18 ม.ค. 2022 เวลา 04:10 • ไลฟ์สไตล์
ส่องโลกของ "คุกกี้ (Cookies)”
คุกกี้ “Cookies” ว่ากันตามความหมาย ก็คือ ขนมอบชิ้นเล็กรูปร่างแบน ซึ่งทำจากแป้งสาลี คำว่าคุกกี้มีที่มาจากคำในภาษาดัตช์ koekje ซึ่งหมายถึง "เค้กชิ้นเล็ก ๆ"
ขนมชิ้นนี้ เพื่อน ๆ หลายคนอาจนิยมเรียกว่า “บิสกิต (Biscuit)”
ว่าแต่ ทำไมจึงมีชื่อเรียกที่หลากหลายนะ ?
แล้วเรื่องราวของคุกกี้ ที่พวกเรา InfoStory หยิบมานำเสนอ มีอะไรบ้าง ?
ไม่รอช้า งั้นไปดูกันกับภาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตากันได้เลย !
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านเรื่องราวต่อ เชิญทางนี้ได้เลยจ้า
คุกกี้หรือบิสกิต มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใดกันนะ ?
(ในบทความขอใช้คำว่าเรียกว่า “คุกกี้” เพื่อความลื่นไหลในการอ่านนะ)
ว่ากันว่าคุกกี้ชิ้นแรก มีต้นกำเนิดมาจากชาวเปอร์เซีย (ในประเทศอิหร่าน) ช่วงศตวรรษที่ 7
ซึ่งชาวเปอร์เซียกลุ่มนี้ ยังเป็นชนกลุ่มแรกที่ทำการปลูกอ้อย เพื่อคั้นเอาน้ำตาลมาใช้ประโยชน์
เรื่องราวนี้จึงทำให้คุกกี้ที่มีส่วนผสมของเนยน้ำตาล (คุกกี้เนย) ที่ถูกผลิตขึ้นออกมาเป็นชิ้นแรก
หลังจากนั้นในช่วงศควรรษที่ 14 เนี่ย
คุกกี้ ก็กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างโดยเริ่มแพร่ขยายไปสู่ยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียน
ก่อนที่จะมาเป็นที่นิยมในประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ เป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะที่อังกฤษในยุคสมัย “Elizabethan” ที่มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ปกครองอยู่ ก็นิยมทานคุกกี้เอาเสียมาก ๆ แต่คนอังกฤษจะเรียกว่าบิสกิตนะ
ซึ่งบิสกิตที่นิยมก็จะเป็นในรูปแบบของ Short-cake biscuit (ในเวลาเดียวกันที่ประเทศสกอตแลนด์ เขาก็จะมีนิยมกิน Shortbread biscuit)
(เพิ่มเติมเกร็ด : ซึ่งยุค Elizabethan นี้เอง ก็เป็นยุคที่รูปปั้น “Britannia” ที่เป็นสัญลักษณ์ตัวตนแห่งชาติของสหราชอาณาจักรเป็นนักรบหญิงสวมหมวกถือตรีศูลและโล่ ได้เริ่มกำเนิดขึ้น)
Short-cake biscuit
รูปปั้น “Britannia” ที่เป็นสัญลักษณ์ตัวตนแห่งชาติของสหราชอาณาจักร
แน่นอนว่า เจ้าบิสกิตหรือคุกกี้ ที่ชาวยุโรปนิยมชมชอบ ก็ได้แพร่ขยายไปยังดินแดนทวีปอเมริกา ด้วยเหตุผลที่เราคุ้นเคยกัน คือ การอพยพของชาวยุโรปและชาวอังกฤษ ไปสร้างอาณานิคมใหม่ ๆ บนทวีปอเมริกา นั่นเอง
ซึ่งพอคุกกี้ ได้ถือกำเนิดขึ้นในอเมริกาเนี่ย ด้วยความที่มันมีสูตรที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติมาก จึงทำให้ อเมริกันคุกกี้ชิ้นแรก ๆ ก็จะมีความเป็นคุกกี้เนย (American butter cookies) ซึ่งจะมีลักษณะที่คล้าย ๆ กับ สโคนของอังกฤษผสมกับชอร์ตเบรตของสกอตแลนด์ แต่จะมีความกรุบกรอบขึ้นมา (แต่ยังคงเป็นแผ่นกลมบางแห้งอยู่นะ)
โดยคุกกี้ ได้ปรากฎการบันทึกเอาไว้ในครั้งแรก ๆ ในปี ค.ศ 1796 ตามหนังสือสูตรทำอาหารต่าง ๆ ของอเมริกัน (cookbook)
American butter cookies
เรื่องราวของ “คุกกี้คริสต์มาส” และ ขนมปังขิง (Gingerbread)
คุกกี้คริสต์มาส หรือ คุกกี้ที่เรามักจะเห็นขายตามเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาส มักจะไม่ใช่แค่คุกกี้เนยน้ำตาล หรือ คุกกี้ไข่แบบทั่ว ๆ ไป
แต่คุกกี้เหล่านี้จะมีความพิเศษ คือ มีส่วนผสมที่ให้รสชาติและกลิ่นของเครื่องเทศอย่างเช่น อบเชย กานพลู และ ขิง โดดเด่น พร้อมด้วยรูปร่างลักษณะที่ชวนให้เรานึกถึงความแฟนตาซี
คุกกี้คริสต์มาส ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดการทำเมนูนี้ในช่วง ศตวรรษที่ 16 กับชาวยุโรป (ซึ่งตอนนั้นจะเรียกว่า Christmas biscuits)
โดยต้นแบบของขนมคุกกี้คริสต์มาส ก็จะมาจากขนมอบยอดนิยมประจำเทศกาลของประเทศอื่น ๆ เช่น “Lebkuchen ขนมขิงอบของเยอรมัน” หรือ “Krumkake คุกกี้วาฟเฟิลจากนอร์เวย์” หรือว่า “Pepparkakor ขนมคุกกี้ขิงทรงกลมแบนกรอบจากสวีเดน”
Lebkuchen
ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน ส่วนใหญ่เขาจะใช้ขิงเป็นส่วนผสมหลัก ๆ เนอะ
ก็เลยทำให้ เมนูคุกกี้ประจำเทศกาล ที่เราเรียกและเห็นกันจนชินอย่าง “Gingerbread” ขนมปังขิงมีรูปร่างคล้ายมนุษย์จิ๋ว (ที่เราจะคุ้นตากับตัวละครในเกมวิ่งอย่าง “Cookie run”)
Gingerbread
ซึ่งที่ขนม Gingerbread ปั้นให้มีรูปร่างมนุษย์แบบนี้ เขามีความเชื่อกันว่า จะนำมาซึ่งโชคดีและความร่ำรวย
แน่นอนว่าเรื่องราวความเชื่อแบบนี้ ถ้าบอกว่าเป็นของชาวยุโรป ก็จะต้องมีจุดกำเนิด (ที่พอเดาได้) ว่ามาจากประเทศอังกฤษ ในยุคสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 (เรื่องของกินต้องท่านผู้นี้จริง ๆ แห่ะ) ที่ได้รับสั่งให้พ่อครัวที่ทำขนมปังขิง ทดลองปั้นขนมปังให้เป็นรูปมนุษย์และนำไปให้ประชาชนทานเฉลิมฉลองในเทศกาล
ก็ตามคาดเลย ด้วยรสชาติที่แปลกและเด่นของขิง รูปร่างที่ดูเป็นมิตร จึงทำให้ Gingerbread หรือขนมปังขิงมนุษย์จิ๋ว จึงได้แพร่ขยายต่อ จนรู้จักไปทั่วทั้งโลก
(ส่วนพวกขาวยุโรปเนี่ย Gingerbread ก็ไม่ใช่รสชาติที่แปลกอยู่แล้ว มันเลยเผยแพร่ไปได้เร็ว)
ทำเป็นแบบบ้านก็มีนะ ไม่ได้มีแค่รูปร่างมนุษย์
เรื่องราวสั้น ๆ ของ “คุกกี้เสี่ยงทาย (Fortune Cookie)”
เพื่อน ๆ คิดว่า Fortune Cookie มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอะไรเอ่ย ?
ถ้านึกถึงเพลง คุกกี้เสี่ยงทายของ BNK48 ที่มาจาก AKB48 ก็น่าจะมาจากญี่ปุ่น หรือ นึกถึงเรื่องคำทำนายและความโชคดีหากเราได้ทานเข้าไป ก็จะเป็นแนวของประเทศจีน
แต่จริง ๆ แล้ว “คุกกี้เสี่ยงทาย (Fortune Cookie)”
ว่ากันว่ากำเนิดมาจากอเมริกา แต่ไม่ได้เป็นชาวอเมริกันโดยตรงนะ
แต่เป็นชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในอเมริกาตะหากละ (ซึ่งคุกกี้เสี่ยงทาย ก็เป็นที่นิยมในร้านอาหารจีนในอเมริกา มักจะเป็นขนมเอาไว้แจกขอบคุณในตอนที่ลูกค้าทานอาหารเสร็จ พอลูกค้าติดใจก็จะนำมาขายต่อ)
ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดจากชาวญี่ปุ่นที่ไปอาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนีย โดยมีต้นแบบมาจากขนม “ซึจิอุระ เซมเบ้”
ซึ่งขนมซึจิอุระ เซมเบ้ รูปร่างจะไม่ได้เหมือนกับคุกกี้เสี่ยงทายที่เรารู้จักแบบปัจจุบัน (แบบบางกรอบ พับเป็น 2 มุม)
ขนมซึจิอุระ เซมเบ้ เดิมทีมีต้นกำเนิดมาจากเมืองเกียวโตประเทศญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 19
ที่หาพบได้ในวัด ซึ่งจะมีการใส่คำทำนายแบบสุ่มไว้ในคุกกี้
จนต่อมา ได้มีชาวญี่ปุ่นหลายคน ที่อพยพไปยังทวีปอเมริกา
แน่นอนว่าเจ้าขนมซึจิอุระ เซมเบ้ ก็ได้ตามไปด้วยเหมือนกัน (อีกแล้ว)
เราว่า จุดประสงค์มันชัดเจนที่จะนำคอนเซปต์ชาวเอเชียตะวันออกที่อาจดูแปลกให้กับชาวยุโรปตะวันตก มาใช้เพื่อขายของทำการตลาดเนอะ
โดยหนึ่งในผู้กล่าวอ้างว่าเป็นผู้ให้กำเนิดขนมคุกกี้เสี่ยงทาย ก็คือ คุณเซอิชิ คิโตะ ที่ออกมาเคลมว่า ตัวเขาเป็นผู้ที่นำคอนเซปต์ของขนมซึจิอุระ เซมเบ้ มาดัดแปลงให้เป็นขนมชิ้นบางเล็กกรอบ ที่มีคำทำนายแบบสุ่มภายในคุกกี้ และเน้นนำไปขายที่ร้านอาหารจีน ซะเป็นส่วนใหญ่
กลายเป็นว่า คุกกี้เสี่ยงทายนี้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวอเมริกันมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ชาวอเมริกันเปรียบคุกกี้เสี่ยงทาย เสมือนกับวัฒนธรรมการทานขนมของชาวเอเชียไปเลยทีเดียว (แต่นั้นคงเป็นแค่เพียงมุมมองเดียว)
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ อาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของลักษณะของคุกกี้ ก็คือ ชื่อเรียกของเจ้าขนมนี้นั่นเอง
คือ ไม่ว่าจะเรียกคุกกี้ หรือ บิสกิต ก็อาจไม่ได้ต่างอะไรกันมากนัก
คำว่าคุกกี้ (Cookie) ที่นิยมเรียกกันในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน (American English) ที่หมายถึงขนมอบแผ่นบางมีรสออกหวานเค็ม มีที่มาจากคำในภาษาดัตช์ koekje ซึ่งหมายถึง "เค้กชิ้นเล็ก ๆ"
แต่สำหรับชาวอเมริกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้หวาน คุกกี้กรอบร่วน คุกกี้เค็มหรือแบบไหนก็ตาม พวกเขาจะเรียกเหมารวมว่า “Cookie” ไปทั้งหมดเลย
ส่วนชื่อเรียกว่า “Biscuit” หรือ บิสกิต ที่นิยมเรียกกันในภาษาอังกฤษของชาวอังกฤษ (British English) มาจากขนมยุคเก่าของฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “Old French bescuit” ซึ่งมีรากฐานในภาษาละตินคำว่า bis coctum ที่มีความหมายว่าการอบซ้อนถึง 2 ครั้ง (Twice baked)
ซึ่งต่อมาชาวอังกฤษจึงได้ใช้ชื่อเรียก Biscuit ตามทับกับชื่อของภาษาฝรั่งเศสกันมา โดยมักจะหมายถึงขนมอบแผ่นบาง ที่ไม่ได้มีความหวานมากนัก (อาจออกไปทางเค็ม)
ซึ่งถ้าเรียกบิสกิตที่มีความหวาน เขาก็จะเรียก “Sweet Biscuit” ตรงตัวไปเลย
แต่สมัยใหม่ เราเห็นเขาก็เรียก Cookie กันก็มีนะ (จากตอนแรกที่เข้าใจว่าอังกฤษจะไม่เรียกเลย)
กรณีแบบนี้ ก็คงจะคล้ายคลึงกับชื่อร้านของแฟรนไชส์แบรนด์คุกกี้นุ่มชื่อดังระดับโลกอย่าง “Ben’s Cookies” ที่มีต้นกำเนิดมาจากเมือง Oxford ในปี ค.ศ. 1983 ที่ประเทศอังกฤษ
(และก่อตั้งโดยชาวอังกฤษที่มีชื่อว่าคุณ Helge Rubinstein)
เอาตรง ๆ จากที่เราค้นหามา ก็ยังไม่มีเหตุผลที่ตอบได้แน่ชัด
แต่เราสันนิษฐานว่า ที่เขาใช้คำว่า “Cookies” ก็น่าจะมาจากขนมชิ้นแรก ๆ ของทาง Ben’s Cookies จะเป็นคุกกี้ช็อกโกแลตชิพส์แผ่นบางนุ่ม ซึ่งอาจจะไปตรงกับคอนเซปต์ของคำนิยามว่า “คุกกี้ (Cookies)” ทางฝั่งอเมริกา (เหมือนกับพวก Mrs. Fields)
หรือไม่ก็ ผู้ก่อตั้งคงไม่ได้ยึดติดกับการใช้ภาษาและมีเป้าหมายในการขยายแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นการใช้ชื่อ Ben’s “Cookies” ก็อาจจะดูเข้าถึงง่ายกับชาติอื่น ๆ
(แต่เหมือนที่เราค้นหามา คนอังกฤษจะเรียกร้านนี้ว่า “Ben’s Cookies Biscuit” นะ ฮ่า ๆ)
อ่านถึงตรงนี้ ก็หวังว่าเพื่อน ๆ จะได้รับสาระความรู้สบายสมองจากพวกเราไป ไม่มากก็น้อยเช่นเคย
งั้นวันนี้พวกเราก็ขอจบเรื่องราวไว้แต่เพียงเท่านี้ 🙂
โฆษณา