31 ต.ค. 2021 เวลา 03:32 • หนังสือ
✴️ บทที่ 1️⃣ ความท้อแท้ของอรชุน (ตอนที่ 52) ✴️
🌸 อรชุนปฏิเสธการต่อสู้ 🌸
⚜️ โศลก 2️⃣8️⃣➖3️⃣0️⃣ ⚜️
หน้า 152 – 154
โศลกที่ 2️⃣8️⃣➖3️⃣0️⃣
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
โอ้ กฤษณะ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นบรรดาญาติกระหายที่จะเข้ารบกัน แขนขาของข้าพเจ้าอ่อนไปหมด ปากแห้ง ตัวสั่น และขนลุกชัน ธนูทิพย์คาณฑีพหลุดจากมือ ผิวหนังของข้าพเจ้าร้อนผ่าว ข้าพเจ้าไม่ สามารถจะยืนทรงตัวอยู่ได้ หัวใจของข้าพเจ้ากำลังจะวายเสียแล้ว ดูกร เกศวะ★ ข้าพเจ้าเห็นลางร้าย
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
★เกศวะ อีกนามหนึ่งของพระกฤษณะ แปลว่า ผู้ทำลายความชั่ว อ้างถึงการที่พระกฤษณะทรงสังหารมารเกศี
ผู้ภักดีกล่าวแก่ผู้นำทางวิญญาณของตน :
“เพราะข้าพเจ้ารักทั้งนิสัยดีและนิสัยเลวที่ต่างปะทะกันอยู่ในตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เต็มใจที่จะสังหารญาติอินทรีย์ที่อยู่ในอาณาจักรกายของข้าพเจ้ามานานแสนนาน❗ แขนขาเจตจำนงการควบคุมตนอ่อนล้าไปหมดแล้ว ปากแห่งสหัชญาณก็แห้งผาก ข้าพเจ้าตัวสั่น จิตใจหวั่นไหว พลังและความคิดพุ่งออกไปที่อินทรีย์ ธนูการควบคุมตนกับการรับรู้ที่ไขสันหลังไถลหายไป ผิวใจ (ห่อหุ้มจิต) ของข้าพเจ้า ร้อนผ่าวด้วยความกระวนกระวาย ข้าแต่พระวิญญาณ พระผู้ทำลายความชั่ว ข้าพเจ้าไม่สามารถรักษาใจให้อยู่ในดุลยภาพ จิตของข้าพเจ้าฟุ้งเมื่อข้าพเจ้าเผชิญศัตรูอินทรีย์สัมผัสขณะข้าพเจ้าทำสมาธิ ข้าพเจ้าสังหรณ์ถึงหายนะที่ใกล้เข้ามา”
ที่บรรยายมานี้เป็น #ภาวะจริงที่ผู้ภักดีประสบ_เมื่อเขาเดินไปบนวิถีแห่งจิตวิญญาณได้ระยะหนึ่ง โยคีผู้เริ่มต้นเดินไปบนเส้นทางนี้จะกระตือรือร้น มีความสุขและพอใจ แต่เมื่อก้าวต่อไป เขาพบว่าความยินดีพอใจกับผัสสอินทรีย์ยังมีอยู่ในชีวิตเขาอย่างดื้อรั้น ทั้ง ๆ ที่อยู่ท่ามกลางทิพยหยั่งรู้ เขาจึงเริ่มสงสัยว่า เขาฉลาดหรือไม่ที่ตัดสินใจประหารความสุขทางวัตถุเพื่อจะได้ความสุขทางวิญญาณ
ในความสับสนเช่นนี้ ผู้ภักดีพยายามที่จะแบ่งแยกความภักดีของตน — 🔽 แบ่งความสนใจครึ่งหนึ่งไปที่กายกับความสุขทางผัสสะ 🔼 ส่วนความภักดีอีกครึ่งหนึ่งนั้นแบ่งให้กับความสุขทางวิญญาณ — ผลของภาวะก้ำกึ่งนี้ทำให้แขนขาเจตจำนงของเขาง่อยเปลี้ยไปกับการติดยึดอินทรีย์ เขารู้สึกว่าสหัชญาณการรับรู้กำลังจะสิ้นใจตาย รสชาติของวัตถุนิสัยนั้นเหมือนไฟ ที่ทำให้รสการรับรู้วิญญาณเหือดแห้งไป
◾ คำแนะนำสำหรับระยะแรกในช่วงที่ความศรัทธาทางวิญญาณเริ่มจางไป ◾
เช่นเดียวกับความกลัวทางกายทำให้ขนลุกชัน ความวุ่นวายทางจิตเมื่อเห็นว่าจะสูญเสียกามสุขก็ทำให้ความคิดและพลังในเส้นประสาทของผู้ภักดีซึ่งมีมากมายราวเส้นขน ไหลทะลักจากความสุขทางวิญญาณไปที่อาณาแห่งอินทรีย์สัมผัส
ในช่วงที่กำลังงุนงงสงสัยนี้ ผู้ภักดีจะพบว่าทิพยหยั่งรู้บนไขสันหลังเริ่มจางไป ดังที่ได้พรรณนาไว้ในโศลกก่อนหน้านี้ เมื่อบุคคลเดินหรือทำงานด้วยร่างกาย เขารับรู้อินทรีย์สัมผัส แต่ในสมาธินั้นกายอินทรีย์ค่อย ๆ หายไป ความหนักทางกายจะถูกลืม อำนาจการรับรู้บนไขสันหลังและความสงบเกษมสุขเข้าครอบครองจิต
🛑 แต่ในเมื่อผู้ภักดียังไม่ก้าวหน้าเพียงพอที่จะดำรงอยู่ในภาวะนี้และทำสมาธิให้ลึกขึ้น จริตติดวัตถุในตัวเขา – กรรม หรือ ผลเลวจากการกระทำของอินทรีย์ในอดีต ก็จะผุดขึ้นมาในจิต และเมื่อผู้ภักดีเริ่มกระวนกระวาย ธนูวิญญาณของพลังไขสันหลัง และการรับรู้ (ซึ่งใช้ลูกธนูความสุขทางวิญญาณสังหารการยึดมั่นอินทรีย์) ก็จะหลุดไปจากมือของการควบคุมตน ความคิดทุกอย่างอ่อนเปลี้ย หมดอำนาจที่จะเพ่งฌาน จึงถูกความกระวนกระวายแผดเผา เช่นเดียวกับที่ผิวหนังถูกเผาเมื่อได้รับแสงแดดมากเกินไป จิตฟุ้งเรื่อยไปในจิตใต้สำนึก – นำโดย สังสการ หรือวิบากแต่ชาติก่อน ๆ – ทำให้ไม่สามารถเพ่งอยู่ที่อารมณ์แห่งการทำสมาธิ #ผู้ภักดีจึงเกิดความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวเบื่อหน่าย #เห็นไปว่าความแห้งแล้งแห่งจิตเกิดจากการละวางความสุขทางโลก
เมื่อเราพรวนดินเพื่อการเพาะปลูก แรกสุดเราต้องทำลายวัชพืชที่เติบโตงอกงาม เมื่อหมดวัชพืช แผ่นดินเสมือนร้างแห้งแล้ง จนกว่าจะถึงเวลาที่เมล็ดพันธุ์ที่มองไม่เห็นเติบโตเป็นต้นไม้และให้ดอกผล❗ ท้องทุ่งแห่งจิตก็ทำนองเดียวกัน รกไปด้วยความสุขทางผัสสะที่ไร้สาระ – นิสัยซึ่งแรก ๆ ก็ยากที่จะละทิ้งไปได้
💢 #ผู้คนพร้อมที่จะผลาญเวลาด้วยการทำอะไรก็ได้นอกจาก_การทำสมาธิ ลองดูเถิดว่าเราเสียเวลาไปกี่ชั่วโมงกับการชมภาพยนตร์ การเล่นไพ่ การพูดคุยอย่างไร้เป้าหมาย อ่านนิยายราคาถูกหรือหนังสือพิมพ์ที่มีแต่ข่าวตื่นเต้นอื้อฉาว หรือดูโทรทัศน์ เมื่อครูบาอาจารย์หรือผู้ภักดีที่รู้จักควบคุมตนขอให้เขาทำลายวัชพืชทางจิตและเพาะเมล็ดพันธุ์การทำสมาธิ นิสัยที่เคยชินจะทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตของตนเป็นทะเลทรายแห้งแล้งถ้าขาดวัชพืชหรือกิจกรรมไร้ค่านานาที่เขาเคยชิน
ในภาวะอ้างว้างเยียบเย็นชั่วคราวนี้ ผู้ภักดีต้องสลัดความสงสัยและความท้อแท้ไปให้หมดสิ้น และให้มีศรัทธาว่า หลังจากท้องทุ่งแห่งจิตได้เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์สมาธิลึกแล้วอย่างดี ท้องทุ่งนี้จะเป็นที่เกิดของต้นไม้แห่งพระองค์ผู้ทรงสถิตในทุกที่ทุกกาล ซึ่งจะให้ผลเป็นความสุขอย่างไม่สิ้นสลาย
ผู้ภักดีต้องซื่อสัตย์ต่อการรับรู้ทางวิญญาณซึ่งถูกขับออกไปจากกาย ไม่ใช่ภักดีต่ออินทรีย์สัมผัส อันทำตัวเป็นประหนึ่ง “คางคกขึ้นวอ” ที่สถาปนาตนไว้ในอาณาจักรกายของเรามาอย่างยาวนาน
(มีต่อ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา