19 ต.ค. 2021 เวลา 05:58 • ปรัชญา
"เริ่มต้นให้ตรงทาง"
" ... ความสุขที่พระพุทธเจ้าท่านผ่านมา
เจ้าชายสิทธัตถะผ่านกามสุข ท่านก็ผ่าน
ฌานสุขท่านก็ได้ฌานที่สูงที่สุด
คือได้เนวสัญญานาสัญญายตนะ
เป็นอรูปฌานที่สูงที่สุดแล้ว
ท่านก็ยังเห็นว่ามันไม่มีสาระแก่นสาร
ไม่มีความสุขที่แท้จริง
ท่านก็ลงมือค้นหาเส้นทางของท่าน
ในที่สุดท่านก็พบเส้นทางของการเจริญสตินี้
ถ้าเราเจริญสติ เราจะเห็นอะไร เราจะเห็นทุกข์
แปลก อยากได้ความสุข
แต่เริ่มต้นต้องเรียนจากทุกข์ก่อน
เมื่อไหร่ไม่ทุกข์เมื่อนั้นก็สุขเอง
ไม่ต้องหาความสุขหรอก
ให้พ้นทุกข์ไปให้ได้ มันก็เจอความสุขเอาเอง
1
อริยมรรคมีองค์ 8
ฉะนั้นท่านก็มาหาเส้นทางของท่าน
ในที่สุดท่านก็พบ เพราะบารมีท่านเต็มแล้ว
ท่านหาได้ด้วยตัวของท่านเอง
เส้นทางของอริยมรรคมีองค์ 8 ทางสายกลาง
อริยมรรคมีองค์ 8 ย่อลงมา
ก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
ในส่วนของปัญญา มันมีปัญญาขั้นต้น
ปัญญาเบื้องต้น ก่อนที่จะเจอปัญญาในอริยมรรค
ก็มีปัญญาขั้นต้น
ปัญญาจากการอ่าน ปัญญาจากการฟัง
ให้รู้วิธีปฏิบัติ รู้ว่าเราจะต้องฝึกตัวเอง
ให้มีความเห็นถูก ให้มีความคิดถูก
เห็นไหมเริ่มมาจากความคิดความเห็น
ที่เราจมอยู่ในความทุกข์
เพราะความคิดเราไม่ถูก ความเห็นเราไม่ถูก
1
เราฟังธรรม เราก็ได้ความเห็นถูกในทางทฤษฎี
เวลาคิดเราก็คิดไปตามทฤษฎี
มีความเห็นถูกในทางทฤษฎี
มีความคิดถูกในทางทฤษฎี
1
แล้วก็ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล
รักษาศีลในองค์มรรคไปสังเกตให้ดี
เริ่มจากอะไร สัมมาวาจา ๆ
ไม่ได้เริ่มจากอย่าฆ่าสัตว์ อย่าลักทรัพย์
อย่าประพฤติผิดในกาม
สัมมาวาจามีคำพูดถูก
คำพูดนี้จะพูดออกมาให้คนอื่นได้ยิน
หรือพูดอยู่ในใจ มันก็คือคำพูด
คำพูดที่ประกอบด้วยความเห็นถูก ด้วยความคิดถูก
มันก็เป็นคำพูดที่ถูก
คำพูดที่ประกอบด้วยความเห็นผิด
ประกอบด้วยความคิดผิด มันก็เป็นคำพูดที่ผิด
คำพูดที่ถูกคือตัวสัมมาวาจา
มันมาจากสัมมาทิฏฐิความเห็นถูก
มาจากสัมมาสังกัปปะ ความคิดถูก
ใส่ความคิดความเห็นที่ถูก คำพูดมันก็ถูก
คำพูดถูก การกระทำมันจะถูก
บอกแล้วว่าคำพูดมีทั้งที่พูดให้คนได้ยินกับคำพูดในใจ
เวลาเราจะไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เห็นไหม
ในใจเราคิดขึ้นก่อน มันพูดในใจก่อน
อยากฆ่าตัวนี้ อยากขโมยคนนี้ อยากเป็นชู้คนนี้
มันคิดขึ้นมาก่อนในใจ มันพูดขึ้นในใจ
อยากทำอย่างนี้ๆๆ เสร็จแล้วมันก็เลยสั่ง
จิตมันก็เลยสั่งให้ร่างกายเราทำไป
ตามที่จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง
อย่างจิตมันอยากด่าเขา มันปรุงการด่า
มันก็สั่งให้ร่างกายด่าออกมา
มันโลภ มันก็ปรุงให้ร่างกายไปขโมยเขา
หรือมันบ้ากาม จิตมันบ้ากาม
มันก็ปรุงให้ร่างกายประพฤติผิดในกาม
จะทำมาหากิน ก็คิดแต่เรื่องจะเอาเปรียบเขา
ฉะนั้นถ้าเรามีความเห็นถูก มีความคิดถูก
มีคำพูดถูก คำพูดทั้งที่อยู่ในใจ คำพูดข้างนอกถูก
การกระทำของเราก็ถูก คือสัมมากัมมันตะ
ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูก การเลี้ยงชีวิตต้องถูกแน่นอน
เพราะเราจะรู้ว่า
เราไม่ควรทำมาหากินด้วยการเบียดเบียนตัวเอง
ไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น
ฉะนั้นการทำสัมมาอาชีวะจะเกิดขึ้น
อาศัยความถูกๆ ทั้งหลายนั่นล่ะเป็นต้นเหตุ
เมื่อมีความเห็นถูก มีความคิดถูก
นี้เป็นส่วนปัญญาเบื้องต้น
มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก
นี่เป็นการเริ่มฝึกฝนตัวเองแล้ว
ถัดจากนั้นก็เป็นเรื่องของการพัฒนาจิต
ในองค์มรรคนั้น
ธรรมะที่ตรงกับการพัฒนาจิตโดยตรงเลย
ก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ 3 ตัว
สัมมาวายามะเป็นตัวชี้กรอบว่า
ที่เราปฏิบัติมาทั้งหมดหรือมุ่งปฏิบัติไป
ไม่ใช่มุ่งเอาดี เอาสุข เอาสงบ
แต่มุ่งเพื่อลดละอกุศลที่กำลังมี
มุ่งปฏิบัติเพื่อปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด
ที่ลงมือปฏิบัตินั้น
เพื่อให้กุศลที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น
เพื่อให้กุศลที่เกิดแล้วเจริญขึ้น
5
ขอย้ำคำว่ากุศลไม่ใช่บุญ
บุญกับกุศลยังแตกต่างกัน
บุญเป็นการทำความดีทั่ว ๆ ไป
แต่กุศลเป็นการทำความดีโดยรู้ว่าทำไปเพราะอะไร
อย่างเราทำบุญใส่บาตรนี้ เราได้บุญ
อย่าว่าแต่ให้ข้าวกับพระเลย
ให้ข้าวกับหมาก็ยังได้บุญเลย
ทำทานก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ทานมัย เป็นบุญ
แต่ถ้าเราใส่บาตรแล้วก็โลภ หวังผลตอบแทน
หวังว่าจะถูกหวย หวังอย่างโน้น หวังอย่างนี้
อันนั้นได้บุญ แต่ไม่มีกุศลหรอก เพราะโง่
กุศลแปลว่าฉลาด ฉลาดก็คือรู้เหตุรู้ผล
รู้ว่าเราทำอะไรเพราะอะไร
ที่เราทำทาน ถือศีล ภาวนา
เพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศล
ตัวกุศลก็คือตัวศีล ตัวสมาธิ ตัวปัญญานี้ล่ะ
เป็นรูปร่างของกุศล
ตัวเนื้อแท้ของสิ่งที่เรียกว่ากุศลจริง ๆ
ก็คือตัวไม่โลภ ตัวไม่โกรธ ตัวไม่หลง
...
ถ้าเรารู้ตัวสัมมาวายามะ มันรู้ว่าความเพียรชอบ
เพียรไปเพื่อลดละกิเลส เพื่อทำกุศลให้ถึงพร้อม
แล้วถัดจากนั้น เราก็มาเจริญสติ
ทำอะไรแล้วกิเลสที่มีอยู่ดับไป
อกุศลที่มีอยู่ดับไป อกุศลใหม่ไม่เกิด
ทำอย่างไรกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด
ทำอย่างไรกุศลที่เกิดแล้วก็เจริญขึ้น
ก็คือการเจริญสตินั่นเอง
ทันทีที่เรามีสติ อกุศลที่มีอยู่จะดับทันที
อกุศลใหม่จะไม่เกิดในขณะที่มีสติ
ในขณะที่มีสตินั้น กุศลได้เกิดแล้ว
เพราะตัวสติเป็นตัวกุศล
แล้วถ้าเราฝึกมีสติเนือง ๆ บ่อย ๆ กุศลก็เจริญขึ้น
เกิดเป็นสมาธิ เป็นปัญญาที่แก่รอบขึ้นมา
ในที่สุดก็เกิดวิมุตติ เป็นโลกุตตรกุศล
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเจริญสติ
การเจริญสติไม่ใช่แปลว่าไม่กินเหล้า คนละเรื่องกัน
ตามข้าง ๆ ขวดเหล้าชอบเขียน
ดื่มสุราทำให้ขาดสติ
สติจริง ๆ คือสติปัฏฐาน
สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติ
พระพุทธเจ้าอธิบายคำว่าสัมมาสติด้วยสติปัฏฐาน
คือการมีสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้จิต
ระลึกรู้สภาวธรรม รูปธรรม นามธรรม
กุศล อกุศลอะไรพวกนี้
ระลึกรู้ รู้เหตุรู้ผลของมัน นี่เรียกว่าเจริญธัมมานุปัสสนา
ฉะนั้นถ้าเรามีสติ ขับรถไม่ตกถนน มีสติไหม มี
แต่เป็นสติอย่างโลก ๆ
ถ้าสติอย่างแท้จริงก็คือ รู้สึกกาย รู้สึกใจไว้
นั่นล่ะตัวสัมมาสติ
ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก
จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึก
พอเรามีสติบ่อย ๆ
อย่างจิตเราไหลไปคิด เรารู้สึก รู้ทัน
สติรู้ทันว่าจิตมันไหลไปแล้ว
ทันทีที่สติระลึกรู้สภาวธรรมถูกต้อง
ตามความเป็นจริงตรงปัจจุบัน
อย่างจิตไหลไปคิด รู้ว่าจิตไหลไปคิดปุ๊บ
จิตที่ไหลไปคิดคือจิตฟุ้งซ่าน เป็นจิตมีโมหะ
เรียกอุทธัจจะ
เรามีสติรู้ว่าจิตไหลไป คือรู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
ความฟุ้งซ่านจะดับทันที
พอมีสติ อกุศลจะดับทันที กุศลจะเกิดทันที
ไม่ฟุ้งซ่านเกิดขึ้น คือสมาธิ มันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
อย่างจิตเราโกรธ เรามีสติรู้ รู้จิตโกรธ
ความโกรธจะดับ จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา
มีสมาธิขึ้นมา
เพราะฉะนั้นอาศัยสติระลึกรู้สภาวธรรม
จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้
เคลื่อนไหวอย่างนี้ ทีแรกก็เคลื่อนแล้วใจลอย
เกิดสติระลึกได้ รูปมันกำลังเคลื่อนไหวอยู่
สมาธิคือความตั้งมั่นจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ
ในตำราถึงสอนว่าถ้ามีสัมมาสติบริบูรณ์
สัมมาสมาธิก็จะบริบูรณ์
พอสัมมาสมาธิบริบูรณ์ จิตมันจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
สัมมาสมาธิก็จะทำหน้าที่ของมันต่อไป
ถ้าเรามีสัมมาสมาธิ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือสัมมาญาณะ
ความหยั่งรู้ที่ถูก
หยั่งรู้รูปธรรม หยั่งรู้นามธรรมตามที่มันเป็น
ก็จะเห็นมีญาณทัศนะ มีปัญญาเห็นมัน
สัมมาวิมุตติ
คำว่าญาณ ๆ ไม่ต้องตกใจ
ญาณคือชื่อของปัญญา
เพราะฉะนั้นการที่เรามีสัมมาสมาธิ
มีจิตตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว
มีสติระลึกรู้รูปนามที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง
สัมมาญาณะก็จะมีขึ้นมา
ความรู้ถูก ความเข้าใจถูกก็จะเกิดขึ้น
ก็จะเห็นความจริง
รูปธรรมนี้ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
นามธรรมก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จะเห็นอย่างนี้
เมื่อเห็นอย่างมาก ๆ แล้ว
สุดท้ายสัมมาวิมุตติก็เกิดขึ้น
ทำไมวิมุตติยังต้องมีคำว่าสัมมา
เพราะมิจฉาวิมุตติมี
อย่างพวกนั่งสมาธิวูบหมดความรู้สึกตัว
บอกว่าบรรลุมรรคผล นั่นมิจฉาวิมุตติ
จิตตกไปในภูมิของอสัญญี อสัญญสัตตา
หรือนั่งแล้วก็รู้โน่นรู้นี่ รู้เลข รู้หวย
รู้อดีต รู้อนาคต รู้โน่นรู้นี่ไป
ไม่ได้เห็นความเป็นจริงของรูปนาม กายใจ
ไม่มีวิมุตติ เพราะไม่มีสัมมาญาณะ
ไม่มีความหยั่งรู้ที่ถูก
หยั่งรู้ที่ถูกก็คือ
หยั่งรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมนั่นล่ะ
สุดท้ายวิมุตติมันก็เกิดขึ้น มีสัมมาวิมุตติ
ความหลุดพ้นที่ถูกต้อง
คืออริยมรรคอริยผลจะเกิด
อย่างศาสนาอื่นเขาก็มี อย่างพวกพราหมณ์ ฮินดูอะไรนี้
เขาภาวนาไป จิตบรรลุโมกษะถือว่าเขานิพพานของเขา
นิพพานแบบของเขา มันก็ไม่ใช่ตัวสัมมาวิมุตติ
แต่เป็นวิมุตติแบบของเขา
เป็นวิมุตติที่ยังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิด
เพราะฉะนั้นแต่ละลัทธิ
แต่ละศาสนาเขาก็มีเป้าหมายสูงสุดของเขา
ตัวนั้น เป้าหมายสูงสุดนั่นล่ะ เป็นตัววิมุตติของเขา
แต่มันไม่ใช่ตัวสัมมาวิมุตติ
สัมมาวิมุตติก็คือตัวอริยมรรคกับอริยผลเกิดขึ้น
จะเกิดขึ้นถ้าสัมมาญาณะ
ความหยั่งรู้ของเราถูกต้อง มากพอ ... "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
10 ตุลาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา