11 พ.ย. 2021 เวลา 01:11 • ปรัชญา
“เส้นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเดินมา”
5
“ … ถึงจุดหนึ่ง มันจะรู้ความจริง ตัวเราไม่มี
มีแต่รูปธรรม มีแต่นามธรรม
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ตัวเราไม่มี ได้พระโสดาบัน
ภาวนาต่อไปเรื่อยๆ ภาวนาต่อไปๆ
ในที่สุดเกิดปัญญาขั้นกลาง
ปัญญาขั้นต้นจะได้โสดาบัน สกิทาคามี
ปัญญาขั้นกลางเป็นปัญญา
ที่จะทำให้เราเป็นพระอนาคามี
ปัญญาขั้นกลางคือการที่จิตมันเห็นความจริงของกาย
ร่างกายนี้มันเป็นตัวทุกข์
ทุกข์เพราะไม่เที่ยง
ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น
ทุกข์เพราะควบคุมบังคับไม่ได้
จะเห็นร่างกายนี้เป็นไตรลักษณ์อย่างแจ่มแจ้ง
จิตมันจะปล่อยวางกาย เป็นภูมิของพระอนาคามี
พอวางกายได้ มันก็คือวางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ลองมันวางตาได้ อย่างไรมันก็วางรูปที่ตาเห็นได้
พอมันวางหูได้ มันก็วางเสียงที่มันได้ยินได้
ที่มันรักตาก็เพราะว่าตานี้สนองกิเลสมัน
พามันไปดูรูปได้
หู มันรักหู เพราะว่าเห็นว่าหูนำความสุขมาให้
เลยได้ยินอะไรที่ถูกอกถูกใจ
แต่ถ้ามันมีปัญญาลงมา
ตาก็ตัวทุกข์ หูก็ตัวทุกข์ จมูก ลิ้น กายก็ตัวทุกข์
เห็นแจ่มแจ้งอย่างนี้ มันจะวางกาย
วางกายแล้วคราวนี้
จิตมันไม่ไปหลงเพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย
ตามองเห็นแต่จิตไม่หลง ไม่หลงใหลไปในการเห็น
ตรงที่หลงใหลไปเป็นอย่างไร
คือหลงยินดี หลงยินร้าย
หลงยินดีในรูป เรียกว่ามีกามราคะ
หลงยินร้ายในรูป เรียกว่ามีพยาปาทะ ไม่พอใจ
นี้เป็นปัญญาขั้นกลาง ฟังก็แล้วยาก
เอาขั้นต้นก่อนก็แล้วกัน
ขั้นสุดท้ายจะต้องเห็นว่าตัวจิตนั่นล่ะ
ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
อย่างพวกเราแค่กาย
เราก็ไม่เห็นแล้วว่ามันเป็นไตรลักษณ์จริงๆ
ไม่เป็นของดีจริง
อย่างร่างกายนี้ เราเห็นว่าร่างกายนี้
เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง
ถ้าภูมิจิตภูมิธรรมของเราเข้มแข็ง
ปัญญาเราแก่กล้าขึ้น
เราจะไม่ได้รู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง
แต่เราจะรู้ว่าร่างกายนี้คือทุกข์
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
เวลาทุกข์น้อย คนเขลาก็คิดว่าร่างกายมีความสุข
ผู้ไม่เขลามันจะเห็นร่างกายมีแต่ทุกข์
ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ตรงปัญญาขั้นสูงมันจะเห็นเลย
จิตนี้คือตัวทุกข์ อย่างพวกเราไม่เห็น
พวกเราเห็นว่าจิตใจเราเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์
สลับกันไปสลับกันมา
แต่ถ้าสติปัญญาแก่รอบพอ
มันจะเห็นเลยจิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ตรงที่ทุกข์น้อยนั้น
ผู้ไม่มีสติไม่มีปัญญาก็รู้สึกว่ามันเป็นสุข
นี่ล่ะเรียกว่าเรารู้ทุกข์ ขันธ์ 5 คือตัวทุกข์
ไม่ใช่รู้ทุกขเวทนา ทุกขเวทนาก็ยังตกอยู่ใต้ตัวทุกข์อีก
คือทุกขเวทนาก็ทนอยู่ไม่ได้
พยายามดูเข้าไป ฝึกทุกวันๆ ที่ หลวงพ่อสอนวันนี้
ลองไปฟังรีรัน ฟังหลายๆ ที
ฟังแล้วก็พยายามฝึกตัวเอง
ฟังอย่างเดียวไม่พอต้องฝึกด้วย
ขั้นแรก ฝึกให้จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว
ให้ตื่นขึ้นมา หลุดจากโลกของความคิดความฝัน
หลุดจากโลกของการเพ่ง เคร่งเครียด
มาอยู่ในโลกของความรู้สึกตัว
พอรู้สึกตัวได้แล้วก็ดูแยกธาตุแยกขันธ์ไป
ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง
จิตอยู่ส่วนหนึ่ง
สุข ทุกข์อยู่ส่วนหนึ่ง
ดี ชั่วอยู่ส่วนหนึ่ง ค่อยๆ แยกไป
แล้วถัดจากนั้นก็เห็นว่าทุกส่วนๆ
ที่เราแยกออกไปนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ฝึกอย่างนี้
นี่คือเส้นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเดินมา. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
31 ตุลาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา