21 ส.ค. 2021 เวลา 05:50 • การศึกษา
ในเรื่องการค้ำประกันนั้น แต่ก่อนกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้ำประกันสามารถรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ สามารถตกลงให้ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดกับลูกหนี้ชั้นต้นได้อย่างไม่จำกัดจำนวน
2
เช่น ลูกหนี้กู้เงินเจ้าหนี้จำนวน 1,000,000 บาท ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดชอบในเงินทั้งจำนวนต่อเจ้าหนี้
ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2557 - 2558 ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการค้ำประกัน โดยกฎหมายที่แก้ไขใหม่ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1) กำหนดให้ข้อตกลงใดที่ตกลงให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วม หรือในฐานะลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะ
3
หมายความว่า หากสัญญาใดจะต้องมีการค้ำประกันการชำระหนี้ เจ้าหนี้จะไม่สามารถให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้อีกต่อไป
 
ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายต้องหาวิธีแก้ไขการทำสัญญา เพื่อไม่ให้บริษัทต้องแบกรับความเสี่ยงจากการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
เช่น จากเดิมที่ผู้เช่าซื้อจะต้องจัดหาบุคคลมาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์หากมีเงินดาวน์ไม่ถึงเกณฑ์ที่ทางไฟแนนซ์กำหนด เปลี่ยนมาเป็นจะต้องมีบุคคลมายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้อแทน
ซึ่งการกระทำดังกล่าวของไฟแนนซ์จะถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือไม่ และจะมีผลอย่างไร ผมจะย่อยเรื่องนี้ให้อ่านง่าย ๆ กัน
1
1. โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ให้รับผิดตามสัญญา โดยฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อ และฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกหนี้ร่วม
2. ศาลได้วิเคราะห์การแสดงเจตนาของจำเลยทั้ง 2 คน โดยจำเลยที่ 1 แสดงเจตนายอมผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้แสดงเจตนาขอเป็นลูกหนี้ร่วมเพื่อให้โจทก์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1
3. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงว่า จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ต้องการซื้อรถยนต์โดยขอสินเชื่อจากโจทก์ แต่เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนจึงให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาเป็นลูกหนี้ร่วมเพื่อรับผิดต่อโจทก์ด้วย
4. จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับประโยชน์ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันที่เช่าซื้อแต่อย่างใด การทำสัญญาของจำเลยที่ 2 จึงมีลักษณะเข้าผูกพันเพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็น “สัญญาค้ำประกัน”
5. ศาลยังวิเคราะห์ต่อไปว่า เนื่องจากกฎหมายค้ำประกันที่แก้ไข ห้ามไม่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์จึงอาศัยกฎหมายเกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมมาบังคับใช้กับจำเลยที่ 2 แทน โดยให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในแบบสัญญาที่พิมพ์ไว้ล่วงหน้าว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม...
6. นอกจากนี้ ยังมีข้อความว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้มีการผ่อนเวลาชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 / ตกลงยอมรับผิดเต็มจำนวน แม้โจทก์จะปลดหนี้หรือลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 / และยอมรับผิด แม้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือทำสัญญาด้วยความสำคัญผิดใด ๆ
ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะในเรื่องการค้ำประกัน และทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ค้ำประกันก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น
7. โดยปกติของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ผู้ประกอบการจะจัดให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อ ส่วนบุคคลที่ต้องร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อ จะจัดให้ทำสัญญาค้ำประกันประกอบกัน ข้อตกลงที่ให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1
8. โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อย่อมทราบดีว่าได้มีการแก้ไขกฎหมายเรื่องการค้ำประกัน โดยไม่ให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบ
แต่แทนที่โจทก์จะจัดทำสัญญาค้ำประกันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กลับหาช่องทางหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยอาศัยอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า และความสันทัดด้านกฎหมาย จัดให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมแทนการค้ำประกันอย่างตรงไปตรงมา
9. ถือว่าโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจไม่ใช้สิทธิของตนด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12
10. ทั้งสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน เมื่อไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้ จึงเป็นโมฆะทั้งฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
 
โจทก์ไม่มีความชอบธรรมที่จะอ้างสิทธิใด ๆ จากสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วม จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญา
1
จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
1
Reference:
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8425/2563

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา