27 ก.ย. 2021 เวลา 08:17 • ประวัติศาสตร์
มารู้จัก "Bentou (弁当)" วัฒนธรรมการทานอาหารกล่อง ของชาวญี่ปุ่น
หลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายล็อคดาวน์แล้ว
แน่นอนว่า การนั่งทานอาหารที่ร้านก็เป็นสิ่งแรก ๆ ที่พวกเรานึกถึง
โดยร้านอาหารที่พวกเรามุ่งตรงไปเป็นแห่งแรก ๆ ก็คือ ร้านอาหารญี่ปุ่น !
สิ่งที่สังเกตระหว่างการสั่งอาหารญี่ปุ่นแบบชุดมาทาน ก็คือ ร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีการจัดอาหารลงในกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่แบ่งช่องมาอย่างดี
หรือ ก็อาจจะเป็นการจัดอาหารแบ่งใส่จานเล็ก ๆ แล้วนำมาเสิร์ฟในถาดเนอะ
ก็เลยทำให้เราต้องนึกถึงเรื่องราวของ "เบนโต Bentou (弁当)" หรือ อาหารมื้อกลางวันในกล่องที่ทานสะดวกได้ทุกที่ แถมมีสารอาหารครบ 5 หมู่ อีกด้วย
ว่าแต่...เรื่องราวของเบนโต เป็นอย่างไร ?
วันนี้พวกเรา InfoStory จะขอพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกัน !
หลังจากที่เห็นกันจากภาพอินโฟกราฟิกกันไปคร่าว ๆ แล้ว
พวกเราก็อยากจะเล่าความเป็นมาของเบนโตะให้เพื่อน ๆ ฟังกันสักนิดนึง
ชื่อของเบนโต ที่มีความหมายว่า ความสะดวกสบาย
ความสะดวกสบายในที่นี้ ก็เป็นในเรื่องของการรับประทานอาหารนอกสถานที่
ซึ่งฟังดูชื่อก็อาจจะคล้าย ๆ กับการทานอาหารแบบ "ปิ่นโต" หรือ ภาชนะบรรจุอาหารแบบวางซ้อนกัน ของไทยเนอะ (แต่ความหมายอาจจะไม่คล้ายกันมาก)
อันที่จริงแล้ว ว่ากันว่ามีการสันนิษฐานที่มาของคำว่า "ปิ่นโต" ของไทย ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "เปี้ยนตัง" ของจีน ที่เป็นต้นกำเนิดชื่อเรียกของ "เบนโตะ" ของญี่ปุ่นนี่เอง
(แต่ว่า… อีกแหล่งบันทึกหนึ่ง ก็จะมีบอกว่า "ปิ่นโต" มาจากคำว่า "ปินโต" ในภาษาโปรตุเกส)
ต้นกำเนิดที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเบนโตในยุคสมัยปัจจุบัน
ก็ว่ากันว่าถูกค้นพบครั้งแรกในยุคคามากุระ (ค.ศ. 1185) โดยจะเป็นข้าวและเนื้อสัตว์ที่ห่ออยู่ในใบไผ่ ที่เน้นเรื่องของทานที่สะดวกและรวดเร็วสำหรับเหล่านักรบ
จนกระทั่งมาถึงในยุคสมัยเอโดะของตระกูลโชกุนโทกุงาวะ (ค.ศ. 1603)
อาหารแบบกล่องอย่างเบนโต ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น นั่นก็เพราะชาวญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้น ต้องเดินทางไปมาระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง เป็นเพราะในเรื่องของระบบการปกครองก็ด้วยเช่นกัน
ซึ่งในช่วงแรกของยุคสมัยเอโดะ การทานอาหารในกล่องแบบเบนโต ก็ยังคงเป็นการทานในกล่องไม้ไผ่แบบดั้งเดิม
ต่อมา ด้วยคุณภาพชีวิตของคนญี่ปุ่นที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนหนึ่งเราเข้าใจว่า เพราะการไม่มีสงครามภายในประเทศกันตลอดเวลาแล้ว ในยุคของโชกุนโทกุงาวะ
วัฒนธรรมการทานเบนโตะ ก็ได้แทรกซึมเข้าไปสู่ชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น
ยกตัวอย่างเช่น “Sageju-Bako”
ที่มีการคิดค้นกล่องใส่เบนโตะขนาดใหญ่แถมดูหรูหรา บรรจุอาหารได้เยอะ สำหรับเฉลิมฉลองในเทศกาลชมดอกไม้ หรือ ในพิธีชงชาสำคัญต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมในกลุ่มชนชั้นสูง
Sageju-Bako
จนมาถึง “Maku no uchi Bento” ที่วัฒนธรรมการทานเบนโตะ เป็นที่นิยมมากขึ้น ที่พัฒนาจากการทานอาหารแบบหรูในเทศกาล หรือ ในช่วงระหว่างการชมละคร มาจนถึงกลุ่มครอบครัว ที่ภรรยาจะทำอาหารกล่องเบนโตะที่ทานง่ายพกพาสะดวกแถมสารอาหารครบ เป็นมื้อกลางวัน ให้กับสามีและลูก ๆ
Maku no uchi Bento
จนมาถึงในยุคสมัยใหม่อย่าง “Eki-ben” หรือ ข้าวกล่องเบนโตรถไฟ
ที่ชาวญี่ปุ่นจะนิยมหาซื้อทานตามสถานีรถไฟ ระหว่างไปทำงาน ขนาดเล็ดกะทัดรัด โดยอาจไม่ได้มีส่วนประกอบของเบนโตะที่ครบถ้วน เพราะเน้นความสะดวกมากกว่า
หรือ กลายเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมของอาหารในจังหวัดนั้น ๆ ผ่านเบนโตะในสถานีรถไฟ ก็ได้อีกเช่นกัน
Eki-ben
อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือเรื่องราวที่แอบดราม่าของ เบนโตะ กับ การแสดงออกทางศิลปะ ผ่านเบนโตะรูปตัวละครการ์ตูน “Kyaraben” (จากภาพอินโฟกราฟิก)
Kyaraben
มองผิวเผินก็อาจจะดูน่ารักดี จนบางทีก็สวยงาม จนอาจทำให้เราทานไม่ลง เพราะมันช่างดูเป็นงานศิลปะมากกว่าอาหารเนอะ
ตรงจุดนี้ละ ที่เขาก็จะมีการดราม่าแบบกึ่งเสียดสีในเรื่องของครอบครัวกัน...
เท่าที่เราเข้าใจคือ ด้วยวัฒนธรรมการทำข้าวกล่องเบนโตะของเหล่าคุณแม่ ที่ทำข้าวกล่องเบนโตแบบวาดลวดลายการ์ตูนนี้ มันก็จะสะท้อนผ่านมาถึงตัวเด็กญี่ปุ่นในสมัยใหม่ ที่เวลาจะทานเบนโตก็จะมีการโอ้อวดกันเกิดขึ้น (หรือกระทั่งตัวของคุณแม่ที่ต้องมีการอัปโหลดผลงานในโซเชียลมีเดียเองก็ตาม)
จนอาจกลายเป็นการเสียดสีในเรื่องของ “ความรักความเอาใจใส่ของแม่” หรือ ฐานะของครอบครัวนั้น ๆ
Kyaraben
โอโห… ไปไกลเลยละเนอะ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเราเองก็ไม่เคยได้สัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นในเรื่องนี้ เพียงแต่ดูสารคดีและอ่านบทความ จึงจับใจความที่น่าสนใจส่วนนี้มาเล่าต่อ ก็อาจจะไม่สามารถลงอย่างลึกซึ้งไปมากกว่านี้ได้...
ก็พอหอมปากหอมคอกันไปเช่นเคย
งั้นวันนี้พวกเรา InfoStory ก็ขอตัวพักเรื่องราวสาระสบายสมองไว้ที่ตรงนี้ก่อน 🙂
โฆษณา