22 ก.ย. 2021 เวลา 01:40 • ปรัชญา
"ให้การศึกษากับจิต"
"... เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเลย จิตนี้เราบังคับไม่ได้จริงหรอก
แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้
บังคับไม่ได้แต่เราทำเหตุของมัน
ค่อย ๆ อบรม ค่อย ๆ สั่งสอนมันไป
จิตมันเหมือนเด็ก
เราบังคับเด็กให้เป็นตามที่เราต้องการไม่ได้
แต่เราให้การศึกษากับเด็กได้
เราให้การศึกษาแล้ว
บางทีเด็กก็ไปในทางที่เราต้องการ
แต่บางคนก็ไม่ไปตามที่เราต้องการ
อย่างเราให้การศึกษาอย่างดีเลย
กะว่ามันจะต้องไปเรียนหมอ
หนอย มันไม่ยอมเรียนหมอ
ไปเป็นหมอนวดเสียเฉยเลยอย่างนี้
เราบังคับไม่ได้จริง
กระทั่งลูกเรา เรายังบังคับไม่ได้จริงเลย
จิตเหมือนกับเด็ก จิตเหมือนกับลูกเรา
เราสั่งไม่ได้ เราบังคับไม่ได้
เราทำได้แค่ให้โอกาสให้การศึกษาเท่านั้น
การให้การศึกษากับจิตก็คือ
การเจริญไตรสิกขา
ให้การศึกษาเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา นั่นล่ะ
คำว่า สิกขา แปลว่าศึกษา
อันนี้เป็นการให้การศึกษากับจิต
ศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจจากคนไม่มีศีลให้มีศีล
พัฒนาจิตใจที่ฟุ้งซ่านให้มาเป็นจิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัว
จิตใจไม่เคยสงบพัฒนาให้สงบสุข
หรือพัฒนาให้เกิดปัญญา
ไม่เคยเห็นความจริงของโลก
ไม่เคยเห็นความจริงของชีวิตก็ได้เห็น
เรียกว่าพัฒนา เรียกว่าศึกษา เรียกว่าไตรสิกขา
คือการศึกษา 3 เรื่อง เพื่อจะได้พ้นโลกไป
ฉะนั้นเราก็ต้องทำสิ่งเหล่านี้
ค่อย ๆ เรียนค่อย ๆ รู้ไป ฝึกทุกวัน ๆ
ถ้าอยากพ้นโลกก็ดูกายอย่างที่กายเป็น
ดูใจอย่างที่ใจเป็นไป
มันเข้าใจความจริงของกาย
ก็ไม่ทุกข์เพราะกายแล้ว เพราะไม่ยึดถือ
เข้าใจความเป็นจริงของจิตใจ
ก็ไม่ทุกข์เพราะจิตใจ เพราะไม่ยึดถือ
เมื่อยึดถือเมื่อไรก็ทุกข์ล่ะ
อยู่กับโลกปรับตัวได้ก็ทุกข์น้อยหน่อย
ในทางธรรมเห็นความจริงแล้วก็พ้นทุกข์ถาวร ... "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 กันยายน 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา