26 ส.ค. 2021 เวลา 13:01 • ปรัชญา
" ... ถ้าได้อาจารย์ที่ถูกที่ดี ก็จะได้รับผลที่ถูกที่ดี
ถ้าได้อาจารย์ที่ไม่รู้ไม่ดีไม่ถูกไม่ต้อง
ก็จะได้รับผลที่ผิดเป็นทุกข์
พาให้หลงโลกหลงทาง
พาให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร
สิ้นกาลนาน ..."
ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้ไม่แจ้งไม่เข้าใจในพระนิพพาน
ไม่ควรจะสั่งสอนพระนิพพานแก่ท่านผู้อื่น
ถ้าขืนสั่งสอนก็จะพาท่านหลงหนทาง
จักเป็นบาปเป็นกรรมแก่ตน
ควรจะสั่งสอนแต่เพียงคลองแห่งทาง
มนุษย์สุคติ สวรรค์สุคติ
เป็นต้นว่าสอนให้รู้จักทาน
ให้รู้จักศีล ๕ ศีล ๘ ให้รู้คลองแห่งกุศลกรรมบถ
 
ให้รู้จักปฏิบัติมารดาบิดา
ให้รู้จักอุปัชฌาย์อาจารย์
ให้รู้จักก่อสร้างบุญกุศลต่าง ๆ
ที่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น
เพียงเท่านี้ก็อาจจะได้มนุษย์สมบัติ
สวรรค์สมบัติพอสมควรอยู่แล้ว
ส่วนความสุขในโลกุตตรนิพพานนั้น
ผู้ใดต้องการจริง ต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๑๐
ศีลพระปาติโมกข์เสียก่อน
จึงชื่อว่าเข้าใกล้ทาง
มีโอกาสที่จะได้จะถึงโลกุตตรนิพพานโดยแท้
แม้ผู้จะเจริญคลองพระนิพพานนั้น
ก็ให้รู้จักท่านผู้เป็นครูว่ารู้แจ้งทางพระนิพพานจริง
จึงไปอยู่เล่าเรียน
ถ้าไปอยู่เล่าเรียนในสำนักของท่านผู้ไม่รู้แจ้ง
ก็จักไม่สำเร็จโลกุตตรนิพพานได้
เพราะว่าทางแห่งโลกุตตรนิพพานนี้
เล่าเรียนได้ด้วยยากยิ่ง
ด้วยเหตุสัตว์ยินดีอยู่ในกามคุณ
อันเป็นข้าศึกแก่พระนิพพานโดยมาก
ภนฺเต อริยกสฺสป ข้าแต่พระอริยกัสสปะผู้มีอายุ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนา แก่ข้าฯ
อานนท์ด้วยประการดังนี้
ขอให้พระสงฆ์ทั้งหลาย
จงทราบด้วยพลญาณแห่งตนดังแสดงมานี้เถิด
ตทนนฺตรํ ลำดับนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนา
ต่อไปอีกว่า อานนฺท ดูกรอานนท์
อันว่าบุคคลทั้งหลาย ผู้ปรารถนาซึ่งพระนิพพาน
ควรแสวงหาซึ่งครูที่ดีที่อยู่เป็นสุขสำราญ มิได้ประมาท
เพราะพระนิพพานไม่เหมือนของสิ่งอื่น
อันของสิ่งอื่นนั้นเมื่อผิดไปแล้ว
ก็มีทางแก้ตัวได้หรือไม่สู้เป็นอะไรนัก
เพราะไม่ละเอียดสุขุมมาก
ส่วนพระนิพพานนี้ละเอียดสุขุมที่สุด
ถ้าผิดแล้วก็เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์เป็นนักหนา
ทำให้หลงโลกหลงทางห่างความสุข
ทำให้เสียประโยชน์เพราะอาจารย์
ถ้าได้อาจารย์ที่ถูกที่ดี ก็จะได้รับผลที่ถูกที่ดี
ถ้าได้อาจารย์ที่ไม่รู้ไม่ดีไม่ถูกไม่ต้อง
ก็จะได้รับผลที่ผิดเป็นทุกข์
พาให้หลงโลกหลงทาง
พาให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารสิ้นกาลนาน
เปรียบเหมือนผู้จะพาเราไปในที่ตำบลใดตำบลหนึ่ง
แต่ผู้นั้นไม่รู้จักตำบลนั้น แม้เราเองก็ไม่รู้
เมื่อกระนั้น ไฉนเขาจึงจะพาเราไปให้ถึงตำบลนั้นได้เล่า
ข้ออุปมานี้ฉันใด อาจารย์ผู้ไม่รู้พระนิพพาน
และจะพาเราไปพระนิพพานนั้น
ก็จะพาเราหลงโลกหลงทาง
ไป ๆ มา ๆ ตาย ๆ เกิด ๆ อยู่ในวัฏฏสงสาร
ไม่อาจจะถึงพระนิพพานได้
เหมือนคนที่ไม่รู้จักตำบลที่ไป
และเป็นผู้พาไปก็ไม่อาจจะถึงได้ มีอุปไมยฉันนั้น
ผู้คบครูอาจารย์ที่ไม่รู้ดีและได้ผลที่ไม่ดี
มีในโลกมิใช่น้อย
เหมือนดังพระองคุลิมาลเถระ
ไปเรียนวิชาในสำนักครูผู้มีทิฏฐิอันผิด
ก็ได้รับผลที่ผิด คือเป็นมหาโจรฆ่าคนล้มตายเสียนับด้วยพัน
หากเราตถาคตรู้เห็นมีความสงสารเวทนามาข้องอยู่ในข่ายสยัมภูญาณ
จึงได้ไปโปรดทรมานให้ละเสียซึ่งพยศอันร้าย
เป็นการลำบากมิใช่น้อย
ถ้าไม่ได้พระตถาคตแล้ว
พระองคุลิมาลก็จักได้เสวยทุกข์อยู่ในวัฏฏสงสารสิ้นชาติเป็นอันมาก
ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้พระนิพพานไม่ควรเป็นครู
สั่งสอนท่านผู้อื่นในทางพระนิพพานเลย
ต่างว่าจะสั่งสอนเขา จะสั่งสอนว่ากระไรเพราะตัวไม่รู้
เปรียบเหมือนบุคคลไม่เคยเป็นช่างเขียนหรือช่างต่าง ๆ มาก่อนแล้ว
และอยากเป็นครูสั่งสอนเขา จะบอกแก่เขาว่ากระไร
เพราะตัวเองก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ
จะเอาอะไรไปบอกไปสอนเขา
จะเอาแต่คำพูดเป็นครู
ทำตัวอย่างให้เขาเห็นเช่นนั้นไม่ได้
จะให้เขาเล่าเรียนอย่างไร
เพราะไม่มีตัวอย่างให้เขาเห็นด้วยตาให้รู้ด้วยใจ
เขาจะทำตามอย่างไรได้
ตัวผู้เป็นครูนั้นแลต้องทำก่อน
ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรเป็นครูสอนเขา
ถ้าขืนเป็นครูก็จะพาเขาหลงโลกหลงทาง
เป็นบาปเป็นกรรมแก่ตัวหนักหนาทีเดียว
พระพุทธเจ้าตรัสแก่ข้า ฯ อานนท์ดังนี้แล
ตทนนฺตรํ ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเทศนา
ต่อไปอีกว่า อานนฺท ดูกรอานนท์
อันว่าบุคคลผู้จะสอนพระนิพพานนั้น
จะต้องให้รู้แจ้งประจักษ์ชัดเจนว่า
พระนิพพานมีอยู่ในที่นั้น ๆ
มีลักษณะอาการอย่างนั้น ๆ
ต้องรู้ให้แจ้งชัด
จะกล่าวแต่เพียงวาจาว่านิพพาน ๆ ด้วยปาก
แต่ใจไม่รู้จักแจ้งชัดเช่นนั้นไม่ควรเชื่อถือเลย
ต้องให้รู้แจ้งชัดในใจก่อน
จึงควรเป็นครูเป็นอาจารย์สอนท่านผู้อื่นต่อไป
จะเป็นเด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม
ถ้ารู้แจ้งชัดซึ่งพระนิพพานแล้ว
ก็ควรเป็นครูเป็นอาจารย์
แลควรนับถือเป็นครูเป็นอาจารย์ได้
แม้จะเป็นผู้ใหญ่สูงศักดิ์สักปานใดก็ตาม
ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจแล้ว
ไม่ควรนับถือเป็นครูเป็นอาจารย์เลย
อ้างอิง :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา