ไมแอสทีเนีย เกรวิส คือ โรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก (มีผู้ป่วยเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 2 – 4 คนต่อล้านคนต่อปี และมีความชุกประมาณ 1 คนต่อประชาการ 10,000-20,000 คน) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า มักเริ่มมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุใดก็ได้ แต่จะพบเป็นมากที่สุดในช่วง อายุ 20-40 ปี (สำหรับผู้หญิง) และ 50-70 ปี (สำหรับผู้ชาย)
ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบางส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณใบหน้า (เช่น ตา ปาก) ซึ่งมีลักษณะไม่คงที่โดยจะแย่ลงเมื่อใช้งานและดีขึ้นเมื่อหยุดพัก หรือเป็น ๆ หาย ๆ
สาเหตุ ไมแอสทีเนีย เกรวิส
ไมแอสทีเนีย เกรวิส มีสาเหตุเนื่องจากความผิดปกติที่บริเวณรอยต่อกล้ามเนื้อร่วมประสาท (neuromuscular junction) ทำให้กระแสประสาทไม่สามารถส่งทอดไปสั่งการให้กล้ามเนื้อทำงานได้ จึงเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับความผิดปกติของสมองและประสาทส่วนกลางแต่อย่างใดปัจจุบันพบว่า กลไกการเกิดโรคมีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune) โดยพบว่าผู้ป่วยจะมีสารภูมิต้านทานต่อตัวรับอะเซทิลโคลีน (ace-tylcholine receptors/AChR)
อาการ ไมแอสทีเนีย เกรวิส
ในระยะแรกเริ่ม อาจมีอาการอ่อนแรงแบบเฉพาะที่ (เกิดที่กล้ามเนื้อเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง) หรืออาการอ่อนแรงแบบทั่วไป (เกิดกับกล้ามเนื้อหลาย ๆ ส่วนพร้อมกันทั่วร่างกาย) ก็ได้ ที่พบบ่อย คือ อาการหนังตาตก (ตาปรือ) ซึ่งมักเกิดเพียงข้างเดียว หรืออาการเห็นภาพซ้อนเนื่องจากกล้ามเนื้อกลอกลูกตาอ่อนแรงมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยจะเป็นมากเวลาขับรถ ดูโทรทัศน์หรือใช้สายตามาก และมักเป็นในช่วงเวลาบ่ายหรือเย็น
ผู้ป่วยทีเป็นโรคนี้ในระยะแรกเริ่ม อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตาเพียงอย่างเดียว หรืออาจร่วมกับอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ แต่ภายใน 1-2 ปี ผู้ป่วยที่มีอาการของกล้ามเนื้อตาเพียงอย่างเดียวส่วนใหญ่จะเป็นรุนแรงขึ้น คือ มีอาการอ่อนแรงแบบทั่วไป
การรักษา ไมแอสทีเนีย เกรวิส
หากสงสัย ควรแนะนำไปโรงพยาบาล มักจะทำการทดสอบโดยการฉีดนีโอสติกมีน (neostigmine) 1.5 มก.เข้าใต้ผิวหนัง หรือฉีดยาอีโดรโฟเนียม (cdropho-mium) มีชื่อทางการค้า เช่น เทนซิลอน (Tensilon) 10 มก.เข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งจะทำให้อาการดีขึ้นทันทีบางรายแพทย์อาจต้องตรวจยืนยันด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การตรวจระดับสารภูมิต้านทานต่อตัวรับอะเซทิลโคลีน (ACNR antibody) หรือ musclespecific kinase (MuSK) antibody ในเลือด ซึ่งพบว่าสูงกว่าปกติ
นอกจากนี้ยังอาจตรวจหาโรคที่พบร่วม เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ในผู้ที่สงสัยเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน