Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คีตาแห่งสยาม
•
ติดตาม
22 ส.ค. 2021 เวลา 03:37 • หนังสือ
✴️ บทที่ 1️⃣ ความท้อแท้ของอรชุน (ตอนที่ 36) ✴️
🌸 “กองทัพฝ่ายจิตวิญญาณ” กับ “กองทัพฝ่ายวัตถุ” 🌸
⚜️ โศลก 1️⃣1️⃣ ⚜️ (ตอนที่ 3)
หน้า 115 – 118
🟧 อรรถาธิบายเพิ่มเติม : ธรรมชาติของอหังการ 🟧
ภีษมะ หรือ อหังการ เป็น ‘จิตภัส’ หรือ ‘จิตสะท้อน’ #ไม่ใช่เป็นตัวตนแท้จริงหรือแสง_แต่เป็นแสงสะท้อน★ อหังการเป็นการแสดงความรู้สึกของ ‘อภิจิต’ หรือ ‘วิญญาณเฉพาะตน’ เป็นการคิดว่า อภิจิตแห่งวิญญาณเป็นสิ่งเดียวกับมนัสแห่งกาย
อหังการ เป็น ‘วิญญาณจอมปลอม’ หรืออาจพูดอีกอย่างได้ว่า ‘เป็นเงาของวิญญาณ’ มันเป็น #จิตสะท้อนเฉพาะตนในตัวมนุษย์ที่ทำให้เขา “รู้” ⏺️ความรู้สึก ⏺️เจตจำนง ⏺️การจำได้หมายรู้ (อารมณ์ การรับรู้ การคิด) และ ⏺️สภาพแวดล้อมของตน มันคือแก่น “ความเป็นฉัน” #ที่ห่อหุ้มอยู่ด้วยความคิดความรู้สึกและประสบการณ์ของมนุษย์
ทั้งหมดนี้สามารถแยกออกจากอหังการได้ แต่อหังการก็ยังอยู่ห่าง ๆ ยากที่จะจับตัวได้ คล้าย ๆ ผีกระสือซึ่งดูเสมือนห่างไกลเกินกว่าจะให้นิยาม จะอธิบายได้ก็โดยเทียบเคียงกับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวมัน ดังนั้นถ้าจะนิยามอหังการ หรือ ความเป็นตัวตนของ “ฉัน” ก็อาจพูดได้ว่าหมายถึง — สิ่งที่ไม่อาจขจัดไปจากตัวฉัน และ “ฉัน” คิดว่ามันคือตัวฉัน
★อ่านคำอธิบายเกี่ยวกับภีษมะในฐานะ “จิตสะท้อน” อหังการสากล ใน บทนำ หน้า (42)
อ่านทบทวนได้ตามลิงค์ครับ — แอดมิน
อ่านเพิ่มเติม
blockdit.com
[คีตาแห่งสยาม] 🔸บทนำ (ตอนที่ 7-1)🔸 หน้า (42)
🔸บทนำ (ตอนที่ 7-1)🔸 หน้า (42)
การวางตัวห่าง ๆ ของอหังการนั้นเป็นความฉาบฉวย ต่างจากการวางตัวห่างของวิญญาณและอำนาจการวางเฉย อหังการไม่สามารถดำรงสติตนโดยไม่มี “ตำแหน่ง” และจริง ๆ แล้วอหังการนิยามตนด้วยเครื่องหมายแสดงตนเหล่านี้ “ตำแหน่ง” ของอหังการคือ #ประสบการณ์และนิสัยที่สั่งสมมา_ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้หน้าที่ทางกายของมันก็แปรเปลี่ยนตลอดเวลาเช่นกัน : จากเด็กเปลี่ยนเป็นวัยรุ่น วัยรุ่นเติบโตผ่านวัยหนุ่มสาวสู่วัยผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็ก้าวสู่ความเป็นผู้สูงวัย
เมื่อนิยามในเชิงบวก “ฉัน" หรืออหังการ คือจิตที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกระบวนการคิดและประสบการณ์ผัสสอินทรีย์ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกสิ่งที่รวมอยู่รอบอหังการ ทุกสิ่งที่เป็นเครื่องส่งเสริม “ฉัน” นั้นขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา แต่ “ความเป็นตัวฉัน” ในฐานะปัจเจกที่ดำรงสิ่งเหล่านี้ยังเหมือนเดิม — แก่นนี้จึงเป็นศูนย์กลางชีวิตของจุลจักรวาลกายและประสบการณ์ของมัน เป็นตัวกำหนดประสบการณ์เหล่านั้น เป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย “ฉันคิด ฉันได้ยิน ฉันจะ ฉันรัก ฉันเกลียด ฉันเจ็บปวด ฉันเป็นสุข”
ผู้กำหนดประสบการณ์เหล่านี้แตกต่างอย่างยิ่งจากความคิดและสิ่งที่เกิดจากกระบวนการคิด เมื่อบุคคลพูดว่าฉันตาบอด นี่เป็นคำพูดที่ผิด เพราะที่บอดนั้นคือตา ถ้าตาฉันหายไป ตัวฉันหายไปด้วยหรือ ไม่ใช่เลย ถ้ามือฉันหายไป ฉันจะไม่พูดว่าฉันหายไป ทั้ง ๆ ที่มนุษย์รู้ว่าความลวงของอหังการเป็นเช่นนี้ แต่เขาก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่าเป็น “ฉัน” คือ #การโยงผู้รับประสบการณ์เข้ากับการรับประสบการณ์ หรืออีกอย่างหนึ่ง ถ้ายกทุกอย่างออกไป ไม่ว่า ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้แต่ร่างกาย แต่ “ฉัน” ก็ยังคงอยู่ แล้วอำนาจอะไรเล่าที่จะทำให้มนุษย์รู้ว่า “ฉัน” ยังมีอยู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิ่งอื่นแล้ว คำตอบคือ #ก็ด้วยอำนาจปัญญาญาณของ_ตัวตนแท้จริงนิรันดร์_หรือ_วิญญาณ_นั่นเอง
◾ธรรมชาติอำนาจของสหัชญาณในจิตวิญญาณ◾
‘สหัชญาณ’ หรือ ‘ญาณปัญญาเหมือนแสงสว่าง’ คือ ‘เปลวไฟความรู้ที่มาจากวิญญาณ’ มันมีอำนาจรู้ทุกสิ่งที่ต้องรู้ มนุษย์ทุกคนได้รับอำนาจนี้มา แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการพัฒนา สหัชญาณที่ขาดการพัฒนานี้คือแก้วผลึกซึ่งวางอยู่ตรงหน้าของวิญญาณที่ทำให้เกิดภาพเป็น “สองภาพ” — ‘ภาพวิญญาณคือสิ่งจริง’ ส่วน ‘ภาพสะท้อนไม่ใช่สิ่งจริง’
ยิ่ง ‘สหัชญาณ’ นี้ #ขาดการพัฒนาเท่าใด_ภาพสะท้อนก็ยิ่งบิดเบือนมากเท่านั้น เมื่อมนุษย์ถูกชักนำโดยความลวงที่เกิดจากสหัชญาณที่ขาดการพัฒนานี้ มันก็จะตกเป็นทาสของความลวงหลงและข้อจำกัดทั้งหลาย จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีชีวิตอย่างผิดพลาดวุ่นวาย
ถ้าขาดอหังการที่แม้ขาดการพัฒนาและมีสหัชญาณเพียงน้อยนิด จิตมนุษย์ก็ไม่ต่างจากจิตของสัตว์ ที่มีแต่อารมณ์และสัญชาตญาณ มนุษย์มีอหังการ มีอารมณ์ มีปัญญา และมีสหัชญาณที่แฝงอยู่ #อหังการของมนุษย์ซึ่งถ้ามีปัญญาอยู่บ้างก็อาจเป็นนายและเป็นคนสำคัญได้ ถ้ามีคนหลายพันคนทำงานอยู่ในโรงงานโดยไม่มีนายหรือผู้แนะนำ การทำงานก็จะขาดการประสานกัน แต่ถ้าทุกคนยอมรับความเป็นผู้นำของคนสำคัญคนหนึ่ง พวกเขาก็จะทำงานกันอย่างกลมกลืน
ในมนุษย์นั้นอหังการ คือ ‘คนสำคัญ’ มันคือ “ความเป็นฉัน” ซึ่งถ้ามนุษย์ขาดสิ่งนี้ไป —การประสานงาน การคิด การรู้สึก การตั้งใจ— เพื่อให้ถึงเป้าหมายก็ไม่อาจเป็นได้ ถ้าขาดอหังการเสียแล้ว คนทั่วไปไม่อาจแสดงความคิด ความรู้สึก หรือประสบการณ์ได้ เขาจะไม่รู้ว่าเขากำลังทำอะไร ตัวอย่างเช่น ในคนวิกลจริต อหังการได้รับความกระทบกระเทือน จนทำให้ลืมที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวมันกับความคิดและประสบการณ์ จึงก่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดประสานและปราศจากความรับผิดชอบ
ขณะที่สัตว์กระทำตามสัญชาตญาณเป็นหลัก มนุษย์ทั่ว ๆ ไปก็กระทำตามอหังการของตน #แต่โยคีผู้รวมตัวกับตัวตนที่แท้(อาตมัน)กระทำตามวิญญาณ สัตว์ซึ่งขึ้นอยู่กับสัญชาตญาณมีปัญญาจำกัด มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์พิเศษ กระทำตามอหังการมีอำนาจและปัญญามากกว่าสัตว์ แต่ก็ยังถูกจำกัดอยู่ด้วยความคิดและอารมณ์ มีแต่โยคีเท่านั้นที่เป็นอิสระจากการจำกัดทั้งปวง เพราะท่านทำตามตัวตนที่แท้ (อาตมัน) ซึ่งไร้ขีดจำกัด
◾อหังการบริสุทธิ์ กับ อหังการไม่บริสุทธิ์◾
อหังการในคนทั่ว ๆ ไปนั้นไม่ใช่อหังการบริสุทธิ์ แต่เป็นอหังการที่พัวพันอยู่กับกิ่งก้านสาขาที่แตกออกมาจากอหังการนั้น เมื่อมันไปยึดกับพุทธิ มนัส และอินทรีย์ เมื่อมนุษย์รู้ถึงอหังการบริสุทธิ์ ไม่ถูกขัดขวางจากผลิตผลที่ได้จากวิวัฒนาการของมัน เขาจะเข้าใกล้การหยั่งรู้วิญญาณมากขึ้น อหังการบริสุทธิ์ไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่เป็นวิญญาณนั่นเอง เป็น ‘ชีวาตมัน’ ที่จุติมาเป็นปัจเจกตัวตนแท้ (อ่านอรรถาธิบายบทที่ 1 : โศลก 8)
เจตนาของ ‘โยคะ’ คือ #หามาตรการที่จะทำให้อหังการบริสุทธิ์เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน อหังการที่หลงผิดของมนุษย์นั้นคืออหังการจิตที่อาจถูกคลื่นความคิด ความสั่นสะเทือนของจิต และการหลงอินทรีย์ทำให้บิดเบือนไป ถ้าเป็นไปได้ที่อิทธิพลเหล่านี้ถูกขจัดไปจากอหังการ เมื่อนั้นแล้วมนุษย์ก็จะปลอดภัยจากความทุกข์ยากเดือดร้อนที่เกิดจาก “การหลงลืมวิญญาณ”
◾แต่ละวันที่นอนหลับมนุษย์ได้เห็นวิญญาณ◾
#ตอนนอนหลับมนุษย์ได้เห็นวิญญาณ เพราะเมื่ออหังการหลับ มันจะนำประสบการณ์ทั้งหลายเข้าไปแฝงอยู่ในจิตใต้สำนึก ดังนั้นขณะที่มนุษย์นอนหลับ 🔅อหังการจึงละทิ้งนาม ตำแหน่ง รูป และสิ่งที่ครอบครอง อินทรีย์ซึมซ่านเข้าสู่จิต จิตซึมซ่านสู่ปัญญา และปัญญาซึมซ่านสู่อหังการ🔅
แต่สิ่งที่จะมารบกวนนั้นยังคงอยู่ มันแค่หดหัวไม่ตื่นตัว แต่ก็พร้อมที่จะแสดงตนในความฝันหรือตอนตื่น ขณะหลับลึกไม่ฝันนั้น “มนุษย์เข้าถึงอหังการบริสุทธิ์หรือวิญญาณอันสุขเกษม” #แต่ในเมื่อเขาเข้าถึงภาวะนี้อย่างไม่รู้สึกตัว_เขาจึงไม่ได้รับประโยชน์ทางจิตวิญญาณ ถ้าเขาเข้าถึงภาวะนี้อย่างรู้ตัว ‘ในสมาธิภาวนา’ เขาจะสามารถควบคุมการเติบโตทางจิตวิญญาณได้ ความรู้สึกอย่างบริสุทธิ์ว่า “ฉันดำรงอยู่” จะซึมซ่านเข้าสู่การหยั่งรู้จิตวิญญาณขั้นสูงสุด
ขณะหลับในแต่ละวัน มนุษย์ทุกคนได้สลัดเปือกตมมายาของยศตำแหน่งออกจากตน เขาอาจเป็นนักบุญได้แม้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่ความเคยชินในช่วงที่รู้สึกตัว ขณะทำหน้าที่ยุ่งอยู่นั้น #ทำให้เขาไม่อาจดำรงการไม่ยึดมั่นนี้ไว้ได้
✨ถ้ามนุษย์สามารถดำรงการไม่ยึดมั่นกับความคิดและอารมณ์ได้นานพอในภาวะที่ยังมีสติอยู่ #เขาจะรู้จักตัวตนที่แท้ของตนด้วยสหัชญาณบริสุทธิ์ที่ไร้การบิดเบือน — ดังนั้นความสงบแท้ในสมาธิลึกจึงเป็นสิ่งเดียวที่สามารถขจัดอหังการได้ เมื่อยกแก้วผลึกของสหัชญาณที่ขาดการพัฒนาที่สะท้อนวิญญาณอย่างบิดเบือนออกไป ความขัดแย้งใด ๆ ที่ทำให้โยคีไม่รู้จักตัวตนที่แท้ของท่านพลอยหมดไปด้วย✨
◾อรชุน-การควบคุมตน ‘พิชิต’ ภีษมะ-อหังการ◾
ในมหาภารตะ เราพบว่าตั้งแต่ทุรโยธน์เริ่มตัดสินใจต่อสู้กับฝ่ายปาณฑพ ภีษมะแนะนำไม่ให้เขาทำสงครามและควรตกลงกันฉันมิตร เพราะ ภีษมะ–อหังการ เป็นพระอัยกาของทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพ เห็นทั้งสองฝ่ายเสมอกันนั่นคือ อหังการในกายดำรงอยู่ด้วยเหตุผล ไม่ว่าความอยากหรือการกระทำของมนุษย์จะดีหรือเลว — แต่เมื่ออหังการฝ่ายเการพแข็งแรงกว่า ภีษมะจึงหันมาเข้ากับฝ่ายนี้
ทว่าในเมื่อทิพยปัญญามีทีท่าว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ภีษมะ–อหังการจึงเหนื่อยหน่ายที่จะสนับสนุนฝ่ายชั่ว เริ่มรู้สึกเห็นใจฝ่ายพุทธิปัญญามากขึ้น แต่ตราบใดที่อหังการยังมีชีวิตอยู่ การหยั่งรู้ตนหรือวิญญาณก็ไม่อาจมีชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด ภีษมะเป็นสิ่งที่ไม่อาจพิชิต เพราะใครก็ทำลาย ‘ฉัน’ ไม่ได้ถ้า ‘ฉัน’ “ไม่ยินยอมให้ความร่วมมือ” สุดท้ายภีษมะจึงต้องเปิดเผยให้พี่น้องปาณฑพรู้ว่าสิ่งเดียวที่จะสังหารเขาได้ในสงครามนี้คือ #ความสามารถของอรชุนผู้ภักดีขณะทำสมาธิลึก
หลังจากสู้รบกันอย่างดุเดือดหลายครั้ง ในที่สุดร่างกายของภีษมะก็ต้องศรของอรชุนหลายแผล บาดเจ็บอย่างแสนสาหัส แม้กระนั้นภีษมะก็ยังกล่าวว่า เขาจะนอนอยู่กลางดอกศรนี้ จะไม่สละร่างจนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศเหนือ ความหมายตรงตัวก็คือ เขาพูดถึงการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายไปตามฤดูกาล — แต่ความหมายในเชิงสัญลักษณ์หมายความว่า #แม้อหังการจะถูกสมาธิภาวนาทำให้หมดอำนาจและเชื่องลงแล้ว_มันก็ยังไม่ตายเสียทีเดียว (สำนึกบริสุทธิ์ของ “ความเป็นฉัน” หรือ “ความเป็นปัจเจก” ยังอยู่) ✨จนกว่าดวงอาทิตย์แห่งทิพยจิตที่วิญญาณจักษุในห้วง ‘สวิกัลปสมาธิ’ เคลื่อนขึ้นเหนือ–สู่ที่อยู่ของพลังละเอียดในสมอง นั่นคือ ส่วนในสุดของทิพยเกษตรที่ ‘สหัสราระ’ (จิตจักระสูงสุดในกาย) #แล้วรวมเป็นหนึ่งเดียวกับบรมวิญญาณใน_นิรวิกัลปสมาธิ✨
อย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้ในคีตา อหังการยังยืนหยัดเป็นกำลังที่น่ากลัวที่เผชิญหน้ากับฝ่ายปาณฑพ ในความพยายามที่จะชิงชัยเพื่อนำอาณาจักรตามสิทธิของตนกลับคืนมา
(จบ — โศลก 11)
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ภควัทคีตา เล่ม 1 บทที่ 1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย