13 พ.ย. 2021 เวลา 07:58 • ปรัชญา
"อริยสัจ 4 สู่หนทางดับทุกข์"
1
" ...​ อะไรคือทุกข์ ?
ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์
ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นทุกข์
ความตายก็เป็นทุกข์
ก็พิจารณากันให้ดีว่ามันเป็นทุกข์จริง ๆ หรือเปล่า ?
ความพลัดพรากสูญเสีย
จากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจ
สูญเสียคนที่รักเจ็บปวดไหมล่ะ ?
1
สูญเสียพ่อบ้าง สูญเสียแม่บ้าง
สูญเสียลูกหลานบ้าง
ต้องหลั่งน้ำตาให้กับความพลัดพรากสูญเสีย
จากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจ
ต้องประสบกับสิ่ง
อันไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ
เวลาถูกเขากระทำเจ็บปวดไหมเล่า ?
ใครเคยถูกโกงบ้าง
ถูกใส่ร้ายป้ายสีบ้าง ถูกทุบตีบ้าง
ถูกพูดจาให้เจ็บช้ำน้ำใจบ้าง
ถูกหลอกลวงบ้าง
มันเจ็บปวด มันคับแค้นใจ
ต้องประสบกับความผิดหวัง
ไม่สมความปรารถนา
ต้องพบกับความโศก ความร่ำไรรำพัน
ความไม่สบายกาย
ความไม่สบายใจ
ความคับแค้นใจ
ต้องพบกับสิ่งไม่สมความปรารถนา
ความทุกข์ของชาวโลกเรา
แต่ทุกข์ของชาวโลกเรานี่
เมื่อเทียบกับอบายภูมิเบื้องล่างแล้ว
ทุกข์ของชาวโลกเรานี่เป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย
ทุกข์ในอบายภูมิโหดร้ายทารุณกว่ามาก
แล้วกาลเวลาที่ต้องเสวยก็ยาวนานกว่ามาก
ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างประมาท
ที่ไปของเรา ชีวิตหลังความตายก็ต้องตกต่ำ
จมสู่อบายภูมิ
ขนาดยุคของคนมีบุญ ยังรอดกันยากเลย
ใครคิดว่าเราใช้ชีวิตไปวัน ๆ สบาย ๆ
สุดท้ายเราก็กลับมาใช้ชีวิตใหม่
มันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิ
โอกาสกลับมาเกิด มันช่างยากเย็นแสนเข็ญ
โควต้าของการเกิดเป็นมนุษย์มันน้อยมาก ๆ
ที่เหลือส่วนใหญ่ก็จมสู่อบายภูมิ
เสวยความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
วัฏสงสารมันช่างน่ากลัวเช่นนั้น
ทำความเข้าใจเรื่องทุกข์ให้ดี
วัฏสงสารมันเต็มไปด้วยกองทุกข์
ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ก็คือ ทุกข์
การหลงยึดมั่นถือมั่นอยู่ กับตัวเรา กับผู้อื่น
กับโลกใบนี้ กับสิ่งต่าง ๆ
มันก็คือตัวทุกข์นั่นเอง
แล้วอะไรล่ะ คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ตัณหา"
ความทะยานอยากนี่แหละ คือ ตัวต้นเหตุ
กามตัณหา ความพุ่งทะยาน
ความทะยานอยากในกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ที่น่าใคร่น่าปรารถนาต่าง ๆ
กระแสของโลกมันทำให้จิตใจเรา
เกิดความทะยานอยาก ไม่มีที่สิ้นสุด
พระองค์ตรัสว่า
"ห้วงน้ำแห่งตัณหาไม่เคยเต็ม"
ถ้าเราคิดว่าสนองความอยากแล้วมันพอ
มันไม่พอหรอก มันจะไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด
กามตัณหา ความทะยานอยาก
ในกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ
ความพุ่งทะยานในโลกทั้งหลายทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นโลกนี้ หรือโลกหน้า
บางคนเบื่อแล้วโลกนี้นะ
แต่ก็ยังหวังโลกหน้าอยู่
เป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง อรูปพรหมบ้าง
ก็ยังพุ่งทะยานอยู่
ภวตัณหา ความทะยานอยาก
ในความมีความเป็นทั้งหลายทั้งปวง
สิ่งที่เราอยากได้ สิ่งที่เราชอบ
ก็เกิดความทะยานอยาก
อยากเอาเข้าตัว อยากมีอยากเป็นต่าง ๆ
วิภวตัณหา ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น
สิ่งใดไม่ชอบ สิ่งใดเกลียดชัง
ก็อยากที่จะผลักออกไป
ไม่ต้องการ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น
จิตก็ไม่เป็นกลางอีกนั่นเอง
มันเกิดความพุ่งทะยานทั้งหลายทั้งปวง
ไม่ว่าจะจมอยู่ในกามคุณอารมณ์
หรือว่า ความอยากมีอยากเป็น
ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็นต่าง ๆ
นี่คือตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั่นเองนะ
แล้วอะไรคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ?
ก็คือ ความสิ้นอาลัยในตัณหานี่เอง
หมดความทะยานอยากทั้งหลายทั้งปวง
สิ้นอาลัยในโลกทั้งหลายทั้งปวง
เรียกว่า หมดจิตหมดใจ
มันพรากออกแล้ว
จึงจะสลัดคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
กลับสู่ความเป็นกลางของธรรมชาตินั่นเอง
หลุดจากการยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง
แล้วก็อะไรคือข้อปฏิบัติ
ให้เข้าถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ?
ก็คือ อริยมรรคมีองค์ 8
1 สัมมาทิฏฐิ
ทำความเข้าใจ ทำความเห็นให้ตรงก่อนนะ
ทุกข์เป็นอย่างนี้
เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้
ข้อปฏฺิบัติให้เข้าถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นเป็นอย่างนี้
เมื่อเกิดสัมมาทิฏฐิ ความเห็นตรงแล้ว
2 สัมมาสังกัปปะ การดำริที่ถูกต้องจึงเกิดขึ้น
เห็นโทษภัยของการที่จิตเรา
จมอยู่กับกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ
มันทำให้จิตอ่อนแอ ไหลไปตามกระแสของโลก
ติดอยู่ในบ่วงของมารนั่นเอง
เหมือนเขาจะดักจับสัตว์ไว้
เขาก็เอาเหยื่อมาล่อ
ใครเคยตกปลา ก็เอาเหยื่อไปล่อ ติดใส่เบ็ดไว้
ปลามันหลงคิดว่าเป็นอาหาร
มันก็ฮุบ มันก็ติดเบ็ด ก็ถูกเขาฆ่าเอาไป
เวลานายพรานเขาจะดักจับสัตว์
เขาก็เอาเหยื่อไปล่อ
สัตว์มันนึกว่าเป็นอาหารอันโอชะ มันก็หลงฮุบ
มันก็ถูกเขาดักจับไปฆ่า ไปกินไปแกงต่าง ๆ
กามคุณอารมณ์ ก็คือเหยื่อล่อ
ให้เราติดอยู่ในวังวนของวัฏฏะนั่นเอง
มันมีสุขน้อย แต่มันแฝงไปด้วยความเร่าร้อนมาก
มันทำให้จิตใจเราอ่อนแอ
ตกเป็นทาสของกิเลส ตัณหาอุปาทาน
จมอยู่ในวัฏสงสาร อันไม่มีที่สิ้นสุดนี้
บางครั้งมันพุ่งทะยานมาก
ยิ่งหลงทำการเบียดเบียนนี่หนักเลย
เห็นโทษภัยของกามคุณอารมณ์
จึงเกิดการดำริออกจากกามขึ้นมา
อย่างเพศบรรพชิตนี้ ก็ละกามคุณอารมณ์ได้
พรากออกทั้งกาย พรากออกทั้งใจ
ถ้าเป็นคฤหัสถ์ฆราวาส
ก็อาจจะทำได้เป็นช่วง ๆ ก็ยังดี
มันเป็นธรรมดา คฤหัสถ์เรามีครอบครัวครองเรือน
1
ช่วงฝึกปฏิบัติ ช่วงฟังธรรม
ก็เป็นโอกาสที่จิตเรา
พรากออกจากกามคุณอารมณ์ได้เช่นกัน
ค่อย ๆ เพียรปฏิบัติไป
ดำริออกจากกาม
ดำริออกจากการเบียดเบียน
เห็นโทษภัยของความเบียดเบียน
อย่างเมื่อวานที่ว่า โจรแค้นใจ (อชครเปรต)
แล้วก็หาทางดับไฟ
ไฟในใจถูกจุดขึ้นมา ไฟแห่งความคับแค้น
ไฟแห่งความอาฆาต
มันจุดขึ้นมาข้างใน ไปหาทางดับที่อื่น
ไปทำร้ายทำลาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
นอกจากไฟตัวเองไม่ดับแล้ว
มันยิ่งลามไปใหญ่ เกิดโทษ
สุดท้ายก็ต้องจมสู่อบายภูมิ
ตัวเองนี่แหละ ที่จะเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
ไฟมันเกิดที่ใจ มันก็ต้องดับที่ใจ
และธรรมะอันบริสุทธิ์นี่แหละ ที่จะดับไฟในใจได้
1
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า
"ไฟใด ๆ เสมอด้วยไฟแห่งราคะไม่มี"
พอความกำหนัดมันเกิดขึ้น มันกลุ้มรุม
บางคนก็ผิดศีลผิดธรรม
ผิดลูกผิดเมียบ้าง นอกใจผู้อื่นบ้าง
อะไรบ้าง สารพัด เกิดโทษเกิดภัย
เพราะฉะนั้น เห็นโทษภัยของสิ่งเหล่านี้
ก็จึงดำริออกจากการเบียดเบียน
ดำริออกจากความพยาบาท
ความพยาบาทอาฆาต ความจองเวร
นี่มันเป็นไฟที่เผา
สุดท้ายแล้วคนที่เจ็บ ก็ตัวเรานั่นแหละ
ไม่ใช่ใครหรอก
ยิ่งก่อโทษมาก ยิ่งรับผล สาหัสสากรรจ์
เห็นโทษภัยเหล่านี้ ก็ดำริออกจากสิ่งเหล่านี้เสีย
เรียกว่า ดำริถูก
เมื่อดำริถูกแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติ
3 เกิดสัมมาวาจา การพูดที่ถูกต้อง
พูดที่ไม่ทำร้ายใคร
ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน
ก็งดเว้นจากการพูดปดเสีย
พูดแต่คำจริง พูดวาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน
งดเว้นจากการพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกแยกกัน
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ วาจาว่าร้ายต่าง ๆ
งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
ยิ่งพูดเพ้อเจ้อ พูดมากก็ผิดมากนั่นเอง
ก็สำรวมตนเองให้ดี ลงมือกระทำ
เมื่อดำริถูกแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติให้ถูกต้อง
มันจึงจะเกิดผลนั่นเอง
4 สัมมากัมมันตะ จึงเกิดขึ้น
งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์
ก็ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน
อันนี้อาจจะต้องใช้หิริและโอตตัปปะด้วย
ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
จะช่วยได้มากเลย
ให้เราหยุดการเบียดเบียนได้
อย่างเช่น ยุงกัดเรา
ความเคยตัวเราก็ตบยุง
แต่ถ้าเราระลึกได้ว่า ถ้าเราตบยุงตัวเดียวเนี่ย
แล้วเราต้องตายเกิดมาเป็นยุงแบบนี้
ถูกเขาตบอีก 500 ชาติ จะทำไหม ?
หิริและโอตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
มันจะทำให้เราหยุดการเบียดเบียนผู้อื่น
หยุดการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นได้
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย
สัตว์ใหญ่หรือผู้คนทั้งหลายทั้งปวง
ก็หยุดการเบียดเบียน
งดเว้นจากการฉ้อโกง ลักขโมย
ถือเอาในสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้นั่นเอง
งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
การละเมิดคู่ครองผู้อื่น
หรือแม้กระทั่ง บุตรธิดาที่เขายังมีผู้ปกครองอยู่
ให้เห็นโทษภัยนะ
สิ่งเหล่านี้เมื่อหลงทำไปนี่ โทษมันมากนะ
ขนาดพระโพธิสัตว์ มีบารมีมากขนาดไหน
พระชาติหนึ่งพระองค์หลงประพฤติผิดในกาม
ไปละเมิดคู่ครองผู้อื่นเขา
พระองค์ก็ต้องตกนรก
เสวยความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเช่นกัน
ขนาดผู้ที่บำเพ็ญบารมีมากขนาดนั้น
ยังไม่รอดเลย
แล้วพวกเราจะเหลืออะไร ต้นทุนน้อย ๆ กันแบบนี้
ไม่เหลือหรอก
1
เพราะฉะนั้น ขนาดยุคที่คนมีบุญ
ถ้าผิดศีลผิดธรรม ก็จมสู่อบายภูมิ
แล้วยุคนี้ก็พิจารณากันให้ดีสิ
มีใครบ้างมีศีลบริสุทธิ์ตั้งแต่เกิด ไม่เคยเลย
หาได้ยากมาก ในโลกใบนี้ ในยุคสมัยนี้
เพราะฉะนั้นทุกคนพร้อมที่จะจมสู่อบายภูมิทั้งสิ้น
ในยุคสมัยนี้
ทางรอดมีทางเดียวเท่านั้น
ก็คือต้องเดินตามมรรคนี่แหละ
ทวนกระแสตัวเองขึ้นมา
ไม่มีใครช่วยตัวเราได้ นอกจากตัวของเราเอง
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้บอกให้เรา
เดินตามมรรคนี่แหละ ที่จะทวนกระแส
มันคือทางรอดทางเดียวเท่านั้น
5 สัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพที่บริสุทธิ์
การประกอบอาชีพที่ไม่เป็นโทษเป็นภัย
อย่างคฤหัสถ์ฆราวาส ก็งดเว้นอาชีพ
ที่มันทำให้เกิดโทษภัย
ค้าอาวุธ ค้าสุราเมรัยพวกนี้ ทำให้เกิดโทษภัย
ถ้าเป็นเพศบรรพชิตก็คือ มีอาชีวะที่บริสุทธิ์
ก็คือการได้ปัจจัยสี่โดยถูกต้องตามพระธรรมวินัยนั่นเอง
เช่น การบิณฑบาตต่าง ๆ
ก็เรียกว่า อาชีวปาริสุทธิศีลนั่นเอง
6 สัมมาวายามะ ความเพียรที่ถูกต้อง
เมื่อลงมือปฏิบัติวาจาได้แล้ว กายได้แล้ว
ก็มาเพียรที่ใจ
สัมมาวายามะนี่เพียรที่ใจเลย
เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เบาบางลงไป
เราหยุดวาจา เราหยุดกายเราได้แล้ว
ใจมันยังพล่านอยู่นะ
บางครั้งความคิดอกุศลต่างๆ คอยผุดขึ้นมา ๆ ๆ ๆ
ก็ต้องเพียรละเสีย
พิจารณาให้เห็นโทษภัยแล้วละออก
อันนี้ต้องเพียรละเอียดแล้ว ละที่ใจของเรา
รู้สึกได้ไหม บางทีความรู้สึก ความคิดไม่ดี
มันขึ้นมาสารพัด
ถ้าเราไม่เพียรละมันเสีย
เราตามใจมัน ตามใจกิเลส
โทษมันก็เกิดกับตัวเรา เกิดกับผู้อื่นนั่นเอง
พิจารณาโดยแยบคาย แล้วก็เพียรละอกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เบาบางลงไป
เพียรป้องกันไม่ให้อกุศลธรรมต่าง ๆ
ที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้น
จะป้องกันได้ยังไง ก็ต้องมีเกาะ
ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน นั่นเอง
เพียรยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้น
เพียรยังกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ให้งอกงามไพบูลย์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
หากพูดถึงกองกุศลธรรมทั้งปวง
บ่อเกิดแห่งบุญกุศลทั้งปวง ...
อย่างถ้าเป็นทางโลกนี่
เรายุคสมัยนี้ต้องมีเงินในการจับจ่ายใช้สอย
คนที่ฉลาดในการหาเงินหาทอง เขาจะรู้แหล่ง
แหล่งในการทำมาหากิน ยิ่งเป็นนักธุรกิจนี่รู้แหล่ง
ที่จะสร้างผลกำไร ผลตอบแทนได้มาก
ทางโลกยังต้องมีแหล่งเลย
ในเรื่องของบุญกุศล
ในเรื่องของกองกุศลธรรม ก็มีบ่อ มีแหล่งเช่นกัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
หากพูดถึงกองกุศลธรรมทั้งปวง
บ่อเกิดแห่งบุญกุศลทั้งปวง
ถ้าจะพูดให้ถูก ก็คือสติปัฏฐาน 4
เพราะฉะนั้น
7 สัมมาสติ จึงเกิดขึ้น การระลึกรู้ที่ถูกต้องจึงเกิดขึ้น
รู้สึกกาย รู้สึกใจ ทำความรู้สึกขึ้นมาเนือง ๆ
มีสติตั้งมั่นอยู่ในสติปัฏฐานทั้ง 4 อยู่เสมอ
เจริญให้มาก ทำให้มาก เจริญให้มาก
นี่แหละเป็นอานิสงส์ชั้นสูง ที่จะใช้ในการชำระตนเอง
เพิกความหนักความหนาทั้งหลายทั้งปวง
ออกไปจากจิต จากใจของเรา
เมื่อเราเพียรเจริญสติ ทำความรู้สึกตัวขึ้นมาอยู่เนือง ๆ
ทำให้มาก เจริญให้มาก
จนสามารถพรากออกจากกามและอกุศลธรรมต่าง ๆ
เข้าถึงปฐมฌาน
8 สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นที่ถูกต้องจึงเกิดขึ้น
เดินตามมรรค ข้อที่ 8 ก็คือสัมมาสมาธิ
ความตั้งมั่นที่ถูกต้อง
สงัดจากกามและอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน
เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
เมื่อใดก็ตามที่จิตพรากออกจากกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ
เรียกว่า เพิกออกจากของหยาบออกไปได้
ก็จะเข้าถึงสมาธิ มีสติมั่นคง มีจิตตั้งมั่น
เมื่ออยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไปเรื่อย ๆ
ก็จะเกิดการจางคลายโดยลำดับ
วิตกวิจารก็หลุดออกไป
มีความผ่องใสอยู่ภายใน
ธรรมอันเอกปรากฏขึ้น เข้าถึงทุติยฌาน
ทุติยฌานก็จะมีปีติ ซาบซ่านทั่วกาย
มีความสุขอยู่ภายใน มีจิตตั้งมั่น
เมื่อปีติจางคลายไป
ก็จะเข้าถึงระดับฌานที่ 3 ตติยฌาน
มีสุขอยู่ภายใน
มีสุขด้วยนามกาย
เป็นฌานที่พระอริยเจ้าสรรเสริญ
ว่าเป็นผู้มีสติ สัมปชัญญะ มีอุเบกขา
ฌานที่ 3 นี่สติสัมปชัญญะจะมีกำลังมากนั่นเอง
มีแต่ความโล่ง โปร่งเบาสบาย
ได้สัมผัสความสุขที่ประณีตลึกซึ้ง ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เมื่อความสุขจางคลายไป เข้าถึงอุเบกขา
สติเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่
เข้าถึงฌานที่ 4 จตุตถฌาน
เป็นการเพิกออก หลุดออกเป็นชั้น ๆ ไป
จากของหยาบ เข้าสู่ของละเอียด
แล้วก็เพิกออก หลุดออก เป็นชั้น ๆ ไป
มีสติมั่นคง มีจิตตั้งมั่น
เมื่อท่านทั้งหลายก้าวเดินตาม
มรรคมีองค์ 8 อย่างนี้อยู่เนือง ๆ
เป็นผู้ที่มีสติที่มั่นคง มีจิตที่ตั้งมั่น
ธรรมทั้งหลาย ก็จะปรากฏตามความเป็นจริง
เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง
สามารถยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญานได้
ในขณะที่ดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาน
จะเกิดสภาวะแยกธาตุแยกขันธ์
การรับรู้การแตกดับ ของใครของมัน
เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง
รู้ว่าสิ่งนี้คือ ทุกข์
สิ่งนี้คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
สิ่งนี้คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
สิ่งนี้คือ ข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ภาษาพระท่านเรียกว่า สัมมาญาน
สัมมาญานนี่เข้าอยู่ในข้อ เรื่องของผลแล้ว
มรรค 8 แล้วก็มีผล
ก็คือเกิดสัมมาญาน
ท่านเรียกอีกอย่างว่า สัมมาทิฏฐิอันเป็นโลกุตตระ
มันเป็นผลที่เกิดจากการที่เราลงมือปฏิบัตินั่นเอง
สัมมาทิฏฐิขั้นต้นนี่เราแค่ศึกษา ทำความเข้าใจ
แต่เมื่อเราลงมือตามมรรคจนเกิดผล
มันจะเกิดความเห็นแจ้งตามความเป็นจริง
ที่เรียกว่า "การรู้แจ้งอริยสัจ 4" นั่นเอง
ก็จะสามารถเกิด สัมมาวิมุตติ
การหลุดพ้นที่ถูกต้อง
คืนสู่ความเป็นกลางของธรรมชาติได้นั่นเอง
เมื่อใดที่เราสามารถหลุดจากการยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง
สิ้นอาลัยในตัณหา
ความพุ่งทะยานทั้งหลายทั้งปวง
ความอาลัยในโลกทั้งหลายทั้งปวง
มันหมดสิ้นไปแล้ว
มันจะกลับคืนสู่ความเป็นกลางของธรรมชาติ
เรียกว่า ละทั้งชั่ว แล้วก็ละการติดดี ...​"​
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา