6 พ.ย. 2021 เวลา 13:36 • ท่องเที่ยว
ลอนดอนวันที่ 3 (ตอน 2) พาไปดูงานศิลปะ ทีละชิ้น ที่หอศิลป์แห่งลอนดอน (National Gallery of London)
จากตอนที่แล้ว ไปดูงานศิลปะ ที่หอศิลป์แห่งลอนดอน (National Gallery of London) (ตอนที่ 1) https://www.blockdit.com/posts/618677cdb889270ca3493de9
ภาพต่อไปซึ่งมีชื่อเสียงมาก ได้แก่รูปการแต่งงานของอาร์นอลฟีนี (The Arnolfini Wedding) งานของ ยาน ฟาน ไอก์ (Jan van Eyck) เป็นภาพชายหญิงสองคนแต่งตัวดูสะดุดตา หมวกใบใหญ่ของฝ่ายชายและชุดสีเขียวสดใสของฝ่ายหญิงที่มีความยาวมากจนส่วนปลายของกระโปรงกองลงกับพื้น
ทั้งสองมีใบหน้าที่ดูสงบนิ่งราวกับตุ๊กตาน่ารัก มือน้อยยื่นมาแตะกันเบาๆ ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่ามือของฝ่ายหญิงราวกับว่ากำลังเลือนไหลไปจากฝ่ายชาย
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Arnolfini_Portrait
องค์ประกอบทุกส่วนวาดได้อย่างละเอียดลออและเหมือนจริงมาก โคมเทียนที่แวววับที่ห้อยอยู่เบื้องบน แมวขนฟูอยู่ด้านหน้า รองเท้าและกระจกกลมนูนตรงจุดศูนย์กลางภาพ แสดงเนื้อวัสดุต่างๆได้สมจริงอย่างน่าอัศจรรย์
สเน่ห์ประการหนึ่งของภาพนี้คือปริศนาจากสิ่งของต่างๆในภาพซึ่งเราดูไม่ออกว่ามีความหมายอย่างไร แต่ผู้เชี่ยวชาญถอดรหัสสิ่งเหล่านี้ออกมาว่ามันแสดงถึงความร่ำรวยและความเป็นชนชั้นสูง เช่นกระโปรงหนาหนักและยาว ซึ่งต้องมีสาวใช้เข้ามาช่วยคอยยกและจัดรูป อีกทั้งแสดงถึงการใช้ผ้าขนสัตว์ราคาแพงสีเขียว ซึ่งมีกรรมวิธีการย้อมที่ซับซ้อนและมีความยาวหลายเมตร ภาพผู้หญิงที่ดูเหมือนตั้งครรภ์และสวมชุดคลุมท้องนั้น มิได้หมายความว่าเธอตั้งครรภ์อยู่จริง แต่เป็นลักษณะทางอุดมคติแสดงความสมบูรณ์ของเพศหญิง
ส่วนฝ่ายชายหมวกที่เห็นเป็นแฟชั่นยุคนั้นซึ่งยังคงนำเข้าจากอิตาลี ขนเฟอร์ที่อยู่ประดับบนร่างนั้นต้องใช้หนังตัวเฟอร์จำนวนมากเช่นกัน
รองเท้าซ่อนอยู่ด้านหลังทำจากหนังย้อมสีแดงจากอินเดียและประดับด้วยโลหะมีค่า และรองเท้าบู๊ทสีน้ำเงินก็เป็นสีที่หายากในช่วงเวลานั้น
และที่สำคัญคือกระจกกลมด้านหลัง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของภาพ เขียนอย่างงดงามด้วยภาษาละตินว่า ยานฟานไอด์เคยอยู่ที่นี่
กระจกนั้นเป็นกระจกนูนซึ่งสะท้อนภาพในห้องในรอบทิศที่น่าฉงนใจ และมันสะท้อนภาพบุคคลอีกสองคนทีเดินย่างก้าวเข้ามาในห้อง ซึ่งคนหนึ่งๆอาจเป็นตัว ยานฟันไอด์เอง และอีกคนอาจหมายถึงตัวเราซึ่งเป็นผู้ชมซึ่งกำลังมองภาพนี่อยู่
นอกจากนั้นกระจกนูนอาจเป็นสัญลักษณ์ของความตายและความนิรันดร์ซึ่งหมายถึงความรักของพระเยซู ยืนยันโดยภาพรอบกระจกเป็นชีวิตพระเยซูตอนต่างๆ สรุปว่านี่คงใช้เป็นที่ระลึกของการวายชนม์ของผู้หญิงผู้เป็นภรรยา (เริ่มเศร้าแล้ว)
ส่วนที่เป็นจุดสนใจสำคัญของภาพประการหนึ่งคือโคมแชนเดอเลียร์โลหะ เขียนได้แวววาวเหมือนจริงมาก และที่สำคัญคือมีเทียนปักอยู่สองเล่ม แต่มีเล่มหนึ่งที่ถูกจุดอยู่ นี่อาจแสดงถึงไฟแห่งชีวิตของฝ่ายชายที่ยังคงอยู่แต่ฝ่ายหญิงมอดไหม้ไปแล้ว
เก้าอี้ในภาพประดับด้วยรูปการ์กอยเล็กฟ ซึ่งป็นเครื่องหมายของวิญญาณร้าย ซึ่งในภาพจะเห็นว่ามันอยู่ตรงตำแหน่งของมือที่ทั้งคู่ประสานกันพอดี ส่วนบนพนักเก้าอี้สูงมีรูปผู้หญิงพนมมืออยู่บนตัวมังกร อาจเป็นนักบุญมาธาที่ปกปักรักษาเทพแห่งแม่บ้าน
ไม่น่าเชื่อว่าพื้นผิวสิ่งของทั้งใหญ่และเล็กยิบย่อยจะถูกวาดออกมาได้อย่างละเอียดขนาดนี้ แสดงถึงความสามารถของศิลปิน แถมยังซ่อนปริศนาอะไรให้ชวนติดตามอีกต่างหาก
ติดตามชมต่อไปที่ ไปดูงานศิลปะ ที่หอศิลป์แห่งลอนดอน (National Gallery of London) (ตอนที่ 3)
โฆษณา