องทานแบบเร่งด่วนแทน (เช่นเรา)
แต่ในขณะเดียวกันกับบางคน ที่อาจเฝ้ารอวันหยุดสุดสัปดาห์ที่แสนหอมหวาน สำหรับการตื่นเช้าเพื่อออกกำลังกายและทำอาหารเช้าแบบจัดเต็มทานกัน
สำหรับพวกเรา ก็จะรักมื้ออาหารเช้ามาก ๆ โดยเฉพาะมื้ออาหารเช้าในโรงแรม เวลาที่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ
ว่าแต่ว่า อาหารเช้านี้ มีกี่แบบ กี่สไตล์กันบ้างนะ ?
งั้นวันนี้ ให้พวกเรา InfoStory หยิบยกเรื่องราวสบายสมองเกี่ยวกับอาหารเช้า มาให้เพื่อน ๆ รับชมกันในภาพอินโฟกราฟิกกันนะ !
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่าเรื่องราวของอาหารเช้าในอดีตเนี่ย สามารถบ่งบอกถึงสถานะความมั่งคั่งของคนในยุคสมัยกลางได้ (เรียกได้ว่าจะแบ่งแยกชนชั้นไปเลยละ)
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คงเป็นเรื่องราวของมื้อเช้าแบบชาวอังกฤษ
คือ ชาวยุโรปโดยทั่วไปในสมัยก่อน (สมัยยุคกลาง)
เขาจะไม่ได้นิยมทานอาหารเช้าแบบจริงจังมาก
เพราะพวกเขาเชื่อว่า มันไม่ได้จำเป็นและมีประโยชน์มากขนาดนั้น แถมยังสิ้นเปลือง และพวกเขาจะไปโฟกัสที่มื้อเที่ยง (Lunch) และมื้อเย็น (Dinner) แทน
ส่วนอาหารเช้าจะมีไว้สำหรับเด็กและคนชราที่จะกินเพื่อเสริมความแข็งแรงเท่านั้น
ซึ่งตรงนี้คนยุโรปในยุคนั้นจะเรียกว่า อาหารว่างหรืออาหารมื้อเล็ก
(อย่างเช่น ชาวยุโรปจะเชื่อว่า เด็ก ๆ ต้องทานขนมปังที่มีสีน้ำตาลพร้อมนมและชีส เป็นต้น)
แต่ทว่า...ไม่ใช่กับคนอังกฤษ..
ที่นิยมทานอาหารเช้ากันมาก เพราะเชื่อว่าอาหารเช้าคือแหล่งพลังงานที่สำคัญของการทำงานใน 1 วัน
ว่ากันว่า อาหารเช้าเริ่มกลายเป็นการแสดงออกทางสถานะแบบนี้ ในช่วงหลังจากสมัยยุคกลาง
อย่างเช่นราชินี 2 พระองค์ของอังกฤษ อย่าง ควีนอลิซาเบธ พระมเหสีของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 4 (Elizabeth Woodville, Queen of England) และ ควีนอลิซาเบธที่ 1 (Elizabeth I of England) แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์
Elizabeth Woodville, Queen of England
Elizabeth I of England
ที่ไม่สนใจว่าชาวยุโรปจะทานอาหารกี่มื้อหรือจะทานอย่างไร...
แต่ว่า ฉันจะทานอาหารมื้อเช้า !
ต่อมา อาหารเช้าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชาวอังกฤษชนชั้นสูง โดยที่พวกเขาจะนิยมบริโภคเนื้อสัตว์อย่างเบคอน แฮม ไส้กรอก และ ไข่
มากกว่าการทานขนมปังหรือผลไม้ แบบชาวยุโรปทั่วไป
เพราะขนมปัง มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่คนจนหรอชนขั้นแรงงานของชาวอังกฤษ จะนิยมทานขนมปังที่ค้างคืนหรือข้าวโอ้ตต้ม ทานคู่กับเอล (หรือเบียร์ดำแบบ Porter)
กล่าวคือ ชาวอังกฤษที่ไม่ว่าจะรวยหรือจน ต่างก็ต้องทาน “อาหารเช้า” กันทุกคน
(แน่นอนว่าวัฒนธรรมการทานอาหารเช้าแบบอังกฤษนี้ ก็ได้แพร่ขยายไปในประเทศอื่น ๆ ตามพลังอำนาจและขนาดอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ อีกด้วยนะ)
จนกระทั่งค่านิยมนี้ ก็ค่อย ๆ จางหายไปในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1840
อย่างไรก็ดี...ในยุคของราชินีวิคตอเรีย ก็ยังมีการแบ่งชนนั้นล่าง กลาง และ สูง อยู่ดี
เพียงแต่ในเรื่องขององค์ประกอบในมื้ออาหารกลับไม่ได้ถูกพูดถึงแล้วละ
แต่เป็นในส่วนของ ชนชั้นสูงจะต้องทานอาหารแบบแยกห้องกับชนชั้นล่าง/แรงงาน
หรือ ในมื้ออาหารเช้าจะต้องมีองค์ประกอบการทานที่มากถึง 3 คอร์สด้วยกัน (กลายเป็นยิ่งทานเยอะมากก็คือ รวยมากจ้า)
ด้วยวัฒนธรรมการทานอาหารเช้าในปริมาณที่เยอะมากของเศรษฐีชาวอังกฤษเหล่านี้เอง จึงได้เกิดเป็นชื่อเรียก อาหารเช้าแบบนี้ว่า “Full English Breakfast” ที่เราคุ้นเคยกันนี่เอง !
จะบอกต่อว่า Full English Breakfast นี่เอง ก็ยังเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์ รวมไปถึงทางอีกฝั่งของซีกโลกอย่างสหรัฐอเมริกาด้วยนะ
Full English Breakfast
อย่างเช่น Full Scottish Breakfast ที่แทบจะมีองค์ประกอบเหมือนกับ Full English เพิ่มเติมด้วยตัวเบคอนที่ทำมาจากส่วนหลังของหมู หรือ จะต้องมีแฮกกิสและแบล็กพุดดิงประกอบในจาน
Full Scottish Breakfast
หรืออย่าง American Breakfast หรืออาหารเช้าสไตล์อเมริกัน เอง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารเช้าแบบอังกฤษมาเต็ม ๆ เลย
(ลองดูส่วนผสมเช่นพวก เบคอน ไส้กรอก ไข่ ขนมปังปิ้ง)
American Breakfast
ส่วนหนึ่งที่สำคัญ ก็มาจากอดีตกลุ่มชาวอาณานิคมที่อพยพมาจากอังกฤษ
ในช่วงที่พวกเขาต้องใช้แรงกายแรงใจในการสร้างชาติอเมริกาขึ้นมาให้เป็นปึกแผ่น
และเราจะไม่สามารถทำได้ หากเราไม่ได้บริโภคมื้อเช้าที่สมบูรณ์แบบ
(แน่นอนว่า อะไรมันจะดีไปกว่า การนำแรงบันดาลใจจากบ้านเกิดอย่างอังกฤษมาปรับใช้กันละ !)
แต่อีกหนึ่งจุดเด่นของอาหารเช้าสไตล์อเมริกัน ก็มาจากความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ที่ทำให้ American Breakfast ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัวมาก ยกตัวอย่างเช่น การผสมผสานจากทาสชาวผิวดำที่อพยพมาจากประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน ชาวยุโรปอย่างอิตาลี หรือ จากชาวเอเชีย เป็นต้น
(อย่างจุดที่เราชอบคือ ถ้าเป็นบุฟเฟต์โรงแรมสไตล์ ABF เนี่ย บางโรงแรมเขาก็จะมีข้าวสวยหรือข้าวผัดไข่ให้เราตักด้วยนะ)
American Breakfast Buffet
เชื่อว่าเพื่อน ๆ ที่เป็นนักท่องเที่ยวหลาย ๆ คน คงจะเคยไปเที่ยวยุโรป หรือ อเมริกา เอง บางทีเราอาจจะคาดหวังว่า จะได้เจอไลน์บุฟเฟ่ต์อาหารฝรั่งแบบจัดเต็ม…
แต่ในหลาย ๆ ครั้ง เรากลับเจอไลน์อาหารที่เน้นขนมปัง ซีเรียล และ นมแทน …
ซึ่งอาหารเช้าในลักษณะแบบนี้ จะมีชื่อเรียกว่า “Continental Breakfast”
จริง ๆ แล้ว ที่มาตรงนี้ เราสามารถย้อนเรื่องราวไปยังความเชื่อของชาวยุโรปสมัยก่อนที่มองว่า อาหารเช้านั้น ไม่จำเป็น แต่ว่าเหมาะกับเด็กและคนชราเสียมากกว่า อย่างที่ได้กล่าวไปในช่วงต้นเนอะ
สำหรับคำนิยามของที่มีชื่อเรียกว่า Continental Breakfast
ก็ได้กำเนิดประมาณปี ค.ศ. 1896 โดยเหล่าผู้ให้บริการที่พักชาวอเมริกัน ที่ต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่มีลักษณะการทานอาหารเช้า
หลังจากที่คำนิยามนี้ได้ถูกเรียกแพร่ขยายออกไป เหล่าผู้ประกอบการโรงแรมต่าง ๆ ในประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี ก็ได้ใช้คำนิยามแบบนี้มาปรับใช้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งส่วนใหญ่ชื่อเรียก Continental Breakfast นี้ ก็จะปรากฏให้เห็นกันในโรงแรมเสียมากกว่า
Continental Breakfast ที่พบเห็นได้ตามโรงแรมจ้า
อาหารเช้าอีกหนึ่งประเภท ที่เรารู้สึกชอบก็คือ “อาหารเช้าสไตล์ญี่ปุ่น (Japanese Breakfast)”
อาจเพราะว่าตัวเราเป็นคนชอบทานข้าวอยู่แล้ว และต้องการพลังงานในช่วงเช้าที่เยอะ
นอกจาก Full English แล้วก็จะชอบสไตล์ญี่ปุ่นเป็นอันดับต่อมา
อาหารเช้าแบบญี่ปุ่น ก็จะประกอบด้วย ข้าว ซุปมิโซะ ไข่ม้วน ปลาแซมอนย่าง ผักดองหรือสลัดผักต่าง ๆ
ปิดด้วยชาเขียวหรือกาแฟร้อน ๆ สักแก้ว
คอนเซปต์ของชาวญี่ปุ่นนั้นก็แสนเรียบง่าย
พวกเขามองว่าอาหารมื้อเช้าเป็นสิ่งสำคัญ ต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ด้วยกับข้าวประมาณ 3 อย่าง ก็คือไม่เยอะไม่น้อยจนเกินไป พอมีพลังทำงานได้จนถึงเวลาบ่าย
นอกจากนั้นแล้ว เราก็ยังสัมผัสได้ถึงความเรียบง่ายและความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการจัดกับข้าวใส่จานขนาดพอดี รสชาติที่ไม่จัด แต่ก็ไม่จืดจนเกินไป
และถ้าเราได้ไปสัมผัสที่ญี่ปุ่น ก็จะมีกับข้าวบางจานที่เป็นอาหารตามฤดูกาล ที่เชฟได้จัดไว้ให้ อีกด้วยละ
(ถ้าเป็นที่ไทย พวกเราก็เคยมีโอกาสไปทานอาหารเช้าสไตล์ญี่ปุ่นที่โรงแรม Nikko ตรงทองหล่อค่อนข้างครบเครื่องเลยทีเดียวละ เขาจะให้เราตักใส่เบนโตะ น่ารักดี แต่ว่ามันจะเป็นบุฟเฟต์นะ แต่จะมีแค่ไม่กี่อย่างเท่านั้นเอง แค่มีไม่อั้นจ้า ฮ่าๆ)
จนมาถึงในปัจจุบัน ที่มื้อเช้าในวันธรรมดาของเรา ก็อาจจะไม่ได้มีเวลาที่จะต้องทุ่มเทมากขนาดนั้น
นั่นก็เพราะปัจจัยเรื่องเวลา ที่มาบีบบังคับให้เราต้องปรับไลฟ์สไตล์การทานอาหารเช้าเป็น
“Breakfast On the go” หรือ การทานอาหารเช้าแบบเร่งด่วน
Grab & Go Breakfast Box
ต้องบอกว่าการทานอาหารเช้าระหว่างเดินทางเนี่ย
มันไม่ได้เพิ่งเกิดในสมัยใหม่หรือในยุคของพวกเราแต่อย่างใด
แต่เรื่องราวนี้ ได้เกิดมาตั้งแต่ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม (ช่วงศตวรรษที่ 19) กันแล้วละ
โดยในสมัยนั้น คนงานในโรงงานที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็จะมีการทานอาหารเช้าอย่างแซนวิช (Sandwich Breakfast) ระหว่างเดินทางไปทำงาน
(คือ มือนึงถือแซนวิช มือนึงถือถ้วยกาแฟ)
ข้ามไปยังฝั่งทวีปอเมริกา พวกเขาก็มีการทานอาหารในลักษณะของ Breakfast on the go เช่นกันนะ
แน่นอนว่าจะมีความคล้ายกับอังกฤษคือเป็นแซนวิช ซึ่งจะมีเอกลักษณ์ที่เรียกว่า “เดนเวอร์แซนด์วิช (Denver Sandwich)” หรือ แซนด์วิชที่มีไส้เป็นออมเล็ต (Omelette) นั่นเองจ้า
Denver Sandwich
แน่นอนว่า ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด จนไปถึงการ Lockdown ตัวเองอยู่แบบนี้....
การทานอาหารของเราก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปอีกเช่นกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะยังเหมือนเดิมสำหรับหลาย ๆ คนที่ตื่นสาย ก็คือ เราจะต้องปรับใช้วิธี “Breakfast On the go” อยู่ดี ไม่ว่าจะทำงานที่บ้านหรือที่ออฟฟิศก็ตามที… (แบบเราเป็นต้น ทำที่บ้าน แต่ก็ยังตื่นสายไปอีกนะ)
ก็พอหอมปากหอมคอกันไปอย่างเช่นเคย
วันนี้พวกเราก็ขอจบเรื่องราวสบายสมองเกี่ยวกับอาหารเช้า ไว้ที่ตรงนี้
ว่าแต่...มื้อเช้าวันนี้ เพื่อน ๆ ทานอะไรกันมาเอ่ย ?
ส่วนพวกเรา วันนี้ก็ไม่ต้องทานแบบ on the go แบบในทุกวันทำงาน
เพราะวันนี้เป็นวันหยุด(วันแม่) พวกเราก็เลยทำมื้อเช้าอย่าง Full English Breakfast มาทานกับครอบครัวสบาย ๆ 🙂
แหล่งที่มา
-หนังสือ "มองโลกผ่านอาหารเช้า" เขียนโดยคุณ โตมร ศุขปรีชา
-หนังสือ “ตำนานอาหารโลก” แปลโดยคุณ พลอยแสง เอกญาติ
โฆษณา